สวนดูซง สวนมรดกบรรพชน

9 ธันวาคม 2556 ภูมิปัญญา 0

สวนมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนได้ปลูกไว้สืบทอดสู่ลูกหลาน มีพืชผลหลากหลายชนิดทั้งที่เป็นสมุนไพร ไม้ใช้สอย และไม้กินได้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลูกู ลางสาด มังคุด สะตอ ละมุด ละไม ขนุน กล้วย เพกา และอื่นๆ

ระบบการจัดการวางแผนในการทำสวนเน้นถึงการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยที่คำนึงถึงผลต่างๆในระยะยาวจากการที่ไม่ทำลายไม้ยืนต้นที่อยู่ริมตลิ่งเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน อันเป็นหลักภูมิปัญญาที่มีความสอดคล้องกับระบบการจัดการของที่คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศในการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตลอดจนการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ในสวนเพื่อใช้ในการรักษาตามแบบแพทย์พื้นบ้านจากหัวขมิ้นขาวมารักษาโรคผิวหนัง วิถีแห่งการเกษตรของชาวบ้านที่เกิดจากตกผลึกทางความรู้ที่ได้รับการสะสมมาจากรุ่นสู่รุ่นก่อให้เกิดความร่วมมือกันทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของสังคมชุมชนอันแสดงถึงความสามัคคี พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันภายในชุมชนจากการทำสวนดูซงซึ่งซึ่งการทำสวนผลไม้ผสมผสานเป็นระบบที่อาศัยความสมดุล ของระบบธรรมชาติโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเลือกพื้นที่ปลูกและจัดการต้นไม้ ทำให้มีค่าใช้จ่ายของต้นทุนที่ต่ำ โดยหลักการของธรรมชาติจากการอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ความชื้นจากร่มเงาของต้นไม้และธาตุอาหารของพืชอาศัยจากการย่อยสลายของซากพืชที่ล่วงหล่นเป็นอินทรีย์วัตถุในพื้นดิน ซึ่งส่งผลให้ระบบนิเวศของป่าดีไม่เสื่อมโทรม ภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการอนุรักษ์ ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับการทำมาหากินเพื่อการยังชีพด้านการเกษตร หรือระบบเพื่อการผลิตยังชีพปัจจัยทางด้านการบริโภคและปัจจัยการผลิตแก่ครัวเรือนและชุมชนให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารเพื่อการยังชีพ จึงส่งผลให้ชาวบ้านสามารถพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน นอกจากนั้นยังเป็นการรักษาทรัพยากรทางธรรมและสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ จึงกล่าวได้ว่าเป็นระบบการเกษตรกรรมที่เน้นถึงการสนองความต้องการของครอบครัว และชุมชนเป็นสำคัญหลักการทำเกษตรยั่งยืนเป็นหลักประกันว่าทุกครอบครัวในชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการพึ่งพาตนเองที่มีความพอเพียงอย่างยั่งยืน สวนดูซงระบบเกษตรกรรมผสมผสานที่เน้นถึงความสำคัญของระบบนิเวศวิทยา เป็นระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นระบบเกษตรกรรมที่มีความเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศของภาคใต้ตอนล่างจึงกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่เน้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารเพื่อบริโภคระดับครอบครัว

suansudonglook

ตำราภาษามลายูของประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า ดูซง [Dusong] มาจากคำว่า เดซา [Desa]ที่มาจากภาษาสันสกฤตคือ เทศะ หมายถึง พื้นที่ของหมู่บ้านขนาดเล็กมีพื้นที่ทำกินซึ่งเป็นสวน ดูซงหมายถึงพื้นที่สวนแบบไม่ตั้งใจปลูกในบริเวณซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ในบ้านตะโหนด สวนดูซงมี ๒ ลักษณะ คือ สวนดูซงที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองและสวนดูซงที่ตั้งอยู่บนภูเขา

ในสมัยก่อนการบุกเบิกสร้างที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกิน มักจะทำกันบริเวณที่เป็นแม่น้ำลำคลองเพื่อความสะดวกในการเดินทาง การบุกเบิกที่ทำกินจะมีการสร้างบ้านไม่ใหญ่โตถาวร แต่สร้างเป็นขนำหรือกระท่อมแล้วถางป่าทำไร่ ปลูกพืชไร่ต่างๆ ปลูกข้าว ข้าวโพด เมื่อชาวบ้านได้กินผลไม้จากป่าหรือมาจากถิ่นอื่นที่เป็นผลไม้ตามฤดูกาลก็จะขว้างทิ้งเมล็ดไปรอบๆ ที่อยู่อาศัย นานเข้าเมล็ดพันธุ์ก็เติบโต ปีต่อปีจะมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุเรียน ดูกู มะเฟือง มะไฟ กระท้อน มะปราง และอีกหลายชนิด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นทุเรียน

