ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน

20 ตุลาคม 2557 แหล่งเรียนรู้ 0

สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษ อำเภอวังน้ำเขียว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน ส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้สมาชิกตระหนักถึงภัยร้ายของการใช้สารเคมีและดำเนินการปลูกผักไร้สารพิษ
  2. เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรชุมชนและดำเนินกิจกรรมแบบครบวงจร สามารถพึ่งพาตนเองได้
  3. เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานในการดำเนินกิจกรรม
  4. เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการป้องกัน อนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในถิ่นของตน
  5. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป
  6. เพื่อแสวงหาเครือข่ายและประสานความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม

ประวัติความเป็นมา
กลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ “วังน้ำเขียว” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 จากการรวมตัวกันของเกษตรกรอำเภอวังน้ำเขียว ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 และเล็งเห็นถึงโทษร้ายของสารเคมีที่ตกค้างจากการทำเกษตร ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตนเอง ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำสำคัญ 3 สาย ได้แก่ ลำพระเพลิง ลำมูลบน และลำเชียงสา แต่หากปรากฏว่ามีการใช้สารเคมี และดำเนินกิจกรรมโดยประชาชนมีส่วนร่วม และพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 600 คน และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร ชื่อ สหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษในเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเขียว จำกัด กิจกรรมได้พัฒนาและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ผลผลิตผักไร้สารพิษ ได้รับการเสนอให้เข้าอยู่ในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นถูกรวบรวมลงในหนังสือครบรอบ 20 ปี กปร. มีเกษตรกรและผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงานและชมการสาธิตฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ได้รับการขานชื่อเป็นครั้งแรกว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน” ในบทความหนังสือมูลนิธิชัยพัฒนา ฉบับเดือนเมษายน 2544 กิจกรรมได้รับความร่วมมือ และสนับสนุนจากหลายหน่วยงานเป็นลักษณะ “พหุภาคี” ภายใต้การดำเนินงานของชาวบ้านในชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ฯ.

soonchaobanpan soonchaobanplan

หลักการและเหตุผล
เกษตรกรอำเภอวังน้ำเขียว รวมตัวกันประกอบอาชีพตามแนวทางพระราชดำริ เริ่มจากการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีในพื้นที่คนละ 2 งานหรือ ครึ่งไร่ เลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยนำเศษอาหารที่เหลือใช้ในครัวเรือนและเศษพืชในแปลงเพาะปลูกมาหมักให้ได้จุลินทรีย์ และทำปุ๋ยหมักชีวภาพ สารสมุนไพรไล่แมลง ซึ่งใช้แทนสารเคมี รวมกลุ่มกันประกอบอาชีพต่างๆ ตามแนวทางเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง มีเกษตรกรและผู้ที่สนใจมาศึกษาดูงาน จำนวนเพิ่มมากขึ้น และที่นั่นเริ่มมีการสาธิตและฝึกอบรมถ่ายทอดประสบการณ์ เกิดหลักสูตรการอบรมต่างๆ ขึ้น ประชาชนจากอำเภอและจังหวัดต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรระหว่างประเทศ เข้ามาให้การสนับสนุน เกิดพหุภาคีขึ้น เพื่อร่วมผนึกกำลังกัน กอบกู้วิกฤตเกษตร “คนของแผ่นดิน” ให้เกิดเป็น “พลังของแผ่นดิน” และร่วมกันกอบกู้วิกฤตของชาติ ดังคำตรัสที่ว่า “ระเบิดจากข้างใน”

soonchaobanpag

การฝึกอบรมของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน”
จะเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ภาระกิจที่สำคัญยิ่งในขณะนี้ คือ การอบรมเกษตรกรพักชำระหนี้ของธกส. อันเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเน้นให้สมาชิกตระหนักถึงภัยร้ายของการใช้สารเคมี และดำเนินการปลูกผักไร้สารพิษ ส่งเสริมให้สมาชิกรวมกลุ่มจัดตั้งองค์กรชุมชนและดำเนินกิจกรรมแบบครบวงจร สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งในปี 2545 อบรมไปแล้ว มากว่า 20 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 1,500 คน การฝึกอบรม จะทำให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้านแห่งนี้ เป็นศูนย์ที่มีศักยภาพในการมีส่วนร่วม เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและชุมชน ส่งเสริมอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเกษตรกร และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาให้เกิดเครือข่ายองค์กรชุมชนที่สนับสนุนการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่ายผู้บริโภค อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

soonchaobankla soonchaobanklas

กิจกรรมหลัก ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน
กิจกรรม แบ่งออกเป็น 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. การผลิต
  2. การแปรรูป
  3. การตลาด
  4. การฝึกอบรม
  5. การสาธิต
  6. การพัฒนากลุ่ม

