สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน มหาวิทยาลัยชีวิต

22 พฤษภาคม 2558 แหล่งเรียนรู้ 0

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนเป็นสถาบันที่มีประวัติความเป็นมา ภูมิหลัง และพื้นฐานจากการทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ มายาวนานก่อนการจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษา เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสนอทางเลือกใหม่ทางการศึกษาและการพัฒนาสังคมไทย เป็นสถาบันที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการศึกษาให้คนจำนวนหนึ่งได้ปริญญา เป้าหมายที่แท้จริงในการตั้งสถาบันนี้ คือ เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการทำงานเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง จึงมีคำขวัญว่า ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง

ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ
ปรัชญา3Es
3Es Institutional Philosophy

  1. การสร้างพลังบุคคลและชุมชน Empowerment
  2. ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากการถูกครอบงำ Emancipation
  3. การศึกษาเป็นเนื้อเดียวกันกับการพัฒนาEducation and Development

ucheewit3Es

วิสัยทัศน์(Vision)
เป็นสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกเพื่อชุมชน ที่จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง และให้ผู้เรียนสามารถอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และมีกินในท้องถิ่นของตนเองได้

พันธกิจ (Mission)
พัฒนาสถาบันเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ การวิจัยและการพัฒนาชุมชนแบบบูรณาการ ที่สร้างพลังทางปัญญาในการขับเคลื่อนขบวนการประชาชนไปสู่สังคม ที่ผู้คนพึ่งพาตนเองได้ และมีความสุข

ปณิธาน ๙ ข้อ ของนักศึกษาและอาจารย์

  1. จะอยู่อย่างมีเป้าหมายและมี ๔ แผนเป็นเครื่องมือนำทางชีวิต (แผนชีวิต แผนอาชีพ แผนการเงิน แผนสุขภาพ)
  2. จะอยู่อย่างเรียบง่าย โดยลดรายจ่าย แยกได้ว่าอะไรเป็นความต้องการ อะไรเป็นความจำเป็น
  3. จะพึ่งพาตนเองโดยทำกิน ทำใช้เองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่เอาแต่หาเงินซื้อทุกอย่าง
  4. จะดูแลสุขภาพของตนเองตามแผน และเป้าหมายที่วางไว้ให้ดีที่สุด
  5. จะมุ่งมั่นขยันแสวงหาความรู้ทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาตนเอง
  6. จะอาสาและร่วมมือกับชุมชนเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
  7. จะร่วมกันสร้างความสามัคคีปรองดองในชุมชน และแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
  8. จะปลูกไม้ใหญ่ให้ได้อย่างน้อย ๙๙ ต้น ใน ๓ ปี ลดการใช้พลังงาน และร่วมมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
  9. จะสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในการเรียนรู้และการทำงาน ทั้งในชุมชนท้องถิ่นและในระดับประเทศ

ความเชื่อ

  1. ปรัญชาเศษรฐกิจพอเพียง คือ หลัก
  2. ปัญญา-ความกล้าหาญ-ความเพียรทน คือ พลัง
  3. การเรียนรู้ คือ หัวใจ เป้าหมาย คื อการพึ่งตนเอง

คุณค่าหลัก

  1. เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
  2. การสร้างสรรค์ (Creativeness)
  3. อัตลักษณ์และเอกภาพ (Identity and Unity)
  4. จิตสาธารณะและความร่วมมือ (Public Mind and Cooperation)
  5. บูรณาการและผนึกพลัง (Integration and Synergy)
  6. ปัญญาและการปฏิบัติ (Wisdom and Practice)
  7. เครือข่ายและความร่วมมือ (Networking and Partnership)
  8. ความไว้วางใจและธรรมาภิบาล (Trustworthiness and Good Governance)
  9. ความสัตย์ซื่อและความสมดุล (Integrity and Sense of Proportion)
  10. พึ่งตนเองและมีความสุข (Self-Sufficient and Happy)

ucheewits ucheewitmoo ucheewitmoos

เรียนอะไร
เนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนในระดับปริญญาตรี ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิชาปรับวิธีคิด (กระบวนทัศน์) กลุ่มวิชาการจัดการชีวิต และกลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการจัดการชุมชนในด้านต่างๆ ตามสาขาวิชาที่ผู้เรียนสนใจ

