ศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน

27 ธันวาคม 2557 แหล่งเรียนรู้ 0

ในยุคของข้าวยากหมากแพง น้ำมันยิ่งโคตรแพง ทางออกของปัญหาที่ดีที่สุดคือ การน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต ให้พึ่งตนเองได้ และดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนสามารถเลี้ยงดูตนเอง ครอบครัว และเป็นครูคอยช่วยเหลือแนะนำถ่ายทอดความรู้สู่ผู้อื่น ผ่านกระบวนการของศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน ที่สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองและเครือข่าย จนได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทยด้านการเกษตรยั่งยืน

เพียงเปลี่ยนความคิดชีวิตก็เปลี่ยนไป
เดิมทีพ่อชูศักดิ์ หาดพรม ก็ดำรงชีวิตเหมือนเกษตรกรทั่วไป มุ่งปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว คือข้าวโพด ตามที่ใครๆ เขาก็ปลูกกัน ด้วยหวังสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง แต่ปีแล้วปีเล่าก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่หวังไว้ นอกจากไม่ได้ทำให้ตนเองยืนหยัดอยู่ได้ในฐานะของเกษตรกร หากแต่กลับสร้างหนี้สินเพิ่มพูนขึ้นมาไม่ว่าจะหนี้ธกส., สหกรณ์ หรือแม้แต่หนี้นอกระบบก็ตาม วังวนแห่งความยากจน ความเป็นหนี้ยิ่งทับถมทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเป็นการเกษตรที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมี ดินก็เริ่มเสื่อมลงๆ ทำให้ต้องเพิ่มการใช้ปุ๋ย สารเคมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนยิ่งสูงขึ้นๆ พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะนำไปขายก็ต้องพึ่งพิงพ่อค้า พึ่งพิงราคาจากกลไกการตลาด ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ร่ำไป กลายเป็นทุนหายกำไรหด จึงได้มาคิดทบทวนตัวเอง พยายามศึกษาเรียนรู้เรื่องการประกอบอาชีพจากคนอื่น มองหาลู่ทางอื่นดูบ้าง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความคิด ที่จะไม่สยบยอมอยู่กับวิถีการเกษตรแบบเดิมๆ เท่านั้น ที่ไม่เพียงแต่ยังทำร้ายสุขภาพของตนเอง และทำลายสิ่งแวดล้อมไปด้วย

ความรู้คือหัวใจสำคัญ
หลังจากเริ่มคิดได้ พ่อชูศักดิ์ ก็เริ่มศึกษาการเลี้ยงเป็ด โดยวันหนึ่งได้มีโอกาสไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่แม่จริม เห็นเพื่อนเลี้ยงเป็ดไข่ไว้ ๕ ตัว จึงถามเพื่อนว่าเป็ดนี้ไข่ทุกวันหรือเปล่า เพื่อนก็บอกว่าไข่ทุกวัน ๕ ตัว ก็ ๕ ฟอง พ่อชูศักดิ์ จึงคิดอยู่ในใจกลับไปจะเลี้ยงเป็ดไข่ ขายไข่เป็ด น่าจะสร้างรายได้ดี หากเลี้ยงสัก ๒๐๐ ตัว ก็ไข่ได้ ๒๐๐ ฟองต่อวัน ขายฟองละ ๒ บาทก็ได้ ๔๐๐ บาทต่อวัน

คิดแบบตรรกะง่ายๆ แค่นี้ไม่เห็นยากดีกว่าปลูกข้าวโพดขาย จึงลงทุนไปซื้อลูกเป็ดไข่จากพ่อค้าในเมืองมาเลี้ยง ซึ่งตอนที่ซื้อก็ถามพ่อเลี้ยงที่ขายเป็ดว่าเลี้ยงกี่เดือนเป็ดจึงจะไข่ พ่อค้าบอกว่าเลี้ยง ๔ เดือนก็ไข่แล้ว จึงรับซื้อเป็ดมาเลี้ยงแรกๆ ก็ต้องซื้ออาหารเป็ดจากพ่อค้ามาเป็นอาหาร แต่นานวันก็พบว่าค่าใช้จ่ายมีเท่าไหร่ก็หมด จึงคิดหาซื้อแกลบรำจากโรงสีข้าวในตำบลมาเลี้ยงแทน

