สาคู ปาล์มทำแป้งสารพัดประโยชน์

8 กุมภาพันธ์ 2557 ไม้ผล 0

ต้นสาคูเป็นพืชตระกูลปาล์มเกิดในที่ชุ่มน้ำจืดสามารถพบทั่วไป บริเวณริม ห้วย หนอง คลอง บึง หรือตามสายคลองต่างๆ เกือบ ทั่วภาคใต้ ต้นสาคูคือ อีกเคราะห์กรรม หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอย่างปิดหูปิดตา จนสูญเสียป่าสาคู แต่การรวมกลุ่มชาวบ้าน ทั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ กลุ่มแม่ บ้าน และกลุ่มเยาวชน ได้รวมตัวกัน ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าสาคู โดยร่วมกันศึกษา พัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งสาคู ผลิตหลักสูตร ท้องถิ่นเรื่องประโยชน์ของแป้ง สาคูและพยายามผลักดันป่าสาคูในพื้นที่ ต่างๆ ของชุมชนให้เป็นป่าชุมชน ตาม พระราชบัญญัติป่าชุมชน เพื่อให้ ชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาป่าสาคู

ชื่อพื้นเมือง : สาคู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Metroxylon sagus Rottb. ( ชนิดยอดแดง )Metroxylon rumphii Mart. ( ชนิดยอดขาว )
ชื่อวงศ์ : Palmae
ชื่อสามัญ : Sago Palm
ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลักษณะทั่วไป
สาคู เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว พบมากในพื้นที่เขตร้อนชื้น บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของทวีปเอเชีย และหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นพืชที่ต้องการปริมาณน้ำสูง และต้องการปริมาณการตกของฝนสม่ำเสมอหรือค่อนข้างตกชุก ประมาณ 1,000-2,500 มิลลิเมตร ชอบความชุ่มชื้น แต่มีอากาศร้อนช่วงอุณหภูมิ ประมาณ 29-32 องศาเซลเซียส ขึ้นในที่ราบลุ่ม ชื้นแฉะ ริมแหล่งน้ำ พื้นที่ที่มีน้ำจืดขังตลอดปี หรือป่าพรุ สามารถทนต่อสภาพน้ำท่วม หรือน้ำแห้ง เป็นระยะค่อนข้างนานได้ดี

สาคู จะมีลำต้นคล้ายปาล์มขวดหรือมะพร้าว ลำต้นเปลาตรงไม่มีหนามตามลำต้น ยกเว้นในบางชนิด มีใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวคล้ายใบมะพร้าว เมื่อโตเต็มที่มีความสูง ประมาณ 10-12 เมตร และเป็นพืชที่มีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน เมื่อผลิตดอกออกผลแล้วต้นจะตาย เช่นเดียวกับต้นลาน (Corypha spp.) ดอกออกเป็นเกลียวเรียงตัวกันเป็นคู่ ๆ ในแต่ละคู่มีดอกตัวผู้ และดอกเป็นหมันผสมสลับกันไปกับดอกตัวเมียที่สมบูรณ์ การผสมพันธุ์ของพืชชนิดนี้จะผสมข้ามเช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน จำนวนโครโมโซมของสาคูมีอยู่ 26 คู่ (2n) เมื่อต้นโตเต็มที่มีใบยาว ประมาณ 6 – 7 เมตร แต่ละใบมีใบย่อย ประมาณ 50 คู่ แต่ละใบย่อย มีความยาว 60-180 เซนติเมตร ความกว้างของแผ่นใบประมาณ 5 เซนติเมตร รวมระยะเวลาทั้งหมดตั้งแต่งอกจนถึงออกผลแล้วตาย ประมาณ 12 ปี

สาคูจะแตกแขนงออกจากรากเหง้าของต้นเดิม ซึ่งรากเหง้านี้จะค่อย ๆ โต และทอดยาวอยู่เหนือผิวดินทางด้านหลังของต้นเดิม แขนงรุ่นหลัง ๆ จึงค่อยอยู่ห่างจากแขนงรุ่นแรก ๆ ในด้านที่อยู่คนละทางกับต้นเดิมทั้ง 3 ด้าน เรียกรากเหง้าที่ค่อย ๆ ลอยตัว และโตขึ้น ตามภาษาถิ่นว่า หัวหมก ต้นหนุ่มของสาคู และตรงต้นโตเต็มที่มีขนาดเท่าต้นลาน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 45-60 เซนติเมตร สูง ประมาณ 10-12 เมตร มีกาบใบห่อลำต้น และทางใบตั้งเกือบตรง กาบทางและใบสีเขียว ใบคล้ายใบมะพร้าว แต่ยาวใหญ่ และหนากว่า ตรงก้านใบมีปมเป็นเสี้ยนเรียงเป็นระยะ ๆ อยู่ตลอดก้าน เมื่อต้นสาคูแก่เต็มที่จะมีจั่นดอกแตกออกตรงส่วนยอด ชาวบ้านเรียกว่า แตกเขากวาง เพราะแต่ละจั่นมีแง่คล้ายเขากวาง เมื่อมีผลดอกและมีผล สาคูต้นนั้นก็จะสิ้นสุดความเจริญและยืนต้นตายเช่นเดียวกับต้นลาน ต้นอื่นในกอเดียวกันก็จะค่อยโตเด่นขึ้นมาแทน ผลของสาคูมีลักษณะเป็นทะลาย ลักษณะของผลคล้ายผลกะลุมพี มีรสฝาด สาคูต้นใดมีผลแล้วลำต้นจะมีแป้งนำไส้ในมาทำแป้งทำขนม หรือใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น

