ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : มรรควิธีที่ช่วยเหลือให้เกษตรกรได้บรรลุผลในการพึ่งตนเอง

18 พฤษภาคม 2556 ศาสตร์พระราชา 0

การที่เกษตรกรจะสามารถทำการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตมากขึ้นและสามารถเลี้ยงตัวเองได้นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ในการทำการเกษตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความรู้ในเรื่องการทำการเกษตรอย่างมีหลักวิชาและใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ราษฎมีความสามารถในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ความรู้ในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน การรักษาป่าไม้เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นกับดิน ตลอดจนการปลูกพืชที่เหมาะสม การประมง หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพของราษฎรในท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างของความสำเร็จ”เผยแพร่ความรู้การทำการเกษตรอย่างมีหลักวิชา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ไปสู่เกษตรกรด้วยวิธีการที่เข้าใจได้ง่าย และสามารถนำไปปฏิบัติที่เป็นจริงได้ จึงพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” ขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้าในด้านการพัฒนาแขนงต่าง ๆ เฉพาะภูมิภาคเฉพาะท้องถิ่น และเป็นศูนย์รวมของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุกด้านได้มาร่วมกันเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

huasai

แนวทางและวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่สำคัญมีดังนี้

  1. การแก้ไขปัญหาตามสภาพความเป็นจริงที่แตกต่างกัน การพัฒนาจะต้องเริ่มต้นจากสภาพความเป็นจริง ศึกษาว่าปัญหาของพื้นที่นั้นคืออะไร และเลือกใช้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ แปรเปลี่ยนไปตามสภาพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
  2. การแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติและประชาชน การศึกษาค้นคว้าง ทดลอง วิจัยต่างๆ ที่ได้ผลแล้ว ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริงได้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาจึงควรเป็นแหล่งผสมผสานวิชาการและการปฏิบัติเป็นแหล่งความรู้ของราษฎร เป็นแหล่งศึกษาทดลองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนถ่ายทอดประสบการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างคน 3 กลุ่ม คือ ราษฎร เจ้าหน้าที่ ซึ่งทหน้าที่พัฒนาส่งเสริมและนักวิชาการ
  3. การพัฒนาแบบผสมผสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแต่ละแห่งเป็นแบบจำลองของพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาที่ควรจะเป็น ในพื้นที่ลักษณะหนึ่งๆ นั้น จะสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ได้โดยวิธีใดบ้าง มิใช่การพัฒนาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง แต่พยายามใช้ความรู้หลายสาขาที่สุด โดยให้แต่ละสาขาเป็นประโยชน์เกื้อหนุนกับการพัฒนาสาขาอื่นๆ ด้วย
  4. การประสานงานระหว่างหน่วยราชการ แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่ง เน้นการประสานงาน การประสานแผนและการจัดการระหว่าง กรม กอง และส่วนราชการต่างๆ ให้เกิดเป็นจริงขึ้น
  5. เป็นศูนย์รวมในการให้บริการแก่ประชาชน เพื่อให้ได้รับความสะดวกและประสิทธิภาพในการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนได้รับริการจากทางราชการของส่วนราชการต่างๆ ทำให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้รวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการนับเป็นการปฏิรูปมิติใหม่ของระบบบริหารราชการแผ่นดินในการบริการของทางราชการแบบใหม่ที่สิ้นสุดตรงจุดเดียว One Stop Service หรือที่เรียกกันว่า การบริการแบบเบ็ดเสร็จ นั่นเอง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแต่ละศูนย์นั้น ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่นั้น ๆ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมและสภาพปัญหาของการพัฒนา แล้วดำเนินการพัฒนาตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเฉพาะพื้นที่ และสอดคล้องกับการประกอบอาชีพของราษฎรในพื้นที่นั้น ๆ ผลจากการทดลองวิจัยนี้ได้นำไปเผยแพร่สู่ราษฎรด้วยวิธีปฏิบัติที่ง่าย ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติเองได้ โดยจัดให้มีการสาธิตและอบรมในรูปแบบต่าง ๆ จึงกล่าวได้ว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมเพื่อให้ราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถพัฒนาอาชีพการเกษตรของตนเองให้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลผลิตมากขึ้นจนสามารถเลี้ยงตัวเอง ได้ในระยะยาว

ในปัจจุบันมีศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๖ ศูนย์ กระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ดังนี้