  1. กลุ่มวิชาการปรับวิธีคิด หรือ กระบวนทัศน์ เป็นการเรียนรู้เพื่อปรับวิธีการมองความเป็นจริงของตนเอง และของโลกภายนอกที่แวดล้อมตนใหม่ เห็นความสัมพันธ์กันของสรรพสิ่ง (กระบวนทัศน์แบบองค์รวม) ทำความเข้าใจแนวคิดและความหมายของคำสำคัญ (วาทกรรม) ที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคมในปัจจุบัน โดยผู้เรียนสืบค้นข้อมูลรากเหง้าของตระกูล (ครอบครัว) ตน และร่วมกันค้นหารากเหง้าของชุมชนตนนำมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจในคุณค่า ศักยภาพ และข้อจำกัดต่างๆ ตามความเป็นจริง เกิดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เห็นคุณค่าของศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นตน เกิดความภูมิใจในท้องถิ่นตน เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตน ขณะเดียวกันก็เคารพในความคิดความเชื่อที่แตกต่างไปจากตนเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น วิชาในกลุ่มนี้ได้แก่ วิชากระบวนทัศน์พัฒนายั่งยืน วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่น วิชาเศรษฐกิจพอเพียง วิชาสังคมประชาธิปไตย วิชาสันติศึกษา เป็นต้น
  2. กลุ่มวิชาการจัดการชีวิต เป็นการนำเอาแนวคิดและคุณค่าต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากกลุ่มวิชาแรกมาวิเคราะห์ทำความเข้าใจปัญหาของตนและสภาพแวดล้อม เพื่อจัดการกับชีวิตของตนและครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การทบทวนชีวิตตนที่ผ่านมา แล้วเริ่มตั้งเป้าหมายชีวิตที่จะเดินต่อไปบนทิศทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม วางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองทั้งในด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และการใช้เวลาในชีวิต เพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันของตนดำเนินไปอย่างสมดุลย์ในทุกบทบาทที่ตนรับผิดชอบ และบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่วางไว้ วิชาที่เรียนในกลุ่มนี้ได้แก่ วิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต วิชาการรู้จักตนเอง วิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน เป็นต้น
  3. กลุ่มวิชาที่เกี่ยวกับการจัดการชุมชนในด้านต่างๆ จุดเน้นจะอยู่ที่การทำแผนแม่บทชุมชนโดยวิธีประชาพิจัย การทำวิสาหกิจชุมชน การสร้างสวัสดิการชุมชนผ่านการออมภายในชุมชนเอง การสร้างกองทุนของชุมชน การจัดการด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม พลังงาน สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งผู้เรียนจะเรียนโดยการปฏิบัติจริงกับชุมชนของตน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในชุมชนขณะเรียน นั่นคือ ชุมชนของผู้เรียนค่อยๆ พัฒนาไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น มีระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเองในระดับที่สูงขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีการคิดค้นและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ลดการพึ่งพาภายนอกลง มีอิสระมากขึ้น

ucheewitngan

วิชาที่เรียนในกลุ่มนี้ได้แก่
วิชาการทำแผนแม่บทชุมชน วิชาการเป็นวิทยากรกระบวนการ วิชาการทำวิสาหกิจชุมชน วิชาการสร้างกองทุนและสวัสดิการชุมชน วิชาเกษตรกรรมยั่งยืน วิชาการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานและสิ่งแวดล้อมชุมชน วิชาระบบสุขภาพชุมชน วิชาการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม วิชาการให้การปรึกษา วิชาสุขภาพจิตชุมชน วิชาคุณธรรมและจริยธรรมในงานสุขภาพชุมชน วิชาการนวดแผนไทย วิชาการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนรู้ วิชาน้ำ และการจัดการ วิชาเทคโนโลยีการถนอมอาหาร วิชาเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิชาการจัดการพลังงานในชุมชน วิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย และวิชาการจัดการของเสียในชุมชน เป็นต้น วิชาในกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มวิชาว่าด้วย ความเป็นมนุษย์ ซึ่งสถาบันนำมาแทนกลุ่มวิชาที่ในระบบการศึกษาทั่วไปเรียกว่า วิชาศึกษาทั่วไป ส่วนวิชาในกลุ่มที่สามเป็นวิชาว่าด้วย การจัดการในแต่ละสาขาซึ่งในขณะนี้มีสาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (โดยบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขา) สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน และสาขาการจัดการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชุมชน

สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น(หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๓)
สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน คณะศิลปศาสตร์
ชื่อหลักสูตร
ชื่อภาษาไทย : หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bachelor of Arts Program in Interdisciplinary for Local Development
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อภาษาไทย
ชื่อเต็ม : ศิลปศาสตรบัณฑิต (สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น)
ชื่อย่อ : ศศ.บ. (สหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น)
ชื่อภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม : Bachelor of Arts (Interdisciplinary for Local Development)
ชื่อย่อ : B.A. (Interdisciplinary for Local Development)
วิชาเอกหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของหลักสูตร

  1. การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นของตน ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยศาสตร์ และศิลป์ ด้านการพัฒนาภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งตนเอง ผ่านกระบวนการประชาพิจัย และการทำวิสาหกิจชุมชน
  2. มีความเข้าใจในศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานด้านการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่ครอบคลุมทั้งการเกษตร ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม กองทุนชุมชน การจัดการผลผลิต สุขภาพชุมชน และการสร้างเครือข่ายทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ
  3. เสริมสร้างทักษะส่วนบุคคลในด้านการพัฒนาตนเองทั้งทางร่างกาย จิตใจ ปัญญา สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเข้าใจในตนเอง และผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เคารพในศักดิ์ศรีของตนเอง และเพื่อนมนุษย์ รวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีความรักความเมตตากรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อทั้งตนเอง และผู้อื่น อ่อนโยน และเป็นมิตรกับธรรมชาติแวดล้อม การเห็นคุณค่าของการงานอาชีพที่ตนทำอยู่ในท้องถิ่น และการพัฒนาอาชีพการงานของตนให้เจริญขึ้น การคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล มีจิตวิญญาณ (ปัญญา) และความอดทนในการเผชิญปัญหา และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และสันติ ทั้งในชีวิตส่วนตัว ครอบครัวชุมชน และสังคม

ucheewitsoon

จำนวนหน่วยกิต : ๑๒๐ หน่วยกิต(ตลอดหลักสูตร)
รูปแบบของหลักสูตร

  1. รูปแบบ หลักสูตรระดับปริญญาตรี ๔ ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา
  2. ภาษาที่ใช้ ภาษาไทย
  3. การรับเข้าศึกษา รับนักศึกษาที่สามารถใช้ภาษาไทยได้

ความร่วมมือกับสถาบันอื่น

  1. องค์กรปกครองท้องถิ่น ได้แก่ อบต. เทศบาล อบจ. กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา
  2. สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น
  3. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมทั้งโครงการต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
  4. กรมวิชาการเกษตร
  5. กรมส่งเสริมการเกษตร
  6. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  7. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  8. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  9. วัด โบสถ์ และศาสนสถาน ของศาสนาต่างๆในท้องถิ่น
  10. องค์กร สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

สถานภาพของหลักสูตรและการพิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตร
หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๓ คณะกรรมการบริหารหลักสูตร คณะศิลปศาสตร์ ได้พิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตรในการประชุม ครั้งที่ ๑๘ วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
สภาสถาบัน ได้พิจารณาอนุมัติ/เห็นชอบหลักสูตร ในการประชุม ครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ และในการประชุมสภาสถาบันฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจบการศึกษา

๑. ประกอบอาชีพอิสระ
๒. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาชุมชน
๓. พนักงานส่วนท้องถิ่น
๔. เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
๕. เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ
๖. ข้าราชการการเมืองท้องถิ่น เช่น นายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. สมาชิกสภาท้องถิ่น และอื่นๆ
๗. ข้าราชการ พนักงานของรัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน
ข้อมูลเฉพาะของหลักสูตร
ปรัชญาของหลักสูตร
เรียนรู้สู่การพึ่งตนเอง มีศักดิ์ศรี มีความสุขในชีวิต เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นตน
ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ มีความรอบรู้กว้างขวาง มีโลกทัศน์กว้างไกล
    มีความเข้าใจธรรมชาติ ตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นผู้ใฝ่รู้ สามารถใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารความหมายได้ดี ตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมทั้งของไทย และของประชาคมนานาชาติ สามารถนำความรู้
    ไปในใช้ในการดำเนินชีวิต ประกอบอาชีพ และดำรงตนอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี
  2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของท้องถิ่น สามารถนำความรู้ไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
    และสังคมของท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้
  3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่จะไปเป็นผู้นำชุมชนท้องถิ่นโดยอาศัยทั้งวิทยาการใหม่ ๆ ที่เป็นสากล และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการพัฒนาท้องถิ่นที่มีลักษณะบูรณาการ และเชื่อมโยงสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างมีพลัง และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  4. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเหตุผล สามารถคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบ มีคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ และเป็นคนดีของสังคม

