ยางนา ไม้มรดกเพื่อลูก หลาน เหลน โหลนภายหน้า

17 ธันวาคม 2555 ไม้ยืนต้น 1

ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb.) เป็นเสมือนพยาไม้แห่งเอเชียอาคเนย์ เพราะมีขนาดสูงใหญ่ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียอาจมีความสูงถึง ๕๐ เมตรและมีเส้นรอบวงที่ระดับอกถึง ๗ เมตร ในประเทศไทยพบอยู่ทั่วไปอยู่ในทุกภาคของประเทศ เป็นไม้เอนกประสงค์ แทบทุกส่วนสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นแหล่งอาหารป่า แหล่งนันทนาการ น้ำมันยาก สมุนไพร และเนื้อไม้สำหรับใช้สอยทั่วไป

ยางนา Dipterocarpus alatus Roxb.
ชื่อพื้นเมือง(Common name) : ยาง ยางขาว ยางแดง ยางหยวก ยางแม่น้ำ ( ทั่วไป) กาตีล( เขมร- กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี) ขะยาง( ชาวบน- นครราชสีมา) เคาะ(กะเหรี่ยง) จะเตียล( เขมร- ศรีสะเกษ) จ้อง( กะเหรี่ยง) ชันนา( หลังสวน- ชุมพร) ทองหลัก( ละว้า- กาญจนบุรี) ยางกุง( เลย) ยางควาย( หนองคาย) ยางใต้( กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี) ยางเนิน( จันทบุรี) เยียง( เขมร- สุรินทร์) ร่าลอย( ส่วย- สุรินทร์) ลอยด์( โซ้- นครพนม) เหง( ลื้อ)

ชื่อวงศ์(Family) : DIPTEROCARPACEAE

การกระจายพันธ์ตามธรรมชาติ(Distribution and habitat)
ชอบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่ราบริมลำธาร ในป่าดิบทั่วไป ที่มีดินลึกและอุดมสมบูรณ์ มีความชื้นสูง ในระดับสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 200- 600 เมตร โดยปกติจะพบไม้ยางนาในป่าดิบแล้ง ในประเทศไทยจะพบไม้ยางนาขึ้นอยู่ทุภาคทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้

yangnalong

ลักษณะทางด้านพฤกษศาสตร์(Botanical description)

  • ลำต้น (Stem) ยางนาเป็นไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ใบแก่จะร่วงหลุดไปใน ขณะเดียวกับที่มีการแตกใบใหม่มาทดแทน ลำต้นเปลา ตรง เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูง ประมาณ 30 40 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่ม กลมหนา ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน และมีรอยแผลใบเห็นชัด
  • เปลือก (Bark) เรียบหนา สีเทาปนขาว โคนมักเป็นพูพอน
  • ใบ (Leaf) เป็นใบเดี่ยว(simple leaf) ติดเรียงเวียน สลับ (spirate) ทรงใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน(elliptical oblong) ขนาดกว้าง 8 15 ซ. ม. ยาว 20 35 ซ. ม. โคนใบ มนกว้างๆ ปลายใบสอบทู่ๆ เนื้อใบหนา ใบอ่อนมีขนสีเทา ปกคลุม ใบแก่จะผิวเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ ตรงและขนานกัน มี 14 17 คู่ เส้นใบย่อยแบบเส้นขั้น บันได เห็นชัดทางด้านท้องใบ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น เล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 4 ซ. ม. มีขนบ้างประปราย
  • ดอก (Flower) เป็นแบบดอกช่อ (inflorescence flower) แบบ panicle สีชมพู ออกเป็นช่อเดี่ยวสั้นๆ ตามง่ามใบตอนปลายๆกิ่ง การเกิดช่อดอกจะเกิดพร้อมกันกับการแตกใบอ่อน ช่อหนึ่งมีหลายดอก โดยโคนกลีบฐานเชื่อมกันเป็นรูปถ้วยและมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายถ้วยแยกเป็น5 แฉก ยาว 2 แฉกและสั้น 3 แฉก มีขนสั้นๆสีน้ำตาลปกคลุมทั่วไป กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบชิดติดกัน ส่วนปลายกลีบจะบิด เวียนกันในทิศตามเข็มนาฬิกา เกสรผู้มีประมาณ 29 อัน รังไข่รูปรีๆภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 หน่วย ยางนาจะมีดอกในช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม
  • ผล (Fruit) เป็นผลเดี่ยว (simple fruit) ชนิดผล แห้ง (dry fruit) ที่แก่แล้วไม่แตก(indehiscent fruit) แบบ samara รูปร่างกลม เป็นครีบตามยาว 5 ครีบ มีปีกยาว 2 ปีก ยาว 10 12 ซ. ม. เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น ปีกสั้น รูปหูหนู 3 ปีก มีเมล็ดเดียว ผลจะพัฒนาจนแก่เต็มที่และร่วงหล่นในเดือน มีนาคม-เมษายน ของทุกปี
  • เมล็ด (Seed) มีรูปร่างกลมรี ปลายด้านหนึ่งแหลมอีกปลายด้านหนึ่งป้าน ขนาดยาวประมาณ 1 ซ.ม กว้างประมาณ 0.5 ซ.ม.

