จากการที่ระบบการผลิตทางเกษตรได้มีการแข่งขันการผลิตในเชิงปริมาณโดยเน้นหลักการมีกำไรเป็นเป้าประสงค์หลัก ทำให้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่ค่อยมีคุณภาพ เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริงเพราะต้องสรรหาปุ๋ยเคมีมาเติมในดินเป็นประการหลัก จนละเลยที่จะศึกษาให้เข้าใจถึงวิธีการที่แท้จริงที่จะช่วยความสมบูรณ์ขององค์ประกอบที่สำคัญของดิน ทั้งหากปล่อยปละละเลยให้เกษตรกรประกอบอาชีพอย่างไม่ถูกต้องต่อไปจะทำให้หน้าดินถูกทำลายด้วยสารเคมีเชิงเดี่ยวอันจะนำมาซึ่งความล้มเหลวของการประกอบอาชีพภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของฅนไทย ส่งผลต่อไปถึงสภาพและที่สำคัญที่สุดคือการผลิตอาหารไม่ปลอดภัย มีสารพิษตกค้างอันนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำของพี่น้องเกษตรกรไทยเองรวมถึงผู้บริโภคประกอบกับในขณะที่ดาบตำรวจนิรันดร์ พิมล ปฏิบัติราชการในหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ได้มีโอกาสพบปะกับสภาพปัญหาของพี่น้องประชาชนชาวเกษตรโดยส่วนใหญ่ ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาการประกอบอาชีพภาคการเกษตรเกือบทั้งหมด ส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยก็เพราะมีต้นทุนสูงในการประกอบอาชีพ หากแต่ในระยะยาวก็ต้องประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพโดยทั้งสิ้น จึงได้เก็บความสงสัยเป็นจุดสนใจมาเป็นระยะเวลานาน
ในโอกาสที่ดาบตำรวจนิรันดร์ พิมล ในขณะรับราชการตำรวจตระเวนชายแดนประจำกองกำกับการ ๘ กองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายศรีนครินทรา ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมหลักสูตร การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งมีอาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตผู้อำนวยการกองประเมินผลและข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ได้มีโอกาสรับผิดชอบโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมาย เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาจนก่อให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาในแนวทางประพฤติปฏิบัติเพื่อให้แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อมาดาบตำรวจนิรันดร์ พิมล จึงได้ยื่นความประสงค์ขอลาออกจากราชการและเดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งใจศึกษาแนวทางการพัฒนาหลักกสิกรรมธรรมชาติตามแนวพระราชดำริอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งหวังแก้ไขปัญหาด้านความรู้ของเกษตรกรไทยตามที่ได้เก็บเป็นข้อสงสัยมาแต่ในอดีต พร้อมกันนี้ก็ได้มีโอกาสประยุกต์ใช้องค์ความรู้เดิมในการเป็นครูฝึกวิชาการดำรงชีพในป่า การใช้สมุนไพร และภูมิปัญญาทั้งถิ่นในการประกอบอาชีพของบรรพบุรุษมาผนวกกับการศึกษาหาความรู้ ทำให้เข้าใจได้ว่า การดำเนินการตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินชีวิตที่อาศัยพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติของชาวไทยมาแต่โบราณ ซึ่งมีความหลากหลายไปตามแต่ละสภาพท้องถิ่น แต่ละท้องที่ และแต่ละวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของฅนไทย และเมื่อได้มีโอกาสเผยแพร่องค์ความรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรให้พี่น้องเกษตรกรในท้องที่ก็ทำให้เกษตรผู้ได้รับความรู้ สามารถมีผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถแก้ไขปัญหาโรคพืช โรคสัตว์ ได้ในระดับดี จนกระทั่งได้เจอกับคุณเกษม เจริญพานิชย์ คหบดีในอำเภอทุ่งสง ผู้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงปาล์มน้ำมันปีละกว่า ๒ ล้านบาท แต่ก็ยังไม่ได้รับผลเท่าที่ควร ทั้งมีแนวโน้มว่าต้นทุนในการผลิตจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อคุณเกษม ได้มีโอกาสทดลองผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง ปรากฏว่า ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยชีวภาพลดลงถึง ๓ เท่า นอกเหนือจากนั้น ยังคงได้รับผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงกว่าเดิม ประกอบกับคุณเกษม เจริญพานิชย์ มีความเลื่อมใสในแนวเกษตรชีวภาพ และเป็นผู้ยึดมั่นในหลักการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้มีโอกาสอุทิศที่ดินของตนเองและครอบครัวให้กับดาบตำรวจนิรันดร์ พิมล เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง เพื่อเปิดโอกาสให้มีสถานที่ฝึกอบรม เผยแพร่ความรู้หลักการทำกสิกรรมธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ไปยังเกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดความแพร่หลาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวภาคใต้ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้นมา
เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวนโยบายในโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการบูรณาการโครงการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้คัดเลือกให้ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสงเข้าร่วมดำเนินโครงการมาโดยตลอด รวมถึงการดำเนินตามแนวนโยบายการพักชำระหนี้ลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสงก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้ให้แก่เกษตรกรจนกระทั่งปัจจุบันสามารถจัดฝึกอบรมเกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายได้กว่า ๔,๐๐๐ ฅน และนอกเหนือจากการฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจที่เดินทางมาที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสงแล้ว ยังได้มีโอกาสร่วมอบรมให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพผู้สนใจในพื้นที่ต่างๆ ตามที่ได้รับการร้องขอ อันเป็นแนวการปฏิบัติงานในเชิงรุก เพื่อให้เกษตรกรสามารถเล็งเห็นถึงการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรด้วยหลักกสิกรรมธรรมชาติ และพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังให้แนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงเกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เนื้อหาวิชาที่จะเรียน
ด.ต.นิรันดร์ พิมล
ผู้อำนวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
ดูดินด้วยหมาก
ดิน ในภาคใต้ ปกติก็มีสภาพเป็นดินเหนียว เหนียวปนทราย เหนียวล้วน แล้วก็ลูกรัง สภาพทุกวันนี้ก็ถือว่าสมบูรณ์สัก 70% ดินในภาคใต้สมัยก่อนมีความสมบูรณ์เพราะใบไม้ที่ปกคลุมมากๆ ย่อยสลายเป็นอินทรีย์วัตถุ ต่อมาเมื่อเกษตรกรมุ่งแต่จะเพิ่มผลผลิตกันเยอะๆ ก็พากันใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงสารเคมีพวกนี้ก็สะสมในดิน พอฝนชะล้างก็ไปสะสมในแหล่งน้ำพอแม่น้ำไหลลงทะเล ก็พาลทำให้ทะเลปนเปื้อนไปด้วย การทำเกษตรบนดินก็ไปสร้างผลกระทบให้กับประมงชายฝั่งการแก้ไขก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อน เข้าใจว่าดินนั้นมีจุลินทรีย์เป็น แม่ แล้วมีระบบปลายรากของพืชเป็น ลูก แม่ทำหน้าที่ดูดสารอาหารไปเลี้ยงลูก ถ้าเอาสารเคมีมาใส่มากๆ แม่ก็ตาย เราต้องรู้ก่อนว่า การที่ต้นไม้จะออกดอกออกผลนั้นมีอยู่ 2 วิธี หนึ่ง-ทำให้ดินมีความสมบูรณ์ หรือสอง-ทำให้ต้นไม้เกิดความเครียด ปุ๋ยเคมีนั้นทำให้ระบบรากเน่า ต้นไม้มันก็นึกว่ามันจะตาย ก็เกิดความเครียด รีบผลิตเผ่าพันธุ์เป็นการใหญ่ซึ่งเป็นวงจรธรรมชาติ ปุ๋ยเคมีมันไปกระตุ้นให้พืชเกิดความเครียด การเลี้ยงดินก็เท่ากับการให้ดินไปเลี้ยงพืช ดินดีๆ นี่ไม่ต้องสังเกตนาน ดินดีดูจากสีก็รู้ ถ้ายังไม่ชัดก็ ขุดมาดม ดินดีกลิ่นจะเหมือนเห็ด เพราะมีจุลินทรีย์มาก อีกวิธี หนึ่งที่คนใต้เขาใช้ตรวจสอบว่าดินดีหรือเปล่า โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมืออะไรเลย เขาใช้ หมาก นี่แหละคนใต้ผูกพันกับหมากตั้งแต่เกิดจนตาย เด็กเกิดใหม่ 4-5 วัน เขาจะเคี้ยวหมากโปะที่กระหม่อม รสฝาดของหมากจะทำให้เด็กไม่เป็นหวัด พอเด็กโตขึ้นไปโรงเรียนได้ ก็ต้องเอาหมาก-พลู ไปบูชาครู เป็นหนุ่มได้ที่ริจะมีเมียจะขอลูกสาวเขาก็ใช้ต้องขันหมากนำ ตอนตาย เขาก็เอาหมากพลูใส่มือแล้วมัดตราสังข์เวลาสวดอุทิศส่วนกุศล เขาก็ต้องถวายพระด้วยหมาก-พลู นอกเรื่องไปหน่อย…เออ…ทีนี้ถ้าอยากจะรู้ว่าดินตรงนั้นดีหรือเปล่า เวลาเคี้ยวหมากก็บ้วนน้ำหมากลงไป ถ้าดินเป็นสีแดงปรี๊ดภายใน 1-2 วินาที รู้เลย…ดินเป็นกรดอย่างแรง แต่ถ้าบ้วนแล้วรอจนประมาณ 11 วินาที แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง ก็แสดงดินตรงนั้นเป็นด่าง ยิ่งแดงช้า ดินยิ่งเป็นด่างมากแต่ถ้าอยู่ระหว่าง 3-11 วินาที แล้วเปลี่ยนสี ก็แสดงว่าดินมีความเป็นกลาง วิธีแก้ดินเป็นกรดเป็นด่าง อันดันแรกก็ต้อง ห่มดิน ด้วยฟางข้าว ใต้ดินที่ห่มจะมีความร้อนชื้นกว่าข้างบน ทีนี้ ในอากาศที่เราหายใจนี่มีจุลินทรีย์ลอยอยู่ พอมันรู้สึกถึงความร้อนชื้นใต้ฟาง มันก็มุดเข้าไปอาศัย เรียกว่า แม่ เข้าไปรอท่าแล้ว รอซัก 11 วัน เราก็ฉีดพ่นน้ำหมักบนผิวฟางในอัตราส่วน 1:200 ทิ้งไว้ จนถึง 24 วัน ดินก็จะร่วนซุย
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง, ม. ๔ ต.นาโพธิ์, อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
๐๘๗-๘๘๕๘๑๖๘ หรือ ๐๘๔-๔๔๗๑๖๕๖
อีเมล thungsong.agri-nature@hotmail.com
ป้ายคำ : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