สาขาวิชาการจัดการสุชภาพชุมชน
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.๒๕๕๓)สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน คณะศิลปศาสตร์
ชื่อหลักสูตร
ชื่อภาษาไทย : หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bachelor of Arts Program in Community Health Management
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อภาษาไทย
ชื่อเต็ม : ศิลปศาสตรบัณฑิต (การจัดการสุขภาพชุมชน)
ชื่อย่อ : ศศ.บ. (การจัดการสุขภาพชุมชน)
ชื่อภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม : Bachelor of Arts (Community Health Management)
ชื่อย่อ : B.A. (Community Health Management)
วิชาเอกหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะของหลักสูตร ความเชี่ยวชาญเฉพาะของหลักสูตรนี้ มุ่งเน้นความสามารถในการใช้หลักทางวิชาการ การบริการและการบริหารจัดการสุขภาพ ตามแนวคิดใหม่ โดยยึดหลักมวลประชาร่วมสร้างสุขภาพ (All For Health) ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับชุมชนและเครือข่ายการพัฒนาสุขภาพด้วยจิตอาสา เสริมสร้างพลังชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และการปรับปรุงอนามัยสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นการสร้าง บุคลากรสุขภาพแนวใหม่ ที่เข้าใจเรื่องสุขภาพแนวใหม่
ได้อย่างดี มีจิตอาสาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสุขภาวะชุมชน สังคมแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน
จำนวนหน่วยกิต : ๑๒๐ หน่วยกิต(ตลอดหลักสูตร)
รูปแบบของหลักสูตร
หลักสูตรระดับปริญญาตรี ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา
ภาษาที่ใช้ : ภาษาไทย
การรับเข้าศึกษา : รับนักศึกษาที่สามารถใช้ภาษาไทยได้
ความร่วมมือกับสถาบันอื่น

  1. กระทรวงสาธารณสุข
  2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  3. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
  4. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
  5. สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)
  6. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
  7. องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)
  8. สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น
  9. หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในระดับชุมชน
  10. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
  11. องค์กรต่างประเทศ

