ว่านน้ำมีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินลักษณะเป็นแท่งค่อนข้างแบน มีใบแข็งตั้งตรง รูปร่างแบนเรียวยาวคล้ายใบดาบฝรั่ง ปลายใบแหลม แตกใบเรียงสลับซ้ายขวาเป็นแผง ใบค่อนข้างฉ่ำน้ำ ดอกมีสีเขียวมีขนาดเล็กออกเป็นช่อ มีจำนวนมากอัดกันแน่นเป็นแท่งรูปทรงกระบอก มีก้านช่อดอกลักษณะคล้ายใบ ทั้งใบ เหง้า และรากมีกลิ่นหอมฉุน ชอบขึ้นตามที่น้ำขัง หรือที่ชื้นแฉะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acorus calamus Linn.
ชื่อพ้อง Acorus calamus Linne. Var. verus Linn.
วงศ์ ACORACEAE
ชื่ออื่นๆ : ว่านน้ำเล็ก, ฮางคาวผา (เชียงใหม่), ตะไคร้น้ำ (เพชรบุรี), กะส้มชื่น, คาเจี้ยงจี้, ผมผา ส้มชื่น, ฮางคาวบ้าน, ฮางคาวน้ำ (ภาคเหนือ), ทิสีปุตอ, เหล่อโบ่สะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แป๊ะอะ (ม้ง),ช่านโฟ้ว (เมี่ยน), สำบู่ (ปะหล่อง), จะเคออ้ม, ตะไคร้น้ำ (ขมุ). แปะเชียง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยชังฝู และ ไป๋ชัง (จีนกลาง)
ว่านน้ำเป็นพืชที่สามารถปลูกไว้เป็นไม้ประดับบ้างเล็กน้อย ผลอ่อนนั้นสามารถรับประทานร่วมกับลาบ และช่อดอกอ่อนๆ จะมีรสหวาน ส่วนรากอ่อนสามารถเคี้ยวเล่นเป็นหมากฝรั่ง ประโยชน์ของเหง้าว่านน้ำสามารถนำมาใช้ไล่ยุงและแมลง ช่วยป้องกันแมลงมากัดกินข้าว และเสื้อผ้าได้ และยังนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยรอบๆ ต้นไม้ที่ปลูก เพื่อเป็นยาฆ่าปลวกที่ผิวดินและป้องกันต้นไม้ ส่วนเหง้าสดเมื่อนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.17% สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางประเภทสบู่ ผงซักฟอก น้ำหอม ครีม และโลชั่นต่างๆ ได้ นอกจากนี้ตำรายาไทยแผนโบราณระบุว่าว่านน้ำจัดอยู่ใน พิกัดจตุกาลธาตุ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยเหง้าว่านน้ำ รากแคแตร รากนมสวรรค์ และรากเจตมูลเพลิงแดง มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ แก้ไข้ แก้เสมหะ แก้ลม แก้โลหิตในท้อง แก้อาการจุกเสียดได้ดี
เหง้าทอดนอน หนา 1-2 เซนติเมตร รูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อๆมองเห็นชัดเจน ผิวนอกสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรากฝอยเป็นเส้นเล็กยาว ติดอยู่ทั่วไป พันรุงรังตามข้อปล้องของเหง้า เนื้อภายในสีเนื้อแก่ กลิ่นหอม รสเผ็ดร้อนฉุน ขม
ว่านน้ำเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 50-80 เซนติเมตร และมีเหง้าเจริญไปตามยาวขนานกับพื้นดิน เหง้าเป็นรูปทรงกระบอกค่อนข้างแบน ลักษณะเป็นข้อๆ มองเห็นชัด ผิวนอกเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลอมชมพู มีรากฝอยเป็นเส้นเล็กยาว ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันซ้ายขวาแบบทแยงกัน ใบแตกออกมาจากเหง้าเป็นเส้นตรงและยาว ลักษณะของใบเป็นรูปเรียวแหลม ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 80-110 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ดอกเป็นช่อ แทงออกมาจากเหง้า ลักษณะของดอกเป็นแท่งทรงกระบอก เป็นสีเหลืองออกเขียว ดอกมีขนาดประมาณ 0.7-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปกลม ผลเป็นผลสดขนาดเล็ก ผลมี 2-3 เซลล์ ลักษณะคล้ายลูกข่างหรือปริซึม ปลายบนคล้ายพีรามิด ผลเมื่อสุกจะเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนน้อย ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณน้ำไม่เกิน 12% w/w ปริมาณสิ่งแปลกปลอมไม่เกิน 2% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 7% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 1.0% w/w ปริมาณน้ำมันระเหยง่าย ไม่น้อยกว่า 1.2% v/w ปริมาณสารสกัดด้วยน้ำไม่น้อยกว่า 11% w/w สารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 5% w/w
สรรพคุณ:
ตามตำรายาพิกัดยาไทย ว่านน้ำอยู่ในพิกัด พิกัดจตุกาลธาตุ ประกอบด้วย หัวว่านน้ำ รากนมสวรรค์ รากแคแตร รากเจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณแก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้โลหิตในท้อง แก้ไข้ แก้ลม
ตำรายาไทย: เหง้า เป็นยาขับลม ยาหอม แก้ธาตุพิการ เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร ช่วยได้ในอาการท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และอ่อนเพลีย ราก แก้ไข้มาลาเรีย แก้หวัด หลอดลมอักเสบ แก้เจ็บคอ แก้ปวดฟัน เป็นยาระบาย แก้เส้นกระตุก บำรุงหัวใจ แก้หืด แก้เสมหะ เผาให้เป็นถ่านรับประทานถอนพิษสลอด แก้ปวดศีรษะ แก้ลงท้อง พอกแก้ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ แก้บิด แก้ไอ แก้ปวดท้อง แก้จุกเสียด หัว ใช้ขับลมในท้อง แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้ธาตุพิการ แก้ลมจุกแน่นในทรวงอก แก้ลมที่อยู่ในท้องแต่นอกกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุน้ำ แก้ข้อกระดูหักแพลง ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้บิด ขับพยาธิ กินมากทำให้อาเจียน บำรุงกำลัง แก้โรคลม แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ แก้ไข้จับสั่น บำรุงประสาท หลอดลม บิดในเด็ก ขับเสมหะ ขับระดู ขับปัสสาวะ รากฝนกับสุราทาหน้าอกเด็กเพื่อเพื่อเป็นยาดูดพิษแก้หลอดลมและปอดอักเสบ เหง้าต้มรวมกับขิงและไพลกินแก้ไข้ ผสมชุมเห็ดเทศ ทาแก้โรคผิวหนัง
ตำรายาไทยแผนโบราณ: ว่านน้ำ จัดอยู่ใน พิกัดจตุกาลธาตุ ประกอบด้วย หัวว่านน้ำ รากนมสวรรค์ รากแคแตร รากเจตมูลเพลิงแดง สรรพคุณแก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แก้เสมหะ แก้โลหิตในท้อง แก้ไข้ แก้ลม
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้เหง้าว่านน้ำ ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆของร่างกาย รวม 2 ตำรับ คือ
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:
ใช้เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับลม เหง้าแห้ง 1-3 กรัม ชงน้ำร้อนดื่ม ควรระมัดระวังการใช้เนื่องจากมีรายงานว่าสาร -asarone เป็นสารก่อมะเร็งและมีพิษต่อตับได้ และการรับประทานมากทำให้อาเจียน
การกระจายพันธุ์
มีถิ่นกำเนิดในเขตมรสุมของทวีปเอเซีย เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในโคลนเลน ลำห้วยตื้น ที่น้ำท่วมขังหรือริมน้ำ
ที่มา
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3
ป้ายคำ : สมุนไพร