ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายาง ธรรมะปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน

24 มีนาคม 2557 แหล่งเรียนรู้ 0

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายาง ของชุมชนป่ายาง มีหลักสูตรการศึกษาและพัฒนาชีวิตที่ชื่อว่า “หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักสูตร 4 คืน 5 วัน เมื่อผ่านหลักสูตรนี้แล้ว ทางศูนย์ฯ คาดหวังว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรม จะสามารถพัฒนาชีวิตของตนเอง จนถึงระดับที่สามรถพึ่งตนเองได้ทั้งกายและใจ ส่วนแต่ละคนจะพึ่งได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความ “ตั้งใจ” และ “จริงใจ” ของแต่ละคน เพราะทางศูนย์เชื่อว่า “ทุกคนสามารถพึ่งตนเองทั้งทางร่างกายและจิตใจได้” ถ้า “เอาจริง” แม้ไม่ต้องมาผ่านหลักสูตรนี้ ก็สามารถทำได้ ถ้ามีความตั้งใจและเอาจริง เพียงแต่ว่า หลักสูตรที่ศูนย์จัดขึ้น จะมีเครื่องมือช่วยให้การพัฒนาชีวิตไปสู่การพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องไปลองผิดลองถูก ขอเพียงแต่นำความรู้ที่ได้ ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 90 วัน เราก็จะสามารถเดินตามหนทางไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างเป็นธรรมชาติ

pahyangajyak

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติวัดป่ายาง ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 9 ปี จนเป็นที่รู้จักของชาวนครศรีธรรมราชเป็นอย่างดี ที่นี่เน้นการพัฒนาศักยภาพคน มากกว่าเรื่องเงิน ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 20 กว่ากลุ่ม ซึ่งทุกกลุ่มจะมีการทำงานเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกัน การระดมทุน ให้ชาวบ้านถือหุ้น หุ้นละ 10 บาท ถือหุ้นได้ไม่เกิน 100 หุ้น
เป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้าน และเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรให้กับบุคคลผู้ที่สนใจ

pahyangob

มีการแบ่งฐานการเรียนรู้ เป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. กลุ่มโรงน้ำ
  2. กลุ่มโรงปุ๋ย
  3. กลุ่มร้านค้า
  4. กลุ่มศูนย์ฝึกอบรม
  5. กลุ่มแปลงเกษตร

pahyangdesel pahyangbio

รวมทั้งกลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มโรงสี กลุ่มน้ำส้มควันไม้ กลุ่มน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มสมุนไพร กลุ่มปุ๋ยอัดเม็ด กลุ่มผักสวนครัว กลุ่มน้ำมันไบโอดีเซล กลุ่มทำนา และที่สำคัญ คือ การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่เน้นการพัฒนาคน ให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้คิดด้วยตนเอง มีการทำกิจกรรมเสริมอีกมากมาย โดยนำหลักศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งหากใครได้มีโอกาสมาศึกษาดูงาน จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่อยากกลับ เพราะที่นี่มีแหล่งเรียนรู้มากมาย พร้อมทั้งสถานที่ ที่ชวนให้พักอยู่ต่อหลายๆวัน

ปุ๋ยพืชสด
วัสดุอุปกรณ์

  1. พืชตระกูลถั่ว
  2. พืชชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว
  3. พืชน้ำ

ขั้นตอนการทำปุ๋ยพืชสด

  1. ปลูกพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสด 3 กลุ่ม พืชดังที่กล่าวข้างต้นร่วมกับพืชปลูกในแปลงผัก
  2. เมื่อถึงกำหนดอายุของพืชที่จะนำมาทำปุ๋ยพืชสด ให้ตัดสับและไถกลบลงในแปลงปลูก

การใช้ประโยชน์

  1. ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่พืชปลูก
  2. ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินและทำให้ดินร่วนซุยสะดวกในการไถดิน
  3. กรดจากการย่อยสลายช่วยละลายธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พืชปลูก
  4. ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีเพราะดินมีธาตุอาหารเพียงพอต่อพืชปลูก
  5. ลดอัตราการสูญเสียดินเนื่องจากการชะล้างพังทลายของดิน

