ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี

26 พฤษภาคม 2556 ศาสตร์พระราชา 0

ห้วยทราย ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ก็เช่นเดียวกับดินแดนอื่น ๆ อีกมากของประเทศไทย ที่แต่เดิมเคยเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้นานาพันธุ์เขียวชะอุ่ม มีสัตว์ป่าโดยเฉพาะ เนื้อทราย อาศัยตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อว่า “ห้วยทราย” และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้าง “พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” หรือป่าเนื้อทราย ขึ้นที่นั่น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๗

ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกิน บุกรุกแผ้วถางป่า ประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่สับปะรดและใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี ส่งผลให้ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๔๐ ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงจนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษาจนเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินค่อนข้างสูง สภาพดินเกิดความเสื่อมโทรม พืชพันธ์ไม้ที่ปลูกไม่สามารถเจริญเติบโตได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ ทรงพบเห็นสภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทรงมีรับสั่งความตอนหนึ่งว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นนับแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์

huaysaitrut

ถ้าขับรถจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษม ประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร จะพบที่ตั้ง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ห่างจากชะอำไปางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร จัดเป็นพื้นที่ดำเนินงานตามโครงการ ๑๕,๘๘๒ ไร่ มีสำนักงานโครงการตั้งอยู่ที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ (ค่ายพระรามหก) และมีศูนย์สาขาคือ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

การดำเนินงานสนองพระราชดำริในการพัฒนาและฟื้นฟู “ห้วยทราย” นี้ มีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมงานจำนวนมาก เช่น กรมที่ดิน กรมพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ ฯลฯ กำหนดแผนงานเป็น ๓ แผน คือ

แผนงานการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิทยาของห้วยทราย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สมดุลย์กับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และสามารถฟื้นฟูให้มีศักยภาพในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  • ระบบนิเวศน์ป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้คืนสภาพป่าต้นน้ำลำธาร
  • ระบบนิเวศน์พื้นราบ ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเกษตรกรรมระบบวนเกษตร
  • ระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ให้คืนสภาพป่าบกและป่าชายเลน

แผนการศึกษาทดลอง ทำการทดลองศึกษาและวิจัย เพื่อให้ได้รูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยยึดหลักการที่ว่า ราษฎรอยู่รอดและธรรมชาติก็อยู่รอดด้วย มีการทดลองอนุรักษ์ดินและน้ำ พันธุ์พืช สัตว์ และปล่อยสัตว์คืนสู่ชีวิตธรรมชาติ ศึกษาหารูปแบบในการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม เช่น เลี้ยงกบ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร นำออกเผยแพร่เป็นแบบอย่างแก่ราษฎร

แผนงานการพัฒนาช่วยเหลือประชาชน เป็นการสนองพระราชดำริที่จะทรงขจัดความยากจน ความทุกข์ลำเค็ญของราษฎรในพื้นที่โครงการ มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม พัฒนาอาชีพการเกษตร ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น งานจักสาน เจียระไนอัญมณี พัฒนาด้านสุขภาพอนามัย การวางแผนครอบครัว การตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรให้คืนสู่สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ

การศึกษาวิจัยและการแสดงของศูนย์ เพื่อนำความรู้ออกเผยแพร่สู่ประชาชน มุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม สร้างแนวป้องกันไฟป่า โดยใช้ระบบป่าเปียก เช่น สร้างแนวคูคลอง และพืชเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงและอนุรักษ์ป่า และสร้างรายได้จากผลิตผลป่าไม้ พร้อมกับเพาะปลูกพืชเกษตรกรรมที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย

กิจกรรมที่น่าสนใจของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ คือ

  • งานพัฒนาป่าไม้ ปลูกป่า ๓ อย่าง ได้แก่ ไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สร้างสมดุลทางธรรมชาติของป่าให้คืนสู่สภาพเดิม
  • การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะเนื้อทราย แล้วปล่อยเข้าสู่ป่า เร่งสมดุลทางธรรมชาติ
  • การปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันสารพิษ

huaysaidin

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานที่จะให้พื้นที่ “ห้วยทราย” ที่เคยแห้งแล้ง กลับคืนสู่ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ดุจดั่ง “มฤคทายวัน” ในกาลก่อนเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิเวศน์มฤคทายวันขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๗ ซึ่ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ” จะเป็นแหล่งธรรมชาติ อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนทั้งในชุมชนเมือง และในชนบทอย่างแท้จริงต่อไป
ขอบข่ายในการทำงานของศูนย์นั้น หลักๆที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงมีอยู่5เรื่องด้วยกัน ได้แก่