เลี้ยงไปปีกว่าหมดทุนไปจำนวนมาก เป็ดก็ไม่ไข่สักที จึงกลับไปถามพ่อค้าขายเป็ดว่าทำไมเป็ดไม่ไข่ พ่อค้าก็ถามกลับว่าเอาอะไรเลี้ยงมัน เพราะหลังๆ นี่ไม่เห็นมาซื้ออาหารเป็ดไปเลย พ่อชูศักดิ์ ก็บอกว่าเอาแกลบรำเลี้ยง เพราะสู้ราคาค่าอาหารเป็ดไม่ไหว พ่อค้าจึงบอกว่าอย่างนี้เลี้ยงไปทั้งชาติก็ไม่ไข่ เพราะไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารสำหรับเป็ดไข่

ได้ฟังเช่นนั้นลมแทบจับ ลงทุนไปตั้งมาก ปีกว่าก็ยังไม่ได้ไข่เลย หากไปซื้ออาหารเป็ดมาเลี้ยงต่ออีก คงไม่ไหวแน่ จึงบอกพ่อค้าว่าจะขายเป็ดคืนแล้วเลี้ยงไม่ไหว พ่อค้าจึงติดต่อร้านอาหารลาบเป็ดมาซื้อคืนในตัวละ ๑๕ บาท ขาดทุนย่อยยับ จะไม่ขายก็เลี้ยงต่อไม่ไหว จำต้องขาย การเลี้ยงเป็ดครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงของการไม่มีความรู้

จากเลี้ยงเป็ดจึงหันมาเลี้ยงหมูบ้าง แต่โชคร้ายก็ซ้ำเติมเขาเข้าอีกครั้ง เพราะหมูที่เลี้ยงไว้นับร้อยตัวเผชิญภาวะราคาตกต่ำที่สุดในรอบสิบปี เขาต้องนำหมูที่เลี้ยงไว้ออกแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง คนรู้จัก เพราะขายไปก็ไม่มีคนซื้อ ที่เหลือก็ต้องปล่อยให้ตายไปต่อหน้า เป็นอีกบทเรียนที่ทำให้จำมาจนทุกวันนี้ว่า หากเรายังพึ่งพิงคนอื่นเราก็ไม่มีทางยืนด้วยตัวของตัวเองแน่

เริ่มต้นใหม่
เมื่อทบทวนความคิดและชีวิตซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จึงคิดได้ว่า หากยังทำการเกษตรโดยพึ่งพิงคนอื่นอยู่ ก็คงหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ จึงเริ่มต้นด้วยการเกษตรผสมผสานในที่ดินของตนเอง ที่เดิมเป็นไร่ข้าวโพดที่สภาพดินเสื่อมสภาพไปแล้ว เริ่มจากการปรับปรุงดิน หันหลังให้กับการใช้ปุ๋ย และสารเคมี เริ่มใช้เกษตรอินทรีย์ วิธีการแบบดั้งเดิมสมัยเก่า ใช้ภูมิปัญญา ใช้เศษพืช มูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก ขุดหลุมปลูกพืชผักโดยนำดินดีจากที่อื่นมาหยอดตรงหลุม เพื่อให้ดินดีขึ้น

bansangthainsuan

เริ่มจากปลูกพืชผักสวนครัวที่เราต้องกินอยู่ทุกวัน ปลูกทุกอย่างที่กิน ไม่ได้หวังไว้ขาย แต่ขอให้ตนเองได้กินโดยไม่ต้องซื้อก่อน ขณะเดียวกันก็เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ไปพร้อมๆ กัน ขี้เป็ดขี้ไก่ที่ได้ก็นำมาเป็นปุ๋ยคอก หลังจากนั้นจึงเริ่มปลูกไม้ผล พืชยืนต้น เริ่มปลูกทีละอย่าง ปีละ ๕ ต้น ๑๐ ต้น เรียนรู้ไปทีละอย่าง ไม่รีบเร่งแต่อย่างใด