sakooton

จากการสำรวจพบว่า สาคู ที่ค้นพบทั่วโลก มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ

  1. Metroxylon sagus Rottb. เป็นสาคู ชนิดมียอดมีสีแดง มีหนามอยู่ตามก้านใบ ขนาดลำต้นโตกว่าชนิดมียอดสีขาว
  2. M.rumphii Mart. เป็นสาคู ชนิดมียอดมีสีขาว มีหนามอยู่ตามก้านใบ ลักษณะของใบจะสั้นกว่า และเปราะกว่าชนิดแรก (ชนิดมียอดสีแดง)
  3. M.squarrosum Becc.

สำหรับในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียว คือ Metroxylon sagus Rottb. ซึ่งขึ้นกระจายอยู่ เฉพาะภาคใต้เท่านั้น คือ กระจายอยู่ตั้งแต่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรลงไป โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา ในขณะที่สองชนิดที่เหลือขึ้นกระจายอยู่ในรัฐซาราวัคของประเทศมาเลเซีย บนเกาะบอร์เนียว และตามหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี

สาคู ชนิดมียอดแดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Metroxylon sagus Rottb. เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว สูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 40 – 60 เซนติเมตร

  • ใบ เป็นใบประกอบรูปขนนก มีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2 – 3 เมตร
  • ดอก ออกตรงปลายยอดเหนือลำต้น มีขนาดแผ่กว้าง ประมาณ 3 – 4 เมตร
  • ผล มีลักษณะกลมด้านบนแบน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 3.5 – 5 เซนติเมตร ผิวของผลมีเกล็ดหุ้ม ในบางต้นอาจมีผลมากถึง 7,500 – 8,000 ผล ในบางต้นอาจเป็นเมล็ดลีบทั้งหมด เนื่องจากเมล็ดไม่ได้รับการผสม ผลหนึ่งผลมีน้ำหนักรวมประมาณ 42 กรัม สามารถทยอยเลือกเก็บผลได้ตลอดทั้งปี และในช่วงชีวิตจะออกดอกออกผลเพียงครั้งเดียว เมื่อผลร่วงแล้ว ต้นแม่จะตาย ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงผลสุก ใช้เวลา ประมาณ 4 – 5 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลของสาคูที่ได้จากแม่ต้นเดียวกัน เมื่อนำมาเพาะแล้ว ให้ต้นกล้าที่มีสองลักษณะ คือ ลำต้นมีหนาม และลำต้นไม่มีหนาม โดยต้นนำกล้าที่ลำต้นมีหนามที่พบในประเทศไทยนั้น เมื่ออายุมากขึ้นหนามจะหายไป

ปาล์มสาคูหรือป่าสาคูจะพบเป็นพืชเด่นของภูมินิเวศตอนกลางหรือพื้นที่รับน้ำซึ่งสามารถใช้เป็นดัชนีทางชีวภาพของระบบนิเวศตอนกลางของลุ่มน้ำได้จากการสังเกตการณ์แพร่กระจายของปาล์มสาคูในพื้นที่ชุมชนเครือข่ายทรัพยากร 3 ลุ่มน้ำจะพบปาล์มสาคูได้ทั่วไปบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืด แต่จะชุกชุมมากบริเวณตอนกลางของลุ่มน้ำที่เป็นระบบพรุ ลำธาร และคลองสาขา แหล่งสำคัญของปาล์มสาคูที่จังหวัดปัตตานี ได้แก่ที่ตำบลตะบิ้ง ตำบลมะนังดาลัม ตำบลปะเสยาวอ อำเภอสายบุรี ตำบลบ้านกลาง ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปานาเระ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมือง โดยเฉพาะตำบลปะกาฮารังถือเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสาคูที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณของท้องถิ่น สำหรับที่จังหวัดยะลามีแหล่งสาคูที่สำคัญ ได้แก่ ตำบลลำใหม่ ตำบลยุโป ตำบลท่าสาบ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมือง และมีหลายบริเวณในอำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา ส่วนที่จังหวัดนราธิวาสแหล่งสำคัญของปาล์มสาคู ได้แก่ ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหง โก-ลก ตำบลบาเระเหนือ ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ หลายพื้นที่ในเขตอำเภอยี่งอ อำเภอรือเสาะและตำบลบ้านทอน อำเภอเมือง