การขยายพันธุ์และการผลิตกล้า
การขยายพันธุ์ไม้ยางนา โดยมากแล้วทำโดยวิธีเก็บเมล็ดเพาะเป็นกล้าไม้ แล้วย้ายกล้าไม้ปลูกภาคสนามในช่วงฤดูฝน การขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศซึ่งอาจทำได้โดยวิธีตัดชำหรือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แม้ว่าสามารถทำได้ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงไม่นิยมกันมากนัก
การขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ไม้ยางนาขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ แต่อยู่ในเกณฑ์ไม่น่าพอใจ ทั้งนี้เพราะสาเหตุบางประการ คือ

  1. เมล็ด (หรือผล) ไม้ยางนา จะแก่จัดและร่วงหล่นในช่วงฤดูร้อน(เดือนมีนาคม-เมษายน) ซึ่งความชื้นในดินมีน้อยมากจนไม่อาจกระตุ้นให้เมล็ดงอกได้
  2. ในช่วงฤดูดังกล่าว การเกิดไฟป่า มีเป็นประจำทำให้กล้าไม้ที่งอกได้หลังจากเมล็ดร่วงหล่น หรือลูกไม้ที่งอกในฤดูกาลที่ผ่านมา ถูกไฟป่าเผาไหม้ตายหมดก็ได้ ไม้ยางนาค่อนข้างจะไม่ทนไฟเลยเมื่ออายุยังน้อย
  3. โดยธรรมชาติ เมล็ดยางนาเป็นพวก recalcitrant ไม่สามารถจะเก็บรักษาในที่มีอุณหภูมิต่ำหรือมีความชื้นต่ำได้ เมล็ดที่ร่วงหล่นในเดือนมีนาคม-เมษายน จะสูญเสียการงอกไปหมดสิ้นแล้ว เมื่อฝนเริ่มตกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จึงไม่มีกล้าไม้งอกให้พบเห็นได้
  4. เนื่องจากเมล็ดไม้ยางนามีปีก จึงปลิวไปตกได้ไกลๆ จากแหล่งเดิมในที่โล่งเตียนก็จะแห้งตายไปดังกล่าวข้างต้น หรือถ้าตกในป่าธรรมชาติจริงๆ อาจจะไม่ถึงพื้นดินโดยตรง เพราะความหนาแน่นของวัชพืช หรือไม้ชั้นล่าง โอกาสงอกหรือรอดตายจึงไม่มี ด้วยเหตุดังกล่าว การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ยางนาแม้จะเกิดขึ้นได้แต่อัตราการรอดตายต่ำมาก จนดูเหมือนว่า การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของไม้ชนิดนี้ไม่ดี และจะต้องช่วยเหลือการขยายพันธุ์โดยการปลูกสร้างขึ้นใหม่

