น้ำมันหอมระเหย ( Essential Oil) คือ น้ำมันที่พืชสร้างขึ้นและเก็บไว้ในส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ดอก ใบผล ลำต้น ตลอดจนเมล็ดซึ่งจะพบแตกต่างกันไปในพืชแต่ละชนิด คุณสมบัติที่เด่นชัด คือ มีกลิ่นหอมและระเหยได้ง่ายที่อุณหภูมิปกติ น้ำมันหอมระเหยเป็นกลุ่มสารอินทรีย์ กลิ่นดังกล่าวไม่จำเป็นต้องหอมเสมอไป สะสมอยู่ในบริเวณผนังเซลล์จากพืช เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโต ซึ่งประกอบด้วย 2 ขบวนการ คือ การเผาผลาญ (catabolism) และการสร้าง (anabolism) ปริมาณและคุณภาพน้ำมันหอมระเหยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ดิน ภูมิอากาศ อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความสูงจากระดับน้ำทะเล การเก็บเกี่ยว ตลอดจนเทคนิค และวิธีการสกัดและการกลั่นใส
ปัจจุบันน้ำมันหอมระเหยกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์เพิ่มขึ้น และมีบทบาทอย่างกว้างขวางในวงการอุตสาหกรรม ทั้งทางด้านบริโภคและอุปโภค และที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่าในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ตื่นเช้าขึ้นมา ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ หวีผม แต่งหน้า ล้วนแล้วแต่ใช้ในเครื่องอุปโภคช่วยปรุงแต่งด้วยน้ำมันหอมระเหย และเครื่องหอมทั้งสิ้น นับตั้งแต่ สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม น้ำมันใส่ผม โลชั่น โคโลญจ์ เป็นต้น และปัจจุบันประเทศไทยต้องสั่งน้ำมันหอมระเหยและกลิ่นต่างๆ เข้ามา คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท
สมัยโบราณมนุษย์มีวิธีการสกัดแยก “น้ำมันระเหย” ออกจากพืช โดยเก็บพรรณไม้หอมนานาชนิด แข่น้ำทิ้งไว้จนน้ำมีกลิ่นหอมของพรรณไม้ แล้วนำไปดื่มและอาบ ต่อมาจึงมีวิวัฒนาการมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้มีวิธี “การผลิต การสกัด น้ำมันหอมระเหย” ตั้งแต่ขั้นตอนที่ง่ายดายจนถึงวิธีการที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ถึง 6 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งการที่จะสกัด “น้ำมันหอมระเหย” ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุดนั้น จำเป็นต้องศึกษาธรรมชาติและสรีระของพรรณไม้ชนิดนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตามการแยก “น้ำมันหอมระเหย” ออกมาจากพืชที่ทำกันมากที่สุดก็คือ การกลั่น (Distillation), การสกัดด้วยไขมันเย็น (Enflourage), การสกัดด้วยไขมันร้อน (Maceration), และการสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent extraction)
วิธีการผลิต การสกัด น้ำมันหอมระเหย มีดังนี้คือ
1. การกลั่นน้ำมันหอมระเหย (distillation)
