ก่อนทำการเกษตรอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ใหญ่สมศักดิ์ยึดอาชีพเกษตรกรรมแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ดอนทำสวนผลไม้ และพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก ส่วนที่ลุ่มซึ่งเดิมเป็นที่ทำนา ปลูกข้าวก็ให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มทุน เพราะสภาพพื้นที่เป็นดินทราย จึงหันไปปลูกมันสำปะหลัง ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำท่วม จึงไปกู้เงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาลงทุน จำนวน 1,000,000 บาท ปลูกส้มเขียวหวาน แต่ก็ประสพกับภาวะขาดทุน เพราะส้มเป็นโรคล้มตายทั้งสวนในปีที่ 3 ทั้งนี้ได้ทำการเกษตรโดยพึ่งพาสารเคมีเป็นหลักทุกประเภท ทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและวัชพืช เรียกได้ว่า ปุ๋ยทุกยี่ห้อรู้จักหมดจำติดอยู่ในสมอง แทรกซึมไปในทุกส่วนของร่างกาย เพราะได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดว่าทำการเกษตรต้องใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีต่างๆ มิเช่นนั้นพืชผักต่างๆที่ปลูกจะไม่มีให้เก็บ ไม้ผลที่มีอยู่จะไม่เกิดผลผลิต หรือไม่ฉีดยาป้องกัน แมลงจะมากินไม่มีผลผลิตขายให้พ่อค้า
จุดเปลี่ยนของการตัดสินใจ จาก การผลิตแบบเดิมๆ ต้นทุนการผลิตสูงและประสบภาวการณ์ขาดทุน จึงไม่สามารถใช้หนี้ได้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงให้เกษตรกรที่เป็นหนี้ ล้มเหลว และไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพไปศึกษาดูงาน เช่น โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาฟาร์มตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เช่น ศูนย์อนุรักษ์สมุนไพรไทย (นายดำรงศักดิ์ ชุมแสงพันธ์) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพจากการใช้สารเคมีติดต่อกันเป็นเวลานาน เริ่มทำให้คิดถึงแนวทางการเกษตรที่ปลอดภัย และช่วงในเวลานั้นผู้ใหญ่สมศักดิ์ฯ ได้รับคัดเลือกเป็นหมอดินอาสา กรมพัฒนาที่ดิน ได้มีโอกาสเดินทางไปอมรมสัมมนาในพื้นที่ต่างๆหลายแห่ง แนวคิดการทำมาหากินโดยไม่พึ่งสารเคมี จากที่ได้เยี่ยมชมแปลงของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ และข้อคิดเห็นจากนักวิชาการต่างๆ ที่เข้ามาส่งเสริม เริ่มปรับเปลี่ยนแนวความคิด โดยใช้เวลาศึกษาเรียนรู้และตัดสินใจนาน 2 – 3 ปี จนวันหนึ่งได้ตกผลึกในแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ จึงตัดสินใจทำการเกษตรอินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี 2539 รวมระยะเวลาประมาณ 14 ปี โดยไม่พึ่งพาสารเคมีทุกประเภท
นายสมศักดิ์ เครือวัลย์ เป็นหมอดินอาสาประจำตำบลสองสลึง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เริ่มต้นจากการทำนา แล้วเปลี่ยนมาทำสวนทุเรียนกับสวนยางพารา แต่เมื่อราคาผลผลิตตกต่ำ ประสบภาวะขาดทุน จึงหันมาทำสวนส้ม หวังจะถอนทุนคืน แต่ก็ต้องขาดทุนซ้ำสองอีก เป็นหนี้สินอยู่ประมาณ 700,000 บาท จึงคิดจะหนี
ติดขัดด้วยกฎระเบียบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่ว่า ถ้าใช้หนี้คืนไม่ได้ ก็ต้องเข้ารับการฝึกอบรม ไม่อย่างนั้นจะถูกยึดที่ดิน ลุงสมศักดิ์ จึง “จำใจ” เข้าอบรมอยู่หลายครั้ง แล้วก็เกิดความละอายใจว่าทำไมตัวเองถึงต้องมาอบรมหลายๆ ครั้ง ทั้งที่คนอื่นอบรมกันเพียงครั้งเดียว สุดท้ายได้แนวคิดจาก “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จึงหันกลับมาคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น
“ที่ผ่านมาเราทำแบบก้าวกระโดด ไม่ได้คิดอยากจะมีกิน คิดแต่จะรวย ลืมพื้นฐานของตัวเองไปว่าขาดความรู้” คิดได้ดังนั้น ลุงสมศักดิ์ก็เริ่มชีวิตใหม่ ด้วยการทำสิ่งที่ง่ายกว่า และใกล้ตัวกว่า
ขั้นพื้นฐานคือ ต้องมีกินก่อน และการทำกิน ดินต้องดีก่อน จึงเริ่มหาวัตถุดิบที่มีอยู่ใกล้ตัว เก็บมูลสัตว์ เศษซากมันสำปะหลัง ซังอ้อย ฯลฯ มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ลองผิดลองถูกอยู่นาน จนเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินระยองมาให้คำแนะนำ พืชผักในไร่ก็งามขึ้น พอปุ๋ยเหลือใช้เหลือเก็บก็แจกจ่าย พอให้ไปมากๆ คนที่นำไปใช้แล้วเห็นว่าดี ก็กลับมาซื้อ ประมาณ 3 เดือนกว่าๆ ก็สามารถขายปุ๋ยจนใช้หนี้หมด
ปรากฏการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับลุงสมศักดิ์ เผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว จากคำบอกเล่าปากต่อปาก ส่งผลให้เกษตรกรนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติ เกิดการรวมกลุ่มกันทำปุ๋ยอินทรีย์ และแวะเวียนมาหาเพื่อขอคำแนะนำ ชักจะบ่อยเข้า ลุงสมศักดิ์จึงตัดสินใจปรับพื้นที่ 50 ไร่ เป็นแปลงสาธิต เน้นการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกไร่ที่ใช้สารเคมีเปรียบเทียบกับไร่อินทรีย์ให้ชาวบ้านได้เข้ามาดูของจริง
ในปี 2545 พื้นดังกล่าวพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง โดยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) โดยมีฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ไร่แก้จน เลี้ยงหมูหลุม ทำปุ๋ยหมัก น้ำชีวภาพ ปลูกแฝก เผาถ่านทำน้ำส้มควันไม้ พลังงานทดแทนไบโอดีเซล แก๊สชีวภาพ ปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น โดยเน้นทำให้ดูจริงๆ
โดยเฉพาะการทดลองปลูก “ป่าในสวน” เป็นการปลูกไม้เศรษฐกิจ ยางนา มะค่า ตะเคียน ร่วมกับไม้ผลต่างๆ และผลที่ได้ไม่พบโรคต่างๆ แมลงไม่รบกวน ด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ลุงสมศักดิ์ ยังกันพื้นที่ไว้ 5 ไร่ ตั้งใจถวายให้ “ในหลวง” เวลานี้ทำเป็นจุดสาธิตเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรยั่งยืน ไม่มีการทำมาหากินในพื้นที่ แต่เป็นการจำลองจากของจริง งเช่น ปลูกผักกวางตุ้งให้เห็น แต่ไม่แนะนำให้ปลูก ให้ปลูกผักหวานดีกว่า
“ผักกวางตุ้งมันเป็นผักปัญญาอ่อน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปลูกแล้วก็ต้องถอน ถอนแล้วก็ต้องมาปลูกใหม่ แต่ผักหวานเก็บแล้วสามารถงอกใหม่ได้” ลุงสมศักดิ์ เปรียบเทียบเสียเห็นภาพชัด
ลุงสมศักดิ์ยังเพาะกล้าไม้ไว้อีก 100,000 กล้า เพื่อแจกจ่ายให้คนที่เข้ามาฝึกอบรมนำกลับไปปลูกคนละ 5 ต้น นี่คือจุดเริ่มต้นในการปลูกป่า และให้ไปหาสะสมพันธุ์ไม้อื่นๆ มาปลูกเพิ่มเรื่อยๆ
“มีบางคนทำนา ไม่เคยปลูกต้นไม้ พอให้ไป 5 ต้น เขาไปหามาปลูกเพิ่มอีก จนทำให้นาของเขาเกือบจะเป็นป่า แนวคิดของผมมีอยู่ว่า ในชุมชนหนึ่ง ขอให้มีคนนำไปปลูกสักคน เพื่อให้เป็นต้นแบบในการปลูกป่าต่อไป เวลานี้ที่ส่งเสริมให้ปลูกป่ากฌมีประมาณ 300 กว่าครอบครัวแล้ว”
เป้าหมายในอนาคตที่ไม่ไกลเกินเอื้อมของลุงสมศักดิ์ คือการสร้างสังคมในอุดมคติ ที่ใครต่อใครอยากเห็น นั่นคือสังคมที่ไม่ได้ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนดการซื้อขาย แต่ใช้การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันแทน
“ต่อไปจะไม่มีคนปลูกข้าว ปลูกเงาะ ปลูกทุเรียน เพราะปลูกแล้วมันขาดทุน จึงคิดว่าจะปลูก แต่ไม่ขายได้ไหม นำมาแลกเปลี่ยนกันดีกว่า ผมก็ประสานงานกับคนที่สุพรรณบุรี ว่าเขามีผลิตภัณฑ์การเกษตรอะไร หากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ทางนี้ปลูกทุเรียน ก็นำทุเรียนไปแลกข้าว เราจะได้ 2 อย่าง คือ อย่างแรก ได้ทุเรียนแลกข้าวในราคายุติธรรมที่เราตั้งกันเอง อย่างที่สอง นำข้าวที่เราได้มาแปรรูปเป็นข้าวสารขายได้ราคาเพิ่มขึ้นอีก พอชาวสุพรรณได้ทุเรียนไปกิน เหลือกินก็นำไปขายได้อีก”
ด้วยการสร้างคุณงามความดีที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีชีวิตใหม่ ไม่พึ่งสารเคมี สามารถลดต้นทุน แก้ไขปัญหาหนี้สินได้ ทำให้ลุงสมศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งจากกรมป่าไม้ให้ดำรงตำแหน่งประธานป่าชุมชน บริเวณพื้นที่ป่ารอยต่อระหว่างชุมชนกับเขาหินตั้ง ซึ่งอยู่ข้างบ้านลุงสมศักดิ์ พื้นที่ 200 ไร่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนทัพดูแลเฝ้าระวัง และขณะนี้กำลังดำเนินการปลูกป่าเพื่อเป็นป่าแนวกันชนก่อนขึ้นเขาหินตั้ง
ไม่เพียงแต่เป็นนักสู้ที่ล้มแล้วลุกขึ้น
แต่นักสู้คนนี้ยังก้าวไปไกลถึงขั้นสร้างสังคมแห่งอุดมคติอีกด้วย
ป้ายคำ : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ
นี่แหล่ะคือหัวใจคนไทย…คำว่าแพ้ไม่ต้องเสียเวลาสะกด