วนเกษตรมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Agroforestry ซึ่ง Mr.John Bene ชาวแคนนาดาเป็น ผู้บัญญัติไว้ในปี พ.ศ. 2518 โดยอธิบายว่า เป็นระบบการจัดการที่ยั่งยืนต่อที่ดินให้เพิ่มผลผลิตร่วม (เพิ่มศักดิ์และคณะ, 2536) วนเกษตรเป็นคำที่ใช้เรียกรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งในระดับภูมิทัศน์และระดับฟาร์ม ซึ่งช่วยสร้างสมดุลทั้งด้านการผลิต การอนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อมโดยผสมผสานไม้ยืนต้นรูปแบบต่างๆ ลงในพื้นที่(มณฑล และคณะ, 2547) วนเกษตรในระดับฟาร์มส่วนใหญ่ผู้ปฎิบัติเป็นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ในภาคใต้ระบบการทำฟาร์มวนเกษตรมีมายาวนานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงแต่ก็ยังพบเห็นได้ ดังเช่น การทำสวน สมรม ซึ่งเป็นการปลูกผสมผสานไม้ยืนต้นพืชยังชีพท้องถิ่นในพื้นที่ของเกษตรกร เช่น สะตอ เหรียง เนียง นาง ละมุด มะปริง มะพร้าว ไผ่ตง ชะมวง เป็นต้น แต่ด้วยสถานการบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงประกอบกับนโยบายพัฒนาประเทศที่มีผลต่อวนเกษตรแบบดั้งเดิม เพราะเกษตรกรบางส่วนต้องใช้พื้นที่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ประกอบกับยางพาราในปัจจุบันมีราคาสูงมากเมื่อเปรียบเทียบราคาผลผลิตกับพืชชนิดอื่นๆ จึงเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรปลูกยางพารามากขึ้น ซึ่งยางพาราเป็นไม้ยืนต้นอายุยืน(20-25ปี) และถือเป็นพืชที่มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคใต้มาโดยตลอด เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายชีวภาพไว้ให้เกิดประโยชน์ การเสนอรูปแบบวนเกษตรยางพารา จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาความยากจนแก่เกษตรกรรายย่อยหรือชาวสวนยางขนาดเล็ก ให้มีความยั่งยืนต่อคุณภาพชีวิตทั้งในระดับครัวเรือน และระดับสังคม ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาให้ประเทศชาติด้วยในภาพรวมทั้งทางตรงและทางอ้อม
การทำสวนยางพาราเพื่อพึ่งพาตนเองเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ปลูกสร้างสวนยาง เพื่อเป็นการพื้นฟูธรรมชาติ และเป็นการประยุกต์การทำการเกษตรในแนวทางทฤษฏีใหม่ตามพระราชดำริ อีกทางหนึ่ง
ต้นยางพาราจัดว่าเป็นไม้ป่าประเภทหนึ่ง การปลูกสร้างสวนยางพาราก็เป็นการสร้างป่าอีกรูปแบบหนึ่ง แต่การปลูกพืชชนิดเดียว จะทำให้ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นการปลูกยางพาราแบบยั่งยืน จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมชาติภายในระบบนิเวศน์สวนยางนั้นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลและเหมาะสม
วนเกษตร หมายถึง การทำกิจกรรมหลายๆ อย่างผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน พัฒนาขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของที่ดินในชนบท เป็นหลักประกันว่าพื้นที่ในชนบทจะได้ประโยชน์เพื่อการเพาะปลูกสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของเกษตรกร คือ ปัจจัย 4 ได้แก่ พืชอาหารผลไม้ ยาสมุนไพร พลังงาน ไม้ใช้สอยสร้างบ้านเรือน และไม้ยืนต้นที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกิดประโยชน์หลายอย่างแบบต่อเนื่อง โดยคงความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสภาพแวดล้อมไว้ นั่นหมายความว่าเรายึดไม้ยางพาราเป็นไม้หลัก(ประธาน) แล้วปลูกพืชเสริมเข้าไปในสวนยางพารา ซึ่งแบ่งได้ 4 ชนิด คือ
1. พืชล้มลุก
2. พืชอายุสั้น ไม้ผล
3. ไม้ยืนต้นหรือไม้ใช้สอย
4. พืชที่เป็นยารักษาโรค