การกลั่นเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในการสกัดน้ำมันหอมระเหย หลักการของการกลั่น คือ ใช้น้ำร้อนหรือไอน้ำเข้าไปแยกน้ำมันหอมระเหยออกมาจากพืช โดยการแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อพืช ความร้อนจะทำให้สารละลายออกมากลายเป็นไอ ปนมากับน้ำร้อนหรือไอน้ำ อย่างไรก็ดี การกลั่นเพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดีนั้น ต้องอาศัยเทคนิคและขบวนการทางเคมีและกายภาพหลายอย่างประกอบกัน โดยทั่วๆ ไป เทคนิคการกลั่นน้ำมันหอมระเหยที่ใช้กันอยู่มี 3 วิธี ได้แก่
1.1 การกลั่นด้วยน้ำร้อน (Water distillation & Hydro distillation) เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดของการกลั่นน้ำมันหอมระเหย การกลั่นโดยวิธีนี้ พื้นที่กลั่นต้องจุ่มในน้ำเดือดทั้งหมด อาจพบพืชบางชนิดเบา หรือให้ท่อไอน้ำผ่านการกลั่น น้ำมันหอมระเหยนี้ใช้กับของที่ติดกันง่ายๆ เช่น ใบไม้บางๆ กลีบดอกไม้อ่อนๆ
ข้อควรระวังในการกลั่นโดยวิธีนี้คือ พืชจะได้รับความร้อนไม่สม่ำเสมอ ตรงกลางมักจะได้ความร้อนมากกว่าด้านข้าง จะมีปัญหาในการไหม้ของตัวอย่าง กลิ่นไหม้จะปนมากับน้ำมันหอมระเหยและมีสารไม่พึงประสงค์ติดมาในน้ำมันหอมระเหยได้ วิธีแก้ไข คือ ใช้ไอน้ำ หรืออาจใช้ closed steam coil จุ่มในหม้อต้ม แต่การใช้ steam coil นี้ไม่เหมาะกับดอกไม้บางชนิด เพราะเมื่อกลีบดอกไม้ถูก steam coil จะหดกลายเป็น glutinous mass จึงต้องใช้วิธีใส่ลงไปในน้ำ กลีบดอกไม้จะสามารถหมุนเวียนไปอย่างอิสระใน การกลั่น เปลือกไม้ก็เช่นกัน ถ้าใช้วิธีกลั่นด้วยน้ำ น้ำจะซึมเข้าไปและนำกลิ่นออกมา หรือกลิ่นจะแพร่กระจายออกจากเปลือกไม้ได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การเลือกใช้วิธีการกลั่นจึงขึ้นกับชนิดของพืชที่นำมากลั่นด้วย
1.2 การกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ (water and steam distillation) การกลั่นโดยวิธีนี้ใช้ตะแกรงรองของที่จะกลั่นให้เหนือระดับน้ำในหม้อกลั่น ต้มให้เดือด ไอน้ำจะลอยตัวขึ้นไปผ่านพืชหรือตัวอย่างที่จะกลั่น ส่วนน้ำจะไม่ถูกกับตัวอย่างเลย ไอน้ำจากน้ำเดือดเป็นไอน้ำที่อิ่มตัว หรือเรียกว่า ไอเปียก ไม่ร้อนจัด เป็นการกลั่นที่สะดวกที่สุด คุณภาพของน้ำมันออกมาดีกว่าวิธีแรก การกลั่นแบบนี้ใช้กันอย่างกว้างขวางในการผลิตน้ำมันหอมระเหยทางการค้า
1.3 การกลั่นด้วยไอน้ำ (direct steam distillation) วิธีนี้ วางของอยู่บนตะแกรงในหม้อกลั่น ซึ่งไม่มีน้ำอยู่เลย ไอน้ำภายนอกที่อาจจะเป็นไอน้ำเปียก หรือไอร้อนจัดแต่ความดันสูงกว่าบรรยากาศ ส่งไปตามท่อใต้ตะแกรง ให้ไอผ่านขึ้นไปถูกกับของบนตะแกรง ไอน้ำต้องมีปริมาณเพียงพอที่จะช่วยให้น้ำมันแพร่ระเหยออกมาจากตัวอย่าง ตัวอย่างบางชนิดอาจใช้ไอร้อนได้ แต่บางชนิดก็ใช้ไอเปียก น้ำมันจึงจะถูกปล่อยออกมา
