ปราชญ์ชาวบ้าน จ.ยะลา คุณสนิท รัตนซ้อน ใช้พื้นที่กว่า 5 ไร่ ปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ผลและผักสวนครัว นำยางรถยนต์มาตัดขอบ ลดภาวะโลกร้อน และใช้พื้นที่ไม่มาก นอกจากนี้ยังปลูกไผ่หวาน ไผ่เลี้ยงหวาน และไผ่หวานสีทองลืมแล้ง ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะปรับสภาพหน่อออกเป็นสีทอง และออกตลอดทั้งปี ทั้งเก็บหน่อและตอนกิ่งพันธุ์ขายสร้างรายได้งดงาม
นายสนิท รัตนซ้อน เจ้าของบ้านเลขที่ 69/1 ม.1 ต.ตาเซะ (บ้านคล้า) อ.เมือง จ.ยะลา อดีตข้าราชการครูที่ผันตนเองมาเป็นเกษตรกร บนเนื้อที่ 5 ไร่ครึ่ง โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้ดำเนินชีวิต ใช้วิธีการปลูกเอง กินเอง และขายเอง จนปัจจุบันรอบบ้านร่มรื่นด้วยพืชพันธุ์นานาชนิด กว่า 60 สายพันธุ์ ทั้งไม้ผล พืชผักสวนครัวรั้วกินได้ รวมทั้งไผ่หวานสีทองลืมแล้ง ซึ่งแตกหน่อออกมาเรื่อยๆ เหลือจากเก็บกินก็จะนำส่งขายที่ตลาด เป็นรายได้เลี้ยงตนเองและภรรยา
นายสนิท รัตนซ้อน อดีตข้าราชการครู ซึ่งพ่วงตำแหน่งปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรกรดีเด่น จ.ยะลา เล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกรนั้น ตนเองมีอาชีพรับราชการครูที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุงยะลา 12 ปี หลังจากนั้นได้ไปศึกษาและทำงานเป็นครูที่จังหวัดต่างๆ จนกระทั่ง ปี 2534 ได้ขอย้ายกลับมาบ้าน ที่ จ.ยะลา ซึ่งเมื่อกลับมาอยู่ที่บ้าน พ่อก็ให้ที่ดินแปลงนี้จำนวน 2 ไร่ โดยเริ่มจากจุดนี้ก็มาปลูกผัก ไม้ผล หลังจากนั้นได้สร้างบ้านบนเนื้อที่ 2 ไร่ ต่อมา ในปี 2542 รัฐบาลมีโครงการเออร์ลี รีไทร์ (Early retire) รุ่นแรก ตนเองก็เลยเข้าร่วมโครงการ
หลังจากนั้นก็มาสานต่อทางด้านการเกษตร ขยายเนื้อที่ที่มีอยู่ 2 ไร่ จนเป็น 5 ไร่กว่า ซึ่งตนได้ยึดคำของพ่อที่เคยสอนไว้ว่าการปลูกต้นไม้ ไม่ต้องคาดหวังมากว่าจะต้องใช้ไม้ ใช้ยอดเป็นอาหาร แค่เพียงปลูกต้นไม้ขึ้นเป็นลำต้นและนกสามารถบินมาเกาะก็จะได้บุญแล้ว ตนจึงได้สานต่อปณิธานนี้ โดยปลูกต้นไม้ทุกอย่างทั้งไม้ผล เช่น มังคุด มะพร้าว สละ กล้วย ฯลฯ รวมทั้ง พืชผักสวนครัว เช่น ขิง ข่า ตระไคร้ ผักชีฝรั่ง โดยนำยางรถยนต์เก่าๆ ทุกขนาดที่ไม่ใช้แล้ว มาตัดขอบยางอีกข้างหนึ่งแล้วนำต้นไม้ลงไปปลูก ซึ่งแก้มยางด้านล่างนี้สามารถเก็บน้ำเก็บปุ๋ยได้ดี ใช้เนื้อที่ไม่มาก และยังช่วยลดภาวะโลกร้อน ไม่เกิดมลภาวะ นำมาใช้ประโยชน์เกิดมูลค่าเพิ่มในครอบครัว มีพืชผักที่ปลอดโรค ปลอดสารพิษต่างๆ ไว้กินเอง
นอกจากพืชผักผลไม้แล้ว ตนเองยังปลูกไผ่ ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิด คือ ไผ่หวาน ไผ่เลี้ยงหวาน และไผ่หวานสีทองลืมแล้ง โดยเฉพาะไผ่หวานสีทองลืมแล้งของตนเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เนื่องจากตนเองได้ปรับสภาพหน่อให้ออกมาเป็นสีทอง โดยมีเคล็ดลับคือการใช้ถุงดำคลุมหน่อไม้ไว้หลังจากที่เริ่มมีหน่อ เพื่อไม่ให้หน่อไม้ได้เจอแสงแดด แล้วก็จะกลายเป็นสีเหลืองทอง
ตนเริ่มปลูกมาเมื่อ 3 ปี ที่แล้ว โดยนำหน่อพันธุ์มาจาก จ.สงขลา จำนวน 10 ต้น แล้วนำมาปลูกรอบขอบสระ โดยใส่ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี แก่ต้นไผ่ พอปลูกไปได้สักพักก็จะมีหน่อแตกออกมาตลอดทั้งปี จึงได้ชื่อว่าไผ่หวานสีทองลืมแล้ง พอหน่อเริ่มโตประมาณ 25 ซม. ก็สามารถเก็บหน่อขายได้แล้ว โดยเริ่มส่งขายที่ตลาดเมื่อปีที่แล้ว ราคาส่งทั้งเปลือกก็กิโลกรัมละ 30 บาท ซึ่งนอกจากจะขายหน่อแล้ว ก็จะตอนกิ่งขยายพันธุ์เพิ่ม และจำหน่ายกิ่งตอน เพื่อเพิ่มรายได้อีกด้วย
นายสนิท รัตนซ้อน ยังกล่าวอีกว่า สำหรับรายได้จากการเก็บพืชผักผลไม้ในสวนสนิทศรีแห่งนี้ ได้เดือนละประมาณ 8,000 บาท ก็ทำให้ตนเองและภรรยาใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้อย่างไม่ลำบาก และมีความสุขท่ามกลางภาวะค่าครองชีพและเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในพื้นที่ 5 ไร่กว่าของนายสนิท รัตนซ้อน ยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริ เพื่อให้ผู้ที่สนใจด้านการเกษตร หรือศึกษาแนวทางการทำเกษตรแบบพอเพียงสามารถเข้าชมสวนสาธิตการเกษตรได้ โดยติดต่อผ่านทาง นายสนิท รัตนซ้อน ที่หมายเลขโทรศัพท์ 088 – 390 – 1545
ป้ายคำ : ปราชญ์