ซึ่งหลักในการพิจารณาทั่วไป จะต้องเลือกปลูกพืชที่มีความสูงของเรือนยอดต่างๆ อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน โดยแบ่งความสูงออกเป็น 3 ระดับ คือ
ประเภทต้นสูง เช่น ประดู่ ไม้เคี่ยม พะยอม ไม้สัก เหลียง สะตอ เนียง
ประเภทโตปานกลาง หรือไม้พุ่ม เช่น มะม่วง มะนาว ผักหวาน ชะมวง หรือ เหลียง
ประเภทพืชชั้นล่างที่ทนร่ม เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ บัวบก บอน กระชาย ขมิ้น ชะพูล และเห็ด หรือในแถวยางระหว่างต้นยางพารา อาจปลูกพืชสวนครัวไว้เป็นอาหารก็ได้เช่นกัน
สิ่งที่ต้องคำนึง ต้องเลือกปลูกให้เหมาะสมและเข้ากับระบบนิเวศน์สวนยางพาราได้โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันแต่พึงพาอาศัยกันและกัน การเลี้ยงสัตว์ ในระบบวนเกษตรสวนยางพาราควรเลือกเลี้ยงสัตว์บก เช่น วัวนม หมู ไก่ เป็ด และหากจะเลี้ยงสัตว์นำ้ ควรเลี้ยงเฉพาะปลากินพืช เช่น ปลาตะเพียน ปลานิล ปลาทับทิม โดยการขุนท้องร่องในระหว่างแถวยาง โดยขยายให้ระยะระหว่างแถวห่างกว่าปกติ เช่นอาจจะเป็น 10-12เมตร และระยะระหว่างต้นชิดกว่าปกติ เช่น 2.5 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับแรงงาน เงินทุน และพื้นที่ ตลอดจนอาหารบางส่วนที่ได้จากในแปลงพืช เพื่อเป็นรายได้เสริม และเป็น
การวางแผนปลูกยางพาราที่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นแนวคิดซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากการศึกษาโดยโครงการวิจัยการเพิ่มผลผลิตในสวนยางขนาดเล็กภายใต้ระบบวนเกษตรได้พบรูปแบบของการทำวนเกษตรในสวนยางพาราในภาคใต้หลายรูปแบบ ดังเช่น ลองกองร่วมยาง มังคุดร่วมยาง สิเหรงร่วมยาง กะพ้อร่วมยาง ทังร่วมยาง สะตอร่วมยาง สะเดาเทียมร่วมยาง กล้วยแซมยาง สับปะรดแซมยาง พริกแซมยาง ฯลฯ และโครงการวิจัยฯได้ศึกษา สนับสนุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชาวบ้านด้วยการสร้างแปลงตัวอย่าง ในการทำวนเกษตรยางพารา เช่น สับปะรดแซมยาง สะเดาเทียมร่วมยาง ฝรั่งร่วมยาง สิเหรงร่วมยาง ทั้งนี้เพื่อหวังให้เกิดความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนิวัฒน์ เรืองพาณิช (2542) กล่าวว่า ความหลากลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยที่ชักนำให้เกิดความมั่นคงและทำให้มีความยั่งยืน
ระบบวนเกษตรสามารถทำได้ในทุกช่วงอายุของยางพารา ตั้งแต่ 1 ปีแรกไปจนสิ้นสุดการเก็บผลผลิตยาง ในช่วงแรกพืชอายุสั้นและต้องการแสงแดดมากจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทั้งพืชผักและพืชคลุมดิน พืชล้มลุก เช่น พริก มะระ มะเขือ สับปะรด มันขี้หนู ฯลฯ ตามความชอบของเกษตรกร ราคาผลผลิต และความเหมาะสมของพื้นที่ เมื่อยางมีอายุมากขึ้นและพร้อมให้ผลผลิตเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตจากยางพาราและสามารถเพิ่มรายได้ในพื้นที่ด้วยการปลูกพืชทนร่มอื่นร่วม เช่น เหมียง หมากแดง กระพ้อ ดาหลา กระวาน เป็นต้น จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีเฉพาะยางพาราอย่างเดียว
บางกรณีในระยะหลังของการให้ผลผลิต เมื่อยางพารามีอายุมากและให้ผลผลิตน้ำยางน้อยลงเกษตรกรบางคนจะปลูกไม้ผลยืนต้นที่ตนเองสนใจ ก่อนการตัดต้นยางขายไม้ 2-5 ปี รูปแบบที่พบเห็นได้มาก คือ ปลูกลองกอง ปลูกมังคุด เป็นต้น และเมื่อต้นไม้เหล่านี้โตในระดับที่ต้องการปริมาณแสงมากขึ้นเพื่อเจริญเติบโตและสามารถให้ผลผลิตได้ เกษตรกรจะตัดต้นยางเพื่อขายไม้ การวางแผนเพาะปลูกในลักษณะนี้จะไม่ขาดรายได้ เพราะขณะที่รอผลผลิตจากไม้ผลก็สามารถได้ผลผลิตจากยางพาราในช่วงหลังอยู่ และยังมีรายได้จากการตัดไม้ยางขายได้อีกเช่นกัน แต่รูปแบบนี้มีข้อจำกัดที่ขั้นตอนการตัดต้นยาง เพราะถ้าผู้ตัดไม่มีความชำนาญอาจทำให้ล้มทับไม้ผลที่ปลูกอยู่เกิดความเสียหายได้