    yangnaseed

การเพาะเมล็ดไม้ยางนา
ก่อนนำไปเพาะ เมล็ดไม้ยางนาควรนำมาตัดปีกออกก่อน เพื่อไม่ให้เปลืองพื้นที่วัสดุที่ใช้เพาะเมล็ดไม้ยางนา ปกตินิยมใช้ทรายท้องน้ำที่คั่วหรือราดยาฆ่าเชื้อราก่อนแล้วเพื่อป้องกันมิให้ราทำลายกล้าไม้ที่ออกใหม่ๆ ได้ วางเรียงเมล็ดไม้ยางนาที่ตัดปีกออกแล้วให้ส่วนที่เป็นปลายรากหงายขึ้นมา กดเมล็ดให้จมลงในทราย จนถึงระดับปลายรากอยู่ในระดับผิวทราย แล้วโรยด้วยทราย หรือขุยมะพร้าวบางๆ รดน้ำทุกวัน เมล็ดไม้ยางนาจะเริ่มออกหลังจากเพาะแล้ว 4-5 วัน และจะทยอยงอกไปเรื่อยๆ จนถึง 1 เดือนในกรณีที่เมล็ดไม้ยางนามีจำนวนมากไม่สามารถเพาะในกระบะเพาะชำได้พร้อมกันหลังจากเด็ดปีกออกแล้วให้นำมาสุมรวมกันในหลุม หรือเป็นกองๆ ใช้กระสอบป่านหรือฟางข้าว รือขุยมะพร้าวหรือขี้เลื่อยคลุมหลุมหรือกองเมล็ด รดน้ำเช้า-เย็น ทุกวันให้มีความชื้นอยู่เสมอ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอก จึงทำการย้ายเมล็ดที่เริ่มงอกลงในถุงเพาะชำต่อไป

กล้าไม้ยางนาที่เพาะในถุงเพาะชำดังกล่าว จะมีอัตราการรอดตายสูงมากหรือเกือบทั้งหมดเพราะปัญหาเชื้อราอื่นๆ ที่ทำลายกล้าไม้มีน้อย วัสดุเพาะชำระบายน้ำได้ดีและมีธาตุอาหารพืชเพียงพอเมื่ออายุกล้าไม้ยางนาประมาณ 100 วัน ก็จะสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 30 ซม. พร้อมที่จะนำไปปลูกภาคสนามได้แล้ว อย่างไรก็ตามก่อนย้ายปลูกภาคสนาม ควรนำกล้าไม้ยางนาวางในที่โล่งแจ้ง กลางแดด ลดการให้น้ำเพื่อให้กล้าไม้ยางนาแกร่งต่อสภาพแวดล้อมประมาณ 20 วัน จึงย้ายปลูกต่อไปการเตรียมพื้นที่ปลูกไม้ยางนาดังกล่าวแล้วข้างต้น ไม้ยางนาต้องการร่มเงาในระยะแรกๆ ประมาณ 3 ปี ดังนั้นพื้นที่ปลูกไม้ยางนาควรมีร่มเงาอยู่ก่อนแล้ว ไม่นิยมปลูกไม้ยางนาในที่โล่งแจ้งโดยตรง
เพราะอัตราการรอดตายจะน้อย การสงวนไม้อื่นหรือปลูกพืชอื่นไว้สำหรับเป็นร่มเงาไม้ยางนา จำเป็นจะต้องมีการวางแผนที่มีระบบ ดังนี้

yangnakra

ปีแรก จะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกไม้หรือพืชร่มเงาก่อน ไม้ป่าที่นิยมปลูกสำหรับเป็นร่มเงาไม้ยางนา ได้แก่ สะตอ หรือ เหรียง ซึ่งมีลักษณะเรือนยอด และใบโปร่ง ให้ร่มเงาประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นพวกตระกูลถั่วที่บำรุงดินได้ และโตเร็วพอสมควร หรือมิฉะนั้นก็ใช้แคฝรั่ง (Gliricidia sepium) เป็นพืชให้ร่มเงาได้ดีเช่นกัน ส่วนพืชเกษตรที่เหมาะสำหรับเป็นเงากล้ายางนา คือ กล้วยและถั่วแระ (Cajanus cajan) พืชชนิดหลังให้ร่มเงาได้ดีและสามารถเก็บเมล็ดขายหรือเป็นอาหารได้ด้วย ยิ่งกว่านั้นสามารถบำรุงดินได้ดี เมื่ออายุประมาณ 3 ปี ถั่วแระจะตายไปเองโดยไม่ต้องตัดออก