สาขาการจัดการสุขภาพชุมชน
หลังจากการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพโลกครั้งแรก ณ เมืองอ อตตาวา
ในปี ๒๕๒๙ เป็นต้นมา การสาธารณสุขของโลกได้ก้าวเข้าสู่การจัดการสุขภาพแนวใหม่ ที่ให้ความสำคัญอย่างสูงกับการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ซึ่งเป็นการสาธารณสุขเชิงรุก ไม่ใช่การตั้งรับหลังการเจ็บป่วยด้วยการรักษาพยาบาลอย่างเดิมอีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากสุขภาพไม่ได้ถูกมองเป็นเพียงเป้าหมายหรือผลลัพธ์ของความต้องการในการดำรงชีวิตเท่านั้น แต่สุขภาพยังเป็นทั้งปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยนำเข้าสู่การพัฒนาชีวิตตนเอง หน้าที่การงาน และผลผลิตทางเศรษฐกิจ ทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งกายใจ (อารมณ์) สังคม ปัญญา และจิตวิญญาณ (คุณธรรม) สุขภาพ จึงเป็นฐานของชีวิตมีคุณภาพ มีศักยภาพ หรือมีพลังเพื่อการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ นอกจากนั้น สุขภาพ ยังปรากฏอยู่ในทุกหนทุกแห่งไม่ใช่ในสถานพยาบาลเท่านั้น สุขภาพเกิดอยู่ในตัวคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่บ้านที่ทำงาน ในชุมชน และในธรรมชาติ หรือภูมินิเวศต่าง ๆ ดังนั้น การสาธารณสุขแนวใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องของวงการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างสุขภาพ (ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค) หรือแม้แต่ในส่วนของการซ่อมสุขภาพ (การจัดบริการรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ) ก็ตาม สุขภาพจึงต้องถูกปลูกฝังอยู่ในจิตสำนึก กระบวนทัศน์ (มุมมอง วิธีคิด) และค่านิยมของทุกคน ทุกชุมชน สังคมและทุกองค์กร
การดำเนินชีวิต หรือกิจการใด ๆ ของบุคคล หรือองค์กรจะต้องมีจิตสำนึก และบูรณาการกับสุขภาพอยู่ด้วยเสมอ ดังนั้น การดำเนินงานสาธารณสุขแนวใหม่ จึงเปิดโอกาสให้มีคน และองค์กรใหม่ ๆ(New Players or New Partners) เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการบริหารจัดการ และการจัดบริการ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ประเทศ และนานาชาติ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมคนในชาติให้เข้าใจ และมีส่วนร่วมพัฒนาสุขภาพแนวใหม่นี้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ในปี ๒๕๕๓ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน จึงได้เปิดให้มีการเรียนการสอน ในสาขาการจัดการสุขภาพชุมชนขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต โดยมุ่งเน้นการสร้าง บุคลากรสุขภาพแนวใหม่ ที่เข้าใจเรื่องการสาธารณสุข และระบบสุขภาพแนวใหม่ได้เป็นอย่างดี มีความสามารถ
ใช้หลักวิชาการ และการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของมวลประชา และองค์กรต่าง ๆ (All For Health) ในการสร้างสุขภาพ การป้องกันโรค การจัดบริการสุขภาพชุมชน การปรับปรุงอนามัยสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งมีจิตอาสา สามารถบูรณาการ และขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพร่วมกับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในด้านอื่น ๆ สามารถเสริมสร้างพลังชุมชน และพลังภาคี ให้มีความเข้มแข็ง บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หลักสูตรนี้จึงเปิดโอกาสทางเลือกใหม่ทางการศึกษา สำหรับประชาชนทั่วไป ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีจิตอาสาพัฒนาสุขภาพในชุมชน และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมทั้งบุคลากรด้านสุขภาพ ได้เรียนรู้ต่อเนื่องถึงระดับปริญญาตรี นอกจากนั้นหลักสูตรนี้
ยังมุ่งเน้นการสร้างผู้นำด้านการพัฒนาสุขภาพของท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการจัดการสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการ และมีความยั่งยืน

ucheewitlam

การพัฒนาหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชนนี้ เป็นไปตามแนวทางในประกาศ กระทรวง ศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๔๙ ส่วนการจัดโครงสร้างหลักสูตร ก็เป็นไปตามหลักการในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของทางราชการไว้ด้วยในด้านการเรียนการสอน จะเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ให้มาก อาจารย์สอนน้อย ๆ แต่จะใช้เทคนิคทางการศึกษาเพื่อกระตุ้น และสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เช่น การชี้แนะ การเป็นที่ปรึกษา การเป็นโคช การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบ มีส่วนร่วมของนักศึกษา ครอบครัว ชุมชน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการกับชีวิตจริงของนักศึกษา เอาชีวิตของนักศึกษาเป็นตัวตั้ง ผ่านการจัดทำโครงงานการจัดการสุขภาพทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน กล่าวคือ เป็นการเรียนที่บูรณาการการศึกษากับการพัฒนาไว้ด้วยกัน ซึ่งคาดหวังไว้ว่าสุขภาวะของผู้เรียน ครอบครัว และชุมชนจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาการศึกษา ๓ ๔ ปี ด้วยการนำ และการจัดการของผู้เรียนเอง เป็นการเรียนที่มุ่งเสริมสร้างคุณค่า ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในชีวิต
(Self Esteem) เป็นการเรียนเพื่อมุ่งสร้างความสามารถในการพัฒนาตนสู่ความสำเร็จ (Self Actualization) และเรียนเพื่อสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (Transcendence) พร้อมทั้งมุ่งให้เกิดครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และการอยู่ดีมีสุข
โครงสร้างหลักสูตรการจัดการสุขภาพชุมชน๑๒๐ หน่วยกิต ประกอบด้วย