suansudongmai

สวนดูซงยังมีไม้ประเภทเนื้อแข็ง เช่น ต้นตะเคียนทราย ตะแบก และหลุมพอ เป็นต้นในฤดูกาลผลไม้ในเขตสวนดูซงจะมีพวกสัตว์นานาชนิดจากป่าเขาลงมาหาอาหาร พวกสัตว์ใหญ่ เช่น เสือ หมี แรด ละมั่ง เลียงผา ส่วนสัตว์ที่อยู่เป็นประจำคือ หมูป่า กระจง เม่น นกเงือก นกกะลูแวที่ตัวใหญ่กว่าค้างคาวจะมาตั้งแต่ต้นทุเรียนออกดอก บินมาจากทิศตะวันออกทุกเย็นเวลาประมาณ ๔๕ โมง มาเป็นฝูงและชนิดอยู่ประจำก็มีเป็นจำนวนมาก

ฤดูกาลผลไม้ในสวนดูซงแต่แรกๆ นั้น ถ้าจะเปรียบเทียบไปก็เหมือนงานเทศกาลประจำปีของหมู่บ้าน เพราะทุกคนจะออกไปในดูซงกันหมด หากอยากเจอใครมีธุระกับใครต้องไปหาในดูซง กลุ่มเด็กๆ ชายหรือหญิงจะสนุกเฮฮาตามประสาเด็ก ได้รวมกลุ่มเล่น เช่น การเล่นปืนกระบอกไม้ไผ่ยิงด้วยลูกพลา การเล่นตาญีโดยการเอาเมล็ดทุเรียนที่กินแล้วมาเจาะรูผูกสาย ทำดาบไม้ไผ่แล้วเล่นต่อสู้กัน หรือดักนกที่มากินผลไม้ในสวนดูซง ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะเล่นน้ำคลองจับปูจับปลากันสนุกสนาน
หลังสิ้นสุดฤดูผลไม้ ในสวนดูซงก็จะปล่อยทิ้งไว้มีสภาพเหมือนเช่นเดิมมีสภาพเป็นป่าต่อไป บรรดาสัตว์ที่เคยอยู่อาศัยก็จะเข้ามาอยู่ ส่วนพวกมนุษย์จะไม่เข้าไป

suansudongpon

ร่องรอยที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งเป็นดูซง ทุเรียนหลายสวนตลอดแนวริมสองฝั่งคลองหลักที่บ้านตะโหนด (คลองจาเราะบราฆอ)และดูซงในที่อื่นๆ มีลักษณะเช่นเดียวกัน ดูซงที่ใหญ่สุดในบ้านตะโหนด คือ “ดูซงบือซา”[Dusong Besar] หมายถึงสวนดูซงที่ใหญ่ เนื้อที่ประมาณ ๑๐ กว่าไร่ มีนาข้าวอยู่ด้วย ดูซงนี้เต็มไปด้วยต้นทุเรียน เป็นดูซงที่อายุเก่าแก่มากของวงศ์ตระกูลโต๊ะกูแช

รอบๆ ดูซงบือซาจะมีดูซงขนาดเล็กล้อมรอบดูซงบือซาอีก สันนิษฐานว่าดูซงบือซาที่มีขนาดใหญ่นั้นเป็นที่อยู่ของชุมชนผู้บุกเบิก จากนั้นจึงแตกแขนงไปตามจำนวนลูกหลาน เมื่อได้แยกครอบครัวไปก็สร้างที่อยู่ใหม่ รอบๆ จึงกลายเป็นดูซงเล็กๆ ล้อมรอบดูซงบือซาในดูซงบือซาทุกคนที่เป็นเครือญาติจะมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากสวนทุเรียน คนที่เป็นเครือญาติทุกคนมีสิทธิ์เอาผลประโยชน์จากดูซงนั้น

suansudongpah

สวนดูซงบนภูเขาเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกันเช่น การหลบหนีภัยสงครามเกิดจากการเลี้ยงสัตว์ (พื้นที่เลี้ยงช้างของเจ้าเมืองรือมัน)เกิดจากการขึ้นไปทำงานสร้างกระท่อมที่พักชั่วคราว

เล่ากันต่อๆ มาว่าที่บ้านตะโหนดเมื่อราว ๒๐๐ ปีที่แล้ว เกิดสงครามครั้งใหญ่เรียกว่า “มูโซะห์เจ๊ะบู”(สงครามเจ๊ะบู) น่าจะตรงกับในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ยกทัพมาตีเมืองปาตานี ชาวบ้านหนีสงครามขึ้นไปอยู่บนภูเขาทำให้เกิดสวนดูซงบนภูเขาชื่อว่า บูเก๊ะพลา (ภูเขาพลา) การเกิดสวนดูซงบนภูเขาก็เป็นในทำนองเดียวกับสวนดูซงที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ปัจจุบันดูซงทุเรียนที่บูเก๊ะพลายังมีอยู่เรียกว่า “ดูซงบูเก๊ะ”ในช่วงที่ทุเรียนออกผลผู้คนในหมู่บ้านตะโหนดและในละแวกใกล้เคียงบ้านตะโหนด เช่น บ้านตาเป๊าะ ตายา จะขึ้นไปเก็บผลได้ เพราะเป็นที่ซึ่งปู่ย่าตายายเคยไปหลบหนีจากสงครามแล้วเป็นสวนดูซงขึ้นมา

สวนดูซงบนภูเขาที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์อันเป็นพื้นที่เลี้ยงช้างของเจ้าเมือง อยู่ที่บ้านกาลอ โกตาบารู (ยะลา) และที่บ้านมะยูง (อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส)

สวนดูซงที่เกิดจากการขึ้นไปทำงานและสร้างกระท่อมอยู่ชั่วคราวมีที่บ้านลูโบ๊ะบูโละ เป็นแนวยาวตามภูเขา บ้านเจาะกือแย บ้านมะนังปันยัง บ้านบลูกา บ้านจาเบาะ ตำบลสามัคคี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

การแต่งตั้งผู้ดูแลในสวนดูซงจะคัดเลือกในบรรดาเครือญาติ โดยเลือกผู้ที่อาวุโสสูงสุด ซึ่งมีหน้าที่ดูแลในฤดูผลไม้ปีละครั้งในช่วงที่ทุเรียนเริ่มสุกใหม่ๆ และยังสุกไม่พร้อมกัน คนที่ทำหน้าที่ดูแลจะถางป่าบริเวณต้นทุเรียนให้เตียน หากเจอต้นทุเรียนเล็กๆ จะปักไม้เป็นสัญลักษณ์แล้วดูแลรักษาให้เติบโตต่อไป

เมื่อทุเรียนเริ่มสุกดีแล้วผลจะร่วงลงมาอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ดูแลก็จะตระเวนบอกญาติ มีการแบ่งเวรทั้ง ๒๔ ชั่วโมงหรือจะแบ่งกันตอนกลางคืนก็ได้ ในคืนหนึ่งๆ จะให้ญาติสายหนึ่งมาเก็บ สมมุติว่ามี ๕ คน เวรคนละ ๑ คืน รอบหนึ่งก็เท่ากับ ๕ วัน แล้วจะเปลี่ยนเวรกันจนทุเรียนหมด สำหรับญาติที่อยู่ไกลก็จะส่งข่าวให้มารับเอาทุเรียน หากไม่มาก็จะกวนเก็บไว้

suansudongrean

ชาวบ้านมีประเพณี “เศาะดากอห์”หมายอุทิศให้เพื่อทำบุญ ในช่วงที่ยังไม่ใช้เงินตราแต่มีการแลกเปลี่ยน เวลาจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรดาญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไปแล้วก็ได้เศาะดากอห์ต้นไม้ผลไม้ เช่น ทุเรียน สะตอ มะพร้าว เป็นต้น หรือมีการเศาะดากอห์ให้สิทธิ์แก่โต๊ะครูหรือโต๊ะอีหม่าม เพื่อเก็บผลจากต้นทุเรียนหรือสวนดูซงนั้นๆ ได้เหมือนกับเครือญาติ

สวนดูซงในยุคแรกๆ ทุเรียนยังไม่มีค่า คนยังไม่มาก ทุเรียนมีเหลือเฟือ ใครจะกินผลไม้ที่ดูซงไหนๆ เท่าไหร่ก็ได้ เวลากินก็เลือกทุเรียนที่มีรสอร่อยกินทิ้งกินขว้าง พอระยะหลังมีการติดต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น ทุเรียนเริ่มมีค่าเอาไปแลกของได้ จึงกวนเก็บไว้เพื่อแลกข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นที่ไม่มีในพื้นที่ ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าของทุเรียน

ต่อมาลูกหลานมีเพิ่มขึ้น ผลไม้สามารถขายได้เงินทอง ทั้งการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจเกิดระบบสวนอย่างเป็นระบบ มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด การจับจอง และแบ่งแยกพื้นที่ทำกินของคนรุ่นปู่ทวดซึ่งเคยเป็นสวนดูซง เพื่อจะได้ปลูกพืชเศรษฐกิจระบบสวน เช่นมะพร้าวและยางพาราทดแทนอันเป็น สาเหตุการล่มสลายของสวนดูซง