การดูแลรักษา

  1. การปลูกซ่อม หลังจากย้ายปลูกกล้าไม้ไปแล้วประมาณ 1 เดือน และไม่ควรเกิน 2 เดือน ควรทำการตรวจนับเปอร์เซ็นต์รอดตาย แล้วทำการปลูกซ่อมต้นที่ตายทันทีภายในระยะเวลา 1-2 เดือน กล้าไม้ยางนาที่เหลืออยู่จะมีขนาดไล่เลี่ยกับกล้าไม้ที่ย้ายปลูกไปแล้ว และรากยังไม่แทงทะลุถุงเพาะชำลงในดินลึกมากนัก หากทิ้งระยะไว้นานไป กล้าไม้ที่เหลือไว้สำหรับปลูกซ่อมจะโตเกินไป รากลงดินลึกมาก เมื่อถอนขึ้นมาเพื่อย้ายปลูกซ่อมรากจะขาดและตายได้ง่าย จึงควรปลูกซ่อมในระยะ 1-2 เดือน ดังกล่าวแล้วยิ่งกว่านั้น การปลูกซ่อมในระยะนี้ กล้าไม้จะได้รับน้ำฝนเพียงพอต่อการตั้งตัวด้วย
  2. การกำจัดวัชพืช เนื่องจากปลูกยางนาภายใต้ร่มเงาไม้อื่น ปัญหาวัชพืชจะไม่รุนแรงมากนัก อาจทำการกำจัดวัชพืชเพียงปีละ 2 ครั้ง คือ ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม และในเดือนกุมภาพันธ์อีกครั้งหนึ่ง การกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคน ทำเพียงตัดวัชพืชให้ขาดต่ำใกล้ระดับผิวดิน หากแรงงานมีพอ จึงใช้จอบถากรอบโคนต้นและปรับผิวดินให้เป็นแอ่งเล็กๆ สำหรับปรับน้ำฝนด้วย การถากรอบโคนต้นไม่จำเป็นนักเพราะความหนาแน่นของวัชพืชภายใต้ร่มเงาอื่นไม่มากนัก
  3. การป้องกันไฟ ทำพร้อมๆ กับการกำจัดวัชพืชครั้งที่สอง โดยการตัดวัชพืชออกสุมเผาภายในแปลงโดยมีการควบคุมที่ดี (controlled burning) ลดปริมาณเชื้อเพลิงภายในแปลงปลูก แต่ถ้าปริมาณวัชพืชไม่มากนัก ก็ไม่ควรเผา ปล่อยเศษซากพืชให้สลายเป็นอินทรียวัตถุดีกว่า การป้องกันไฟจากภายนอกมิให้ลุกลามเข้าในแปลงปลูกควรกระทำในระยะนี้เช่นกัน โดยการทำแนวกันไฟรอบๆ แปลงปลูกให้กว้างประมาณ 4 เมตรในพื้นที่ราบและประมาณ 6 เมตร ในพื้นที่ลาดชัน ยาวไปรอบๆ แปลงปลูก การทำแนวกันไฟ อาจใช้รถแทรกเตอร์ดันเศษซากพืชให้เป็นที่โล่งติดดินหรือใช้แรงงานคนตัดวัชพืชและเศษซากพืชต่างๆ ออกก็ได้ แต่จะสิ้นเปลืองแรงงานและเวลามาก
  4. แมลงและโรคพืชอื่นๆ ไม้ยางนาไม่ค่อยมีปัญหาทางโรคพืชมากนัก นอกจากในระยะที่เป็นกล้าไม้ หากมีความชื้นสูงเกินไป อาจเกิดโรคเน่าคอดินได้ง่าย ส่วนแมลงที่ทำลายไม้ยางนาอาจแยกออกได้ดังนี้
    4.1 แมลงที่เจาะทำลายเมล็ดหรือผลไม้ยางนา ได้แก่พวก Culladia spp.,Cramlus spp., Enzophera spp., ในตระกูล Pyralidae และพวก Cryphorhymchusspp. ในตระกูล Curaelionidae อาจป้องกันได้ขณะดอกยางนาบาน และแมลงเริ่มไข่โดยการพ่นยาฆ่าแมลง
    4.2 แมลงที่ทำลายต้น-กิ่ง เป็นพวกด้วงหนวดยาวที่เจาะคอรากเจาะลำต้นหรือกิ่ง หนอนเจาะยอด กัดกินยอดและกิ่ง (พวก Aristobia approximate หรือ ด้วงหนวดพู่) ด้วงงวงที่เจาะใต้เปลือกหนอนเจาะใต้เปลือกและลำต้นและหนอนผีเสื้อที่กินเปลือก ทั้งหมดนี้การระบาดไม่รุนแรงมากนัก
    4.3 หนอนผีเสื้อกินใบหรือยอดอ่อน พวก Pyralidae หรือแมลงค่อมทองที่กัดกินผิวใบหรือยอดอ่อนให้เสียหายได้ อัตราการระบาดก็ไม่มากนักเช่นกันอย่างไรก็ตามหากมีการระบาดของแมลงเหล่านี้เกิดขึ้นรุนแรง ก็ควรควบคุมโดย การใช้สารไล่แมลงฉีดพ่นก็เพียงพอแล้ว แต่เนื่องจากการปลูกไม้ยางนาใต้ร่มเงาไม้อื่นระบบนิเวศน์ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีพืชอื่นที่แมลงให้ความสนใจมากกว่ายางนา การระบาดของแมลงที่ทำลายไม้ยางนาจึงไม่ค่อยพบเห็น
  5. การลิดกิ่ง จำเป็นมากในช่วงอายุ 3-6 ปี เพราะนอกจากจะทำให้ไม้ยางนามีลำต้นตรง เปลาสวยงามแล้วยังป้องกันวัชพืชประเภทไม้เลื้อยเกาะขึ้นไปปกคลุมเรือนยอดไม้ยางนาได้ และสะดวกในการปฏิบัติงานถากร่อง ใส่ปุ๋ย อีกทั้งเป็นการเปิดช่องให้รถแทร็คเตอร์ปฏิบัติงานไถพรวนได้สะดวกยิ่งขึ้น
  6. การตัดสางขยายระยะ ไม้ยางนาที่ปลูกด้วยระยะ 4 เมตร x 2 เมตร จะต้องตัดสางต้นขนาดเล็กออกเมื่อายุ 7 ปี เป็นอย่างน้อย และครั้งต่อๆ ไปทุก 3 ปี หรือเมื่อเรือนยอดเบียดกันมาก แต่ควรระวังถ้าตัดสางออกมากเกินไป จะทำให้เกิดช่องว่างในแปลงวัชพืชจะเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดเพิ่มขึ้นอีก