  1. ดิน เมื่อสูญเสียสภาพป่า หน้าดินก็สูญเสียตามไปด้วย และดินบางแห่งก็มีการใช้ยาฆ่าแมลง จนทำให้ดินเสื่อมสภาพ มีความแข็งกระด้าง ขุดเจาะไม่ลง
  2. น้ำ จากที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สมบูรณ์ กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง น้ำแทบจะไม่มีในพื้นที่ ลำห้วยแห้งไปหมด
  3. ป่า เป็นการฟื้นฟูสภาพป่าไม้กลับคืนมา ด้วยกลวิธีหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือในบริเวณพื้นที่สูง อาจต้องใช้ระบบภูเขาป่าหรือป่าเปียกเข้ามาช่วย
  4. คน ต้องสอนให้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น รู้จักวิธีการอยู่กับป่า การประกอบอาชีพ ต้องอยู่ได้โดยการเกื้อกูลกันระหว่างตัวคนและป่า
  5. พลังงาน เป็นพลังงานทางเลือกหลายๆอย่าง โดยมีพระราชดำริที่เอามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เกษตรกรรม หรือแม้แต่ในเรื่องของการฟื้นฟูป่า ก็มีพลังงานเข้ามาช่วยด้วย

การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การฟื้นดิน โดยใช้หญ้าแฝกเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกขวางตามแนวระดับให้กอชิดติดกัน ตามความเหมาะสมของพื้นที่ลาดชัน เพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ ที่เกิดจากการชะล้างของหน้าดิน ในบริเวณร่องน้ำ แนวของหญ้าแฝกช่วยเก็บกักตะกอน เป็นกำแพงป้องกันดินตามธรรมชาติ ล้อมดินไว้เพื่อสร้างหน้าดินขึ้นมาใหม่โดยทำการปลูกป่าเสริมลงไปในพื้นที่ ส่วนบริเวณแหล่งน้ำรากของหญ้าแฝกยังช่วยดูดซับสารเคมี ซึ่งเป็นวิธีการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ

ในดินที่แข็งเป็นดาน
ได้ทำการขุดเจาะให้เป็นช่องหรือบ่อ นำดินที่มีธาตุอาหารพืชมาใส่ นำหญ้าแฝกมาปลูกให้น้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น รากของหญ้าแฝกมีความแข็งแรง สามารถชอนไชลงในแนวดิ่ง ทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้ดี ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินที่แข็งเป็นดานให้แตกตัว รากของหญ้าแฝกที่ตายและย่อยสลายผุพัง เกิดมีช่องว่าง น้ำและอากาศสามารถหมุนเวียนลงสู่ใต้ดินได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นเกิดขบวนการย่อยสลาย นำพันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ เช่น ไม้ดั่งเดิมที่เคยมีในพื้นที่มาปลูกเสริม ใบของหญ้าแฝกที่แก่สามารถตัดและนำมาคลุมผิวดินตามโคนต้นไม้หรือหน้าดิน ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ ย่อยสลายได้เร็ว หมุนเวียนเป็นธาตุอาหารของพืชได้ต่อไป

huaysaifag

การกระจายความชุ่มชื้น
แต่เดิมพื้นที่มีความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นเขตอับฝน เกิดสภาพเป็นทะเลทราย เมื่อมีฝนตกเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ต้นไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ภูเขามีสภาพเป็นเขาหัวโล้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำ เพื่อสร้างและกระจายความชุ่มชื้นในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการดังนี้คือ
การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือฝายแม้ว
หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Check Dam คือการนำวัสดุตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ในพื้นที่ มาใช้ปิดกั้นทางน้ำ ร่องเขาและพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขา เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและช่วยดักตะกอนไว้ ไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ในระยะเวลาหนึ่งเศษซากกิ่งไม้ ใบไม้และตะกอนดินจะช่วยอุดตามช่องและร่องของวัสดุที่ใช้ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น สามารถเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ช่วยกระจายความชุ่มชื้นในบริเวณร่องเขา หรือร่องน้ำให้น้ำมีโอกาสซึมลงสู่ใต้ดิน เป็นการเพิ่มและรักษาระดับน้ำใต้ดินไว้ให้พืชสามารถดูดซับความชุ่มชื้นไว้ได้

huaysaisra

การทำคันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ

  1. คันดินกั้นน้ำ(Terracing) คือการสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียง(ลาดเท) ในบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา ทำการขุดพื้นที่บางส่วน ให้เป็นแอ่งขยายให้กว้าง มีลักษณะคล้ายอ่างน้ำขนาดเล็ก ใช้ในการเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ สร้างความชุ่มชื้นและน้ำบางส่วนสามารถซึมลงสู่ใต้ดินช่วยรักษาระดับน้ำใต้ดิน แล้วทำการปลูกป่าเสริมรอบๆบริเวณแอ่งน้ำหรือเหนือคันดินกั้นน้ำ เพื่อสร้างป่าขึ้นมาใหม่
  2. คันดินเบนน้ำ(Diversion) คือการขุดดินให้เป็นร่องหรือบางส่วนยกระดับ คันดินให้สูงขึ้น สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับคันดินกั้นน้ำทั้งสองด้านเข้าหากัน เมื่อมีฝนตกและปริมาณมาก น้ำสามารถไหลกระจายไปตามแนวคันดินเบนน้ำได้ทั้งสองด้านได้อย่างทั่วถึง ถ้าปริมาณน้ำเกินความจุของแอ่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำในแนวระดับ จะมีท่อลอดต่อผันน้ำไปยังแนวคันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำด้านล่างที่เป็นแนวถัดไปสามารถควบคุมน้ำให้กระจายไปในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำสามารถใช้เป็นถนนสัญจรไปมาและยังใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย

การฟื้นฟูสภาพป่าไม้
การปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง

huaysaikaw

  • ประโยชน์อย่างที่ ๑ การปลูกไม้โตเร็ว เพื่อพัฒนาและสร้างหน้าดินขึ้นใหม่และยังสามารถนำไม้มาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้
  • ประโยชน์อย่างที่ ๒ การปลูกไม้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากไม้ดั้งเดิมมีความแข็งแรงและทนต่อสภาพของดินฟ้าอากาศได้เป็นอย่างดี
  • ประโยชน์อย่างที่ ๓ การปลูกไม้เศรษฐกิจหรือไม้ผล เพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์ในอนาคต
  • ประโยชน์อย่างที่ ๔ คือ เป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ การอนุรักษ์ดินนั้น เกิดจากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกัน แล้วย่อยสลายกลายเป็นดินใหม่ ส่วนการสร้างความชุ่มชื้นเกิดจากร่มเงาของต้นไม้ จะช่วยลดการระเหยของน้ำในดิน ซึ่งเป็นการสร้างป่าแบบผสมผสานได้อย่างกลมกลืนและเกิดความสมดุลในระบบนิเวศป่าไม้ได้เร็วยิ่งขึ้น

ระบบภูเขาป่าคือ การนำพลังงานแสงอาทิตย์ (ระบบโซลาเซล) สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำขึ้นไปใส่ถังพักน้ำที่ก่อสร้างไว้บนภูเขาให้น้ำล้นและปล่อยให้ไหลกระจายไปตามพื้นที่โดยรอบถังพักน้ำ แล้วปลูกต้นไม้ไว้รอบๆพื้นที่ก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งไม้ที่ใช้ปลูกในพื้นที่เป็นไม้โตเร็วและไม้เศรษฐกิจและไม้ดั้งเดิม วิธีการปลูกป่าแบบนี้มีอัตราการรอดตายของพันธุ์ไม้ค่อนข้างสูง เป็นการปลูกป่าจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง

huaysaipah

การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการสร้างระบบภูเขาป่า เนื่องจากพืชพันธุ์ไม้ที่รอดตายและสามารถเจริญเติบโตได้ในระยะเวลาหนึ่งจะสามารถผลิดอกออกผล เมล็ดหรือผลที่แก่จะร่วงหล่นหรือเมื่อสัตว์ได้กินผลแล้วไปถ่ายไว้ในพื้นที่ต่างๆ ประกอบกับมีสภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้มีการเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ หรือ ในกรณีที่เราไม่เข้าไปบุกรุกเป็นการปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้ตามธรรมชาติ ในระยะเวลาหนึ่งพืชชนิดต่างๆ ที่ถูกตัดต้นไปแล้วเหลือแต่ตอไว้ ก็สามารถแตกหน่อแล้วเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ ดังภาพแสดงให้เห็นบริเวณร่องเขากระปุกในปี ๒๕๔๐ เปรียบเทียบกับปี ๒๕๔๙ มีพืชพันธุ์ไม้ขึ้นเต็มร่องเขา เป็นการคืนสภาพป่าตามธรรมชาติโดยไม่ต้องปลูก สามารถประหยัดงบประมาณได้อีกด้วย

ระบบป่าเปียก
น้ำบางส่วนที่ไหลลงมาจากระบบภูเขาป่า จะไหลลงมาที่แนวฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือฝายแม้ว หรือ Check dam สร้างความชุ่มชื้นให้ทั่วพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการปลูกป่า การกระจายน้ำจากฝายแม้ว โดยการใช้ท่อไม้ไผ่ใช้ท่อสายยาง หรือท่อ PVC เจาะรูต่อขยายไปทางด้านข้างให้น้ำกระจายออกไป เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่แล้วทำการปลูกป่าเสริม

ป่าชายเลน
เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลจากพื้นที่ตอนบนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทายฯ จะไหลเข้าสู่ระบบฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือฝายแม้ว หรือCheck dam คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ ส่วนที่เหลือจะไหลลงสู่แหล่งน้ำตอนล่างแล้วออกสู่ทะเล เป็นคลองที่เชื่อมต่อกับคลองบางกราใหญ่และบางกราน้อย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าชายเลนและป่าชายหาด ในเขตพื้นที่ของกองกำกับการ ๑ กองบังคับการฝึกพิเศษค่ายพระรามหก ทำให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศน์มากขึ้น ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์น้ำ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เมื่อเจริญเติบโตก็จะออกสู่ทะเลเป็นแหล่งอาหารของประชาชนต่อไป

ที่ตั้งโครงการ

ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี บนถนนเพชรเกษม ห่างจากชะอำมาทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ตามเส้นทางถนนสายเพชรเกษมประมาณ ๒๒๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ดำเนินการของโครงการรวมทั้งสิ้น ๑๕,๘๘๒ ไร่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ๗๖๑๒๐
โทรศัพท์ : ๐-๓๒๕๙-๓๒๕๒-๕
โทรสาร : ๐-๓๒๕๙-๓๒๕๒
E-mail : info@huaysaicenter.org

ป้ายคำ : , ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น