นอกจากนี้ การดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตและฐานการเรียนรู้ในลักษณะ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์โดยการทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกร นักวิชาการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนการดำเนินบทบาทเป็นศูนย์กลางในการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จทั้งด้านองค์ความรู้และปัจจัยการผลิตที่จำเป็นตามแนวทางของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่ดำเนินการบริหารจัดการโดยชาวบ้าน จึงเรียกโครงการนี้ได้ว่าเป็น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาของชาวบ้าน

สำหรับผลผลิตของกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ ส่วนใหญ่เป็นพืชผักผลไม้ ในระยะแรกเคยส่งให้บริษัทการบินไทย จำกัด บางส่วนส่งจำหน่ายที่ตลาดสุรนคร จังหวัดนคราชสีมา และตลาดบางกะปิ กรุงเทพฯ ปัจจุบันไม่ได้ส่งแล้วเนื่องจากมีตลาดกว้างขวางมากขึ้น ได้แก่ ร้านเลมอนฟาร์ม ท็อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านเครือข่ายมังสวิรัติในกรุงเทพฯ

โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว มีผลผลิตพืชผักผลไม้ไร้สารพิษประมาณ ๑๐,๕๐๐ ๑๒,๐๐๐ กิโลกรัมต่อเดือน มีหลักสูตรฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ สารไล่แมลง ฮอร์โมนผลผลิตพืชจากน้ำส้มควันไม้ (น้ำที่ได้จากการเผาถ่าน) การทำไบโอแก๊สจากพืชผักและอาหารที่เหลือใช้ การทำน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วและเมล็ดสบู่ดำ เป็นต้น โดยตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ มีผู้สนใจเข้ามาฝึกอบรมและศึกษาดูงาน เฉลี่ยกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ต่อปี โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ส่งมาฝึกอบรม ประมาณ ๑,๐๐๐ คนต่อปี

soonchaobanlang

สำหรับความร่วมมือกับเครือข่ายในด้านองค์ความรู้ การตลาดและแหล่งทุน ได้แก่ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษทั่วประเทศกว่า ๒๐ จังหวัด นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ๑ ใน ๘๐ แห่ง ของกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับคณะกรรมการผู้นำชุมชนแห่งชาติ และเป็น ๑ ใน ๑๙ โครงการของโครงการเปิดทองหลังพระ

soonchaobanteam

ผลสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจน คือ การลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ลดการชะล้างหน้าดินโดยการปลูกพืชคลุมดินและปลูกต้นไม้มากขึ้น ปลูกแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่แหล่งน้ำสาธารณะ สระน้ำในไร่นาเพื่อสำรองน้ำเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร การปรับปรุงถนนเพื่อการขนส่งผลผลิต เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากความชุ่มชื้น และความอุดมสมบูรณ์ของดินที่มีมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีขึ้น

การรณรงค์ปลูกต้นไม้และปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้ในชุมชนกับบริเวณโรงเรียน นอกจากจะทำให้มีต้นไม้เพิ่มขึ้นแล้วยังเปรียบเสมือนเป็นการปลูกต้นไม้ลงในจิตใจของสมาชิกโครงการรับนักเรียนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ และจะจัดกิจกรรมการปลูกต้นไม้ต่อไปภายใต้แนวคิดปลูกต้นไม้ใช้หนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นหนี้ของสถาบันการเงินใดก็ตามที่สำคัญก็คือ หนี้ ที่จะต้องตอบแทนบุญคุณของแผ่นดิน

soonchaobansong soonchaobanrod

ต้นไม้ที่งอกงามขึ้นเหล่านี้นอกจากจะช่วยยึดหน้าดิน เพิ่มความชุ่มชื้นแล้ว ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนอีกด้วยเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อความสุข

กสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว จึงเป็นชุมชนตัวอย่างของการใช้สิ่งของที่มีอยู่อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการดำเนินชีวิต การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความรอบคอบระมัดระวังรู้จักพอประมาณ มีเหตุผล มีความสมดุลพอดีระหว่างการใช้ประโยชน์และการฟื้นฟูทรัพยากร รวมทั้งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เกิดความยั่งยืน ไม่เฉพาะในพื้นที่วังน้ำเขียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยโลกให้ปลอดภัยทั้งจากสารพิษและภาวะโลกร้อนเลยทีเดียว

ที่อยู่ 14 หมู่ 11 บ้านน้ำซับ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา 30370
ติดต่อโทร. 044-249107 ,01- 9664247 โทรสาร 044-249109
นายอำนาจ หมายยอดกลาง ประธานกลุ่มส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษ วังน้ำเขียว
โครงการส่งเสริมกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น