ศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม แหล่งเรียนรู้วิถีชุมชนพอเพียง

2 มกราคม 2556 แหล่งเรียนรู้ 0

มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพคนในชุมชนเมืองและชนบท ให้รู้จักพึ่งพิงตนเองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันกับสิ่งรุกเร้าภายนอกให้ชุมชนสามารถดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นแนวทางนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมตามภูมินิเวศและสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาศักยภาพของตนเองครอบครัวและชุมชน

นางทิวาพร ศรีวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม
ศูนย์กสิกรรมท่ามะขาม จ.กาญจนบุรี อีกหนึ่งความสำเร็จของหญิงแกร่งที่พยายามพลิกฟื้นผืนดินและสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้ ตามแบบฉบับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เฟ้นภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ให้ชุมชนอยู่ดีมีสุข ปัจจุบันกลายเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านและบุคคลทั่วไป

นางทิวาพร ศรีวรกุล ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม กล่าวว่า ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม เกิดมาจากแรงบันดาลใจที่ได้มาจากการดำเนินการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำ การเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากเดิมที่ตนเองทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 30ปี ตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบันโดยเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าเต่าดำ เพื่อเฝ้าระวังการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การทำแนวป้องกันไฟป่า และการดูแลรักษาสัตว์ป่าที่บาดเจ็บในพื้นที่ป่าเต่าดำ จังหวัดกาญจนบุรี

thamakham_thiwaporn

จนกระทั่งปี 2540 เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ทิวาพรและเครือข่ายป่าต้นน้ำจ.กาญจนบุรี เกิดแนวคิดเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดการพึ่งพาป่าให้มากที่สุด โดยพบว่าเกษตรกรทั้งที่อยู่อาศัยรอบๆ ป่าต้นน้ำและเกษตรกรทั่วไปต่างประสบปัญหาที่เหมือนกันคือ มีหนี้สินจากค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลง, สภาพดินเสื่อมโทรมจากปุ๋ยและสารเคมี, มีการบุกรุกพื้นที่ป่าและย้ายพื้นที่เพาะปลูกจากสภาพดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงการใช้จ่ายที่ไม่มีการวางแผน ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม มีเนื้อที่ทั้งหมด 14 ไร่ มีฐานเรียนรู้ทั้งหมด 8 ฐาน คือ

1. ฐานเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จะชี้แนวทาง ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เน้นการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เหลือจากการบริโภคจึงคิดถึงการผลิตเพื่อการค้า โดยสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคในที่ดินของตนเอง เช่น ข้าว น้ำปลา ไก่ ผลไม้ พืชผัก เป็นต้น หากเป็นชุมชนเมือง ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องการจัดการขยะ ที่ต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัวและขยายสู่ชุมชน ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้หมายถึงรายได้อย่างเดียว หากยังรวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น

2. ฐานเกษตรธรรมชาติ คือการทำเกษตรแบบประณีต เน้นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยยึดหลักธรรมชาติที่ระบบนิเวศเกื้อกูลกัน การแบ่งที่ดินปลูกพืชหลายชนิด ตั้งแต่ต้นไม้ระดับเรือนยอดสูง ประเภทไม้ใช้สอย รองลงมาเป็นเรือนยอดไม้ชั้นกลาง ประเภทผลไม้ เช่น ขนุน มะม่วง ส้อมโอ เป็นต้น จนถึงชั้นเรี่ยดินประเภทผักใบต่างๆ จนถึงประเภทใต้ดิน เช่น มัน กระชาย ขมิ้น ซึ่งทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเจริญงอกงามดี เพราะใบไม้ที่ทับถมจะแปรสภาพเป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้ดินดีและชุ่มชื้น ส่วนผลผลิตสามารถสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอกว่าพืชเชิงเดี่ยว

3. ฐานหมูหลุม เป็นการเลี้ยงหมู โดยการขุดหลุมให้ลึกประมาณ 50-90 ซ.ม.จากนั้นใส่แกลบ รำ ขี้เลื่อย หรือใบไม้ ลงไปภายในหลุม โดยไม่ต้องเทพื้นปูนซีเมนต์ ซึ่งหมูจะชอบมากเพราะสามารถคุ้ยเขี่ยได้ ทำให้หมูไม่เครียด เมื่อหมูถ่ายมูลหรือปัสสาวะลงพื้น จากนั้นให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ ผสมกับน้ำราดลงไปทุกๆ 2-3 วัน ต่อครั้ง เพื่อเป็นการช่วยย่อยสลายมูลหมูทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น และหมูที่เลี้ยงไว้ในหลุม จะมีร่างกายที่แข็งแรง โตไว น้ำหนักดี เนื้อแน่น ไขมันน้อย เนื่องจากได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา และสามารถจำหน่ายหมูได้ในระยะเวลา 4 เดือน