  1. หมวดวิชาทั่วไป ๓๐ หน่วยกิต เป็นวิชาที่เสริมสร้างความรู้ ความตะหนัก และทักษะพื้นฐาน
    ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ กลุ่มวิชาภาษา และการสื่อสาร กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ และกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  2. หมวดวิชาพื้นฐานวิชาชีพ ๓๓ หน่วยกิต เป็นวิชาที่ปูพื้นฐานด้านสุขภาพ ให้นักศึกษาได้เห็นความสัมพันธ์ของสุขภาพกับระบบอื่น ๆ ในสังคม ความสำคัญของข้อมูลชุมชน และการเป็นผู้นำ ด้านสุขภาพในชุมชน ประกอบด้วย วิชาระบบสุขภาพ ระบบสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อการพัฒนาสุขภาพ ระบบสุขภาพพอเพียงกับการพัฒนาสุขภาพชุมชนแบบยั่งยืน การประชาพิจัยเพื่อสุขภาพ การให้การปรึกษา การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชน สุขภาพและวิถีชุมชน การสร้างพลังสังคม ผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ภาคีเครือข่ายชุมชนกับการพัฒนาการจัดการสุขภาพชุมชน คุณธรรมและจริยธรรมในงานการจัดการสุขภาพชุมชน
  3. หมวดวิชาชีพ ๕๑ หน่วยกิต เป็นวิชาเฉพาะเพื่อพัฒนาผู้นำการจัดการสุขภาพชุมชน ประกอบด้วย วิชาการจัดการบริการสุขภาพชุมชน การจัดการการคุ้มครองสุขภาพชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนน่าอยู่ โรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อในชุมชน และการป้องกัน การสร้างเสริมสุขภาพบุคคลครอบครัว และชุมชน สุขภาพจิตชุมชน การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน หลักและกระบวนการจัดการสุขภาพชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสุขภาพ อาหารกับการพัฒนาสุขภาพชุมชน การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน การนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ สัมมนาปัญหาสุขภาพจิตชุมชน สัมมนาการจัดการสุขภาพชุมชน สัมมนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน สัมมนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ
  4. หมวดวิชาเลือกเสรี ๖ หน่วยกิต เป็นวิชาที่นักศึกษาสนใจ ได้แก่ วิชาสันติศึกษา การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม การจัดการอุบัติภัย เพศศึกษา อนามัยครอบครัว การดูแลสุขภาพทางเลือก

ucheewitsorn
เมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีความรู้ ความสามารถทั้งด้านวิชาการ การบริการ และการจัดการสุขภาพชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การคุ้มครองสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมชุมชนได้ สามารถปฏิบัติงานในองค์กรสาธารณสุขทั้งในภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือภาคเอกชน หรืออาชีพอิสระได้ตามที่ต้องการ
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจบการศึกษา

  1. ผู้ปฏิบัติงานด้านวิชาการ บริการสุขภาพ และสาธารณสุข รวมทั้งด้านการบริหารจัดการสุขภาพ และงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการจัดการสุขภาพชุมชน ตลอดจนการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคด้านสุขภาพ
  2. ประกอบอาชีพอิสระทางด้านสุขภาพอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิต
    ที่พึงประสงค์

ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ปรัชญาของหลักสูตร
มีความรู้ความสามารถ และทักษะการจัดการสุขภาพอย่างมุ่งมั่นในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ตามหลักสุขภาพพอเพียงโดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านสุขภาพแนวใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดสังคมสุขภาวะ บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. ) เพื่อสร้างโอกาส และทางเลือกทางการศึกษา สำหรับประชาชนทั่วไป บุคลากรสุขภาพ
    และอาสาสมัครสาธารณสุข ได้เรียนรู้ต่อเนื่องถึงระดับปริญญาตรี เพื่อการพัฒนาการจัดการสุขภาพชุมชน
  2. ) เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การควบคุมแก้ไขสิ่งแวดล้อม
  3. ) เพื่อให้ผู้เรียนประยุกต์ความรู้ และมีทักษะในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ) เพื่อให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดี ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจัดการสุขภาพชุมชน
    ภายใต้จิตสำนึกที่มีจิตอาสา มีคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาวิชาชีพ
  5. ) เพื่อสร้างผู้นำด้านการพัฒนาสุขภาพของท้องถิ่น ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาการจัดการสุขภาพชุมชนแบบบูรณาการและมีความยั่งยืน

สาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืนสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน คณะศิลปศาสตร์
ชื่อหลักสูตร
ชื่อภาษาไทย : หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Bachelor of Arts Program in Sustainable Agriculture Management
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อภาษาไทย
ชื่อเต็ม : ศิลปศาสตรบัณฑิต (การจัดการการเกษตรยั่งยืน)
ชื่อย่อ : ศศ.บ. (การจัดการการเกษตรยั่งยืน)
ชื่อภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม : Bachelor of Arts (Sustainable Agriculture Management)
ชื่อย่อ : B.A. (Sustainable Agriculture Management)

สาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน เป็นหลักสูตรที่บูรณาการการเรียนรู้ โดยนำเอาหลักการและกระบวนการที่สำคัญของการเกษตรยั่งยืน มาแก้ปัญหาชีวิตและสังคมชุมชนท้องถิ่น มุ่งเน้นการจัดการเป็นระบบการผลิตทางการเกษตร เพื่อตอบสนอง ต่อการมีวิถีชีวิตที่พอเพียงของเกษตรกร และผู้บริโภคให้มีความมั่นคงทางด้านอาหาร และได้อาหารปลอดภัยต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำสู่ความยั่งยืน

ucheewitsuan

เป้าหมายของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตให้เป็นเกษตรกรแนวใหม่ มีความสามารถในการพัฒนา
การเกษตร โดยการจัดการทรัพยากร และปัจจัยการผลิตให้เกิดความยั่งยืน คิดเป็น อยู่เป็น พัฒนาเป็น และสร้างเครือข่ายเป็น ใช้ชีวิตเป็นตัวตั้ง เรียนแล้วสามารถดำรงชีวิตในท้องถิ่นตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ มีทักษะการประยุกต์ และจัดการการเกษตรยั่งยืน เพื่อการพัฒนาชีวิตของตนเอง และท้องถิ่น ให้อยู่รอด พอเพียง และมั่นคงยั่งยืน โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปฏิบัติ

ปรัชญาของหลักสูตร
มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถคิดวิเคราะห์ และนำไปสู่การจัดการการเกษตรยั่งยืน ให้พออยู่
พอกิน อยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข มีชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน พึ่งตนเองได้ เป็นผู้นำชุมชนที่เป็นบัณฑิตชาวนา ปัญญาชนชาวบ้าน มีทักษะ และจิตวิญญาณ และความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และพัฒนาการเกษตรอย่างบูรณาการ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปฏิบัติ

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  1. ) เพื่อสร้างโอกาส และทางเลือก ในการศึกษาสำหรับเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาเรียนรู้ และสามารถจัดการการเกษตรยั่งยืนให้พึ่งตนเองได้
  2. ) เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถในการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาด้านการจัดการการเกษตรยั่งยืน จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาสากลสู่การปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ
  3. ) เพื่อสร้างผู้นำชุมชนให้มีทักษะในการวางแผนแก้ปัญหาการพัฒนาเกษตร และถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม ได้ทั้งในระดับครัวเรือน และชุมชนอย่างบูรณาการ

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจบการศึกษา

  1. เกษตรกรผู้นำ
  2. ประกอบอาชีพอิสระ
  3. อาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา
  4. ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้นำชุมชน และวิทยากร
  5. นักวิจัยของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆ
  6. พนักงานและข้าราชการตามกำหนดของ กพ.
  7. พนักงานส่วนท้องถิ่น/สมาชิกสภา อบต. เทศบาล และ อบจ.
  8. พนักงานองค์กรเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ( NGO)
  9. พนักงานบริษัทเอกชน
  10. อาชีพอื่นๆ

ucheewitlife

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน
๑๓/๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลบางคนที อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ๗๕๑๒๐
โทรศัพท์ ๐๓๔ ๗๕๗ ๔๕๒ – ๙ โทรสาร ๐๓๔ ๗๕๗ ๔๖๐
อีเมลล์: info@life.ac.th

ucheewitmap

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น