ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก (Play + Learn = Plearn)
สร้างฐานสังคมการเรียนรู้การพึ่งตนเองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพลิดเพลินกับการปฎิบัติจริงพร้อมน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ก่อตั้งบนที่ดินส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยมูลนิธิชัยพัฒนาและสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีเจตจำนงที่จะถวายความจงรักภักดีประกอบกิจกรรมสนองพระราชดำริ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาขอพระบรมราชานุญาต ขอใช้ที่ดิน 14 2 18 ไร่ ตั้งอยู่หลังเขื่อนขุนด่านปราการชล บ้านท่าด่านต.หินตั้ง อ.เมือง จ.นครนายก
สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปภัมภ์สนับสนุนงบประมาณเพื่อทำการพัฒนาให้เกิดประโยช์แก่ประชาชนทั่วไป โดยจัดทำโครงการศูนย์นิทรรศการการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแสดงแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาตนเองตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โครงการศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545 โดยเริ่มก่อสร้างดำเนินการก่อตั้งศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติมาตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2545 จัดสรรพื้นที่กว่า 14 ไร่ ให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด สู่การเป็น อาศรมปัญญา
อีกทั้งยังออกแบบการจัดวางให้เหมาะสมให้ผู้เข้าชมได้รับทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน ( Play + Learn= Plearn) ตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
อาคารและการใช้พื้นที่ทั้งหมดก่อเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ ต้อนรับนักท่องเที่ยว อาคารประชุม ร้านค้าและ OUTDOORTHEATER
แปลงสาธิตกิจกรรมกลางแจ้งตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้านการเกษตรปศุสัตว์ และพลังงาน โดยจัดแปลงสาธิตประกอบด้วยทางเดินโดยรอบ ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาทดลองและเรียนรู้ด้วยตนเอง อาทิ
แปลงป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
คือ ไม้ผลไม้ฟืน ไม้ใช้สอย และประโยชน์อย่างที่ 4 คือ มีป่าไม้ครอบคลุมช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำส่งผลประโยชน์และสิ่งแวดล้อมอีกนานัปการ
แปลงทฤษฎีแก้มลิง
หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ใช้เป็นแม่แบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้นคือการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็ให้ขุดคลองต่าง ๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกัน แล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำ จากนั้นจึงระบายน้ำลงทะเล เมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง ซึ่งเปรียบเหมือนลิงเวลากินกล้วยจะเก็บไว้ที่แก้มได้หลายลูกแล้ว ค่อย ๆ นำมาเคี้ยวกินภายหลัง
แปลงปลูกหญ้าแฝก
ตัวช่วยสำคัญในการพลิกฟื้นปรับปรุงคุณภาพของดินให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และการพัฒนาทรัพยากรดินให้เกิดแร่ธาตุและความชุ่มชื้นมีวิธีอื่น ๆอีกหลายวิธี เช่น ใช้ฟางและเศษใบไม้มาห่มดิน,การใช้พรมใยปาล์ม ( weedrop) ซึ่งทำมาจากปาล์มที่ผ่านการรีดน้ำมันแล้ว นำทะลายปาล์มมาตะกุยให้เป็นเส้น ๆก่อนจะเอาไปอัดให้เป็นแผ่น เป็นผ้าห่มดินเพื่อการเกษตรใช้ปูเพื่อรักษากล้าไม้คลุมดินไม่ให้วัชพืชขึ้นรบกวนช่วยยึดหน้าดินโดยการใช้ร่วมกับหญ้าแฝกและต้นไม้และเก็บความร้อนชื้นให้จุลินทรีย์ใต้ดินทำงาน
แปลงทฤษฎีใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำริให้จัดแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน เพื่อให้ราษฎรสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคง คือ
จุดสาธิตเรื่องพลังงานการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านเครื่องผลิตไบโอดีเซล เครื่องผลิตแก๊ส จากขยะที่จะได้ทั้งปุ๋ยน้ำชีวภาพและแก๊สไว้ใช้ในครัวเรือน หากใครได้เข้ามาชมและศึกษาอย่างจริงจังก็สามารถนำไปเป็นต้นแบบใช้งานได้จริง
ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครนายกบรรจุด้วยความรู้ควบคู่ความสุขตาสุขใจ ความเพลิดเพลินที่ได้มาเยือนที่สื่อความหมายผ่านนิทรรศการทั้งภายในและภายนอกอาคาร พร้อม ๆ กับการฝึกอบรมให้กับผู้ที่สนใจที่จะนำแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในชีวิตประจำวัน
โดยศูนย์ได้ทำการฝึกอบรมให้กับข้าราชการและประชาชนทั่วไป จัดวางภูมิทัศน์ภายนอกในลักษณะของจากน้ำหยดแรกที่ต้นน้ำ ไหลลงสู่ทะเล หรือ จากฟ้ามาภูผา สู่มหานที ผู้เข้าชมจะได้เห็นถึงการจัดการเรื่องของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพทุกขั้นตอนตามแนวพระราชดำริ เมื่อมีการจัดการน้ำที่ดีการพัฒนาดินด้วยวิธีธรรมชาติจึงได้ผลที่ดีตามมา เกิดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและป่าไม้
จากนั้นจึงทำการสอนให้คนได้รู้จักที่จะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ สร้างอาชีพสร้างความมั่นคงที่เกิดจากฐานการเรียนรู้การพึ่งตนเองอย่างเป็นขั้นตอนทุกกิจกรรมเน้นให้ก่อเกิดการเรียนรู้ที่สามารถปรับใช้ได้โดยง่าย ดึงดูดให้เกิดความสนใจและสามารถพัฒนาสู่มาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น ตลอดจนรู้จักรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งรักษาสภาพแวดล้อมให้มีใช้อย่างยั่งยืนเพื่อชนรุ่นหลัง
การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพ ฯ แยกรังสิตตามทางหลวงหมายเลข 305 เลียบคลองรังสิต
ผ่านอำเภอองครักษ์ หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 1 เลี้ยวขวาที่หินกองไปตามถนนสุวรรณศร
ทางหลวงหมายเลข 33 จนถึงนครนายก
รถโดยสาร จากกรุงเทพ ฯ มีรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ(ถนนกำแพงเพชร 2) มีเส้นทางเดินรถ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพ ฯ รังสิต องครักษ์ นครนายก หรือเส้นทางกรุงเทพ ฯ – หินกอง นครนายก รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ สถานีขนส่งสายเหนือ (ถ.กำแพงเพชร 2)
โทร.0-2936-3660, 0-2936-3666
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ประสานงานศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ นครนายก
คุณปัญญา ปุลิเวคินทร์ โทร.08-1964-5915
คุณวริสร รักษ์พันธุ์ โทร.08-1970-3779
ป้ายคำ : ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