sakoosuan

เกี่ยวกับเรื่องของสายพันธุ์ปาล์มสาคูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชาวบ้านยังไม่แน่ใจว่ามีกี่ชนิดหรือกี่พันธุ์ แต่มีข้อสังเกตจากหลักฐานที่พบในป่าสาคูว่ามีต้นกล้าที่แตกต่างกัน 2 ประเภทคือต้นกล้าที่ลำต้นมีหนาม กับต้นกล้าที่ลำต้นไม่มีหนาม แต่พอโตขึ้นต้นที่มีหนาม หนามจะหายไปกลายเป็นต้นสาคูที่มีลักษณะเหมือนกับต้นที่ไม่มีหนาม นอกจากนั้นชาวบ้านยังพบว่าต้นสาคูที่อยู่ตามโคก ตามทุ่งนาหรือที่ค่อนข้างแห้งกับต้นสาคูที่อยู่ริมน้ำก็มีลักษณะแตกต่างกันเล็กน้อย เช่นรูปร่างลักษณะของต้น ปริมาณและคุณภาพของผลและแป้งเป็นต้น ซึ่งอาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ชาวบ้านจำแนกผลสาคูเป็น 2 ประเภทคือ ผลสาคูข้าวเหนียว สีดำ รสชาติออกหวาน กับผลสาคูข้าวเจ้า สีขาวปนเทา กลิ่นหอม รสชาติหวานอ่อน มีขนาดผลเล็กกว่าสาคูข้าวเหนียว ชาวบ้านหลายคนบอกว่าสาคูข้าวเหนียวกินดีกว่าสาคูข้าวเจ้า ราคาดีกว่าเล็กน้อย ในช่วงชีวิตของปาล์มสาคูจะออกดอกได้เพียงครั้งเดียว เมื่อผลร่วงแล้วต้นแม่จะตาย ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มออกดอกจนถึงผลสุกใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี ชาวบ้านที่บ้านจารังตาดง ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยพึ่งพาพรุลานควาย ริมแม่น้ำสายบุรีเปรียบเทียบให้ฟังว่าเมื่อปาล์มสาคูออกดอกพร้อมกับผู้หญิงตั้งท้อง เด็กในท้องคลอดออกมายังโตทันเก็บลูกสาคูกินได้

ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปาล์มสาคูมาช้านานแล้ว จึงมีความรู้และมองเห็นคุณค่าของปาล์มสาคูอย่างลึกซึ้ง ชุมชนที่มีป่าสาคูจะรู้จักวิธีการนำส่วนต่างๆของปาล์มสาคูมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในวิถีชีวิตเกือบทุกด้าน จนกล่าวได้ว่า ปาล์มสาคู คือพืชวัฒนธรรม เป็นต้นไม้กัลปพฤกษ์ที่ใช้ได้สารพัดประโยชน์ เป็นที่พึ่งของคนยากจนในหมู่บ้าน ไม่ต้องลงทุน มีพร้าด้ามเดียวกับป่าสาคูก็หากินได้แล้ว(กอเซ็ง อาบูซิ , 2554)

sakoopah

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากปาล์มสาคูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เช่น ใช้ประโยชน์จากใบทำจากมุงหลังคา จากปาล์มสาคูสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามบริเวณสองข้างถนนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ บริเวณที่ผลิตตับจากปาล์มสาคูส่งขายมาก เช่น ที่ตำบลลำใหม่ ตำบลท่าสาบ ตำบลวัดถ้ำ ตำบลบ้านเนียง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ตำบลปากู อำเภอทุ่งยางแดง ตำบลตะลูโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นต้น ราคาตับจากปาล์มสาคูในปัจจุบันประมาณ 12-16 บาท/ตับ ผันแปรตามขนาดความยาว และความหนาของตับ

การกระจายพันธุ์
เจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มมีน้ำขัง ป่าพรุ อากาศแบบร้อนชื้น ฝนตกชุก จึงเหมาะกับสภาพพื้นที่ของภาคใต้

การใช้ประโยชน์
สาคู จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของภาคใต้ ส่วนต่าง ๆ ของสาคูสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายประการ โดยอาศัยภูมิปัญญาของชุมชนในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

