ระกำรับประทานเป็นผลไม้สด และนำมาปรุงรสเปรี้ยวในอาหาร เช่น น้ำพริก ต้มยำ ต้มส้ม ข้าวยำ และอาหารหวาน เช่น น้ำระกำ ระกำลอยแก้ว ไม้ของต้นระกำเมื่อลิดเอาหนามออกใช้กั้นทำเป็นฝาบ้าน ปอกเปลือกไม้ระกำออก เนื้อของไม้ระกำ ใช้ทำจุกขวดน้ำได้ ผิวระกำนำมาสกัดน้ำมันระกำได้ พรรณไม้นี้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในมาเลเซียอินโดนีเซีย และในประเทศไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Salacca rumphii Wall.
ชื่ออื่น ๆ : สะละ, สะลัก (มลายู), สละ (ไทย), ซาเลา (มลายู-นรา), ระกำกอก, กำ (ใต้)
วงศ์ : PALMAE
ลักษณะทั่วไป
ระกำ เป็นพืชตระกูลปาล์ม ซึ่งมีต้นหรือเหง้าเตี้ย ยอดแตกเป็นกอ ใบมีลักษณะยาวเป็นทาง ยาวประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีหนามแหลมยาวประมาณ 1 นิ้ว ออกผลเป็นทะลาย ทะลายหนึ่งมีตั้งแต่ 2-5 กระปุก เปลือกผลมีหนามแข็งเล็ก ๆ อุ้มไปทางท้ายผล ผลหนึ่ง ๆ มี 2-3 กลีบ เป็นส่วนมากเมื่อดิบมีรสฝาดและเปรี้ยว เมื่อสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยว เนื้ออ่อน บาง กลิ่นหอม ฉ่ำน้ำ ลักษณะใกล้เคียงกับสละ แต่ผลป้อมกว่า เมล็ดใหญ่กว่า สีจางกว่า เนื้อจะออกสีอมส้มมากกว่า
การขยายพันธุ์ : โดยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ : ผล และแก่น ใช้เป็นยา
สรรพคุณ :
ผล ใช้กินเป็นยารักษาอาการไอ และขับเสมหะ
แก่น จะมีรสขมหวาน ใช้เป็นยาขับเสมหะ รักษาเลือด รักษากำเดา และรักษาอาการไข้สำประชวร
เนื้อในของต้นอ่อนนุ่ม หยุ่นได้ ใช้ทำจุกขวด ใช้เป็นของเล่นเด็ก เนื่องจากลอยน้ำได้ ใช้เป็นเครื่องประกอบดอกไม้เพลิง และปลูกเป็นรั้วบ้านก็ได้
ระกำเป็นพืชในสกุลเดียวกับสละ มีลักษณะผลคล้ายกันมาก แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าผลระกำอ้วนป้อมกว่า และเมื่อสุกเปลือกจะเป็นสีแดงสดใสกว่าสละ หลังจากต้นระกำติดผลแล้ว ชาวสวนต้องใช้เชือกผูกโยงทลายที่อยู่ใกล้พื้นดินไว้กับลำต้น เพื่อไม่ให้ผลสกปรกจนเกิดการเน่าเสียและเป็นการป้องกันมดหรือปลวกด้วย ผลระกำต้องใช้เวลานาน 7-9 เดือนในการเจริญเติบโต อีกทั้งตามลำต้นมีหนามแหลมอยู่เป็นจำนวนมาก กว่าชาวสวนจะได้ผลผลิตระกำมาจึงต้องลำบากไม่น้อย
ภายใต้เปลือกผลที่เต็มไปด้วยหนามอันแหลมคมของระกำ มีเนื้อนุ่ม ๆ ที่แม้ว่าเมล็ดจะใหญ่และเนื้อบางกว่าสละ แต่ความหอมไม่เหมือนใคร รวมถึงรสเปรี้ยวอมหวาน ก็ทำให้ระกำยังคงเป็นที่นิยมอยู่ จังหวัดที่ปลูกระกำกันมากและขึ้นชื่อว่าระกำมีรสชาติหวานอร่อยกว่าระกำอื่น ๆ ก็คือจังหวัดตราด ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของระกำก็คือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ผลระกำที่ยังไม่สุกจะมีรสเปรี้ยวฝาด สามารถนำไปใช้ปรุงอาหารคาว เพื่อเพิ่มรสชาติได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มยำไก่ใส่ระกำ แกงคั่วหมูระกำ ปลาทูต้มระกำ น้ำพริกระกำ บางครั้งอาจใช้แทนมะนาวหรือมะขามเปียกก็ยังได้
ระกำมีคาร์โบไฮเดรตจากน้ำตาลผลไม้ ให้พลังงานแก่ร่างกายและวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ หลากหลายชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซี สารที่มีส่วนในการควบคุมระดับของเหลวในเซลล์อย่างโพแทสเซียม รวมถึงมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่สำคัญต่อกระดูกและฟันด้วย ระกำยังมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร เป็นยาระบายอ่อน ๆ ขับเสมหะ และแก้อาการไอได้อีกด้วย
ระกำเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี เจริญเติบโตและให้ผลผลิต ได้ทั่วไปในที่ดอนและชุ่มชื้น ระกำเป็นพืชที่ชอบร่มเงาปกคลุม ดังนั้นชาวสวนจึงนิยม ปลูกพืชขนาดใหญ่อื่น ๆ ให้ร่มเงาแก่ระกำ ระกำจะให้ผลผลิตมากในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ระกำเป็นพืชขึ้นทั่วไป ในพื้นที่ป่าของจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง ต่อมาได้มีการนำระกำมาปลูกในสวน และปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ดีขึ้น โดยเฉพาะ จังหวัดตราด เกษตรกรนิยมปลูกระกำกันมาก จนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า คือ “ระกำหวานเมืองตราด” ซึ่งจะมีการจัดงานเทศกาลระกำหวานเป็นประจำทุกปี
เอกสารอ้างอิง :
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. 2536. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. กรุงเทพ ฯ : พิมพ์ครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์สุริยบรรณ.
ป้ายคำ : ผลไม้