สรรพคุณทางยา :

  • เปลือกต้น รสฝาดเฝื่อนขม ต้มดื่มแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกโลหิต ใช้ทาถูนวด แก้ ปวดตามข้อ
  • เมล็ด ใบ รสฝาดร้อน ต้มใส่เกลืออมแก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน
  • ใบและยาง รสฝาดขมร้อน รับประมานขับเลือด ตัดลูก( ทำให้เป็นหมัน)
  • น้ำมันยาง รสร้อนเมาขื่น ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน รับประทานกล่อม เสมหะ ห้ามหนอง ใช้แอลกอฮอล์ 2 ส่วนกับน้ำมันยาง 1 ส่วน รับประทานขับปัสสาวะ รักษาแผลทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิดระดูขาว แก้โรคทาง
  • เดินปัสสาวะ จิบขับเสมหะ ผสม เมล็ดกุยช่ายคั่วให้เกรียม บดอุดฟันแก้ฟันผุ
  • น้ำมันยางดิบ รสร้อนเมาขื่น ถ่ายหัวริดสีดวงทวารหนักให้ฝ่อ ถ่ายกามโรค ถ่ายพยาธิใน ลำไส้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

1 ความคิดเห็น

  1. พระสังข์ศรัทธารัก มหิดลรพิพันณ
    บันทึก ธันวาคม 21, 2556 ใน 16:17

    ดีครับกำลังหาข้อมูลต่างๆอยู่ครับ

แสดงความคิดเห็น