การเงินชุมชน หรือการเงินฐานราก มีความสำคัญต่อประชาชนในชนบทและผู้มีรายได้น้อย เพราะตอบโจทย์เรื่องความต้องการบริการทางการเงิน สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงตามแนวทางปกติ เนื่องด้วยด้วยข้อจำกัดต่างๆ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผ่านการจัดสวัสดิการ และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมอาชีพ และการศึกษา เป็นต้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาขบวนการการเงินชุมชนได้แพร่ขยายออกไปอย่างมากในรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบพึ่งตนเองที่พัฒนามาจากกลุ่มชาวบ้านหรือชุมชนเอง เช่นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ต่างๆ และแบบกึ่งในระบบ อาทิเช่นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และสหกรณ์ออมทรัพย์
กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วัดไผ่ล้อม โดยพระสุบิน ปณีโต
วัดไผ่ล้อม ตำบลบางพระ อำเภอเมือง จังหวัดตราด 23000
แว่วเสียงหลักธรรมแห่งพระพุทธเจ้าที่ถ่ายทอดผ่านคำเทศน์ของพระสุบิน ปณีโต แห่งวัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด ได้สะกดให้ผู้เฒ่า ผู้แก่
และบรรดาญาติธรรมที่มาฟังหลวงพ่อเทศน์ ได้หวนคิดถึงปัญหาความทุกข์ยาก จากความยากจน หนี้สิน การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว และชุมชนที่ผ่านมาอย่างปลงตกและพานเชื่อมโยงไปถึงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศชาติ ซึ่งหาได้รอดพ้นจากสัจธรรมดังกล่าวไม่
แต่ ณ บัดนี้ครอบครัวเขา ชุมชนของพวกเขา รวมไปถึงชุมชนเพื่อนบ้านอีกหลายแห่งต่างกำลังยืนหยัดขึ้นนมาอย่างเข้มแข็ง มือของพวกเขา ใจของเขาได้เอื้อมสัมผัสถึงกันอย่างอบอุ่น มั่นคง ท่ามกลางหายนะเศรษฐฏิจของชาติอันเชี่ยวกรากที่พัดพาผู้คนลงสู่ทะเลทุกข์ อันเคว้งคว้าง และมืดมนอนตกาลอย่างไร้ทางออก
หยาดพิรุณแห่งความหวังได้ก่อตัวเมื่อปี 2533 พระสุบิน ปณีโต ได้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในจังหวัดตราด เพราะเล็งเห็นว่าความยากจนเป็นบ่อเกิดของปัญหานานาชนิด หากชาวบ้านยังยากจนอยู่จะเทศน์ให้เป็นคนดีเพียงใดก็ไม่สำเร็จ ท่านจึงแปรคำเทศนาจากนามธรรมสู่รูปธรรมโดยให้คนในชุมชน ระดมเงินออมคนละ 10 บาท 20 บาท เพื่อนำมาปล่อยกู้ช่วยเหลือกันเองในกลุ่มอย่างมีวินัย เพราะที่ผ่านมาสถาบันการเงินล้วนแต่ดึงเงินออมจากชาวบ้านจากชนบท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้คนเมือง และภาคธุรกิจทำกำไรเฉพาะตน โดยที่คนยากจนในภาคชนบทมิได้มีส่วนร่วมในกำไรนั้นๆ มิหนำซ้ำการจะเข้าถึงเพื่อไปใช้ประโยชน์จากเงินของตนเองในสถาบันเหล่านี้กลับเป็นไปได้ยากยิ่งใช้ยิ่งจน ยิ่งกู้ยิ่งล้มละลาย
ศูนย์กลางการเงินของชุมชน หรือสัจจะออมทรัพย์ ที่พระสุบินได้สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกัน ตั้งขึ้นอาศัยหลักบริหารจัดการคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปหรือกลุ่มออมทรัพย์ที่เกิดขึ้นอย่างดาษดื่น แต่หลักปรัชญาหรือคุณค่าที่ยึดเหนี่ยวแตกต่างกันสิ้นเชิง “จำนวนเงินหรือการสร้างมูลค่าเพิ่มของทุน” หาได้เป็นเป้าหมายสูงสุด หากแต่พลิกผันให้ “เงิน” ที่ถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นที่มาของต้นเหตุ แห่งโลภะจริต กลายเป็นเงื่อนไขในการสร้างความรัก ความสมานฉันท์ ของผู้คนในชุมชน ซึ่งในระบบการจัดการเงินทั่วไปไม่มีทางทำได้ ดังเห็นได้จากมีระบบทุนสวัสดิการของชุมชน อันเกิดจากกำไรของดอกเบี้ยเงินกู้ เงินทุกบาททุกสตางค์มิได้ไหลออกจากชุมชน และมิได้ไหลไปเข้ากระเป๋าใครคนใดคนหนึ่ง แต่กลับมาหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนนั่นเอง
ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หลักคิดแห่งสัจจะสะสมทรัพย์
ในปี 2523 แถบภาคใต้ช่วงจังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อยลงมาถึงสตูล ขณะนั้นเป็นเขตของผู้ก่อการร้าย มีการเรียกค่าคุ้มครอง ปล้นสะดมชาวบ้านชาวช่องเดือดร้อนอย่างหนัก ชุมชนเกิดความแตกแยก ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสตูล มีชาวบ้าน 30 กว่าครอบครัว หมู่บ้านดังกล่าวประสบปัญหาเศรษฐกิจ เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ได้ปรากฏพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งธุดงค์มาจากภาคตะวันออก เรื่อยลงมาภาคใต้มาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันไปนิมนต์พระรูปนั้น ซึ่งมีนามว่าพระสุบินมาเทศน์เพื่อแก้ปัญหา พระสุบินตระหนักว่าลำพังการเทศน์คงจะแก้ความยากจน และฟื้นความสามัคคีให้กลับมาสู่ชุมชนลำบาก จึงครุ่นคิดหาแนวทางที่จะผนวกการแก้ปัญหาปากท้อง กับการสร้างความสามัคคีเข้าด้วยกัน พระสุบินจึงได้เสนอแนะให้ชาวบ้านเก็บเงินร่วมกัน บ้านหนึ่งเก็บเดือนละ 10 บาท แล้วเอามารวมกัน 100 หลังคาเรือนก็ได้ 1,000 บาท เพื่อเป็นการออมเงินไว้แก้ปัญหาชุมชน แม้การดังกล่าวจะยังมิได้สำเร็จลุล่วง เพราะเหตุเฉพาะหน้าที่พระสุบินจะต้องกลับจังหวัดตราด ซึ่งเป็นบ้านเกิดเสียก่อน แต่ก็นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน ซึ่งขณะนั้นยังหารู้ไม่ว่าก้าวดังกล่าว จะนำมาสู่การบุกเบิกสร้างนวตกรรมใหม่ของการฟื้นเศรษฐกิจชุมชน ที่ส่งผลสะเทือนต่อนโยบายสร้างเศรษฐกิจฐานล่างของประเทศในเวลาต่อมา
ภายหลังพระสุบินได้หวนกลับมาธุดงค์ภาคใต้อีกครั้ง มาจนถึงจังหวัดสงขลา ดินแดนที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ ซึ่งผสมผสานด้วยผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม ทั้งคนไทย จีน ไทยมุสลิม ในช่วงนี้เองที่พระสุบินได้มีโอกาสรู้จักกับครูซบ ยอดแก้ว ปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญของภาคใต้ ที่ได้สร้างสรรค์โครงการกลุ่มออกทรัพย์หมู่บ้านจนประสบความสำเร็จ ทั่วจังหวัดสงขลา มีสมาชิก 20 กลุ่ม มีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณเงินหมุนเวียนที่มหาศาล ก้าวแรกของครูซบเริ่มจากการออมของเด็กและครู โดยผลกำไรที่ได้นำไปปันผลและสนับสนุนเด็กๆ ยากจน ณ จุดนี้เองพระสุบินพลันได้คิดถึงจุดผสาน ระหว่างการแก้ปัญหาความยากจน และการสานความสามัคคีของชุมชนเข้าด้วยกัน โดยอาศัยหลักเรื่องการออมทรัพย์ ผนวกกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งตนเองได้เรียนรู้มาโดยตลอด นามธรรมในหลักธรรมได้เริ่มก่อร่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาในปี 2533 นั่นเอง 10 ปีแห่งการเรียนรู้จากการธุดงค์ภาคใต้ พระสุบินจึงได้หวนกลับไปบ้านเกิด เพื่อนำเอาความคิดเรื่องสะสมทรัพย์ไปทดลอง
ก้าวแรกแห่งสัจจะสะสมทรัพย์
“… ตอนทำครั้งแรก อาตมาชี้แจงให้ชาวบ้านเห็นว่า พวกเรากำลังเสียเปรียบ ถ้าเราไม่รวมตัวกัน ในอนาคตจะเสียเปรียบมากขึ้น พวกคนรวยเขายังรวมตัวกันจัดตั้งบริษัท เราคนจน ต่างคนต่างอยู่จะไปสู้อะไรได้ ในอนาคตจะไม่มีที่อยู่ ที่กิน กลายเป็นคนอนาถา ต้องรอประชาสงเคราะห์อย่างเดียว ฉะนั้นกลุ่มออมทรัพย์เป็นที่ที่จำเป็น…”
เมื่อเริ่มเผยแพร่แนวความคิด แม้พระสุบินจะเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน แต่ด้วยความล้มเหลวของกิจการออมทรัพย์ที่ราชการเคยส่งเสริมชาวบ้านมาตลอด ก็ทำให้อดที่จะตั้งคำถามต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมิได้ ชาวบ้านเขาถามว่า เอาอีกแล้ว เงินจากกลุ่มออมทรัพย์กลุ่มเดิมยังไม่ได้คืนเลย เงินใหม่มาอีกแล้ว อาตมาก็ชี้แจงว่า อาตมาไม่ได้บังคับโยม เพียงแค่ชี้ทิศทางความคิด เงินแค่ 10 บาทเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรชาวบ้านก็เชื่อพระ เมื่อเริ่มต้นจึงมีสมาชิกกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ประมาณ 70 คน พอปีที่ 3-4 ก็มีสมาชิก 200-300 คน
พัฒนาการการขยายตัวของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
พระสุบินได้เริ่มสนับสนุนให้เกิดกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ครั้งแรก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ที่บ้านเกิดของตนเอง และที่วัดทุ่งเขา ซึ่งเป็นวัดที่จำพรรษา ต่อมามีพระที่เป็นเพื่อนกันไปบอกเข้าคณะภาค เจ้าคณะภาคจึงได้เรียกพระสุบินพร้อมกับเจ้าคณะอำเภอ และจังหวัดไปสอบถาม เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องการเงินการทอง พระสุบินได้บอกเล่าถึงแนวคิด และรูปธรรมของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ให้ทราบ เจ้าคณะภาคพร้อมกับเข้าคณะจังหวัด และอำเภอเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก จึงได้สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ และการขยายเครือข่ายกับวัดต่างๆ
การดำเนินงานกลุ่มสะสมทรัพย์กลุ่มต่างๆ ช่วงแรก เป็นไปในลักษณะมีการฝากน้อย แต่กู้มาก แต่พอกองทุนค่อยๆ โตขึ้น ก็ทำให้มีเงินในระบบที่สามารถปันผลและจัดการเรื่องสวัสดิการได้มากขึ้น พระสุบินพยายามโน้มน้าวชาวบ้านให้เห็นถึงความพอดี โดยไม่เร่งรัดแต่การเพิ่มทุน แต่ให้มุ่งเป้ามาที่ความประหยัด หมั่นสะสม เพื่อให้รากฐานของกองทุนแข็งแกร่ง สามารถพึ่งตนเองในระยะยาวได้
การจัดการของระบบสัจจะสะสมทรัพย์
หลักการจัดการของระบบสัจจะสะสมทรัพย์ อาศัยการผสมผสานหลักการจากระบบต่างๆ หลายรูปแบบ อาทิ ธนาคารหมู่บ้าน และยังมีกิจกรรมจัดสวัสดิการแก่สมาชิกคล้ายบริษัทประกันภัย ยิ่งกว่านั้น บางกลุ่มสามารถดำเนินการแบบบริษัทคนกลางจัดซื้อสินค้าที่เป็นที่ต้องการของสมาชิก และคนในหมู่บ้านมาจำหน่าย ซึ่งเป็นรูปแบบของสหกรณ์ แต่ต่างกันตรงที่ว่ามีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับชุมชนมากกว่า หลักเกณฑ์โดยทั่วไปมีดังนี้
ข้อแรก คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มต้องเป็นคนในชุมชนเท่านั้น เพื่อการควบคุมตรวจสอบได้ โดยจะต้องฝากเงินประจำทุกเดือน อย่างน้อยรายละ 10 บาท แต่ไม่เกิน 100 บาท ทั้งนี้เพราะต้องการฝึกให้ชาวบ้านมีวินัย ดังที่พระสุบินได้อธิบายว่า
“อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่านอนคอยโชค ลองดูแมลงผึ้งที่เอาขาไปแต่เกสรทีละน้อยๆ แตะมามากๆ เข้า ก็ได้น้ำผึ้งเป็นขวดเป็นไห ถ้าคุณเริ่มดูถูกเงิน 10 บาทซะแล้ว บ้านคุณจะเจริญไม่ได้ ร้อยก็มาจากหนึ่ง ล้านก็มาจากหนึ่ง นี่คือหลักธรรมชาติ”
กฏเกณฑ์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของชาวบ้านอย่างยิ่ง เพราะชาวบ้านอายที่จะเอาเงิน 10 บาทไปฝากธนาคาร และยังไม่คุ้มกับที่ต้องเสียค่ารถไปฝาก ขณะเดียวกันหากใครคิดจะฝากครั้งเดียว ทีละหลายร้อยหลายพัน นั่นก็เป็นการผิดกติกาเช่นกัน
“มีคนบอกว่าขอฝากปีละ 600 แล้วไม่มาทุกเดือนจะได้ไหม อาตมาบอกว่าไม่ได้ เพราะต้องการให้เดือนหนึ่งโยมมาพบกันครั้งหนึ่ง ใครมีปัญหาสารทุกข์สุขดิบอะไร จะได้รู้ปัญหาของหมู่บ้านว่ามีอะไร ใครเจ็บไข้ได้รู้กัน”
กฏเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นตัวกระชับความสัมพันธ์ทางสังคมได้ดี ขณะเดียวกันก็เป็นตัวบ่งชี้พฤติกรรมของผู้คน เพราะผู้ที่บกพร่องในการออมไม่มา หรือฝากช้ากว่าที่กำหนด จะถือว่าไม่มีสัจจะและโดนปรับ
ข้อสอง คนที่เอาเงินมาฝากสามารถทำเรื่องขอกู้ได้ทันที โดยมีหนังสือสัญญา มีคนค้ำประกัน และอยู่ในการดูแลของกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ที่ทำหน้าที่ที่ปล่อยกู้โดยใช้สัจจะ ความเชื่อถือกันเอง หลักการตรงจุดนี้เกิดจากการสรุปบทเรียนความผิดพลาดของกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์ที่มีอยู่ ดังที่พระสุบินได้วิเคราะห์ว่า
“การออมทรัพย์แบบทางการไม่เหมาะสม เพราะตามระเบียบต้องเอาเงินไปฝากธนาคารก่อน จนกว่าจะได้เงินหลายหมื่นตามเงื่อนไขของเขา ถึงจะมีสิทธิถอนเงินครึ่งหนึ่งมาปล่อยกู้ แต่ชาวบ้านเดือดร้อนรอไม่ได้ สัจจะสะสมทรัพย์จึงตั้งระเบียบสามารถกู้ได้ทันที”
ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ระบบสัจจะสะสมทรัพย์ตอบสนองความจำเป็นของชาวบ้าน ได้ดีกว่าสถาบันการเงินทั่วไป
ข้อสาม คณะกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่ชาวบ้านเลือกตั้งกันมานั้น ให้มีวาระเพียงปีเดียว ห้ามผูกขาด แต่ถ้ากรรมการประพฤติตนดี ก็สามารถถูกเลือกเข้ามาใหม่ได้ ซึ่งหลักการข้อนี้เป็นการให้กลไกทางสังคมในชุมชนเองเป็นตัวตรวจสอบ สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่อำนาจการบริหารตัดสินใจ ต้องเป็นของชุมชน มิใช่แค่เพื่อชุมชนเพียงประการเดียว
การเปลี่ยนบทบาทของเงิน จากสินค้าสู่เครื่องมือแก้ปัญหา
เป็นที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย เมื่อ “เงิน” ได้พลิกบทบาทจาก “คำตอบ” (End) มาเป็น “เครื่องมือการสร้างคน” (Tool) ได้อย่างน่าชื่นชม อย่างน้อยอาจจัดแบ่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดใน 3 ระดับกล่าวคือ
ระดับครัวเรือน สมาชิกเริ่มต้นโดยส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน ซึ่งมักจะผลักดันให้คนในครอบครัว ทั้งปู่ ตา พ่อ ลูก หลาน มาสมัครเป็นสมาชิกในโอกาสต่อมา (ครอบครัวหนึ่งๆ สามารถมีได้หลายบัญชี)
ระดับชุมชน เมื่อเงินทุนในระบบเพิ่มมากขึ้นตามความสามารถในการออม และตามความสามารถในการคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยของสมาชิก จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ใน 2 รูปแบบ ได้แก่
1) เงินปันผล ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนเรือนหุ้นของสมาชิก เงินจำนวนนี้หากเปรียบเทียบกับจำนวนเงินจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปแล้ว ไม่แตกต่างกันแต่อย่างไร นอกจากนี้สมาชิกยังจะได้รับผลประโยชน์ที่จะไม่เคยได้รับจากธนาคารพาณิชย์แห่งใดในแผ่นดินนี้ นั่นคือ…
2) สวัสดิการ ทั้งที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าช่วยเหลือการทำศพ ทุนการศึกษาพัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น ระดับระหว่างชุมชน เมื่อมีจำนวนเงินออมมากกว่ายอดเงินกู้ ย่อมมีเงินคงเหลืออยู่ในระบบ ซึ่งถ้าหากมิได้มีการจัดการเงินที่เหลือนี้ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ชุมชนบางชุมชน จึงมีการติดต่อเชื่อมโยงเพื่อถ่ายโอนจำนวนเงินที่เหลือนี้ให้แก่กัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งชุมชนที่ให้กู้และชุมชนที่กู้
ระบบตรวจสอบที่โปร่งใสและมีส่วนร่วม
ระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะ ย่อมต้องสามารถตรวจสอบและเข้าถึงได้ง่าย แม้แต่สมาชิกที่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ ระบบก็ต้องสร้างให้เอื้อแก่คนเหล่านั้นด้วยสมาชิก
สมุดบันทึกเหล่านี้ จะเก็บรักษาโดยกรรมการของกลุ่มออมทรัพย์
รายการทุกรายการทั้งฝากและการกู้ของสมาชิก ล้วนสามารถติดตามและตรวจสอบได้ตลอดเวลา ในกรณีที่มีสมุดเล่มใดหายไป ไม่ว่าจะเป็นของสมาชิกหรือของกรรมการ ข้อมูลที่หายไปนั้นจะสามารถรวบรวมได้จากเล่มอื่น และในการประชุมประจำปีของทุกปี กรรมการจะรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมกับจัดสรรผลประโยชน์ หรือกำไรที่ได้จากการประกอบการ เป็นเงินปันผลและสวัสดิการกลุ่ม (ชุมชน) พร้อมกับมีการทบทวนกฏระเบียบทุกปี ที่สำคัญที่สุดก็คือ กิจกรรมทั้งการฝากและกู้นี้ ล้วนเกิดขึ้นต่อหน้าสมาชิกในที่สาธารณะ นั่นหมายถึง เงินสดจากค่าหุ้นฝากเงิน และเงินงวดชำระคืนจากเงินกู้ของสมาชิกในเดือนนั้น จะนำมาให้กู้ต่อสมาชิกที่ขอกู้เงินทั้งหมด โดยมีการตรวจนับเงินสดต่อหน้าสมาชิกทุกคน
กรณีของการเกิดขึ้นของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดตราด ที่ได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดย พระสุบิน ปณีโต แห่งวัดไผ่ล้อม อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็นกรณีตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และหลักธรรมมะในพระพุทธศาสนา เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนอย่างเป็นองค์รวม โดยเริ่มต้นจากการจัดการทุนร่วมกันของชุมชน ที่เป็นกลไกร้อยรัดผู้คนให้เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมอื่นๆ อันนำไปสู่ความแข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของชุมชนโดยรวม ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางสำคัญที่จะเป็นพื้นที่ให้หน่วยงานจากภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถทำงานในเชิงของการหนุนเสริมได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
บทเรียนจากสัจจะสะสมทรัพย์
การดำเนินกิจกรรมกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์พบว่ามีบทเรียนที่น่าศึกษา 6 ประการ คือ
1. การประสานวิธีคิด 3 ปรัชญาคือ ศาสนา ชุมชน และครอบครัวเข้าด้วยกัน
ในการพบปะกับชุมชน พระสุบินพยายามเน้นให้ชุมชนมองเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง และการมีสัจจะ โดยได้หยิบยกเรื่องของฝูงวัวที่ช่วยกันป้องกันตนเองให้พ้นจากการคุกคามของเสือได้ โดยการรวมกลุ่มกันและเริ่มทำด้วยตนเองไม่มัวกลัวหรือรอให้มีปัจจัยภายนอกเข้าช่วย ส่วนการปรับเงินจากสมาชิกที่ไม่ตรงต่อเวลาบัญชีละ 10 บาท หรือ 20 บาท ก็เป็นกระบวนการที่ฝึกฝนให้คนมีสัจจะรู้จักรับผิดชอบต่อตัวเอง ซึ่งจะยังผลให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมในที่สุด ขณะเดียวกันก็ได้เน้นให้เห็นถึงคุณค่าของความช่วยเหลือเอื้ออาทร ร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชน อันนำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคี เพื่อสร้างสรรค์ความน่าอยู่ของชุมชน ให้มีมากขึ้น รวมทั้งยังได้ปลูกฝังให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีมากขึ้น ด้วยการแสดงให้เห็นว่าทุกคนในครอบครัวล้วนมีศักยภาพ มีความสามารถที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ ลูกๆ สามารถช่วยพ่อแม่ได้ คนเฒ่าคนแก่ก็สามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ เพราะทุกคนในครอบครัว มีสิทธิที่จะเป็นสมาชิกกลุ่มได้ ออมได้ เงินที่ออมนี้จะเป็นฐานให้ครอบครัว ได้กู้ยืมมาใช้ยามขาดแคลน เหมือนกับพ่อแม่กู้เงินจากลูกเอง ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้น จากการได้ปฏิบัติจริงในการทำกิจกรรมของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ร่วมกัน
2. การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในชุมชน
การเจาะกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญหลักๆ ภายในชุมชน ช่วยให้การทำงานในระยะต่อไป ทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะกลุ่มเหล่านี้มีศักยภาพในการที่จะขยายงานของตนต่อไปได้ หากเขาได้มีความรู้ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญในกิจกรรม และได้ลงมือทำด้วยตนเอง กลุ่มเป้าหมายที่พระสุบินใช้เป็นเหมือนคานงัด ให้กิจกรรมสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว นี้ได้แก่
– วัด
พระสุบิน ดำเนินการเผยแพร่ความคิดในการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ให้แก่ชุมชนต่างๆ โดยได้เข้าไปตามวัดของชุมชนเหล่านั้นในวันพระ หรือวันที่ชาวบ้านในชุมชนนั้นมาทำบุญร่วมกันที่วัดเป็นจำนวนมาก แล้วขออนุญาตเจ้าอาวาส เพื่อบรรยายให้ชาวบ้านฟังในระหว่างที่พระรูปอื่นๆ กำลังฉันภัตตาหาร ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ซึ่งได้มีการสอดแทรกหลักธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนาเข้าไปด้วย การใช้วัดเป็นฐานของการดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ ได้ฟื้นฟูหรือเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้มีความแน่นแฟ้นขึ้นมาเป็นอย่างมาก เพราะทำให้วัดได้มีโอกาสเกื้อกูลตอบแทนแก่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกเหนือจากเดิมที่เคยให้หลักธรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้พระบางรูปยังได้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงแก่กลุ่มในหลายด้าน เช่น การทำบัญชี การเขียนใบสัญญา ขณะเดียวกัน ด้วยความที่วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับบนศาลาวัดที่ชาวบ้านทำกิจกรรมร่วมกันนั้น จะมีพระประทานและพระภิกษูประจำอยู่เสมอ คนในชุมชน จึงให้ความเคารพยำเกรงต่อสถานที่ มีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการการทำงานของกลุ่ม ว่าจะไม่มีการทุจริต ในขณะเดียวกันกรรมการกลุ่มที่ปฏิบัติหน้าที่ ก็จะไม่กล้ากระทำการทุจริตขึ้น นอกจากนี้ การที่วัดเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้คนสามารถเข้าออกได้ตลอดเวลา ทำให้กิจกรรมกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ที่กระทำขึ้นในวัด เป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างต่อการตรวจสอบด้วย สมาชิกจะสามารถมองเห็นกระบวนการทำงานของกรรมการได้ตลอดเวลา
– กลุ่มทำบุญ ซึ่งเป็น “คนดี” ในชุมชน
กลุ่มคนที่มาทำบุญที่วัด จะเป็นกลุ่มที่ได้รับข้อมูลที่ถ่ายทอดจากพระสุบินเป็นกลุ่มแรกในชุมชน คนกลุ่มนี้เป็นที่เคารพยกย่องในชุมชนว่ามีศีลธรรม เพราะเข้าวัดทำบุญอยู่เสมอ เมื่อคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มทำกิจกรรมกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เป็นกลุ่มแรก จึงได้รับความเชื่อถือจากสมาชิกอื่นๆ ในชุมชน และเมื่อสมาชิกชุดที่เริ่มก่อตั้งนี้ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการดำเนินกิจกรรมให้เพื่อนบ้านมองเห็น ถึงคุณประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม ก็จะทำให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้าร่วม ได้มากขึ้น กลุ่ม”คนดี” ในชุมชนที่เป็นผู้เริ่มก่อตั้งกลุ่ม นั้นจะมีส่วนหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิก ให้เป็นกรรมการของกลุ่ม ซึ่งจะพบว่าในปีต่อๆ มาเมื่อหมดวาระลง กรรมการส่วนใหญ่ก็จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาให้เป็นกรรมการต่ออีกเสมอ อันเป็นกระบวนการที่ตอกย้ำ ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นไว้วางใจของคนในชุมชน ที่มีต่อกรรมการเหล่านั้น ให้ทำหน้าที่ผู้นำของตนหรือทำหน้าที่แทนตนเอง เป็นผู้นำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อันเกิดจากกระบวนการกลุ่มเป็นกลไกในการคัดเลือก “เวลาตั้งกรรมการขึ้นมาแล้ว เขาจะต้องพยายามเลือกคนดีที่สุด มือสะอาดใจซื่อบริสุทธิ์ เข้ามบริหารการเงิน” ในขณะเดียวกัน ด้วยเนื้องานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ก็ได้ทำให้การคัดเลือกกรรมการเพิ่มมากขึ้นทุกปี กรรมที่เพิ่มขึ้นมานี้ ต้องได้รับการรับรองจากสมาชิกส่วนใหญ่เสียก่อน ทำให้มีผู้นำตามธรรมชาติในชุมชน เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
– การขยายเครือข่ายของพระ
การเกิดขึ้นของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จำนวนมาก ทำให้พระสุบินต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมด เพื่อตระเวณออกไปเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำต่อกลุ่มเหล่านี้อยู่ตลอดปี ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด “เป็นพี่เลี้ยงให้ทุกกลุ่ม… ปีหนึ่งไปร้อยกว่าแห่ง กลุ่มตั้งใหม่จะต้องไปเป็นพี่เลี้ยงสามสี่ครั้ง ในช่วงแรกๆ” นับเป็นภารกิจที่ค่อนข้างหนักสำหรับคนคนเดียว พระสุบินจึงได้พยายามถ่ายทอดความคิดในการจัดตั้งกลุ่มนี้ ไปสู่พระรูปอื่นๆ ทั้งภายในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้ทำหน้าที่เผยแพร่กิจกรรมนี้สู่ชุมชนให้ได้มากขึ้น การขยายเครือข่ายของพระเช่นนี้ ทำให้มีพระภิกษุหลายรูปเข้ามารับหน้าที่นี้ในหลายจังหวัด เช่น จันทบุรี เชียงราย ระยอง ฯลฯ ในขณะเดียวกันพระที่ประจำอยู่ตามวัดต่างๆ ที่พระสุบินออกไปเผยแพร่ ก็ให้ความสนใจและร่วมกิจกรรมในฐานะเป็นพี่เลี้ยง ให้แก่กลุ่มได้เป็นอย่างดี และเป็นหลักให้แก่การดำเนินกิจกรรมของแต่ละกลุ่มได้
3. การเรียนรู้จากการลงมือทำทันที
วันแรกที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มแต่ละกลุ่มนั้น หลังจากที่พระสุบินได้บรรยาย เชิญชวนให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แล้ว พระสุบินจะแนะนำให้ชาวบ้านเริ่มต้นด้วยการออกเงินอย่างต่ำเดือนละ 10 บาท เพื่อให้ชาวบ้านยอมทดลองออมร่วมกัน โดยมีกรรมการส่วนหนึ่ง ทำหน้าที่รับเงินออมของสมาชิก พร้อมๆ กันนั้นก็มีกรรมการอีกส่วนหนึ่ง ทำหน้าที่รับลงชื่อเพื่อกู้เงิน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการออมแล้ว ก็จะสามารถเปิดให้กู้ได้ทันที ทำให้ชาวบ้านสามารถมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม เพราะในการทำกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ในอดีต สมาชิกไม่สามารถกู้ได้ทันที ต้องนำเงินที่ออมนั้นไปฝากธนาคารเสียก่อน ทำให้เกิดปัญหาของความไม่เชื่อมั่นต่อกรรมการเกิดขึ้นได้ การให้สมาชิกได้มีการลงมือทำจริง คือออมและกู้ได้ในทันทีที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านมองเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องรอเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการออมนั้น ในขณะเดียวกันกรรมการที่ทำงานก็รู้สึกสบายใจ เพราะไม่ต้องเก็บเงินไว้กับตัวเอง อันจะนำไปสู่ข้อครหาต่างๆ นานาได้ นอกจากนี้การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้เสร็จได้ภายในวันเดียว ก็ทำให้เกิดความประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงไปได้มาก กรรมการทำงานเพียงเดือนละ 1 วัน ไม่ต้องรับภาระมากนัก นอกจากนี้ยังทำให้ง่ายต่อการจดจำของสมาชิกด้วย ไม่ทำให้สมาชิกหลงวัน หรือมาผิดวัน
4. การผูกเชื่อมโยงบุญ ใจ และเงินออมเข้าด้วยกันกับสัจจะ และประชาธิปไตยของกลุ่ม
พระสุบินชี้ให้สมาชิกของกลุ่มเห็นว่า การที่คนในชุมชนได้นำเงินมารวมกันและให้คนที่กำลังเดือดร้อนกู้เอาไปใช้ก่อน เป็นการช่วยให้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสในการลืมตาอ้าปากขึ้นมาอีกครั้ง นับเป็นการทำบุญหรือการสงเคราะห์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ในการปล่อยให้กู้นี้จะให้กู้แก่สมาชิกที่กำลังได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด ด้วยการจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนไว้ 3 กรณี ที่จะต้องได้รับเงินกู้ก่อน ได้แก่ ลำดับแรกคือ คนป่วย ลำดับที่สองคือ คนที่ต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงมากๆ และลำดับที่สามคือ การกู้เรื่องการศึกษา เงินที่เหลือจากนี้จะให้กู้แก่สมาชิกทั่วไป เป็นการฝึกให้สมาชิกมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมชุมชน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกัน การกำหนดวันและช่วงเวลาที่กลุ่มจะดำเนินกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน เหมือนๆ กันทุกเดือน ก็เป็นการฝึกฝนให้สมาชิกมีความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อกลุ่ม เพราะสมาชิกจะต้องนำเงินออม หรือเงินกู้มาส่งให้กลุ่มตามวันและเวลาที่กำหนดเอาไว้ มิฉะนั้นจะถูกปรับตามอัตราที่แต่ละกลุ่มได้กำหนดเอาไว้ การกำหนดให้สมาชิกมาพบปะกันทุกเดือน ยังมีส่วนในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นใสชุมชน เพราะได้มีการแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน ร่วมกันมองสภาพปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งอาจนำไปสู่การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกันได้ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แต่ละกลุ่ม จะมีการกำหนดกฏเกณฑ์ของกลุ่มร่วมกัน เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน โดยจะมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์เหล่านี้ ร่วมกันอยู่เสมอทุกปี เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สมาชิกเองนั้นก็ได้เรียนรู้ถึงศักยภาพของตนเอง ในอันที่จะร่วมกันสร้างกฏเกณฑ์ของชุมชน อันเป็นการกำหนดอนาคตของตนเองด้วย
5. การปรับสร้าง “วิธีคิดใหม่” ด้วยให้สวัสดิการแก่ปัจเจก เพื่อให้เกิดเป็นกลุ่มที่แข็งแรง ฝึกฝนความเสียสละ และควบคุมพฤติกรรมสมาชิกร่วมกัน
เมื่อครบรอบปีของการออม กลุ่มจะแบ่งเงินกำไรที่ได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ ออกเป็นสองส่วนเท่าๆ กัน ส่วนหนึ่งปันผลคืนแก่สมาชิก อีกส่วนหนึ่งจะนำไปใช้เป็นเงินกองทุนสวัสดิการแก่สมาชิก โดยพระสุบินได้ชี้ให้ชาวบ้านเห็นถึงความสำคัญของการมีสวัสดิการ และยกตัวอย่างสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและลูกจ้างในสถานประกอบการได้รับ “ถ้าคนทำงานราชการเขาป่วย เขายังมีราชการคุ้มครอง เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ คนทำงานอุตสาหกรรมเขาก็มีกฏหมายประกันสังคม” ในเบื้องต้นนั้น ได้ใช้ไปในเรื่องของการรักษาพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางกลุ่มที่มีเงินสวัสดิการมากพอ ได้เริ่มนำเงินสวัสดิการนี้ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนของตนให้น่าอยู่มากขึ้น เช่น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์บ้านอ่าวขาม ต.อ่าวใหญ่ อ.เมือง ที่ได้มีมติให้นำเงินสวัสดิการไปใช้ในการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นสนามกีฬาของเยาวชน โดยไม่ต้องรอเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) แต่อย่างใด หรือกลุ่มวัดเนินทราย ที่ได้นำเงินบางส่วนไปซื้อเก้าอี้ถวายวัด และใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำงานของกลุ่มทุกๆ เดือนด้วย การจัดระบบสวัสดิการขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะกองทุนสวัสดิการนี้จะเป็นแรงจูงใจให้สมาชิกไม่ลากออกจากกลุ่ม เพราะถ้าลาออกก็จะไม่ได้รับการแบ่งเงินสวัสดิการให้ เพราะเป็นเงินกองกลางของกลุ่ม โดยพบว่าสมาชิกกลับมีความผูกพันต่อกลุ่มมากขึ้น เพราะต้องพึ่งพาต่อกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็พยายามช่วยกัน ทำให้เงินกองทุนก้อนนี้โตมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้กองทุนนี้สามารถดูแลสมาชิกให้ได้มากที่สุด กลุ่มจึงมีความเข้มแข็งมากขึ้นตลอดเวลา ในบางกลุ่มได้พยายามเร่งสร้างให้เงินกองทุนสวัสดิการนี้ เติบโตรวดเร็วมากขึ้น โดยการนำเงินกองทุนสวัสดิการนี้ไปปล่อยให้สมาชิกู้ ในอัตราดอกเบี้ยที่เท่ากัน กับดอกเบี้ยเงินกู้ก้อนที่ได้จากการออม แต่เมื่อมีดอกเบี้ยกลับมา ก็จะนำเข้าสมทบทุนสวัสดิการทั้งหมด ไม่ได้นำไปปันผลให้กลับคืนแก่สมาชิก ทำให้เงินกองทุนสวัสดิการเติบโตได้เร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน กองทุนสวัสดิการนี้เป็นกลไกที่สำคัญ ในการให้คนส่วนใหญ่ของชุมชน ได้ควบคุมพฤติกรรมของคนในชุมชนด้วย เช่น “สมาชิกบางกลุ่มได้สิทธิค่ารักษาพยาบาล นอนโรงพยาบาลได้คืนละ 500 บาท ถ้าใครสูบบุหรี่เขาจะปรับคืนละ 100 บาท ถ้าคุณสูบครั้งที่ 2 ก็จะปรับเพิ่มมากขึ้นอีก ถ้าคุณเล่นการพนันก็จะลงโทษอย่างนี้…” หรือบางกลุ่ม “…จะตกลงในที่ประชุมเลยว่า ถ้าใครซื้อสิทธิขายเสียงไป 500 บาท เราจะหยุดจ่ายค่ารักษาพยาบาล มูลค่า 500 บาทเลย เพราะคุณได้ตรงนั้นแล้ว กลุ่มไม่จำเป็นต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลคุณ คนในหมู่บ้านเขาจะรู้กันว่าใครขายเสียง”
6. ระบบ 5 ปี 4 รุ่น ปิดรับสมาชิก
หลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดรับสมาชิกเพียง 4 รุ่น แล้วหยุดรับไประยะหนึ่ง อาจเป็น 3 ปี หรือ 4 ปี แล้วแต่กลุ่มจะกำหนด แล้วจึงค่อยเปิดรับสมาชิกใหม่อีกครั้ง การดำเนินการเช่นนี้ ช่วยให้คนในชุมชน ที่มองเห็นคุณค่าของกลุ่ม รีบสมัครเป็นสมาชิกก่อนที่จะปิดรับไปเสียก่อน ในขณะเดียวกัน รายละเอียดของหลักเกณฑ์ภายในกลุ่มก็กำหนดให้สมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกที่สมัครในปีแรก มีสิทธิรับเงินค่ารักษาพยาบาลเต็มอัตราที่กลุ่มกำหนดให้ รุ่นที่ 2, 3, และ 4 ก็จะได้รับลดหลั่นกันไปรุ่นละครึ่งหนึ่งของรุ่นก่อนหน้านั้น ทำให้สมาชิกในรุ่นหลังๆ ได้รับเงินสวัสดิการน้อยมาก การหยุดรับสมัครจะทำให้เงินกองทุนสวัสดิการนี้ขยายตัวเติบโตขึ้น จนพอเพียงกับการช่วยเหลือสมาชิก ในขณะเดียวกัน สมาชิกรุ่นหลังๆ ก็จะได้รับการเลื่อนขั้นให้ไปอยู่ในรุ่นที่สูงขึ้นด้วย เช่น รุ่น 2 ก็จะได้รับการปรับให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับรุ่น 1
ปรัชญาของการทำงาน
การดำเนินการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จึงมีแก่นแท้คือ การสร้างคุณธรรม และสวัสดิการกลุ่ม ให้แก่กลุ่มคนทั้งในชนบทและในเมือง ด้วยการใช้
1) คุณค่าทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ สัจจะ เสียสละ ความเอื้ออาทรช่วยเหลือกัน การใช้คนดีบริหารควบคุมคนไม่ดี
2) ระบบบริหารการเงิน ที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
ด้วยการจัดแบ่งเป็นระบบต่างๆ คือ
– เงินกองทุนสวัสดิการครบวงจรชีวิต
– เงินกู้
– ศูนย์กลางการระดมเงินออม
ป้ายคำ : สัจจะสะสมทรัพย์