นอกจากการปลูกพืชร่วมและแซมในระยะปกติแล้ว(ระยะ 3×7 เมตร) ยังสามารถพบเห็นการขยายระยะปลูกของยางพารา(ระยะ 6×2.5×14 เมตร)เพื่อปลูกพืชร่วมยาง การปลูกยางรูปแบบนี้จะเหมาะกับการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นควบไปพร้อมกับการปลูกยางพาราในพื้นที่เดียวกัน พืชร่วมที่สามารถพบเห็นในรูปแบบนี้ ได้แก่ สะตอ มังคุด ลองกอง ทุเรียน เงาะ สละ เทพทาโร สะเดาเทียม ระบบนี้สามารถลดความเสี่ยงจากราคายางพาราได้ หากราคายางลดลงมากก็ยังมีรายได้จากพืชชนิดอื่น ทำให้เกิดการยืดหยุ่นในการประกอบอาชีพ รูปแบบที่ต่างจากการปลูกในลักษณะของพืชร่วมและพืชแซมในแปลงนั้น สามารถพบเห็นแปลงวนเกษตรยางพาราในรูปแบบของการปลูกพืชอื่นเป็นแนวกันลมหรือเป็นขอบเขตรอบๆแปลงยางพารา พืชที่พบในรูปแบบแบบนี้ เช่น สะเดาเทียม ไม้ไผ่ สิเหรง สะตอ เป็นต้น การเลือกพืชปลูกในรูปแบบต่างๆ นั้นเกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้พืชตามความสนใจของเกษตรกรเองและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีอยู่และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การเสนอแนะตามรูปแบบและตัวอย่างที่กล่าวมานั้น อาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำไปปลูกร่วมยางพาราในภูมิภาคอื่น จึงควรประยุกต์ใช้ให้เข้ากับพืชพรรณที่เจริญเติบโตได้ดีและเป็นจุดเด่นของภูมิภาคตนมาร่วมหรือแซมยางพารา และควรเผยแพร่ภูมิปัญญาชาวบ้านภาคใต้เกี่ยวกับการทำวนเกษตรยางพารา สู่กลุ่มเกษตรกรสวนยางรายใหม่ในภูมิภาคอื่นๆของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชี้แนะให้เกษตรกรเข้าใจว่ายางพาราไม่สามารถให้ผลผลิตได้ทุกวันตลอดปีภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เช่น ฝนตก ต้นยางผลัดใบ หรือยางพาราอยู่ในช่วงที่ยังกรีดไม่ได้ หากเกษตรกรรายใหม่ไม่รู้จักวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน หวังพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไปจะทำให้สังคมมีความอ่อนแอ และชักนำสู่ความอดอยากและยากจนได้ การใช้วิธีวนเกษตรอนุรักษ์พืชยังชีพประจำถิ่นร่วมยางหรือแซมยางไว้ จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องได้ในระยะที่ยางยังไม่ถึงอายุกรีดซึ่งเกษตรกรยังไม่มีรายได้จากยาง หรือแม้แต่เกษตรกรมีรายได้จากยางแล้วหากมีพืชร่วมยางก็จะช่วยทำให้เกิดรายได้เสริม ในขณะเดียวกันทำให้มีงานทำหลังเสร็จสิ้นงานกรีดยางแล้ว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเที่ยวเตร่หรือเล่นการพนัน เป็นต้น ดังนั้นวนเกษตรยางพาราจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกร และประเทศชาติได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เกษตรกรจะทำได้ดีหรือประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้น ควรเลือกชนิดพืชหรือสัตว์เพื่อเข้าร่วมระบบที่ตนเองเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการยังชีพ มีคุณค่าต่อประเพณีหรือมีราคาขายในตลาดสูง รวมกระทั้งตนเองมีความถนัด และมีความรู้มีความเข้าใจพืชนั้นๆ ดีอยู่แล้ว ก็เชื่อว่าจะทำให้ประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ได้โดยง่าย ดังเช่น ลองกองร่วมยางอาจจะเหมาะสมที่จะทำวนเกษตรยางพาราในภาคใต้ได้ดีแต่อาจจะไม่เหมาะกับภาคเหนือ หรือภาคอีสาน ซึ่งวนเกษตรยางพาราของภาคเหนืออาจจะปลูกลำไยร่วมยาง ลิ้นจี่ร่วมยาง ลำไยร่วมยาง มะแข่นร่วมยาง มะม่วงร่วมยาง มะขามหวานร่วมยาง เหล่านี้เป็นต้น