ข้อดีของการกลั่นวิธีนี้ คือ สามารถกลั่นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเอาพืชใส่หม้อกลั่นไม่ต้องเสียเวลารอให้ร้อน ปล่อยไอร้อนเข้าไปได้เลย ปริมาณของสารที่นำเข้ากลั่นก็ได้มาก ปริมาณทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยมาก
การกลั่นทั้ง 3 วิธี ผู้ปฏิบัติควรพิจารณาด้วยว่า การแพร่กระจายของน้ำมันหอมระเหยและน้ำร้อยผ่านเยื่อบางๆ ของพืช การไฮโดรไลซ์สาร องค์ประกอบต่างๆ เนื่องจากสัมผัสกับน้ำตลอดเวลา ตลอดจนการสลายตัวของสารในน้ำมันหอมระเหย อันเนื่องมาจากความร้อนถึงแม้ว่าก่อนนำพืชมากลั่นจะต้องหั่นหรือทำให้เซลล์แตกก่อน เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยออกมาจากเซลล์ได้ง่าย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีน้ำมันหอมระเหยบางส่วนที่อยู่ที่ผิวและถูกทำให้กลายเป็นไออย่างรวดเร็วด้วยไอน้ำ น้ำมันส่วนที่เหลือภายในจะออกมาสู่ผิวได้ โดยการซึมผ่านผนังบางๆ ของพืช และจะดำเนินไปได้ดีที่อุณหภูมิสูง สารประกอบพวกเอสเทอร์จะถูกไฮโดรไลซ์ให้เป็นกรด และแอลกอฮอล์ได้ง่าย ดังนั้น เพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพดีที่สุด ควรกลั่นที่อุณหภูมิต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ หากได้น้ำมันน้อย ควรใช้อุณหภูมิสูงขึ้น ใช้เวลาให้สั้นที่สุด การกลั่นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ วัดอุณหภูมิและเวลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสมที่สุด
ในการกลั่นน้ำมันหอมระเหยทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถทำเองได้ อุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับใช้กลั่น มี 3 อย่าง คือ หม้อกลั่น (still) เครื่องควบแน่น (condenser) และภาชนะรองรับ (receiver) การกลั่นด้วยไอน้ำจะต้องมีหม้อต้มน้ำ (boiler) สำหรับทำไอน้ำเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง
การกลั่นดังกล่าวแม้จะเป็นวิธีที่ใช้กันมาก แต่มีข้อเสียหลายประการอันเนื่องมาจากความร้อนทำให้ปฏิกิริยาสลายตัวต่างๆ เกิดขึ้น กลิ่นที่ได้อาจผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ สารประกอบบางตัวในน้ำมันหอมระเหยที่ละลายได้ดี มีจุดเดือดสูง จะไม่ถูกพามาโดยไอน้ำ ดังนั้น น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นอาจไม่ใช่ที่เกิดในธรรมชาติเสมอไป โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้ทั้งหลายซึ่งเสียได้ง่าย เช่น มะลิ ซ่อนกลิ่น ไวโอเลต ดอกพุด ไฮยาซิน เป็นต้น เมื่อเวลากลั่นจะไม่ได้น้ำมันหรือน้ำมันที่ได้มีปริมาณน้อยมาก และคุณภาพไม่ดี การใช้วิธีกลั่นจึงไม่เหมาะสม ต้องใช้วิธีอื่นที่ทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยใกล้เคียงที่เกิดในธรรมชาติมากที่สุด
ตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ในการกลั่นน้ำมันหอมระเหย
2. การสกัดด้วยไขมันเย็น
ไขมันมีคุณสมบัติในการดูดกลิ่นได้สูงมาก จึงนำไขมันมาดูดกลิ่นหอมของดอกไม้ ที่ส่งกลิ่นหอมมาก เช่น มะลิ ซ่อนกลิ่น ฯลฯ โดยเก็บดอกไม้สด เมื่อถึงช่วงเวลาที่ส่งกลิ่นหอมมาก ก็นำไปวางบนไขมันที่เตรียมไว้ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง นำดอกไม้เก่าไปสกัดน้ำมันโดยวิธีอื่นๆ ส่วนดอกสดใหม่มาวางอีก ทำเช่นนี้หลายๆ ครั้ง จนสิ้นฤดูดอกไม้ ต่อจากนั้นใช้แอลกอฮอล์ละลายน้ำมันหอมระเหยนั้น นอกจากนั้นแล้วนำไปแยกต่อไป
โดยวิธีนี้ ไขมันที่ใช้ต้องสะอาดปราศจากกลิ่นและมีความแข็งแรงพอเหมาะ ถ้าแห้งไปจะดูดกลิ่นไม่ดี แต่ถ้านิ่มเกินไปจะเอาดอกไม้ออกแยกอุณหภูมิที่ทำใช้อุณหภูมิห้องสัดส่วนของไขมันมีดังนี้ ไขสัตวืที่สะอาดมาก 1 ส่วน น้ำมันหมู 2 ส่วน ส่วนน้ำมันพืชนั้นไม่นิยมเท่าไขสัตว์
วิธีทำขั้นแรก
ทำความสะอากไขมัน เอาสิ่งแปลกปลอมออกให้หมดแล้ว ตีกับน้ำเย็นผสมไอน้ำ เติมเป็นซอย 0.6 กันกลิ่นเหม็นหืนในหน้าร้อน และสารส้ม 0.15-3 % จะช่วยกำจัดสิ่งสกปรกได้ด้วย แล้วกรองทิ้งไว้ น้ำจะแยกตัวออกมา ไขมันที่ได้ขาวสะอาดเรียบ สม่ำเสมอ ไม่มีน้ำ ไม่มีกลิ่น สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน จากนั้นทำเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 2 x 30 x 16 อัดแผ่นแก้วที่มีไขมันเคลือบอยู่ทั้ง 2 หน้า ซึ่งเรียกว่า Chassis ทำหลายๆ วัน วางชิดกัน ดอกไม้ที่วางบนไขมันจะเป็นดอกที่ไม่มีน้ำปน มิฉะนั้นไขมันจะเหม็นหืน มีกลิ่นไม่ดี หลังใส่ดอกไม้และเกลี่ยดีแล้ว วาง Chassis ซ้อนกันเก็บไว้ในห้องประมาณ 24 ชั่วโมง ไขมันจากด้านล่างจะทำหน้าที่เป็นตัวละลาย ส่วนไขด้านบนจะดูดกลิ่นหอมที่ระเหยจากดอกไม้อีกที่หนึ่ง
เมื่อครบ 24 ชั่วโมงแล้ว หรือดอกไม้เริ่มเหี่ยวหรือไม่เหลือกลิ่นแล้ว นำเอาดอกไม้ออก ทำอย่างเบาๆ ใช้คีมคีบดอกไม้ขึ้นมา เมื่อเอาของเก่าออกหมดใส่ดอกไม้ใหม่ ตอนนี้ให้กลับ Chassis ส่วนไขมันที่เคยอยู่บนเพดานก็จะมาอยู่ด้านล่างทำสลับกันเช่นนี้ทุกวัน จะได้ไขมันอิ่มตัวด้วยกลิ่นหอม ขูดเอาไขมันออกมาทำให้หลอมเหลวเก็บในภาชนะปิด เรียกส่วนนี้ว่าปอมเปต การสกัดโดยวิธีนี้ใช้น้ำมัน 1 กิโลกรัมต่อดอกมะลิ 3 กิโลกรัม เวลาประมาณ 8-10 สัปดาห์
สมัยก่อนมีการใช้ปอมเปตในอุตสาหกรรมน้ำหอมโดยตรง ต่อมามีการนำแอลกอฮอล์คุณภาพดีมาละลายน้ำมันหอมระเหยไปจากปอมเปตเรียกส่วนนี้ว่า Extrail ซึ่งมีกลิ่นหอมของดอกไม้จริงๆ แล้วนำไปทำให้บริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง จะได้น้ำหอมที่มีกลิ่นดอกไม้อย่างดีเยี่ยม
3. การสกัดด้วยไขมันร้อน
