สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

5 ธันวาคม 2555 แหล่งเรียนรู้ 0

มหาวิทยาลัยเปรียบดั่งคลังปัญญาของแผ่นดิน ที่จะนำพาคนในสังคมและประเทศชาติออกจากความไม่รู้จักพอ การเบียดเบียนผู้อื่น (ความโลภ) ความขัดแย้ง / ความรุนแรงทางสังคมและการเมือง (ความโกรธ) และความโง่เขลาเบาปัญญา การเห็นผิดเป็นชอบ (ความหลง) มหาวิทยาลัยจึงเป็นหัวขบวน ที่ต้องทำหน้าที่นำพาสังคมฟันฝ่าวิกฤตและภัยพิบัติที่มนุษยชาติกำลังเผชิญในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ ไปสู่สังคมใหม่ที่คนในสังคมละอายชั่ว กลัวบาป เป็นสังคมที่ปกครองบ้านเมืองด้วยธรรม ยึดมั่นในประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

ในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์จึงเห็นสมควรจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ โดยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ได้จริง

สภามหาวิทยาลัยเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และได้มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๘ ในระยะแรกมีการสร้างฐานการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้สนใจทั่วไปในท้องถิ่น ปัจจุบันมีฐานการเรียนรู้จำนวน ๙ ฐาน

เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ ให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ จัดตั้งส่วนงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่าคณะเพิ่มขึ้นได้ มหาวิทยาลัยจึงเห็นสมควรเสนอจัดตั้ง สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ขึ้น ตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

จุดยืนของมหาวิทยาลัยราชภัฎ ในฐานะคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน ที่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่นอย่างแท้จริงก็คือ การยืนหยัดขึ้นมาสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของเราเอง เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในจุดยืนของเรา ในจุดเด่นของท้องถิ่น เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนที่เอื้อให้ลูกหลานได้ทำหน้าที่สานต่ออาชีพของบิดา มารดา ให้กลับไปเป็นกำลังพัฒนาท้องถิ่น แทนที่จะเป็นสถาบันการศึกษาที่สอนให้คนทิ้งบ้าน ทิ้งแผ่นดิน มุ่งหวังมาหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานโดยหลงลืม ละเลย พ่อแม่ พี่น้องไว้ข้างหลัง อย่างทุกวันนี้
หนึ่งในกลไกที่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดบทบาทของมหาวิทยาลัย คือ สภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย จากนั้นกระบวนการสรรหาอธิการบดีก็เข้ามาสอดรับกับกระบวนการดังกล่าว โดยให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกอธิการบดีนำเสนอนโยบายการบริหารภายใต้กรอบทิศทางของสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็จะมีทิศทางที่ชัดเจนและเดินไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ตรงทิศ แต่หากให้อธิการบดีเสนอและกำหนดนโยบายเองก็อาจทำให้ทิศทางของมหาวิทยาลัยเบี่ยงเบนไปได้เมื่อเปลี่ยนแปลงอธิการบดี จึงเป็นที่น่ายินดีว่า การคัดเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฎ พิบูลสงคราม และมหาวิทยาลัยราชภัฏ สงขลา ได้ใช้กระบวนการนี้เข้ามาดำเนินการ จนได้อธิการบดีใหม่ที่มีนโยบายสอดคล้อง และมีความเข้าใจอย่างแท้จริง หนึ่งคือ ดร.สาคร สร้อยสังวาลย์ อธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฎ พิบูลสงคราม และสองคือ ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สงขลา
ทั้งสองมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจว่าจะต้องเริ่มจากเข้าใจพื้นที่ของตัวเองก่อน มหาวิทยาลัยราชภัฏ สงขลาต้องมีความรู้เรื่อง ประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา ต้องเข้าใจวิถีชีวิตและความสำคัญของทะเลสาบสงขลา ทำหน้าที่ธำรงรักษาวิถี วัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้เพราะนั่นคือรากเหง้าของเรา มหาวิทยาลัยราชภัฎ พิบูลสงครามก็ต้องเข้าใจพื้นที่ตัวเองและเริ่มพัฒนาจากภายใน ไปหาชุมชนเช่นกัน จากวันนี้ไปอาจารย์ยักษ์อยากให้จับตาดูทิศทางของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งแล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นจุดเปลี่ยนของท้องถิ่น ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต

หนึ่งในตัวอย่างของการเข้าใจในท้องถิ่นของตนเองที่อาจารย์ยักษ์อยากยกตัวอย่างให้เห็นชัด คือ เรื่องราวของชาวชุมชนตำบลวังตะกรอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งมีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ปลูกผลหมาก รากไม้ ได้ผลผลิตดี มีรสชาติหวานอร่อยจนเป็นที่ติดใจ ผลไม้จากหลังสวนเคยมีชื่อเสียงมาช่วงหนึ่ง จนชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงการปลูกผลไม้ไปเป็นการปลูกปาล์ม ต้นมังคุด ลองกอง จำนวนมากจึงถูกโค่นล้มลง ตามความเชื่อเรื่องการปลูกผลผลิตพืชเชิงเดี่ยวเพื่ออุตสาหกรรม การทำสวนแบบสมรมก็หายไปกลายเป็นการถางป่าปลูกปาล์ม ชื่อเสียงของผลไม้หลังสวนก็หายไปเช่นกัน จนเมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านั้น ชาวบ้านหลังสวนกลุ่มหนึ่ง นำโดยกำนันเคว็ด ประวิช ภูมิระวิ ตระหนักถึงรากเหง้าของตนเอง หันมารวมกลุ่มกันอนุรักษ์ไม้ผลเก่าๆ เอาไว้ แม้ว่าจะขายไม่ได้ราคา ราคาตกต่ำ ก็ไม่ยอมโค่นทิ้ง ยอมสู้ทนทำไปเพราะเชื่อว่านี่คือรากเหง้าของชาวหลังสวน โดยเฉพาะมังคุดหลังสวนที่เป็นเอกลักษณ์ จนต้นมังคุดอายุเกินกว่า 100 ปี สูงใหญ่เกินสิบเมตรมีหลายสิบต้น บางต้นเกินกว่า 200 ปีก็มี การเก็บผลผลิตก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะต้องใช้คนที่มีความชำนาญ ปีนขึ้นไปปลิดทีละลูก สูงก็สูง เสี่ยงก็เสี่ยง แถมเอาลงมาแล้วก็ขายไม่ได้ราคาเพราะผลผลิตมังคุดออกมามาก ราคาตก แม้จะเป็นมังคุดอินทรีย์ 100% มีคุณค่าสูง เพราะต้นอายุมาก รสชาติก็หวานดีแต่ก็ทำได้แค่ขายปนไปกับมังคุดเคมี ราคาก็ตกลงเรื่อยๆ พวกเขาก็ยังเฝ้าทนจนปีนี้ มีหลายฝ่ายเข้ามาร่วมมือกันส่งเสริมคุณค่าของมังคุดหลังสวน นำมังคุดร้อยปี แยกออกจากมังคุดเคมี นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม จัดเทศกาลจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลหลายสาขา ขายดิบ ขายดี เกษตรกรก็ได้รายได้ ลูกหลานเกษตรกรก็ขึ้นมาขายมังคุดจากสวนตนเองมีอาชีพ มีรายได้ สิ่งเหล่านี้แหละที่ระบบการศึกษาแบบเดิมๆ ไม่ได้สอน เราจึงไม่มีเกษตรกรรุ่นใหม่มาสืบทอด หมดรุ่นนี้แล้วคงไม่มีสิ่งดีๆ แบบนี้ให้เห็นอีก แต่ถ้ามหาวิทยาลัยท้องถิ่นอย่างราชภัฏหันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง พัฒนาและต่อยอด มังคุด 100 ปี ก็คงจะมีให้ได้กินกันทุกปีและมีงานวิจัยรับรองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ บนภูมิปัญญาและรากฐานของเรา พลิกกลับไปสู้ตะวันตกได้ด้วยสิ่งที่เป็นเราอย่างแท้จริง

