ความเชื่อของตนเองที่ว่า อาชีพเกษตร คือผู้เอื้ออาทรต่อโลก โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักแห่งธรรม ธรรมชาติ เราสามารถสร้างอาหารเลี้ยงผู้คนบนโลก สร้างแหล่งพักอาศัย ทั้งอากาศ น้ำ ป่า ยารักษาโลกจากสมุนไพร รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานจากภาคเกษตรกรรมในรูปแบบต่างๆ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตนเองและหาเส้นทางที่ชัดเจนจากการค้นคว้าทดลอง จนมั่นใจ จึงได้เริ่มลงมือทำ เดินทางสู่ภาคปฏิบัติ
วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
รูปแบบชีวิตที่สามารถกำหนดได้ด้วยตนเอง ต้องประกอบด้วยความตั้งใจอันอยู่บนพื้นฐานแนวทางที่ถูกต้อง ในหลักการของการพึ่งตนเองจึงจำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนที่สร้างขึ้นดังนี้
ช่วงที่ 1 พออยู่ พอกิน พอใช้ (พอร่มเย็น)
พออยู่ เริ่มต้นด้วยการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม จึงหาพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างบ้าน ซึ่งกำหนดให้เป็น บ้านดิน ออกแบบบ้านตามการใช้สอยเป็นหลัก ในเอกลักษณ์ความเป็นบ้านแบบไทยประยุกต์ สอดคล้องกับภูมิอากาศ ภูมิประเทศ
พอกิน อาหารพื้นฐานที่ต้องมี ข้าว ปลา อาหาร เริ่มต้นด้วยการปลูกต้นไม้ในรูปแบบหลุมพอเพียง ในพื้นที่ที่โล่งเตียน สร้างบ่อน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำ และปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ เป็นขั้นตอน
พอใช้ สร้างปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เสื้อผ้า ยา ของใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งใดทำเองได้ก็พึ่งตนเอง
พอร่มเย็น ประโยชน์ของการปลูกต้นไม้ให้เป็นแหล่งผลิตอากาศที่บริสุทธิ์ ร่มรื่น และร่มเย็น อันเป็นผลพลอยได้จากการสร้างป่า
ช่วงที่ 2 อยู่ดี กินดี เมื่อสร้างสุขภาวะพื้นฐานในการดำรงชีวิต พอเพียงแก่การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และเริ่มแบ่งปันแก่คนรอบข้าง ให้ความรู้แก่ผู้สนใจ สร้างต้นแบบความพอเพียงอย่างเป็นระบบ และเป็นแบบอย่างความสำเร็จของการพึ่งตนเอง มุ่งสู่จุดหมายของการพึ่งกันเอง ให้หลุดพ้นจากการครอบงำทางความคิดที่ยึดติด ผูกขาดจากกลุ่มทุน ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ของผู้คน กลับมาภาคภูมิใจในตนเอง พึ่งพาความสามารถตนเอง
ช่วงที่ 3 มั่งคั่ง ยังยืน ร่ำรวยความสุข รวยบุญทาน เกื้อหนุนชุมชนและสังคมแบบพึ่งพาอาศัยกัน สร้างสรรค์และเผยแพร่องค์ความรู้ ขับเคลื่อนภูมิปัญญาของแผ่นดิน แก้ปัญหาทุกข์จากการขาดปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ร่วมสร้างสังคมแห่งความดีให้แผ่ขยาย ลดการเบียดเบียนกันและกัน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมต่อสู้กับภัยพิบัติ อย่างเข้าใจและมีสติ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
เรียนรู้ทดลอง
องค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้สั่งสมเรียนรู้มา จำเป็นต้องนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้นการทดลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่เรียนรู้มาปรับให้เหมาะสมทั้งสภาพพื้นที่ สภาวะแวดล้อม และความสามารถของตน เพื่อให้เป็นแนวทางของตนเองออกมาเป็นรูปธรรม การสร้างความเข้าใจจากประสบการณ์ทางอ้อมที่เกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์จึงเป็นสิ่งแรกๆที่ต้องปฏิบัติ
การลงมือทำแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ ได้แก่
ภาคเกษตร เริ่มต้นด้วยการทำ
เกษตรในเมือง
เกษตรในสวน
การประมง
ปศุสัตว์
เมื่อได้ทดลองและเห็นผลจนประจักษ์แก่ตนเองตามหลักกาลามสูตรแล้ว จึงเริ่มต้นลงมือทำอย่างจริงจัง ตามแนวทางด้วยการ เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง