ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ แหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกองทัพเรือ ก่อตั้งขึ้นจากการที่รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชดำริคิดค้นขึ้น และสามารถปฏิบัติได้จริง หากนำแนวทางไปขยายผลจะทำให้ประเทศชาติเกิดความแข็งแกร่งทั้งทางด้านจิตใจและทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนขยายไปสู่ระดับประเทศ รัฐบาลจึงได้กำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่บัญญัติไว้ในนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลได้มีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ผ่านตามสื่อต่างๆ มากมายแต่เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐ กองทัพเรือได้จัดทำ โครงการวิถีชีวิตข้าราชการกองทัพเรือ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ขึ้น และเพื่อให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์จึงได้มอบหมายให้ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือก่อตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่แก่กำลังพลกองทัพเรือ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษาเรียนรู้และมีพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ พุทธศักราช เป็นต้นมา

องค์ความรู้ของแหล่งเรียนรู้
ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ได้พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และนำความรู้ที่ได้รับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ โดยได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้
- ปรัชญาตามเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ได้รวบรวมและเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำมาประยุกต์ใช้และให้ความรู้แก่ผู้ศึกษาดูงานให้เข้าใจอย่างง่ายๆ จนได้รับคำชมเชยจากผู้ศึกษาดูงานว่าศึกษาดูงานที่นี่แล้วเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถ่องแท้ มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
- เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำเกษตรแนวใหม่ แบบพึ่งพาตนเองโดยการบริหารจัดการที่ดิน และแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นรูปแบบการเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรกรที่แม้ยากจน มีที่ดินและทุนน้อย ก็สามารถนำไปปฏิบัติและพัฒนารูปแบบการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขได้ผลจริง
- หลักเกษตรธรรมชาติ เป็นการเกษตรปลอดจากการใช้สารเคมีทุกชนิดทั้งการเพาะปลูก การป้องกันการกำจัดศัตรูพืชโดยได้รับข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์บริหารศัตรูพืช จ.ชลบุรี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสังคมหมู่บ้าน จ.ชลบุรี ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสังคมหมู่บ้าน จ.ฉะเชิงเทรา และสถาบันพัฒนาการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ จ.สุพรรณบุรี
- การเกษตรผสมผสาน เป็นระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันซึ่งจะทำให้เกิดการเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน
- การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยหญ้าแฝก ได้รับการสนับสนุนข้อมูลวิชาการจากสถานีพัฒนาที่ดินชลบุรี
- การปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงโค กระบือ ปลาน้ำจืด ได้รับข้อมูลความรู้ทางวิชาการจาก ปศุสัตว์ อำเภอสัตหีบ และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.ชลบุรี
- การอนุรักษ์และประหยัดพลังงาน ได้รับการสนับสนุนความรู้และอุปกรณ์สาธิตจากกรมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน
- การปลูกสร้างบ้านดิน ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากกลุ่มจิตอาสาบ้านดิน
- การเลี้ยงไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ ได้รับข้อมูลทางวิชาการมหาวิทยาลัยแม่โจ้
การให้บริการและกิจกรรม
ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ได้ขยายความรู้เหล่านั้น ในรูปแบบของการให้บริการและการจัดกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
- บริการนำชมแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่เป็นสี่ส่วนตามแนวพระราชดำริ คือแหล่งน้ำ นาข้าว ปลูกต้นไม้ และที่อยู่อาศัย
- บริการนำชมจักรยานปั่นน้ำประหยัดพลังงาน ที่ใช้ปั่นน้ำรดแปลงผักโดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า
- บริการนำชมเตาเผาถ่าน โดยใช้เศษกิ่งไม้ ที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วมาเผาให้เป็นถ่าน นอกจากได้ถ่านไว้ใช้หรือขายแล้วยังได้สารน้ำส้มควันไม้ ซึ่งเป็นสารไล่แมลง ศัตรูพืช และเป็นปุ๋ย
- บริการนำชมการฝึกควายเพื่อเอาไว้ใช้ในงานเกษตรและการแสดง
- บริการนำชมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้าน
- บริการจัด กิจกรรมปลูกข้าววันแม่ เป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นประเพณีในเดือนสิงหาคมของทุกปี
- บริการจัด กิจกรรมเกี่ยวข้าววันพ่อ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี

พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้จัดทำโครงการ เฉลิมพระเกียรติ ๒ โครงการ คือ
- โครงการหอศิลป์เจ้าพ่อหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยก่อสร้างอาคารดิน จำนวน ๔ หลัง และอาคาร ๘ เหลี่ยม จำนวน ๑ หลัง ในบริเวณพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่พระชนมายุ ๑ พรรษาจนถึงปัจจุบัน จำนวน ๘๔ ภาพ เป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- โครงการวนเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมนำและเผยแพร่แนวคิดทฤษฎีตามพระราชดำริพัฒนาและอนุรักษ์ธรรมชาติมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
– ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก โดยใช้วัฏจักรคืนธรรมชาติ
– การปลูกป่า ๓ อย่างประโยชน์ ๔ อย่าง
– ฝายชะลอความชุ่มชื้นของผืนดิน
– ทฤษฎีใหม่
นอกจากโครงการเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ได้ริเริ่มจัดทำโครงการขึ้นใหม่ ได้แก่
- โครงการวิถีควายไทย มีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ และฟื้นฟูวิถีชีวิตเกษตรกรตลอดจนเพื่อให้กำลังพลและครอบครัวของหน่วยงานในกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป กลุ่มนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ได้ศึกษาเรียนรู้ วิถีชีวิตเกษตรกรไทย ความผูกพันระหว่างคนกับควาย ซึ่งใช้พื้นที่จำนวน ๑๐ ไร่ บริเวณศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ปัจจุบันมีควายอยู่ในโครงการฯ จำนวน ๔๐ ตัว ประกอบด้วยพ่อพันธุ์ ๕ ตัว (พันธุ์ชลบุรี ๑ ตัว พื้น เมือง ๒ ตัว ลูกผสม ๑ ตัว และเผือก ๑ ตัว) แม่พันธุ์ ๑๔ ตัว (พันธุ์ชลบุรี ๑ ตัว พื้น เมือง ๘ ตัว ลูกผสม ๔ ตัว และเผือก ๑ ตัว) ลูกควาย ๒๑ ตัว (พันธุ์ชลบุรี ๑ ตัว พื้น เมือง ๑๘ ตัว และเผือก ๒ ตัว)๒. การปลูกมะนาวในปลอกบ่อ เพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงที่ท้องตลาดขาดแคลนมะนาวและมีราคาสูง การดำเนินการในขั้นต้นเริ่มที่ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ จำนวน ๒๖ ปลอกบ่อ ประกอบด้วย พันธุ์แป้นพิจิตร แป้นรำไพ แม่แก่ไข่ดก และพันธุ์ตาฮิติ
- การปลูกมะนาวในปลอกบ่อที่ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ มีการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ทำให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงได้นำไปขยายพื้นที่การปลูกให้กว้างขวางมากขึ้น โดยนำไปปลูกบริเวณไหล่ทางทั้งสองข้าง ทางเข้าอาคารเรือนแถวประทวน เพิ่มขึ้นอีกประมาณ ๑๔๘ ปลอกท่อ เป็นพันธุ์ตาฮิติ โดยอยู่ในความดูแลของ กำลังพลผู้ที่พักอาศัยอาคารเรือนแถวประทวน เพื่อให้ช่วยกันดูแล และสามารถเก็บผลผลิตไปใช้ในครัวเรือนได้

ที่ตั้ง
ศูนย์การเรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
เวลาให้บริการ
– ศึกษาดูงานเป็นหมู่คณะ ติดต่อที่นายทหารกิจการพลเรือนศูนย์ฝึกทหารใหม่ โทร ๐ ๒๔๖๖ ๑๑๘๐ ต่อ ๖๕๐๕๐-๕๑
– ศึกษาดูงานเป็นการส่วนบุคคล สามารถเข้าไปได้โดยไม่จำเป็นต้องนัดหมายล่วงหน้า
– เปิดให้เยี่ยมชม ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ ๑๗.๐๐ ไม่เว้นวันหยุดราชการ
หมายเหตุ:ข้อมูลจากหนังสือปกิณกวัฒนธรรม จังหวัดชลบุรี