ดอกไม้บางชนิด เช่น กุหลาบ ดอกส้ม ฯลฯ เมื่อเด็ดมาจากต้นแล้ว Physiological Activity จะหยุดทันทีไม่เหมือนกับมะลิ ซ่อนกลิ่น ฯลฯ ที่จะมีกลิ่นหอมออกมาตลอดเวลา เมื่อสกัดด้วยไขมันร้อนจะได้น้ำมันหอมระเหยมากและกลิ่นหอมกว่าสกัดด้วยไขมันเย็น วิธีการเตรียมไขมัน เช่นเดียวกับการสกัดด้วยไขมันเย็น แต่อุ่นไขมันให้ร้อนประมาณ 80 องสาเซลเซียส แช่ดอกไม้ลงไปประมาณครึ่งชั่วโมงแล้ว ทำให้เย็นสุดท้าย อุ่นให้ร้อนอีกครั้งเพื่อหลอมเหลวและกรองดอกไม้ออกล้างไขมันที่ติดมาด้วยน้ำอุ่น หรือวางบนผ้ากรองบีบหรือราดน้ำร้อน
ชั้นของน้ำและไขมันจะแยกกันง่าย อาจใช้เซนติฟิวส์เข้าช่วยเอาดอกไม้ออกใช้ไขมันเติม เปลี่ยนดอกไม้สดหลายครั้งจนอิ่มตัว ไขมันร้อนมีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยนี้เรียกว่า ปอมเปต เหมือนกับการสกัดด้วยไขมันเย็น แล้วนำแอลกอฮอล์ชนิดดีมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยออกมาทำให้บริสุทธิ์อีกครั้งหนึ่ง จะได้น้ำมันหอมระเหยอย่างดีเยี่ยม เช่นเดียวกับการสกัดด้วยไขมันเย็น
4. การสกัดด้วยตัวทำละลายระเหยง่าย
ตัวทำละลายอินทรีย์แต่ละชนิดมีความสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากตัวอย่างพืชได้ต่างกัน เดิมใช้อีเทอร์เป็นตัวทำละลาย ซึ่งพบวิธีนี้ในปี ค.ศ. 1835 ต่อมาพบว่า ปิโตรเลี่ยมอีเทอร์ เป็นตัวทำละลายที่ดีที่สุด รองลงมาคือ เบนซิน และมีการพัฒนาเทคนิคการสกัดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น วิธีการคือ นำดอกไม้สดใส่ในเครื่องสกัดที่อุณหภูมิห้อง เดิมตัวทำละลายบริสุทธิ์ (ปิโตรเลี่ยมอีเทอร์) ซึ่งจะซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อของดอกไม้ ละลายสารหอมและแวกซ์ (Wax) รวมทั้งสีออกมา เพื่อระเหยเอาตัวทำละลายออก ทึ่อุณหภูมิต่ำและเป็นสูญญากาศ การสกัดโดยวิธีนี้ มีข้อเสียตรงที่ราคาแพงทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เพราะว่าต้องใช้ตัวทำละลายที่มีราคาแพง แต่มีข้อดีคือองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจะมีคุณภาพดีขึ้น อีกทั้งไม่ต้องใช้วิธีซับซ้อนอะไรเลยและได้กลิ่นหอม บางโรงงานจะนำน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ เรียกว่า Condrete ไปทำให้บริสุทธิ์อีกครั้ง จะได้หัวน้ำหอมที่มีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดอกไม้ตามธรรมชาติ
5. การสกัดโดยการบีบหรืออัด
วิธีนี้เหมาะกับการผลิตน้ำมันหอมระเหยมากๆ เช่น น้ำมันหอมระเหยจากผิวส้ม วิธีการไม่ยุ่งยากซับซ้อน โดยนำตัวอย่างพืชที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เข้าเครื่องบีบหรืออัด ซึ่งใช้ Screw Press น้ำมันที่ได้เรียกว่า น้ำมันดิบ ( Crude oil ) วิธีนี้ใช้กันมานานแล้ว
6.การสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์