จากนั้นก็ตักเอาแกลบที่เทลงไปในหลุมไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้เลย สำหรับการเลี้ยงหมูหลุมนั้น สามารถทำได้ทุกครัวเรือนตามศักยภาพ เนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงหมูนั้นส่วนใหญ่จะใช้ผักที่มีในแปลงปลูก อีกทั้งการเลี้ยงหมูหลุมจะเน้นการต้มอาหารผสมผักให้กิน แทนการให้หัวอาหารหรืออาหารเม็ดล้วนๆแบบฟาร์มใหญ่ๆ เพราะถ้าเลี้ยงแบบนั้น ต้องเสียเงินซื้อหัวอาหาร ทำให้ต้นทุนสูงทำให้ขาดทุนได้

ส่วนการเลี้ยงหมูหลุมสามารถรักษาพยาบาลได้ง่ายถ้าเกิดป่วยเป็นโรคพยาธิ โดยใช้บอระเพ็ด ฟ้าทลายโจร เสลดพังพอน ใบฝรั่งหรือใบขี้เหล็กให้หมูกินเพื่อรักษาโรคดังกล่าว นอกจากนั้นยังมียาดองสมุนไพรผสมน้ำให้หมูกินเพื่อเจริญอาหารอีกด้วย

4. ฐานปุ๋ยชีวภาพ สมุนไพรไล่แมลง ได้จากมูลสัตว์ในคอกหมูที่นำมาเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ จะช่วยลดต้นทุนปุ๋ยเคมี ส่วนน้ำหมักชีวภาพทำจากเศษผัก เศษอาหาร เศษผลไม้ ใช้กับพืชผักผลไม้ช่วงเจริญเติบโต หรือช่วงออกดอก และเป็นการเร่งรากของต้นไม้ให้แข็งแรง สำหรับการไล่แมลงและหนอนในแปลงผัก ให้ใชวัตถุดิบที่มีอยู่ตามท้องถิ่น เช่น ฝักคูณ นำมาไล่หนอนได้ หรือตะไคร้ ข่า ขมิ้น ผสมเสือหมอบ สะเดา เพื่อลดการใช้สารเคมี นำมากันเชื้อราได้

5. ฐานก๊าซชีวภาพ เป็นฐานเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก เพราะสามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้เองโดยใช้มูลสัตว์เป็นเชื้อหมัก จากนั้นเติมอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ก็จะได้ก๊าซหุงต้มไว้ใช้ในครัวเรือน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

6. ฐานน้ำส้มควันไม้ เป็นการนำเอาเศษกิ่งไม้ เข้าเตาเผาน้ำส้มควันไม้ โดยใช้ถังขนาด 200 ลิตรเป็นตัวเตา อาศัยความร้อนไล่ความชื้นในเนื้อไม้ที่อยู่ในเตา ทำให้ไม้กลายเป็นถ่านหรือที่เรียกว่า กระบวนการคาร์บอนไนเซชั่น ด้วยโครงสร้างที่มีลักษณะปิด ทำให้ควบคุมอากาศได้จึงไม่มีการลุกติดไฟ ทำให้เนื้อถ่านมีคุณภาพ และผลพลอยได้คือ น้ำส้มควันไม้ ที่นำไปใช้เป็นสารไล่แมง ฆ่าเชื้อรา ป้องกันแมลงวางไข่ ฉีดป้องกันมด ปลวก ด้านปศุสัตว์ สามารถลดกลิ่น ป้องกันแมลงในฟาร์ม หรือนำไปห่นถังขยะเพื่อป้องกันแมลงวัน ที่สำคัญเป็นการปลอดภัยจากสารเคมี

7. ฐานการแปรรูปอาหาร และอาหารสัตว์ เป็นฐานการเรียนรู้วิธีการทำแหนมปลา ปลาส้ม ขนมกุยไช และข้าวเกรียบฟักทอง และเรียนรู้การผลิตอาหารให้กับสัตว์ โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในชุมชน

8.ฐานน้ำยาอเนกประสงค์ เป็นการนำเปลือกมะนาว มะกรูด สับปะรด เศษมะขามเปียก ของเปรี้ยวทุกชนิด นำมาหมักกับน้ำตาลทรายแดง ให้ได้ระยะ แล้วนำน้ำหมักจุลินทรีย์มาผสมกับน้ำด่าง ( ขี้เถ้าแช่น้ำสะอาดประมาณ 15 วัน ) เกลือ และN 70 ตามสูตร จะได้น้ำยาอเนกประสงค์ไว้ใช้ ทั้งล้างจาน ซักผ้า ถูบ้าน ล้างห้องน้ำ และใช้เป็นยาสระผม เป็นต้น

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม 213 ม.2 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โทร.0 3462 4281, 08 1857 2500

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น