ลองกอง ผลไม้ใต้ยอดนิยม

13 เมษายน 2558 ไม้ผล 0

ลองกอง เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดกลาง เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดีในเขตที่มีสภาพอากาศร้อนชื้น ลองกองเป็นพืชที่ชอบร่มเงาและไม่ชอบลมแรง อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศสูงประมาณ 75-85 % ดินควรมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ประมาณ 5.5-6.5 และที่สำคัญควรปลูกในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง

ลองกอง เป็นลางสาดพันธุ์หนึ่ง เป็นชนิดที่เปลือกหนาและยางน้อย เชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากบริเวณหมู่เกาะมลายู อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของไทย เรียกได้หลายชื่อ อาทิ ลังสาด, ดูกู โดยชื่อ ลางสาด หรือ ลังสาด นั้นมาจากภาษามาเลย์ว่า langsat, ชื่อ ดูกู มาจากภาษาอินโดนีเซียว่า duku ส่วนชื่อ ลองกอง มาจากภาษายาวีว่า ดอกอง ลองกองเป็นผลไม้ที่ปลูกมากในภาคใต้ โดยเฉพาะ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แหล่งผลิตที่สำคัญที่มีชื่อเสียง คือ ลองกอง ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นแหล่งผลิตลองกองคุณภาพดี เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ

longgong

ลองกองเป็นผลไม้ที่เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น มีผลทรงกลม ติดผลเป็นช่อ ผลสุกเปลือกสีเหลือง เนื้อในสีขาวใส แบ่งเป็นกลีบ รสหวานหรืออาจอมเปรี้ยวเล็กน้อย และเนื่องจากลองกองไม่สามารถเก็บมาบ่มให้สุกได้ จึงต้องเก็บจากต้นในระยะเวลาที่เหมาะสม คือหลังจากผลเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอมเหลืองประมาณ 15-25 วัน เคล็บลับในการแกะเปลือกลองกองคือใช้เล็บจิกตรงกลางก้นผล เพราะเปลือกจะบางกว่าและมียางน้อยกว่าตรงขั้วผล แล้วจึงค่อยฉีกเปลือกออกตามแนวยาวไปยังขั้ว

ลองกองเป็นผลไม้ที่นิยมกินผลสด มากกว่าจะนำไปแปรรูป คุณค่าสารอาหารที่จะได้รับจากการกินลองกอง ได้แก่ แคลเซียมและฟอสฟอรัสซึ่งจะทำงานร่วมกัน ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง จึงช่วยป้องกันสภาวะกระดูกพรุน วิตามินซีช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงสารคาเทชินซึ่งเป็นสารโพลีฟีนอลที่มีคุณสมบัติช่วยลดอาการอักเสบและลดระดับคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ลองกองยังมีแมกนีเซียม โพแทสเซียม ทองแดง รวมไปถึงเส้นใยอาหารด้วย

วงศ์: Meliaceae
สกุล: Lansium
ชนิด: L. domesticum

ลองกองมีสรรพคุณช่วยลดความร้อนในร่างกาย แต่ถ้ากินมากไปอาจทำให้เกิดอาการร้อนในได้ เนื้อหวาน ๆ ของลองกองมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกาย แต่ผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรกินในปริมาณจำกัด ขณะที่เมล็ดสีเขียวของลองกองที่เราคายทิ้งนั้น คนโบราณใช้เป็นยาขับพยาธิ และปัจจุบันมีผู้นำไปใช้กำจัดและควบคุมหนอนและแมลงในแปลงผัก ด้วยวิธีบดเมล็ดให้ละเอียด 0.5 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ค้างคืน กรองเอาแต่น้ำ ผสมสารจับใบ แล้วนำไปฉีดพ่นตามแปลงผัก ส่วนเปลือกลองกองก็อย่าทิ้ง เพราะนำไปเผาไฟไล่ยุงได้

longgongsuanlonggongchor longgongkinglonggongbialonggongs

การผลิตลองกอง
1. พันธุ์ของลองกองแบ่งออกเป็น 3 พันธุ์

  • 1.1 ลองกอง มีลักษณะเปลือกค่อนข้างหนา ผิวหยาบเล็กน้อย ผลกลม ช่อ ยาว แน่น เนื้อมีรสหวานหอม มีเมล็ดน้อย ขนาดเมล็ดค่อนข้างใหญ่ ส่วนใหญ่มีรอยแตกร้าว จึงเพาะ กล้าได้หลายต้น ใบมัน นูน เป็นคลื่น
  • 1.2 ลองกองน้ำ ลักษณะเปลือกค่อนข้างบาง ผิวคล้ายลองกอง ผลจะนุ่มกว่า ลองกอง เนื้อมีรสจืด มีน้ำมาก มีเมล็ดน้อย กลมรีมีรอยแตกร้าวเล็กน้อยใบคล้ายลองกองมาก ใบ เลี้ยงลักษณะคล้ายใบโพธิ์
  • 1.3 ลองกองปาลาเม มีเปลือกบางผิวละเอียด ผลกลมรีช่อไม่แน่น คล้ายลางสาด เนื้อมีรสหวานหอม มีเมล็ดน้อยและขนาดเล็กมีรอยแตกร้าวคล้ายเมล็ดลองกองใบคล้ายลางสาด แต่สั้นกว่า มีคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลมเหมือนหางเต่า