๙ ฐานเรียนรู้
สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ช่วงปลายปี ๒๕๔๘ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป ปัจจุบันมีฐานการเรียนรู้จำนวน ๙ ฐาน

ฐานฅนติดดิน
…ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป…
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔

ฐานฅนมีน้ำยา
…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมากเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…
พระราชดำรัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ
ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
วันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐

ฐานฅนรักษ์สุขภาพ
…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลยหรือใช้ไม่พียงพอ ร่างกายก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้ แต่จะค่อยๆ เสื่อมไปเป็นลำดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ปกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลังหรือใช้กำลังแต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกาย ให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้น จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความสามารถของเขาทำประโยชน์ให้แก่ตนเอง และแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอันกลับกลายอ่อนแอลงนั้น จะไม่อำนวยโอกาสให้ทำการงานโดยมีประสิทธิภาพได้…
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ฐานฅนเอาถ่าน
…แต่ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าสำหรับใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้ รู้สึกว่าจะไม่ใช่ป่าไม้ จะเป็นสวนมากกว่าเป็นป่าไม้ แต่ว่าในความหมายของการช่วยเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือเป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากรในด้านสำหรับเป็นผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้…
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการพัฒนาป่าไม้ วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๓

ฐานฅนมีไฟ
…น้ำมันปาล์มทราบว่าดีเป็นน้ำมันที่ดีใช้งานได้ ใช้บริโภคแบบใช้น้ำมันมทอดไข่ได้ มาทำครัวได้ เอาน้ำมันปาล์มมาใส่รถดีเซลได้ กำลังของน้ำมันปาล์มนี้ดีมากได้ผล เพราะว่าเมื่อได้มาใส่รถดีเซล ไม่ต้องทำอะไรเลย ใส่เข้าไป แล่นไป คนที่แล่นตามบอกว่าหอมดี…
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ฐานฅนรักษ์น้ำ
หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๙

ฐานฅนรักษ์แม่ธรณี
…การปรับปรุงดินนั้น ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน…
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดิน

ฐานฅนรักษ์แม่โพสพ
…ขอบใจที่นำสิทธิบัตรนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการประกันว่า การข้าวไทยเป็นของไทยแท้ ซึ่งคนหนักใจว่า เราเป็นข้าวไทยมานานแล้วจะกลายเป็นต้องไปกินข้าวฝรั่ง เพราะว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของฝรั่ง แต่ว่ามาอย่างนี้ก็ถือว่า เป็นว่าเราได้รับประกันว่าเราเป็นข้าวไทย และจะกินข้าวไทยต่อไป ฉะนั้นการที่มีสิทธิบัตรนี้ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และก็หวังว่า จะต้องทุกคนจะรักษาความเป็นไทยได้ด้วยรับประทานกินข้าวไทย ไม่ต้องกินข้าวฝรั่ง…
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๒

ฐานฅนรักษ์ป่า
…สมควรที่จะปลูกแบบป่าสำหรับใช้ไม้หนึ่ง ป่าสำหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสำหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แจกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้สำหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคำวิเคราะห์ของกรมป่าไม้ รู้สึกว่าจะไม่ใช่ป่าไม้ จะเป็นสวนมากกว่าเป็นป่าไม้ แต่ว่าในความหมายของการช่วยเพื่อต้นน้ำลำธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือเป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทำหน้าที่เป็นป่า คือเป็นต้นไม้และทำหน้าที่เป็นทรัพยากร ในด้านสำหรับเป็นผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้…
พระราชดำรัสบางตอนเกี่ยวกับป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง
ณ โรงแรมรินคำ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๒๓

สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
๖ ต.หัวไทร อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ ๐๓๘ ๕๖๘ ๑๘๗
โทรสาร ๐๓๘ ๕๖๘ ๑๘๗
E-mail: k_traiphop@hotmail.com

พิกัด 13.789161,101.237648

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น