น้ำหมักชีวภาพ
วัสดุอุปกรณ์

  1. มูลสัตว์แห้งละเอียด 3 ส่วน
  2. แกลบดำ 1 ส่วน
  3. อินทรียวัตถุอื่น ๆ ที่หาได้ง่าย เช่น แกลบ ชานอ้อย ขี้เลื่อย เปลือกถั่ว ลิสง เปลือกถั่วเขียว ขุยมะพร้าว กากปาล์ม เปลือกมัน เป็นต้น 3 ส่วน
  4. รำละเอียด 1 ส่วน
  5. สารเร่ง พด. หรือ EM 1 ส่วน
  6. กากน้ำตาล 1 ส่วน
  7. น้ำ 100 ส่วน
  8. บัวรดน้ำ

ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

  1. นำวัสดุต่าง ๆ มากองช้อนกันเป็นชั้น ๆ แล้วคลุกเคล้าจนเข้ากันดี
  2. เอาส่วนผสมของ EM กับน้ำตาลและน้ำคนจนละลายเข้ากันดี ใส่บัวราดบนกองวัสดุปุ๋ยหมัก คลุกให้เข้ากันจนทั่วให้ได้ความชื้นพอหมาด ๆ อย่าให้แห้งหรือชื้นเกินไป (ประมาณ 30-40%) หรือลองเอามือขยำบีบดู ถ้าส่วนผสมเป็นก้อนไม่แตกออกจากกันและมือรู้สึกชื้น ๆ ไม่แฉะแสดงว่าใช้ได้ ถ้าแตกออกจากกันยังใช้ไม่ได้ต้องรดน้ำเพิ่ม
  3. หมักกองปุ๋ยหมักไว้ 7 วัน นำไปใช้ได้

วิธีการใช้

  1. ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพกับดินในแปลงปลูกผักทุกชนิดในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร
  2. พืชผักอายุเกิน 2 เดือน เช่น กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว แตง และฟักทอง ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพคลุกกับดินรองก้นหลุม ก่อนปลูกผักประมาณ 1 กำมือ
  3. ไม้ผลควรรองก้นหลุมด้วยเศษหญ้าใบไม้แห้ง ฟางและปุ๋ยหมักชีวภาพ 1-2 กิโลกรัม สำหรับไม้ผลที่ปลูกแล้วใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ แนวทรงพุ่ม กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตร แล้วคลุมด้วยหญ้าแห้งหรือใบไม้แห้ง หรือฟาง ควรใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพ เดือนละ 1 ครั้งๆ ละ 1 กำมือ

การใช้ประโยชน์

  1. ทำให้โครงสร้างของดินและการซึมผ่านของน้ำดีขึ้น
  2. เพิ่มการดูดซับธาตุอาหารหลักและลดความเป็นพิษของธาตุบางชนิด
  3. เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินและลดปริมาณเชื้อโรคพืชบางชนิด
  4. การระบายอากาศของดินและรากพืชแผ่กระจายได้ดีขึ้น
  5. ดินค่อย ๆ ปล่อยธาตุอาหารพืชและลดการสูญเสียธาตุอาหารของพืช

น้ำส้มควันไม้
**วิธีทำน้ำส้มควันไม้**
อุปกรณ์

  1. ไม้ไผ่ซางทะลุกลางปล้องมีความยาวอย่างน้อย 5 เมตร ขึ้นไป 1 ท่อน
  2. ไม้สำหรับค้ำยัน
  3. ขวดน้ำอัดลม
  4. หวดนึ่งข้าว
  5. มีด ค้อน จอบ และเสียม

วิธีการดักเก็บน้ำส้มควันไม้

  1. นำไม้ไผ่ซางที่ทะลุปล้องมาจ่อตรงปลายท่อควัน โดยจะดักเก็บน้ำส้มควันไม้ในช่วงที่ควันมีสีขาวขุ่น คือ ระยะที่ 2 ใช้หวดนึ่งข้าว หุ้มเพื่อบังคับควันให้ผ่านไม้ไผ่ เมื่อควันผ่านไม้ไผ่ที่เย็นจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำไหลลงมา ดังนั้นจึงทำปล่อง รู สำหรับดักเก็บน้ำ ใช้กระป๋องรองรับข้างใต้
  2. การดักเก็บน้ำส้มไม้ จะได้ประมาณ 1-2 ลิตรต่อครั้ง ซึ่งจะต้องนำใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด เช่น ขวดสีขาว แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่มอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ น้ำมันทาร์ ตกตะกอน จากนั้นจะทำการแยกน้ำส้มไม้ซึ่งตรงชั้นกลาง (ชั้นบนเป็นน้ำ ชั่นล่างเป็นน้ำมันทาร์) โดยใช้สายยางดูดออก นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม และใช้ประโยชน์ต่อไป

