มูลนิธิข้าวขวัญเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี
ปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิข้าวขวัญ ได้เริ่มต้นจากโครงการเลี้ยงปลาในนาข้าว และการส่งเสริมเกษตรกรรมแบบผสมผสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นอยู่กับสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ( ATA )
ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อตั้งองค์การใหม่ขึ้นมาในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE )
ปี พ.ศ. 2541 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงาน และพื้นที่ปฏิบัติงานภาคสนามในเขต จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตอาหารที่มีมาแต่อดีต พื้นที่เหล่านี้ตั้งอยู่ในเขตเกษตรก้าวหน้า ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเกษตรแบบปฏิวัติเขียว(Green Revolution ) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และปัจจัยการผลิตจากภายนอก จนเป็นต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ปัจจุบันมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต. สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัด สุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.อู่ทอง อ. เดิมบางนางบวช และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายเกษตรทั่วประเทศกว่า 50 เครือข่าย
มูลนิธิข้าวขวัญ เลือก ข้าวขวัญ เป็นชื่อมูลนิธิ ก็เพราะมีเป้าหมายทำงานเรื่องข้าว และคนปลูกข้าว (ชาวนา) เพื่อแก้ไขปัญหาของชาวนาที่มีอยู่มากมาย เช่น หนี้สิน สุขภาพ ความตกต่ำของอาชีพชาวนา จนไร้ศักดิ์ศรี ไม่มีใครยอมรับนับถือเหมือนแต่ก่อน เดิมคนไทยยกย่องชาวนา เป็น กระดูกสันหลังของชาติ คู่กับทหาร ที่เป็น รั้วของชาติ ปัจจุบันชาวนาถูกมองเป็นแค่ รากหญ้า ในขณะที่ทหารยังเป็น รั้วของชาติ เหมือนเดิม
วัตถุประสงค์ขององค์กร
1.พัฒนาเทคโนโลยีเกษตรทางเลือกแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ การปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ข้าว พืชพื้นบ้านการปรับปรุงบำรุงดิน สมุนไพรควบคุมแมลง และวิทยาการทดแทนสารเคมี
2.ส่งเสริมและเผยแพร่แนวความคิด และเทคนิควิธีของเกษตรกรรมทางเลือกตลอดจนนำเสนอระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ให้กับเกษตรกรผู้สนใจเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้อย่างอิสระ
3.สามารถสร้างความรู้และเทคโนโลยีของตนเอง โดยการผสมผสานความรู้เก่าและความรู้ใหม่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การมีสุขภาวะที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว
4.ให้การฝึกอบรมแก่เกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่องค์กรและผู้สนใจเกี่ยวกับกิจกรรมเกษตรกรรมทางเลือกทั้งในและต่างประเทศ
5.รณรงค์ เผยแพร่ ผลการปฏิบัติงาน และข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายรัฐให้สนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับเกษตรกรรมทางเลือก การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าว และพืช โดยร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเครือข่ายเกษตรทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
เป้าหมายหลัก
ให้เกษตรกรและชุมชน มีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก และการฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น สานสร้างเครือข่ายของผู้ผลิต และผู้บริโภคที่เห็นคุณค่า และความสำคัญกับเรื่องของวิถีชีวิต สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง การพัฒนาระบบเกษตรกรรม กับการพัฒนาวิถีชีวิตอย่างเป็นสุข รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นอย่างรอบด้าน
ป้ายคำ : มูลนิธิข้าวขวัญ