สวนสมรม ทางรอดของชาวสวน

11 มีนาคม 2556 ภูมิปัญญา 0

สวนสมรมคือการปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันและ พึ่งพาอาศัยกันเหมือนกับครัวมีพ่อ แม่ ลูก หลาน พึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สวนสมรม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในอดีตของภาคใต้ ที่ปลูกไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผัก พืชสมุนไพรในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ทำลายพืชดั้งเดิมที่มีอยู่ ทำให้พืชได้พึ่งพาอาศัยกันเองตามธรรมชาติ เช่น ใบของต้นไม้หลากหลายชนิดในสวนสมรม จะหล่นลงสู่ดินเป็นปุ๋ย ช่วยปกคลุมดิน ป้องกันการสูญเสียน้ำและความชื้นของหน้าดิน การปลูกดอกไม้สีสด เช่น บานชื่น ทานตะวัน บานไม่รู้โรยไว้ในสวนสมรม สีของดอกไม้จะช่วยดึงดูดแมลงช่วยให้แมลงทำลายพืชอื่น ๆ น้อยลง รวมทั้ง การปลูกพืชหลากหลายชนิดก็จะมีแมลงมากชนิดมาตอม ซึ่งแมลงบางชนิดเป็นศัตรูตามธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช จึงเกิดความสมดุล โอกาสที่แมลงศัตรูพืชจะระบาดจนเกิดความเสียหายจึงมีน้อย และการปลูกพืชสมุนไพร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้หอม สะเดา ใบยาสูบ สามารถนำมาเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

การปลูกพืชแบบสวนสมรม นอกจากจะช่วย อนุรักษ์ความหลากหลายของพืชในท้องถิ่น ยังทำให้เกษตรกรได้รับผลผลิตที่หลากหลาย ทำให้มีกินมีใช้ และมีสุขภาพดี ไม่ต้องเสียค่ายารักษาโรค และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี

สวนสมรม หรือสมลม เป็นคำภาษาถิ่น หมายถึง สวนขนาดเล็ก ที่ปลูกผสมปนเปกันของผลไม้นานาชนิด ไม่มีการแยกแปลงแยกชนิด อาศัยธรรมชาติให้เกื้อกูลกันเอง นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะผลไม้แต่ละชนิดออกผลผลิตไม่พร้อมกัน ทำให้เจ้าของสวนสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ทั้งปี และช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดด้วย ในสวนสมรมจะมีผลไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ทุเรียน มังคุด ลางสาด จำปาดะ หมาก สะตอ ลูกเนียง ฯลฯ

ชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ที่เรียกกันว่าสวนสมรม ในสวนหนึ่ง ๆเราอาจจะพบมังคุดและลางสาดอยู่ใต้ต้นทุเรียน ต้นมะพร้าว หรือจำปาดะ ใกล้ ๆกันจะพบต้นหมากสลับต้นลูกเนียง มีต้นเหรียง ต้นสะตอ กอระกำอยู่ข้างขนำ บางสวนยังมีไม้ใหญ่ เช่น ตะเคียน จำปา ในระยะหลัง ๆบริเวณที่ราบจะมีการปลูกผลไม้แยกเฉพาะกันบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนมังคุด ลองกอง แต่ก็ยังมีผลไม้อื่นปนอยู่บ้าง

suansomrommai

จากลักษณะดังกล่าวทำให้ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกปี เพราะถ้าหากอย่างหนึ่งไม่ออกผล อีกอย่างหนึ่งจะให้ผลแทน เช่น ปีนี้มังคุดไม่เป็นลูก ก็ขายหมากแทน หรือมังคุดราคาถูก ก็ได้ขายจำปาดะในราคาดี ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ถ้าปลูกพืชชนิดเดียวกันทั้งหมดก็อาจไม่มีผลผลิตออกขายได้ เพราะการทำสวนโดยอาศัยธรรมชาติ เป็นการทำกันมาตามบรรพบุรุษ ซึ่งนักเกษตรรุ่นใหม่เรียกว่า เกษตรแบบผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ หรือเกษตรธาตุสี่ แต่ชาวบ้านยังเรียกว่า สวนสมรม

ชาวบ้านที่ทำสวนสมรมส่วนใหญ่สืบทอดจากบรรพบุรุษ โดยสวนดังกล่าวจะเป็นมรดกตกทอด จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง บุคคลเหล่านี้เกิดมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นสวนสมรมอยู่แล้ว สวนสมรมเป็นสวนที่เจ้าของสวนปลูกทุกอย่างที่จะกินจะใช้ มีอะไรก็ปลูกลงไปไม่ต้องจัดระเบียบ แล้วปล่อยให้เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ต้องมีการจัดการอย่างใด เพียงคอยแผ้วถางที่โคนต้นบ้างในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผล และคอยระวังไม่ให้เถาวัลย์ไปรบกวนรัดกิ่งก้านจนต้นไม้ตายก็พอ ชาวสวนสมรมจะคุ้นชินกับการเก็บเกี่ยวพืชผลที่มีอยู่ตามธรรมชาติแบบค่อยเป็นค่อยไป ได้ผลเก็บเกี่ยวเท่าใดเอาเท่านั้น เพราะสมัยก่อนตามชนบทไม่มีสินค้าขายมากมายอย่างในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงปลูกทุกอย่างที่คิดว่าต้องกินต้องใช้ เป็นการปลูกเพื่อการยังชีพ หากมีมากก็แบ่งปันในหมู่ญาติมิตร เหลือจากนั้นจึงนำไปขายเป็นรายได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี เนื่องจากพืชที่ปลูกไว้ให้ผลไม่พร้อมกัน
ผู้ทำสวนสมรมส่วนใหญ่เรียนรู้การทำสวนสมรมจากบรรพบุรุษเนื่องจากการทำสวนสมรมต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลอื่น เช่น พ่อแม่ลูกอาจจะเข้าไปในสวนด้วยกัน เพื่อแผ้วถางโคนไม้และเก็บผล เป็นการทำให้คนในครอบครัว ได้ร่วมกันทำงานเกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยตรง นอกจากนี้ในการทำสวนสมรมไม่ต้องอาศัยปัจจัยมากนัก เพียงเป็นที่ลุ่มริมน้ำ หรือเป็นที่ราบต่ำซึ่งอุดมสมบูรณ์ก็ทำได้ ปล่อยให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันเอง ดังเช่นที่บางคนเรียกสวนเช่นนี้ว่า สวนเทวดาเลี้ยง เจ้าของสวนคอยดูแลแผ้วถางบ้าง รวมทั้งคอยปลูกซ่อมในเวลาที่ต้นไม้เก่าล้มตายก็หาต้นไม้ใหม่มาปลูกแทนที่เท่านั้น

เจ้าของสวนสมรมส่วนใหญ่พอใจที่สวนสมรมเป็นสวนที่ทำได้โดยไม่ต้องเหนื่อยยากนัก ลงทุนน้อยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีใด ๆ ปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ไม่ต้องเสี่ยงเหมือนเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะมีพืชผลหลายชนิดหมุนเวียนให้กินให้ขาย เป็นสวนที่ไม่ได้ทำให้รวยแค่ อยู่ได้ กินดี มีความสุขตามอัตภาพหากรู้จักประหยัด รู้จักพอ ไม่โลภ ก็ไม่เดือดร้อน เจ้าของสวนส่วนใหญ่จึงมักเป็นผู้ใจเย็น ใจดี รักสงบ ธรรมชาตินิยม และใฝ่ธรรมะ

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น