2. การเลือกต้นพันธุ์ลองกองที่จะนำมาปลูก

  • 2.1 ต้นกล้า (จากการเพาะเมล็ด) ควรคัดเมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ที่มีทรงพุ่มแข็งแรง ออกดอก สม่ำเสมอ ผลดกมีรสชาติดี ต้านทานต่อโรคและแมลงซึ่งการปลูกด้วยต้นเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตช้ากว่า การขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ
  • 2.2 ต้นพันธุ์ที่ได้จากการขยายพันธุ์ไม่อาศัยเพศ
    – 2.2.1 การทาบกิ่ง โดยใช้ต้นตอลางสาดหรือดูกู ซึ่งนิยมใช้ วิธีการทาบกิ่งแบบฝานบวบแปลง
    – 2.2.2 การเสียบกิ่งมี 2 แบบ การเสียบข้าง (Side grafting) และการเสียบยอด (cleft grafting)ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ใช้ต้นตอเป็นลองกอง
    – 2.2.3 การติดตา (Budding) นิยมการติดตาแบบเพลท (Plate budding) ปัจจุบันไม่นิยม

3. ต้นกล้าที่ปลูกควรมีอายุ 1-1.5 ปี และควรมีใบแก่ทั้งต้น เพราะจะทำให้ ลองกองสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี
4. หลังจากปลูกแล้วควรทำร่มเงาพรางแสง และควรคลุมโคนต้นด้วยเศษ หญ้าหรือใบไม้
5. การเลือกพื้นที่ปลูกควรเป็นดินร่วนระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง
6. ระยะปลูกที่เหมาะสม 4×6, 6×6 และ 6×8 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่นั้น ๆ แต่แนวแถวควรอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้เพื่อหลีกเลี่ยงการบังแสงจากต้นข้างเคียง

longgongkla

ขั้นตอนการปฏิบัติในสวนลองกอง
การปลูกและการดูแลรักษาลองกองก่อนออกดอก
การเตรียมพื้นที่ปลูก

  1. เลือกพื้นที่ปลูก ควรเป็นพื้นที่ราบ น้ำไม่ท่วมขัง ดินเป็นดินร่วน ระบายน้ำได้ดี
  2. กำหนดระยะปลูกที่เหมาะสม 4×6 เมตร หรือ 6×6 เมตร หรือ 6×8 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่
  3. การเตรียมหลุมปลูกควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยสูตร 0-3-0 (Rock phosphate)ผสมกับดินเดิมก่อนปลูก
  4. วางแผนเกี่ยวกับการวางระบบน้ำ

การเตรียมต้นเพื่อปลูกและช่วงเวลาควรปลูก

  1. ควรใช้ต้นกล้าที่มีอายุ 1-1.5 ปี และมีใบแก่ทั้งต้น
  2. เลือกต้นที่แข็งแรง สมบูรณ์
  3. ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
  4. ทำร่มเงาพรางแสงหลังจากปลูก

longgongdib

การตัดแต่งกิ่งเพื่อสร้างทรงพุ่ม

  1. ต้นลองกองหลังจากปลูก ตัดยอดเมื่อต้นสูงประมาณ 1.-1.5 เมตร
  2. ตัดกิ่งที่ไม่ต้องการ รวมทั้งส่วนยอดที่สูงกว่า 1.5 เมตร ออก
  3. เลือกกิ่งแขนงที่แข็งแรง 4 -6 กิ่ง กิ่งที่อยู่ต่ำสุดควรสูงจากพื้นดิน 80 เซนติเมตร
  4. เลือกกิ่งที่ทำมุมกว้าง ตัดแต่งให้ทรงพุ่มโปร่ง และตัดกิ่งที่ทำมุมแคบกับลำต้นออก
  5. ตัดกิ่งยอดและกิ่งกระโดงที่แตกขึ้นมาใหม่
  6. กำหนดแนวทรงพุ่มให้อยู่ในกรอบของ 4 เมตร หรือแนวทรงพุ่มที่ต้องการ

การให้น้ำ
– การให้น้ำปีแรกที่ปลูกควรให้อย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุ 2-3 ปี ควรให้สัปดาห์ ละ 2 ครั้ง