ประโยชน์ทางตรง

  1. ใบสาคู ใช้ใบสาคูเย็บเป็นจาก สำหรับมุงหลังคาและกั้นฝา เป็นจากที่มีความทนทานกว่าจากที่ทำจากใบปาล์มชนิดอื่น ๆ ซึ่งปกติจะมีอายุการใช้งานประมาณ 6-10 ปี และถ้านำไปแช่น้ำเสียก่อนประมาณ 15 วัน ถึง 1 เดือน อาจใช้งานได้นาน 9-10 ปี
  2. เนื้อในของส่วนลำต้น ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยสามารถทำได้ 4 วิธี คือ
    1) ตัดลำต้นให้เป็นท่อนสั้น ๆ ประมาณ 50 เซนติเมตร ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงแทะกินโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทเป็ด และไก่
    2) ผ่าลำต้นให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนที่จะให้สัตว์กิน
    3) ถากเปลือกนอกออกจากส่วนของลำต้นก่อน จากนั้นจึงสับ หรือขูด หรือบดให้ละเอียด นำไปผสมกับอาหารชนิดอื่น ก่อนนำไปให้สัตว์เลี้ยงกิน
    4) นำเส้นใยส่วนที่เหลือ จากการสกัดเอาแป้งออก แล้วนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผสมกับวัตถุดิบอื่นก่อนนำไปให้สัตว์กิน
  3. สกัดเอาแป้งจากส่วนของลำต้น โดยเลือกต้นที่กำลังออกดอก หรือต้นที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกต้นสาคูที่มีอายุมาก เนื่องจากต้นสาคู ยิ่งอายุมาก ไส้ในลำต้นก็จะยิ่งมีแป้งเพิ่มขึ้นเท่านั้น จากนั้นใช้เลื่อยยนต์ ตัดโค่นลงมา และตัดแบ่งเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แช่น้ำไว้ เพื่อรักษาคุณภาพแป้งให้อยู่ในสภาพที่ดีได้นานขึ้น และจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากปฏิกิริยาเคมี หลังจากนั้นทำการถากเปลือกนอกออก เลือกเอาแต่ไส้ในตอนกลาง ๆ ของลำต้น แล้วใช้ขวานผ่าให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ และนำไปบดโดยเครื่องโม่บด จากนั้นนำไปผสมน้ำแล้วทำการแยกแป้งออก โดยการบิด บีบ และนำมากรองเอาแป้ง การใช้อุปกรณ์ในการกรองที่แตกต่างกัน จะให้แป้งที่มีคุณภาพต่าง ๆ กัน จากนั้นนำแป้งที่แยกได้ มาตากแดดให้แห้ง หลังจากได้แป้งสาคูที่แห้งแล้ว จึงทำการบรรจุใส่ถุงพลาสติก เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป (ในปัจจุบันพบว่า กระบวนการผลิตแป้งสาคู ด้วยวิธีนี้ทำกันอยู่บ้างในจังหวัดตรัง ปัตตานี และนราธิวาส โดยในแต่ละจังหวัดมีเพียง 2-3 ครอบครัวเท่านั้นที่ทำเป็นอาชีพหลัก)
  4. นำเปลือกนอกมาทำเชื้อเพลิง โดยนำเปลือกนอกที่ถากออกจากลำต้นมาตากให้แห้ง นำไปเป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี
  5. นำเปลือกนอกมาทำไม้ปูพื้น โดยนำมาทำทางเดินชั่วคราว หรืออาจนำมาใช้ปูแทนเสื่อ สำหรับตากข้าว ตากหมาก หรือตากแป้งสาคู
  6. นำส่วนของเปลือกนอกของลำต้นมาทำเป็นกระถางปลูกผักหรือปลูกต้นไม้ หรือใช้บังกระถางไม้ประดับ เพื่อใช้ในการตกแต่งอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้มีความสวยงาม
  7. นำก้านใบมาใช้สร้างที่พักชั่วคราว โดยเลือกก้านใบที่มีความแข็งแรงทนทานเพียงพอที่จะนำมาใช้ทำเป็นที่รองนั่ง หรือโครงสร้างของกระท่อม เป็นต้น
  8. นำเปลือกนอกของก้านใบ มาทำเป็นตอกใช้สานเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยนำทางสาคูที่มีความยาวประมาณ 2.0-2.5 เมตร เลยกาบขึ้นไปจะกลม และเรียวไปหาปลายทาง ถ้าตัดปลายทิ้งให้เหลือยาวประมาณ 1.5 เมตร ส่วนปลายจะไม่เล็กกว่าส่วนโคนมากนัก นำมาลอกเอาเฉพาะส่วนเปลือกนอก ซึ่งเรียกว่า หน้าสาคู มาทำเป็นดอก ใช้สานเป็นผืนกั้นฝาห้อง ทำเสื่อ หรือฝาบ้าน หรือทำเป็นแผงใช้ปูรองตากกุ้ง ปลา หรือผลไม้ ทำได้ง่ายกว่าทำด้วยไม้ไผ่ และถ้าใช้งานที่ไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ จะทนพอ ๆ กับไม้ไผ่
  9. ใช้น้ำเลี้ยง หรือยางจากก้านใบ (ทางสดของต้นสาคู) มาทำกาว ซึ่งจะมีสีขาวขุ่น และเหนียว ใช้ในการประดิษฐ์ว่าว โดยใช้เชื่อมระหว่างกระดาษกับโครงของตัวว่าว ใช้แทนกาวติดกระดาษทั่วไป โดยตัดส่วนกลางของทางสาคูออกเป็นท่อนยาว ๆ ประมาณท่อนละ 1 คืบ ทิ้งไว้ประมาณ 20 – 30 นาที จะมียางใสออกมาจากรอยตัดทั้งสองข้าง ใช้ยางที่ได้นี้ทากระดาษที่ต้องการ เมื่อยางสาคูแห้งจะยึดกระดาษติดกัน
  10. ใช้ใบย่อยมาห่อขนม เมื่อนำ ขนมจาก ไปปิ้งหรือย่าง จะให้กลิ่นหอมน่ารับประทาน เช่นเดียวกับใช้ใบจาก
  11. ใช้ก้านใบทำไม้กวาด ซึ่งก้านใบมีขนาดเล็กและยาวสามารถนำมามัดรวมกันทำเป็นไม้กวาดได้
  12. ใช้ยอดอ่อนทำเป็นอาหาร ยอดอ่อนที่มีอายุ 4-5 ปี นำมารับประทานโดยใช้ประกอบอาหารในช่วงเทศกาลที่สำคัญของชาวมุสลิมในภาคใต้ เช่น งานแต่งงาน
  13. เก็บตัวอ่อนของด้วงสาคูมารับประทาน เมื่อต้นปาล์มสาคูตายก็พบมีแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งมาเจาะกินแกนในของลำต้น พร้อมวางไข่ เมื่อเป็นตัวอ่อน ก็สามารถนำไปรับประทานได้มีโปรตีนสูง นอกจากนี้ยังสามารถเพาะเลี้ยงได้ โดยนำต้นปาล์มสาคูมาตัดเป็นท่อนสั้น ๆ จากนั้นนำไปแช่น้ำ ให้ยางและกรดในลำต้นจางหายไปหมด นำใบสาคูมาคลุมไว้ ตัวด้วงจะเข้ามาชอนไชเข้าไปวางไข่ ซึ่งมีปลอกหุ้ม ขนาดปลอกยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร ประมาณ 25 วัน จึงเจริญเติบโตเป็นตัวดักแด้ เรียกว่า ด้วงสาคู โดยแต่ละตัวจะมีความยาวประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลอ่อน นำไปผัดเกลือรับประทาน จะมีรสชาดดีกว่าด้วงที่เกิดในต้นตาล หรือต้นลาน เพราะไม่มีกลิ่นสาบ นิ่มกว่า และมีรสมันมากกว่า การเก็บตัวอ่อนต้นหนึ่ง จะให้ผลผลิต 2 – 4 กิโลกรัม ขายได้ราคาประมาณ 180 – 250 บาท ต่อกิโลกรัม
  14. ใช้รากทำยาพื้นบ้าน โดยเฉพาะรากแขนงที่เชื่อว่ารักษาอาการปวดศีรษะได้
  15. ผลใช้รับประทานได้ ผลมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อยสามารถลดความดันโลหิตสูงและบรรเทาอาการเป็นโรคเบาหวานได้
  16. ปลูกเป็นไม้ประดับ ส่วนใหญ่มักนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เมื่อเป็นต้นเล็กส่วนของก้านใบ มีสีแดงสดคล้ายกับต้นหมากแดง

ประโยชน์ทางอ้อม

  1. ใช้ปาล์มสาคูปลูกเป็นไม้ให้ร่ม เป็นปาล์มขนาดใหญ่ สูง และมีเรือนยอดที่แผ่กว้าง จึงเหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นไม้ให้ร่ม นอกจากนี้ปาล์มสาคู มีข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ มีใบที่มียาวนาน โดยไม่ร่วงหล่นมาง่าย ๆ อีกทั้งมีผลขนาดเล็กไม่อันตราย ในขณะร่วงหล่นลงมา
  2. ใช้ปาล์มสาคูเป็นแนวกันลม เนื่องจากสาคูมีระบบรากที่แข็งแรง ขึ้นเป็นกอและมีความสูงลดหลั่นต่างกัน หลายชั้นเรือนยอด จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาปลูกเป็นแนวกันลม
  3. ใช้ป้องกันการกัดเซาะ หรือพังทลายของหน้าดิน ลำต้นของสาคูส่วนที่ทอดเลื้อยไป ตามพื้นดิน
  4. ใช้ปลูกเป็นแถว หรือแนวแสดงแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ การหมายแนวเขตพื้นที่ป่า อนุรักษ์มักจะทำการสร้างถนน หรือการขุดคลองล้อมรอบพื้นที่ แต่วิธีดังกล่าวข้างต้น เป็นวิธีการที่ค่อนข้างจะใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และอาจถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงเข้าไปลักลอบตัดฟันไม้หรือการเข้าไปล่าสัตว์ อย่างผิดกฎหาย การขุดคลองอาจทำให้เกิดการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ก่อเหตุให้เกิดไฟไหม้ป่า ในทางตรงกันข้าม ปาล์มสาคูเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในหลายสภาพพื้นที่ มีการเจริญเติบโตเร็ว มีลักษณะของใบที่แตกต่างจากไม้ยืนต้นทั่วไป ทนต่อการทำลายของไฟป่า และมีประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบ ๆ ป่าหรือพื้นที่นั้น ๆ ดังนั้นปาล์มสาคูจึงเหมาะที่จะใช้เป็นพืชที่จะนำมาปลูกเพื่อวัตถุประสงค์ดัง กล่าว โดยเฉพาะการนำมาปลูกเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่เป็นพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นวิธีการทางธรรมชาติที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย และไม่มีผลเสียต่อการอนุรักษ์ป่าไม้

สาคูเป็นพืชที่ชาวภาคใต้ใช้ประโยชน์หลายลักษณะ และเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านหลายประการ และในปัจจุบันมีผู้ต้องการใช้จากสาคูมุงคอกเลี้ยงสัตว์เป็นฟาร์มเป็ด ฟาร์มไก่เป็นจำนวนมาก ราคาจากสาคูจึงสูง ถ้าใครมีเนื้อที่ที่เหมาะแก่การปลูกสาคูเพียงประมาณ 4 – 5 ไร่ ก็สามารถมีรายได้จากการทำจากสาคูขายเดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 – 6,000 บาท ทั้งสามารถมีรายได้ตลอดปี มีการเสี่ยงน้อยกว่าการทำนา การปลูกก็ง่าย ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่มีศัตรูพืช หรือวัชพืชรบกวนปลูกครั้งเดียวคอยเก็บเกี่ยวผลได้ปลายปี
ท่อนไม้ปาล์มสาคู

sakoopa

การผลิตแป้งโดยนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีอยู่หลายครอบครัว ที่จังหวัดปัตตานีจะมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมือง แป้งสาคูที่นี่มี 3 ประเภท หรือ 3 เบอร์ เบอร์ 1 เป็นแป้งคุณภาพดีที่สุด ทำโดยการบด ปั่น แช่น้ำ 3 วันเพื่อลดกลิ่นและรสฝาด แล้วตากแดด 1 วันให้แห้ง แล้วบดให้ละเอียด แป้งจะมีสีขาวสะอาด ราคาขายประมาณ 300 บาท/ปี๊บใช้ทำขนมได้หลายอย่าง นิยมใช้มากในช่วงเดือนรอมมอดอนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด(เดือนปอซอ) ชาวบ้านใช้แป้งสาคูเบอร์ 1 ทำขนมลอดช่อง ขนมกอและ ขนมเปียกปูน กะลาแม และขนมอีกสารพัดชนิด แป้งสาคูช่วยเพิ่มความเหนียว แป้งเบอร์ 2 กับ เบอร์ 3 ใช้วิธีการแตกต่างจากแป้งเบอร์ 1 คือหลังจากบดเสร็จก็นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาร่อนตะแกรง จะได้แป้งไม่ละเอียดสีแดง/ สีดำ การทำแป้งสาคูโดยวิธีนี้ง่ายสะดวก ไม่เสียเวลา ได้มาก ปาล์มสาคู 1 ท่อนทำแป้งเบอร์2 เบอร์3ได้มากประมาณ 3 ปี๊บ ราคาขายประมาณ 60 บาท/ปี๊บ แป้งสาคูสีแดงใช้ผสมทำข้าวเกรียบแป้งสาคู ชาวบ้านนิยมรับประทาน เช่น ข้าวเกรียบบ้านดาโต๊ะ เป็นต้น นอกจากใช้ทำข้าวเกรียบแล้วแป้งสาคูในสมัยโบราณเมื่อเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงชาวบ้านเคยนำแป้งสาคูมาบริโภคแทนข้าว

ต้นสาคูกับการใช้เลี้ยงสัตว์
สาคู เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีมากในประเทศไทย มาเลเซีย นิวกินี อินโดนีเซีย และหมู่เกาะต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (FAO,1983) สำหรับประเทศไทยในเขตพื้นที่ทางภาคใต้หลายจังหวัด เช่น จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา สตูล ฯลฯ บริเวณสภาพที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือในพื้นที่ที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง หรือในพื้น ที่ที่มีการระบายน้ำไม่ดี พืชเศรษฐกิจไม่สามารถขึ้นได้ จะมีพืชชนิดหนึ่งเรียกว่า ต้นสาคู ขึ้นเรียงรายอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ประมาณ 3 ล้านไร่ ต้นสาคูเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว อยู่ในตระกูลปาล์ม ที่พบขึ้นในบ้านเรา มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดไม่มีหนาม (Metroxylon sugu Roltb.) และชนิดมีหนาม (Metroxylon rumphii Mart.) (ไพรัตน์, 2524) ต้นสาคูขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ เมื่อต้นเก่าตายจะมีหน่องอกออกมาแทนอยู่เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องปลูกทด แทน ใบของต้นสาคูที่ร่วงหล่นลงมาบนพื้นดิน จะคลุมพื้นดินอย่างหนาแน่นจนวัชพืชขึ้นไม่ได้ ถือเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยวิธีหนึ่ง ใบของต้นสาคู สามารถนำไปมุงหลังคาแทนใบจาก ลำต้นสามารถนำมาสร้างบ้าน ทำเชื้อเพลิง และนำมาผลิตเป็น แป้งได้ โดยเฉพาะส่วนกลาง (ไส้) ของลำต้นจะให้แป้งมากที่สุด แป้งที่ผลิตจากต้นสาคูจะมีสีเหลือง และจะมีสิ่งสกปรกอยู่มาก ระยะของต้นสาคูที่เหมาะสมจะตัดมาทำแป้ง จะมีอายุประมาณ 9 – 10 ปี โดยเฉพาะที่ช่วงความสูง 7.5 – 9 เมตร จากพื้นดินจะ มีแป้งมากที่สุด ระยะนี้ต้นสาคูจะตั้งท้อง และเริ่มสร้างดอก พอหลังจากระยะนี้แล้ว ลำต้นของสาคูจะมีลักษณะกลวง และตาย ในที่สุด ต้นสาคูต้นหนึ่งจะสามารถผลิตแป้งได้ประมาณ 90 – 100 กก. การนำไปทำแป้ง ต้องทำหลังจากโค่นต้นสาคูภายใน 1 สัปดาห์ ถ้าทิ้งไว้นานต้นสาคูจะเน่า (สมศักดิ์,2530) เกษตรกรทางภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ลงไป จะผลิตแป้งจากต้นสาคูกันมาก

ปาล์มสาคูทำแป้งอาหารเลี้ยงเป็ด
เปลือกนอกของปาล์มสาคูที่เหลือชาวบ้านจะนำไปใช้ทำเล้าเป็ดหรือคอกสัตว์ และทำไม้ฟืน ซึ่งเปลือกที่เหลือจากปาล์มสาคู 3 ท่อนราคาประมาณ 10 บาท ต้นปาล์มสาคู 1 ต้นสามารถขายเปลือกได้ประมาณ 30 บาท แต่ส่วนใหญ่จะให้ฟรีสำหรับคนที่ขัดสน ชาวบ้านที่ใช้เปลือกนอกของต้นปาล์มสาคูเป็นเชื้อเพลิงให้ข้อมูลว่าต้นสาคู 1 ต้นให้เปลือกใช้ทำเป็นไม้ฟืนได้ประมาณ 15 วันสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกประมาณ 4-5 คน เปลือกนอกของต้นปาล์มสาคูยังใช้ทำไม้ปูพื้น ทำทางเดินชั่วคราว มาปูแทนเสื่อตากข้าว ตากหมาก ตากแป้งสาคู ตากปลาแห้ง ทำเป็นที่รองนั่ง ทำเป็นกระถางปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ใช้ตกแต่งประดับบ้านเรือน ใช้ทำคอกสัตว์เลี้ยง เล้าเป็ด ชาวบ้านที่มีประสบการณ์บอกว่าถ้าจะให้ดีควรวางเปลือกสาคูในแนวตั้ง จะใช้ได้ทนนานขึ้น

เปลือกสาคูทำไม้ฟืนหรือเล้าเป็ด
หลังจากที่ต้นปาล์มสาคูถูกตัดเอาต้นไปใช้ประโยชน์แล้ว จะเหลือตอซึ่งเป็นส่วนของโคนต้น ต่อมาจะมีด้วงสาคูซึ่งเป็นแมลงปีกแข็งเจาะไชเข้าไปวางใข่และกลายเป็นตัวอ่อนลักษณะหนอนด้วงหากินและเจริญเติบโตอยู่ข้างในเนื้อในของตอลำต้น ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าด้วงสาคู ชาวบ้านที่เป็นไทยมุสลิมจะไม่รับประทานเพราะมีข้อห้ามทางศาสนา แต่ชาวบ้านที่เป็นไทยพุทธมีการรับประทานกันทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ กล่าวกันว่ามีรสชาติอร่อยและมีโปรตีนสูง ชาวบ้านสังเกตพบว่าหลังจากโค่นต้นปาล์มสาคูแล้วประมาณ 25-27 วันจะเกิดเป็นตัวด้วงสาคูเต็มวัย เพราะฉะนั้นจะต้องเก็บหนอนด้วงสาคูก่อนหน้านั้น ตอปาล์มสาคู 1 ตอสามารถเก็บหนอนด้วงสาคูได้ประมาณ 2-4 กิโลกรัม ปัจจุบันราคาประมาณ 300-400 บาท/กิโลกรัม

