สับปะรด ยานัด หรืออ่องหลาย กับคนภูเก็ตนั้น เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กันมาอย่างช้านาน อาหารหลาย ๆ อย่าง มักจะมีสับปะรดเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ข้าวอบสับปะรด แกงส้ม ต้มส้ม แกงเลียง ผัดผัก ฯลฯ หรือจะนำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทานคู่กับอาหารคาวต่าง ๆ เช่นขนมจีน หรือ เกลือเคย ก็อร่อยไปอีกแบบ และเนื่องจากภาษาจีนที่เรียกว่า อ่องหลาย สื่อความหมายถึงความเป็นสิริมงคล สับปะรดจึงถูกนำมาใช้เป็นของไหว้หลัก ๆ ในพิธีกรรมต่าง ๆ ของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต
นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตยังมีอ่องหลายสายพันธุ์พื้นถิ่นของเราเอง ที่สืบทอดภูมิปัญญากันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ตกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อพ.ศ. 2552 หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม สับปะรดภูเก็ต นั่นเอง
สับปะรดภูเก็ต เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนภูเก็ตเป็นอย่างมาก รวมถึงหลาย ๆ จังหวัดในภาคใต้ เป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ในช่วงที่ยางพารามีอายุน้อย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เป็นผลไม้ที่ทานได้สด ๆ โดยสายพันธุ์สับปะรดภูเก็ต เป็นสับปะรดในกลุ่ม Queen ซึ่งเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับพันธุ์สวี และพันธุ์ตราดสีทอง เนื่องจากมี DNA ที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างของลักษณะภายนอก และรสชาติ เนื่องจากสภาพสิ่งแวดล้อมที่ปลูกแตกต่างกัน
การปลูกสับปะรดในภูเก็ต พระยาจรูญ ราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) ซึ่งในสมัยนั้นท่านเป็นเจ้าเมืองหลังสวน ได้นำสายพันธุ์สับปะรดจากเมืองปีนัง เข้ามาปลูกในหลังสวน และสวี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ยานัดผรัง ต่อมาได้แพร่หลายมาสู่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ ทั้งกระบี่ พังงา รวมถึงภูเก็ต ซึ่งจะปลูกแซมในสวนยางพารา หรือสวนมะพร้าว ปรากฏว่าจังหวัดภูเก็ตที่มีภูมิศาสตร์เป็นเกาะ พื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย โดยเฉพาะผิวหน้าดินที่เป็นทรายเสียส่วนใหญ่ และมีความเป็นกรดค่อนข้างสูง ส่งผลให้สับปะรดที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีรสชาติดีกว่าสับปะรดที่ปลูกในจังหวัดใกล้เคียงกัน
หวาน กรอบ หอม อร่อย คือคำนิยามของสับปะรดภูเก็ต แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยว หรือชาวภูเก็ตอีกหลายคน เคยทานสับปะรดในจังหวัดภูเก็ต แล้วก็ส่ายหัว ทำหน้าเบ้ เพราะเจอสับปะรดรสชาติเปรี้ยวปรี๊ด และยังไม่กรอบอีกต่างหาก สับปะรดที่จำหน่ายอยู่ในบ้านเราในปัจจุบันนั้น มีหลาย ๆ เจ้าที่เป็นผลิตผลมาจากที่อื่น ๆ และได้มีการ แอบอ้าง ว่าเป็นสับปะรดภูเก็ต ทำให้เสียชื่อเสียงไปหลายต่อหลายครั้ง ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต และกลุ่มเกษตรกรชาวไร่สับปะรดจังหวัดภูเก็ต จึงได้พยายามคิดหาวิธีกอบกู้ชื่อเสียงให้สับปะรดภูเก็ตอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเป็นสับปะรดภูเก็ตแท้ ผลจะไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ขนาดพอดี ผ่าออกมาจะมีสีเหลืองทองตลอดทั้งลูก มีกลิ่นหอม มีรสชาติที่หวาน ไม่ฉ่ำน้ำ มีกากใยน้อยทำให้มีความกรอบมาก แม้แต่แกนกลางก็สามารถทานได้ ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ต ประกอบกับภูมิปัญญา และฝีมือของเกษตรกรดชาวภูเก็ตที่สั่งสมกันมานาน ทำให้ได้รสชาติที่ดีแตกต่างจากที่อื่น โดยปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีไร่สับปะรดรวมราว ๆ 2,500 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอถลาง มีเกษตรกรประมาณ 50 ท่าน ซึ่งไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้มีแม่ค้า พ่อค้าหลาย ๆ คนนำสับปะรดจากที่อื่นเข้ามาจำหน่ายในภูเก็ต และบอกว่าเป็นสับปะรดภูเก็ต สร้างความเข้าใจผิด และความเสียหายให้กับจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก เราจึงไม่หยุดนิ่งที่จะหาวิธีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เช่นการติดสติ๊กเกอร์บ่งบอกว่าเป็นสับปะรดภูเก็ตแท้ การจัดทำถุงพลาสติกที่มีสัญลักษณ์สับปะรดภูเก็ต และในอนาคตยังมีการจัดจุดจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตอย่างเป็นทางการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวมากขึ้น
การปลูกสับปะรดภูเก็ตต้องปลูกในดินร่วนปนทราย โดยเฉพาะในภูเก็ตนี้มีดินที่มีความเหมาะสมกับการปลูกสับปะรดภูเก็ตมากที่สุด ซึ่งถึงแม้จะนำสายพันธุ์ภูเก็ตไปปลูกในที่อี่น ๆ ที่มีดินแตกต่างไปจากนี้ ก็จะให้รสชาติที่ไม่เหมือนกัน เช่น จะมีรสหวานอมเปรี้ยว ไม่กรอบ สีขาวซีด หรืออย่างสับปะรดภูแล ที่นำพันธุ์สับปะรดภูเก็ตไปปลูกในพื้นที่หนาวเย็นของภาคเหนือ ก็ทำให้มีลักษณะแคระเกร็น จนกลายเป็นอีกสายพันธุ์ หรือแม้แต่พื้นที่แต่ละแห่งในจังหวัดภูเก็ตเอง ก็ส่งผลทำให้รสชาติของสับปะรดแตกต่างกันบ้าง อีกอย่าง คือต้องมีแสงแดดส่องถึงตลอดเวลา เราจึงปลูกแซมในสวนยางที่ยังโตไม่เต็มที่ เพราะถ้าต้นยางสูงใหญ่ จะมีร่มเงามาก ทำให้สับปะรดไม่ออกผล และต้องหมั่นดูแลไม่ให้มีหญ้าขึ้นปกคลุมต้นสับปะรด ยิ่งได้ปลูกในพื้นที่ลาดชันจะยิ่งได้ผลผลิตดี แต่จะยุ่งยากเวลาเก็บเกี่ยว แต่สามารถปลูกในที่ราบได้ แต่ต้องดูแลไม่ให้มีน้ำท่วมขัง
สำหรับการปลูกสับปะรดภูเก็ตนั้น สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่จะเริ่มเตรียมดินตั้งแต่ช่วงหน้าร้อน ประมาณเดือนมีนาคม หรือเมษายน และจะทยอยปลูกเป็นรุ่น ๆ ใช้เวลาในการปลูกประมาณ 14-17 เดือน แต่ช่วงเวลาที่ได้ผลผลิตดีที่สุดจะเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
ลูกค้าส่วนใหญ่จะมารับซื้อถึงที่ไร่ และนำไปจำหน่ายต่อให้กับโรงแรม และร้านอาหารเป็นหลัก รองลงมาจึงจำหน่ายต่อให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะนำไปประกอบอาหาร หรือใช้เป็นของไหว้ โดยการจำหน่ายสับปะรดภูเก็ต จะจำหน่ายเป็น 3 ขนาด คือขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก แตกต่างกับที่อื่น ๆ ที่จำหน่ายเป็นกิโลกรัม สับปะรดที่ตัดออกมาจากต้นควรรับประทานทันที จะได้สัมผัสถึงรสชาติหวาน และสดที่สุด แต่ก็สามารถเก็บไว้ได้อีก 2-3 วัน หากเก็บนานกว่านี้จะทำให้สับปะรดเหี่ยว ไม่อร่อย
ป้ายคำ : ผลไม้