วิธีนี้นับเป็นเทคนิคที่พัฒนาใหม่และได้ผลดี อีกทั้งลดมลพิษในบรรยากาศ คาร์บอนไดออกไซด์ที่สภาวะเหนือจุดวิกฤต มีลักษณะเป็นของไหล ( Fluid ) มีคุณสมบัติสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยในพืชได้อย่างดี เมื่อสกัดเสร็จแล้วสามารถแยกคาร์บอนไดออกไซด์ ออกได้ในสภาวะอุณหภูมิห้อง เพราะคาร์บอนไดออกไซด์จะเปลี่ยนสถานะจาก Fluid เป็น Gas ได้ตามธรรมชาติ กลิ่นหอมที่ได้จึงเป็นกลิ่นหอมของดอกไม้อย่างแท้จริง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ข้อควรระวัง
ควรเก็บน้ำมันหอมระเหยไว้ในขวดแก้วเท่านั้น ไม่ควรเก็บไว้ในขวดพลาสติก
การทำน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม (ไว้สำหรับกันยุง)
เทคนิคการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมด้วยวิธีง่ายๆ
สำหรับการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมนั้น ส่วนใหญ่การผลิตมักจะทำเป็นเชิงการค้ากันเสียมากกว่า ดังนั้นแหล่งวัตถุดิบแหล่งใหญ่ก็คือ เกษตรกร ผู้ปลูกนั่นเอง หากจะมีการผลิตเป็นเชิงการค้า ที่ต้องการตะไคร้หอมในปริมาณมากแล้ว ผู้ผลิตสามารถซื้อตะไคร้หอมจากเกษตรกรได้โดยตรง เมื่อได้แหล่งผลิตและสามารถซื้อตะไคร้หอมได้แล้ว ให้นำตะไคร้หอมมาทำการชั่งประมาณ 150-200 กิโลกรัม แล้วหั่นตะไคร้หอมสำหรับการหั่นตะไคร้หอมนั้น ควรหั่นยาวประมาณ 2-3 นิ้ว จากนั้นนำตะไคร้หอมที่หั่นเสร็จแล้ว มาใส่ถังนึ่งแล้วเติมน้ำลงในถังให้ได้ระดับน้ำที่เหมาะสม แล้วทำการปิดฝาให้แน่น แล้วจุดเตาแก๊สเพื่อนึ่งตะไคร้
หลังจากที่ตั้งไฟแล้วให้รอประมาณ 2-3 ชั่วโมงรอจนน้ำเดือดได้ที่แล้ว น้ำมันและน้ำกลั่นจะไหลออกมาตามท่อ (การไหลของน้ำกลั่นและน้ำมันจะไหลออกจากท่อระบายน้ำกลั่นและน้ำมันที่ผ่านน้ำในถังหล่อเย็น ลงสู่ถังรองรับน้ำกลั่นและน้ำมัน) เมื่อนำมันไหลออกมาตามท่อ ให้ปิดสวิตซ์เครื่องกลั่นหรือเครื่องทำการหล่อเย็น เพื่อทำให้น้ำและน้ำมันที่กลั่นไหลออกมาเร็วและจากนั้นรอประมาณ 2 ชั่วโมง ให้น้ำมันรวมตัวกันลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ตรวจน้ำกลั่นและน้ำมันด้วยแก้วใส แล้วนำมาใส่หลอดแก้วเพื่อแยกน้ำมันกับน้ำออกจากกัน
หลังจากนั้นให้ตวงน้ำมันและกรองน้ำมันด้วยเศษผ้าขาว แล้วบรรจุไว้ในขวดสีชา และให้ตรวจดูการไหลของน้ำมันแลน้ำกลั่นอีกครั้ง ว่ายังมีน้ำมันลอยอยู่ในถังรองรับน้ำมันและน้ำกลั่นหรือเปล่า ถ้าไม่ค่อยมีให้ปิดสวิตซ์เครื่องกลั่นและปิดเตาแก๊ส เพื่อหยุดการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอม
เมื่อผ่านกระบวนการมาจนถึงตรงนี้แล้ว ให้นำน้ำมันตะไคร้หอมบริสุทธิ์ส่งเก็บห้องเก็บน้ำมัน หลังจากนั้นปล่อยน้ำในถังน้ำทิ้ง พร้อมกับเปิดถังไว้เพื่อระบายความร้อน (ทิ้งไว้ประมาณ 10-12 ชั่วโมงแล้วนำตะไคร้หอมที่นึ่งแล้วออกทิ้ง แล้วทำความสะอาดถังสำหรับการกลั่นครั้งต่อไป
เทคนิคการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมด้วยวิธีง่ายๆ
ป้ายคำ : สุขภาพพึ่งตน