การเข้ามาของพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สวนดูซงล่มสลาย เพราะนโยบายรัฐที่ส่งเสริมผ่านกองทุนสงเคราะห์สวนยางพารา พร้อมกันนั้นก็มีนโยบายจดทะเบียนที่ดินทำกินเป็น ส.ค. ๑ ต่อมาได้ยกขึ้นเป็น น.ส ๓ กส่งเสริมปลูกไม้ผลระบบเชิงเดี่ยว

ขอยกตัวอย่างสวนดูซง “มืองือแค”ที่เป็นสวนดูซงรุ่นบุกเบิกเลือกพื้นที่ริมคลอง ทำไร่ และเป็นที่อยู่อาศัยมาจนถึงรุ่นที่ ๒, ๓ และ ๔ จึงกลายเป็นหมู่บ้านมีคนอาเล็มหรือผู้รู้ในศาสนาจากที่อื่นมาเป็นโต๊ะอีหม่ามและได้สั่งสอนชาวบ้านเกี่ยวกับหลักการศาสนา จึงมีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณเดียวกันเพื่อจะเรียนรู้ศาสนา ที่ดินสมัยนั้นไม่มีค่า ใครจะอยู่อาศัยจะปลูกอะไรก็ได้ บริเวณรอบๆ สวนดูซงมืองือแค จึงเต็มไปด้วยสวนดูซงย่อยๆ ขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่คนเหล่านั้นก็ไม่มีสิทธิ์เก็บผลไม้ในสวนดูซงมืองือแค

suansudongyai

เมื่อรัฐได้ประกาศให้ขึ้นทะเบียนที่ดินทำกินของชาวบ้านในบริเวณบ้านตะโหนดประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ตั้งแต่ ส.ค ๑ จนถึง น.ส. ๓ ก ทำให้พื้นที่บริเวณรอบๆ สวนดูซงมืองือแคมีการลงชื่อจดทะเบียนครอบครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ ในที่สุดระบบสวนดูซงอยู่ไม่ได้ เพราะพื้นที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล สวนดูซงมืองือแคลงชื่อจดทะเบียน ๒ คน ในเอกสาร น.ส. ๓ ก ดูในแผนผังยังเป็นรุ่นที่ ๖ พอมาในรุ่นที่ ๘ มีการตกลงตัดโค่นต้นทุเรียนขายนำเงินเข้าในมัสยิด ส่วนพื้นที่แบ่งให้กับ ๓ เครือญาติ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอวสานสวนดูซงมืองือแค

อวสานของสวนดูซงเริ่มอย่างแท้จริงเมื่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ รัฐบาลสมัย “ชวน หลีกภัย”เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศกฤษฎีกาเป็นอุทยานแห่งชาติบูโด สุไหงปาดี มา พ.ศ. ๒๕๔๓ เจ้าหน้าที่อุทยานได้ลงพื้นที่ปักหลักเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติลงมาติดกับหมู่บ้านของประชาชนที่อยู่รอบๆ ภูเขาบูโดซึ่งเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน สวนดูซงจึงตกไปอยู่ในเขตอุทยานหมด มีผลกระทบต่อที่ทำกินของชาวบ้าน จึงรวมกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้ เรียกร้องสิทธิที่ทำกินอันชอบธรรมและได้เข้ากับกลุ่มที่มีผลกระทบอุทยานทับที่ทำกินของประชาชนใน ๑๔ จังหวัดภาคใต้ สุดท้ายไปร่วมต่อสู้กับกลุ่มสมัชชาคนจน บรรจุเป็นกรณีปัญหาใหม่ “การประกาศอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีทับที่ทำกินของชาวบ้าน”ได้ยื่นหนังสือนำเสนอกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีที่มาประชุมสัญจรที่จังหวัดนราธิวาส และได้ยื่นหนังสือกับกรรมาธิการสมาชิกวุฒิสภาด้วย

หลังจากนั้น กรรมการสมาชิกวุฒิสภาได้ลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาด้วยตนเองต่อมาผู้ว่าราชการ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ มีการลงพื้นที่ในเขตตำบลบาลูกาสาเมาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส อยากไปดูสวนดูซงของชาวบ้านบนภูเขา ปรากฏว่าผู้ว่าได้พบเจอสวนดูซงของชาวบ้านและได้เห็นต้นทุเรียนใหญ่เท่ากับท้องช้างทำให้เกิดอาการตะลึงแล้วคำถามว่า “คนปลูกหรือเปล่าหรืองอกขึ้นเองโดยธรรมชาติ”ชาวบ้านตอบว่า “เป็นของคนปลูก”ผู้ว่าถามว่า “ปลูกเมื่อไร”ชาวบ้านตอบว่า “สมัยรุ่นปู่ทวด”แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือว่าคนเป็นผู้ปลูกเองแม้แต่น้อย

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น