แต่การเกษตรผสมผสานต้องอาศัยน้ำ จึงได้เริ่มขุดบ่อน้ำในสวนของตนเอง แต่ด้วยเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ป่าไม้ไม่มี น้ำในบ่อจึงแห้งขอดในหน้าแล้ง ทำให้พ่อชูศักดิ์ต้องเพียรหาบน้ำจากที่อื่นไปรดน้ำพืชผักต้นไม้เป็นประจำ แม้ในยามค่ำคืนก็ตามเพื่อไม่ให้น้ำแห้งระเหยเร็ว จนต้นไม้ใหญ่ขึ้น ดินดีขึ้น น้ำจึงกลับมา ณ วันนี้เขาค้นพบแล้วว่า “น้ำมาหลังจากที่ความรู้เรามี”

เมื่อดินดำ น้ำดีขึ้น พ่อชูศักดิ์ ก็เริ่มประสบปัญหาหญ้าขึ้นรก ดายหญ้าเองก็ไม่ไหว จะใช้สารเคมีเหมือนเดิมก็ทำลายสุขภาพ เพิ่มต้นทุน จึงคิดถึงเครื่องตัดหญ้าธรรมชาติ นั่นคือ วัว จึงคิดนำวัวมาเลี้ยงแต่ก็ไม่มีเงินทุนไปซื้อวัว จึงรับจ้างชาวบ้านเลี้ยงวัวแบ่งลูกกัน จนได้วัวมาเป็นของตนเอง วัวจึงเป็นเครื่องตัดหญ้าชั้นดี และให้ปุ๋ยคอกเป็นอย่างดี

ผิดเป็นครู ความรู้ต้องเสาะหา
หลังจากเริ่มต้นได้ พ่อชูศักดิ์ก็ยังต้องอาศัยการลองผิดลองถูก ในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ให้ตนเองอยู่เสมอ ทั้งจากชาวบ้านด้วยกัน เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน จากหนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ ไปศึกษาดูงานของคนอื่น แล้วนำมาปรับปรุงสวนของตนเองอยู่เสมอ จากมีพืชผัก ไม้ผล และสัตว์เลี้ยงไม่กี่อย่าง ก็เริ่มมีมาก และขยายไปเต็มพื้นที่ ๒๓ ไร่ ทำให้มีทุกอย่างที่ต้องใช้กิน ไม่ต้องไปซื้อหาจากข้างนอก เมื่อผลผลิตมากขึ้นจากที่มีกินก็เหลือขาย สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทั้งพืชผัก และไม้ผล จนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินที่มีอยู่ และอุ้มชูตัวเองได้

ประวัติการก่อตั้งและความเป็นมาของศูนย์
กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน ตำบลเมืองจัง กิ่ง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยการนำของผู้นำทางการเกษตร คือ พ่อชูศักดิ์ หาดพรม เดิมใช้ชื่อว่ากลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกตำบลเมืองจัง มีสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งประมาณ 10 กว่าคน ต่อจากนั้น กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ก็ได้ขยายกลุ่มออกไปยังต่างอำเภอ คือ อำเภอสันติสุข ตำบลป่าแลวหลวง ตำบลพงษ์ ตำบลดู่พงษ์ และได้ดำเนินกิจกรรมมาระยะหนึ่งจึงได้เปลี่ยนชื่อ กลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกมาเป็น “กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน ตำบลเมืองจัง ” ในปี พ.ศ. 2539 และมีสมาชิกเพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 35 คน และทางกลุ่มได้ร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกันมาโดยตลอด และมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี จนถึงปัจจุบันและได้ เปลี่ยนเป็นชื่อว่ากลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดน่าน จากผลของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์จากการทำการเกษตรทาง พ่อชูศักดิ์ หาดพรม จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน (พื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง) ขึ้นมาเพื่อรองรับ กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการมาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และกิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียนก็ดำเนินกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ๑๐ ฐาน
หลังจากที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ พ่อชูศักดิ์ ก็ยังไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่พยายามขยายแนวคิด วิธีการ ให้กับเกษตรกรผู้สนใจ สร้างศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียนขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้เกษตรผสมผสาน และเป็นศูนย์พบปะเรียนรู้ในการพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายเกษตรกร ทำให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องของเกษตร นักวิชาการ นักการเกษตร และผู้สนใจ ทำให้เกิดการพัฒนาเครือข่ายและกิจกรรมต่างๆ หลากหลายมากขึ้น

เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์, กลุ่มเลี้ยงวัว, กลุ่มปลูกไม้ผล ฯลฯ ปัจจุบันเครือข่ายเกษตรผสมผสานได้ขยายออกไปยังพื้นที่ เช่น อ.ภูเพียง, อ.เมือง, อ.สันติสุข, อ.แม่จริม, อ.ทุ่งช้าง รวมทั้งมีเครือข่ายอยู่ในต่างจังหวัดอยู่อีกมาก

นอกจากนี้ศูนย์การเรียนรู้แสงเทียนยังเป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ในการดำเนินการโครงการการพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ โดยมีเป้าหมายคือสร้างกระบวนการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติ ในการดำเนินการตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการอบรมเป็นรุ่นๆ ละ ๕๐ คน ระยะเวลา ๕ วัน ๔ คืน นอนพักค้างคืนในสวนแสงเทียนเลย กิจกรรมการเรียนรู้มี จำนวน ๑๐ ฐาน ได้แก่

ฐานที่ ๑ แนวคิดและหลักการในการทำการเกษตรแบบยั่งยืน
เป็นการปูพื้นฐานแนวคิดเรื่องเกษตรยั่งยืน ให้เห็นความสำคัญของการเกษตรกรรมยั่งยืน และชี้ให้เห็นผลเสียจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี ต้นทุนสูง และต้องพิงคนอื่น ส่งผลเสียต่อสุขภาพและทำลายสิ่งแวดล้อม ฐานนี้จึงให้ความสำคัญกับระบบวิธีคิดเป็นสำคัญ มุ่งเน้นการพึ่งตนเอง มิใช่พึ่งคนอื่น หรือปัจจัยภายนอก

ฐานที่ ๒ การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้เอง
เป็นการนำเอาน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลในการเกษตร ฐานนี้จะให้ความรู้ในหลักการใช้พลังงานทดแทน วิธีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และการนำไปใช้ประโยชน์

ฐานที่ ๓ การเผาถ่านด้วยถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตรและประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้
เป็นการเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากกิ่งไม้ ต้นไม้ในไร่สวนที่ตัดทิ้งหรือหักโค่นไม่ใช้แล้ว เมื่อตากแห้งแล้วสามารถนำมาใช้เผาเป็นถ่านด้วยถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร นอกจากจะได้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในครัวแล้ว ยังได้น้ำส้มควันไม้ ที่เกิดจากกระบวนการเผาถ่าน มาใช้ประโยชน์เป็นฮอร์โมนในการรดพืชผัก ไม้ผล ให้ผลิใบออกดอกออกผลที่งามอีกด้วย

ฐานที่ ๔ การขยายพันธุ์ พืช-ไม้ผล การดูแลรักษาให้ได้มาตรฐาน
เป็นการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของพืชและภูมิปัญญาในการดูแลพืช ไม้ผล การเพาะขยายพันธุ์พืช ไม้ผล การติดตา การต่อกิ่ง การตัดแต่งกิ่งไม้ผล

bansangthains

ฐานที่ ๕ การผลิตปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และการปรับปรุงบำรุงดินโดยอินทรียวัตถุ
เป็นการเรียนรู้เรื่องการปรับปรุงดิน และการทำปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้หญ้า วัชพืช ใบไม้ มูลสัตว์ แกลบรำ มาผสมกับจุลินทรีย์ชีวภาพที่ผลิตมาจากใบไผ่

ฐานที่ ๖ การผลิตฮอร์โมน สารสกัดขับไล่แมลง จากพืชสมุนไพรและไม้ผล
เป็นการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของพืช และแมลง ให้รู้ธรรมชาติความต้องการของพืช รู้จักการผลิตฮอร์โมนธรรมชาติที่ผลิตจากพืชในการนำมาเร่งใบ ดอก และผล รวมทั้งรู้จักธรรมชาติของแมลงที่เป็นศัตรูพืช และพืชที่สามารถนำมาทำเป็นสารสกัดไล่แมลงได้ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การทำน้ำจุลินทรีย์จากใบไผ่ เพื่อนำมาเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำน้ำยาเอนกประสงค์ และแชมพู