  1. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
    มีภารกิจหลักในด้านการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปรับปรุงบำรุงดิน การปลูกป่าไม้ และการพัฒนาปศุสัตว์ การจัดตั้งธนาคารโค – กระบือ การส่งเสริมด้านการประมง การพัฒนาด้านไม้ดอกไม้ผล และการจัดการด้านสหกรณ์ เป็นต้น
  2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
    ดำเนินกิจกรรมด้านค้นคว้า ทดลอง วิจัย และสาธิตการพัฒนาและอนุรักษ์สภาพ แวดล้อมชายฝั่ง การบำบัดน้ำเสียจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ การอนุรักษ์และรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลน การวิจัยและทดสอบระบบการเกษตรผสมผสาน การส่งเสริมความรู้ในเรื่องการสหกรณ์ การอบรมด้าน ปศุสัตว์ เป็นต้น
  3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
    เน้นการพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้เอนกประสงค์ จัดให้ราษฎรที่ทำกินอยู่เดิมได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ มุ่งฟื้นฟูสภาพป่าที่เสื่อมโทรม และสร้างแนวป้องกันไฟป่าโดยใช้ระบบป่าเปียก ศึกษาหาวิธีการให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สภาพป่า พร้อมกับมีรายได้จากป่า และปลูกพืชชนิดต่างๆควบคู่กันไป
  4. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
    ภารกิจหลัก คือ การพัฒนาระบบชลประทาน พัฒนาระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจ การทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของป่า การปรับปรุงบำรุงดิน และการพัฒนาส่งเสริมด้านปศุสัตว์และประมง
  5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
    เน้นการดำเนินการศึกษาค้นคว้า ทดลอง เพื่อแสวงหารูปแบบในการพัฒนาพื้นที่บริเวณต้นน้ำลำธารของภาคเหนือ เพื่อเป็นต้นแบบ ในการพัฒนาลุ่มน้ำอื่นๆในภูมิภาค โดยใช้ระบบชลประทานเข้าเสริม การปลูกไม้ 3 อย่าง เพื่อให้ก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเน้นเรื่องการพัฒนาป่าไม้พื้นที่ต้นน้ำลำธารให้สมบูรณ์เป็นหลัก และให้ปลายทางเป็นการศึกษาด้านประมงตามอ่างเก็บน้ำ
  6. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ จังหวัดนราธิวาส
    ภารกิจหลัก คือ ศึกษา วิจัย และพัฒนาสภาพของดินที่มีปัญหา และใช้ประโยชน์ไม่ได้ ให้นำกลับมาใช้เป็นประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมได้อีก เช่น การพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่เปรี้ยวจัด การใช้น้ำชะล้างกรดจากดิน การพัฒนาพื้นที่ป่าพรุ การอนุรักษ์และบำรุงพันธุ์ไม้ในป่าพรุ การทดลองด้านประมงและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ได้กระทำหน้าที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ดุจดังฟันเฟืองจักรกลสำคัญของการพัฒนาชนบทในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้ว่าแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น แสดงถึงพระปรีชาสามารถอันสูงเลิศที่บ่งบอกถึงพระอัจฉริยภาพเป็นที่ยิ่งว่า ทรงเป็นนักพัฒนาชนบทที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งในโลกนี้ทีเดียว

aoahung-kraben

ในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นในเรื่องการค้นคว้าทดลอง และวิจัยพืชชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ทั้งพืชเศรษฐกิจ เช่น หม่อนไหม ยางพารา ฯลฯ พืชเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินและพืชสมุนไพร ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืชหรือพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมเพื่อแนะนะให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เป็นการลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร อาทิทรงสนับสนุนให้เกษตรใช้โคและกระบือเป็นแรงงานในการทำไร่ทำนามากกว่าการใช้เครื่องจักร การปลูกพืชหมุนเวียนโดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย หากในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีราคาแพงและมีผลกระทบต่อสภาพและคุณภาพของดินในระยะยาว และทรงแนะนำเกษตรกรในเรื่องการผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีผลดีทั้งในด้านเชื้อเพลิงและปุ๋ย

การค้นคว้าทดลองด้านการเกษตรที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยด้านการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ นำมาใช้อย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น จะเห็นได้จากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการค้นคว้าทดลองโครงการต่าง ๆ เป็นการส่วนพระองค์มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2505 แต่ละโครงการนั้นได้ใช้เทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์มาช่วยในการศึกษาค้นคว้าและทดลอง ด้วยขั้นตอนการผลิตที่ไม่ยากนัก เพื่อเผยแพร่หรือแนะนำให้ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติเองได้ เป็นการเสริมสร้างอาชีพด้านการเกษตร เช่น โครงการเกี่ยวกับปลาหมอเทศ ปลานิล นาข้าวทดลอง ข้าวไร่ การผลิตก๊าซชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ โรงโคนม พันธุ์โคนม ศูนย์รวมนม เนยแข็ง น้ำผลไม้ โครงการขจัดน้ำเสียโดยปลูกผักตบชวา สวนพืชสมุนไพร โครงการหวาย เป็นต้น

ปัจจุบันศูนย์ศึกษาฯ มีผลการศึกษาที่ประสบความสำเร็จแล้วในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดในสภาพพื้นที่ต่าง ๆ การเลี้ยงสัตว์ที่ถูกวิธี การประมง ฯลฯ โดยได้มีการสาธิตไว้ในลักษณะของ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ง่าย ๆ เกษตรกรสามารถนำไปเป็นความรู้ในการประกอบอาชีพได้ ดังนั้น ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ที่ศูนย์ศึกษาฯ ใกล้บ้านได้อย่างครบถ้วน หรือจะขอไปเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ ได้เช่นกันสำนักงาน กปร. และศูนย์ศึกษาฯ พร้อมที่จะให้บริการกับทุกท่าน ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำความรู้จากศูนย์ศึกษาฯ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง สมดังพระราชปณิธานแห่งองค์ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่”

ป้ายคำ : , ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น