pahyangtan

แปลงสาธิตจะมีทั้งแปลงปลูกผักและนาข้าว
การทำนาข้าวอินทรีย์

  1. คัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับ
  2. เตรียมคูคันนาให้มีความสูงประมาณ 50-70 เซนติเมตร ความหนา 60-80 เซนติเมตร เพื่อกักเก็บน้ำ
  3. ปรับพื้นที่ในคันนาให้มีระดับเท่ากันอย่าให้มีน้ำเอียงด้านใดด้านหนึ่ง

วิธีเตรียมแปลงเพาะกล้าพันธุ์ข้าว

  1. ที่มีน้ำขังพอที่จะหว่านกล้า เราก็ไถและคราดดินให้ร่วนซุย และระดับพื้นเสมอกันปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำเมล็ดข้าวที่เตรียมไว้มาหว่านอย่าให้หนาหรือห่างจนเกินไป
  2. ประมาณ 10-15 วัน ต้นกล้าตั้งหน่อได้แข็งนำน้ำจุลินทรีย์ ผสมน้ำพ่นต้นกล้าโดยผสมน้ำจุลินทรีย์ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 20 ลิตรพ่นให้ทั่วแปลงกล้า
  3. ขังน้ำใส่ต้นกล้า อย่าให้ขาดจากแปลงกล้า
  4. ก่อนจะถอนกล้า 5 วัน ให้น้ำจุลินทรีย์พ่นอีก เพื่อจะได้ถอนง่ายเพราะรากจะฟู

การปักดำ
ในช่วงก่อนการปักดำ เราควรขังน้ำไว้ในนาเพื่อจะทำให้ดินนิ่ม ดินไม่แข็ง ง่ายในการไถดำ

  1. พอถึงเวลาดำนา ปล่อยน้ำที่ขังออกจากคันนา ให้เหลือไว้ประมาณ 10-15 เซนติเมตร
  2. ไถน้ำและคราดที่นาให้ดินร่วนซุย และนำต้นกล้ามาปักดำซึ่งกำหนดความห่างระหว่างต้นให้ห่างประมาณ 40 เซนติเมตรเพื่อให้แตกกอได้ดีและใส่ต้นกล้า กอละประมาณ 2-3 ต้นกล้า
  3. หลังปักดำ 15 วัน นำจุลินทรีย์ไปผสมน้ำพ่นต้นข้าวในนาเพื่อกระตุ้นเชื้อจุลินทรีย์ที่หว่านตอนเตรียมดิน และจะทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ทนต่อศัตรูข้าว
  4. ดูแลระดับน้ำอย่าให้ขาดถอนวัชพืช และพ่นจุลินทรีย์ในทุก ๆ 20 วันจนถึงข้าวตั้งท้องแล้วจึงงดการพ่นจุลินทรีย์
  5. พอข้าวแก่พอสมควรก็ปล่อยน้ำจากคันนาและเตรียมเก็บเกี่ยวต่อไป

ประโยชน์การทำนาข้าวอินทรีย์

  1. ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตมากขึ้น เพราะการให้ปุ๋ยจุลินทรีย์จะทำได้ผลผลิต800 กิโลกรัมต่อไร่ โดยต้นทุนในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพียงแค่ประมาณ 200 บาท ต่อไร่โดยอาจจะต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากในตอนแรก แต่จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อสภาพดินดีแล้วในขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่โดยต้นทุนการผลิตประมาณ 400 บาท ต่อไร่ และต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้นในทุก ๆปี
  2. ได้สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์กลับคืนมา ดินร่วนซุย รากข้าวชอนไชหาอาหารง่าย กบกุ้ง ปลา ชุกชุม มีสุขภาพชีวิตที่ดี มีอาหารปลอดสารพิษไว้บริโภค

วัดป่ายาง “ชุมชนอาริยะ คือจุดหมายของเรา” หมู่ 4 ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80280
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเศรษฐกิจพอเพียง เครือข่าย มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ

pahyangpay

ภาพประกอบ : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านบุญ (http://www.banboon.org/)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น