ฐานที่ ๗ พลังงานแก็สชีวภาพจากแกลบ
เป็นการเรียนรู้ที่จะนำของแกลบที่เกิดจากการสีข้าว ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตแก๊สชีวภาพเพื่อใช้ในครัวเรือน ฐานนี้เน้นให้เรียนรู้เรื่องพลังทดแทนในครัว

ฐานที่ ๘ การเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหารสัตว์ โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน
เป็นการเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ และผลิตอาหารสัตว์โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งสัตว์เลี้ยงแต่ละประเภทก็จะมีธรรมชาติและการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน พืช หญ้าในสวนก็สามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้ และมูลสัตว์ก็นำไปทำปุ๋ยคอก และเป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพได้เช่นกัน

ฐานที่ ๙ การทำน้ำยาเอนกประสงค์ และการแปรรูปอาหาร
เป็นการเรียนรู้การทำน้ำยาเอนกประสงค์โดยใช้น้ำจุลินทรีย์จากใบไผ่ รวมทั้งการแปรรูปอาหาร การถนอมอาหาร โดยเฉพาะการผักและผลไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตในสวน กรณีที่ราคาผลผลิตตกต่ำ

ฐานที่ ๑๐ การวางแผนชีวิต
เป็นฐานสุดท้ายในการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้เรื่องความสำคัญของบัญชีชีวิต โดยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน รวมทั้งให้ผู้เรียนรู้แต่ละคน ได้วาดแผนผังไร่สวนของตนเองว่าอยู่ตรงไหน มีจำนวนกี่ไร่ และปัจจุบันมีการปลูกพืชผัก ไม้ผลอะไรไว้บ้างแล้ว มีการเลี้ยงสัตว์อะไรบ้าง มีระบบน้ำอย่างไร วางแผนอนาคตจะพัฒนาที่ไร่สวนตรงนี้อย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากศูนย์ปราชญ์และส่วนราชการ แผนผังอันนี้จะนำไปสู่การให้การช่วยเหลือ และติดตามประเมินผลหลังผ่านการอบรมไปแล้ว

bansangthainban

ในช่วงกลางวันเป็นการเรียนรู้ตามฐาน ๑๐ ฐาน ส่วนกลางคืนเรียนรู้เรื่องจิต ธรรมะ และความพอเพียง โดยพระวิทยากร รวมทั้งการดูวีดิทัศน์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ และในช่วงวันสุดท้ายของการอบรม ก็จะมีการพาไปศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนยังไร่สวนของเกษตรกรตัวอย่างที่ได้เรียนรู้จากศูนย์แสงเทียนแล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ เพื่อให้เห็นตัวอย่างของการปฏิบัติว่าสามารถทำได้จริง ทั้งในพื้นที่ราบ ที่ดอน และที่สูง แล้วกลับมาสรุปการเรียนรู้ร่วมกันและตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยต่างๆ ก่อนที่จะมอบประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านการอบรมตามหลักสูตรแล้ว

บทเรียนจากการเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน จากปราชญ์ชาวบ้านทำให้ได้แง่คิด มุมมอง ความรู้ และภูมิปัญญาในการจัดการตนเองของเกษตรกร ที่ไม่สยบยอมอยู่กับวังวนแบบเดิมๆ ของเกษตรเชิงเดี่ยว หากแต่คิด ทบทวน ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาวิธีการทำเกษตรผสมผสานในรูปแบบต่างๆ อยู่เสมอ นับว่าเป็นกระบวนการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ชาวบ้านบอกว่า กุ้มอยู่ กุ้มกิ๋น กุ้มตาน (พออยู่พอกิน และพอทำทาน) เป็นตัวอย่างของการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง

สนใจเรียนรู้เกษตรผสมผสานกับศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน ต่อติดได้ที่ :
ศูนย์การเรียนรู้บ้านแสงเทียน ๑๑๘ ม.๑ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน
โทรศัพท์ : ๐๕๔-๖๘๔๕๗๘
e-mail : sangthaen@hotmail.com
http://sangthaen.net
ที่มา http://www.nan2day.com/talk/index.phptopic=7915.0

bansangthainmap

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น