ยาหม่อง ยาสามัญประจำบ้าน

ยาหม่อง เป็นยาสามัญประจำบ้าน ประกอบด้วยสมุนไพร และตัวยาหลายชนิด มีลักษณะเป็นเนื้อเหลวอ่อนนุ่ม มีทั้งสีเหลือง สีขาว และสีอื่นๆตามส่วนผสม มีกลิ่นหอม นิยมใช้บรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืดตาลาย เมารถ เมาเรือ คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงใช้ทานวดกล้ามเนื้อ แก้อาการปวดบวม อาการเมื่อยล้า ฟกช้ำดำเขียว และแมลงกัดต่อย

ยาหม่องที่มีอยู่ในท้องตลาด มีอยู่หลายยี่ห้อ หลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็น ขี้ผึ้ง และชนิดน้ำ ซึ่งส่วนประกอบในแต่ละยี่ห้อหรือแต่ละรูปแบบก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว ส่วน ประกอบในยาหม่อง มักจะเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) เช่น เมน ทัล (Menthol), การบูร, อบเชย, สะระแหน่ เป็นต้น และนอกจากนี้ยาหม่องบางสูตรอาจมีตัวยา Methyl salicylate (ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง) ผสมอยู่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยอีกด้วย

ส่วนผสมยาหม่อง

  1. การบูรเกล็ด มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว ออกฤทธิ์ร้อน สรรพคุณ ช่วยบรรเทาโรคตาแดง ขับเสมหะ ขับลม
  2. เมนทอล มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอม
  3. พิมเสน มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น มีกลิ่นหอม ใช้สูดดม แก้วิงเวียนศรีษะ ใช้ทาแก้ปวดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก
  4. พาราฟิน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้น้ำมันแข็งตัว
  5. วาสลีน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดความลื่นมัน และสะดวกในการทานวด
  6. สมุนไพร
    น้ำมันระกำ สกัดได้จากเมล็ดระกำ เป็นน้ำมันใส มีกลิ่นหอม มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้เคล็ดขัดยอก
    น้ำมันอบเชย ช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ช่วยในการขับลม
    น้ำมันกานพลู สรรพคุณ แก้ปวดท้อง และช่วยขับเสมหะ
    น้ำมันยูคาลิปตัส สรรพคุณ ลดหวัด ขับเสมหะ ขับลม แก้โรคหอบหืด ช่วยไล่ยุง และแมลง

yamongs

นอกจากนั้น อาจเพิ่มตัวยาบางชนิด เช่น Methyl salicylate สำหรับออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย

ข้อบ่งใช้
1. ใช้สูดดม แก้อาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืดตาลาย
2. ใช้ทานวดกล้ามเนื้อ แก้อาการปวดเมื่อย แก้ฟกช้ำดำเขียว
3. ใช้ทาผิวหนัง ลดอาการปวดจากแมลงสัตว์กัดต่อย

ข้อควรระวัง
1. ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาจเกิดอาการแสบร้อนได้ง่ายหากใช้ปริมาณมาก
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับตา เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองกับลูกตาอย่างรุนแรง อาจทำให้ตาบอดได้
3. การสูดดมในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศรีษะ และการสูดดมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้
4. ไม่ควรใช้กับเด็กทารก

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ของใช้ในชีวิตประจำวัน

แสดงความคิดเห็น