การให้ปุ๋ย (ปุ๋ยอินทรีย์)

  1. ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก) ใส่ปีละ 2 ครั้ง อัตรา 10-15 กก./ต้น/ปี
  2. ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับใส่ปุ๋ย คือต้นและปลายฤดูฝน

การกำจัดศัตรูพืช

  1. กำจัดวัชพืชรอบ ๆ โคนต้น และในสวนลองกอง
  2. กำจัดแมลงศัตรู เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย แมลงค่อมทอง ตั๊กแตน หนอนชอนใบ
  3. โรครากเน่า โรคราขาว โรคราสีชมพู

ขั้นตอนการปฏิบัติ ในสวนลองกองที่ให้ผลผลิตแล้ว การจัดการลองกองช่วงให้ดอก ผล แล การเก็บผล
การดูแลรักษาลองกองก่อนออกดอกหรือหลังเก็บเกี่ยว

  1. การตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรตัดกิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรคกิ่งแขนง กิ่งกระโดง และตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งแสงสามารถส่องผ่านเข้าในพุ่มได้
  2. การให้ปุ๋ยก่อนออกดอก 1-2 เดือน ใส่ปุ๋ย อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น
  3. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้น
  4. งดการให้น้ำอย่างน้อย 30-45 วัน
  5. สังเกตพบใบเหี่ยวเวลาเช้า และการแทงช่อดอกของลองกอง
  6. เริ่มให้น้ำหลังพบลองกองเริ่มแทงช่อดอก
  7. ช่อดอกยาว 2-3 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ย อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น และให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
  8. ฉีดพ่น สารไล่แมลง ฉีดพ่นทางใบให้ทั่วทรงพุ่มอัตราต้นละ 10 ลิตร สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพลองกองโดยลองกองมีน้ำหนักช่อ ความยาวช่อ และจำนวนผลต่อช่อเพิ่มขึ้น

longgongpoung

การตัดแต่งช่อดอก

  1. ตัดช่อดอกครั้งแรกเมื่อช่อดอกยาว 3-5 เซนติเมตร เหลือ 1-2 ช่อดอกต่อ กลุ่มตาดอก
  2. ตัดแต่งระยะห่างช่อดอก 20-30 เซนติเมตร
  3. อัตราช่อดอกต่อกิ่ง
    – เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ไว้ดอก 3-5 ช่อ
    – เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว ไว้ดอก 10-15 ช่อ
  4. หลังตัดแต่งช่อดอกควรให้สม่ำเสมอ

longgongton

ขั้นตอนการปลูกและปฏิบัติดูแลรักษาลองกอง
ระยะก่อนออกดอก (ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์)

  1. ใส่ปุ๋ย
  2. ตัดแต่งกิ่งแขนง
  3. ให้น้ำสม่ำเสมอ

ระยะพัฒนาผล (ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม)

  1. ตัดแต่งช่อผล 2-3 สัปดาห์ และ 7-8 สัปดาห์หลังดอกบาน
  2. เลือกช่อผลที่สมบูรณ์
  3. ใส่ปุ๋ย อัตรา 1-2 กก./ต้นและให้น้ำสม่ำเสมอ

ระยะหลังเก็บเกี่ยว (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม)

  1. ตัดแต่งกิ่งและขั้วช่อดอก
  2. ใส่ปุ๋ย 2 กก/ต้น/ปี ใส่ปุ๋ยคอก 20-25 กก/ต้น/ปี
  3. ป้องกันกำจัดโรคแมลง
  4. ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

ระยะแทงช่อดอก (ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม)

  1. กำจัดวัชพืชรอบโคนต้นให้สะอาด
  2. งดน้ำอย่างน้อย 30-45 วัน
  3. สังเกตใบลองกองเหี่ยว ให้น้ำเต็มที่ 1 ครั้ง
  4. เมื่อเห็นตาดอกเริ่มให้น้ำสม่ำเสมอ
  5. ใส่ปุ๋ย อัตรา 1 กก./ต้น
  6. พ่นน้ำส้มควันไม้ และน้ำหมัก เพื่อยืดช่อ
  7. ตัดแต่งช่อดอกเหลือ 1-2 ช่อ ดอก/กลุ่มดอก ระยะช่อห่าง 25-30 ซ.ม.

ระยะเก็บเกี่ยว (ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม)

  1. เก็บช่อผลอายุ 13-15 สัปดาห์
  2. ก่อนเก็บควรชิมผลที่ปลายช่อ
  3. บีบผลปลายช่อรู้สึกนิ่ม
  4. ควรเก็บในช่วงอุณหภูมิต่ำช่วงเช้าหรือเย็น

ที่มา
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น