หนอนสาคู
การใช้ประโยชน์จากยอดอ่อนปาล์มสาคู ยอดอ่อนของปาล์มสาคูอายุประมาณ 4-5 ปีสามารถนำมารับประทานได้เช่นเดียวกับยอดอ่อนของมะพร้าว มีรสเปรี้ยวและหวาน นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารในช่วงเทศการสำคัญของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นงานแต่งงาน ยอดอ่อนของปาล์มสาคู 1 ต้นสามารถนำมาทำ อาจาดสาคู เลี้ยงรับรองแขกได้ประมาณ 180-200 คน อย่างไรก็ตามปาล์มสาคูเมื่อถูกตัดยอดแล้วต้นก็จะตาย ปัจจุบันอาจาดสาคูที่ทำสำเร็จรูปแล้ว 1 หม้อราคาประมาณ 1,500 บาท

sakoonon

ยอดสาคู
การใช้ประโยชน์จากรากปาล์มสาคู มีชาวบ้านหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้รากปาล์มสาคูมาปรุงเป็นยาพื้นบ้าน โดยเฉพาะรากแขนงนำมาทำเป็นยาแก้อาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ได้ โดยการนำรากมาฝนกับก้นอ่างดินเผา แล้วเอาสำลีมาชุบไปแปะที่หน้าผาก หรือนำน้ำที่ฝนกับรากมารดหรือพรมบนหัวของผู้ป่วยก็ได้ วิธีนี้ยังมีผู้เชื่อถือและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

รากสาคู
การใช้ประโยชน์จากผลปาล์มสาคู ปาล์มสาคูออกลูกครั้งเดียวต้นก็จะตาย ต้นหนึ่งมีลูกประมาณ 3-4 ทะลายบริเวณปลายยอด ลูกกินได้มีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซื้อขายกันประมาณ 3-5 ลูก/บาท ที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาสจะเอาลูกปาล์มสาคูทั้งเปลือกฝังโคลนในนาก่อนประมาณ 10-15 วัน แล้วปอกใส่ในไหหรือขวดโหล ทำแช่อิ่ม หรือดองแบบลูกระกำ ชาวบ้านที่ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ใช้ลูกปาล์มสาคูกินเป็นยาแก้นิ่ว และรักษาโรคท้องร่วงได้ บางพื้นที่ใช้เมล็ดในของลูกปาล์มสาคูมาฝนกับก้นหม้อดินใช้ทำยาพื้นบ้านกินรักษาใส้ติ่ง และเชื่อกันว่ายังเป็นยาช่วยลดความดันโลหิตสูง และบันเทาอาการโรคเบาหวานได้

ลูกปาล์มสาคู
นอกจากนี้ยังมีการใช้ประโยชน์จากปาล์มสาคูปลูกทำเป็นไม้ประดับ เป็นไม้ให้ร่ม ปลูกเป็นแนวป้องกันภัยพิบัติ เช่น ลมพายุ น้ำหลาก การกัดเซาะหรือการพังทลายของหน้าดิน เป็นต้น รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากปาล์มสาคูปลูกเป็นแนวเขตแดนกั้นพื้นที่อนุรักษ์ และความมั่นคงของท้องถิ่น จากการสังเกตของชาวบ้านที่ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ป่าสาคูจะเดินไปหาแหล่งน้ำ ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร/ปี(กอเซ็ง อาบูซิ , 2544) ชาวบ้านที่ตำบลทุ่งเค็ด อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีมีประสบการณ์ว่าตอนที่ยังมีป่าสาคูน้ำในบ่อน้ำตื้นไม่เคยแห้งเลย น้ำริมป่าสาคูจะเย็นใสสะอาดมาก

sakookla

การขยายพันธุ์
สาคู สามารถขยายพันธุ์ได้ 2 ลักษณะ คือ

  1. การแตก / แยกหน่อจากโคนต้นเดิม แล้วแผ่กระจายออกเป็นกอใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยการใช้เสียม หรือมีดพร้า ขุด แซะ หน่อสาคูออกจากต้นแม่ โดยเลือกหน่อ ที่มีขนาดไม่โตมากนักแล้วนำมาแช่น้ำให้ส่วนโคนจมน้ำ ภายใต้พื้นที่ที่มีความเข้มของแสง ประมาณ 50% ใช้เวลา ประมาณ 2 เดือน รากจะงอกออกมาใหม่แล้วจึงย้ายไปปลูกในพื้นที่จริง
  2. การเพาะด้วยเมล็ด โดยให้เก็บเมล็ดสาคูที่สุกเต็มที่ และต้องเลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ โดยสามารถใช้เข็ม หรือเหล็กแหลมแทงเมล็ดดู หากเมล็ดมีความแข็ง การแทงจะไม่ทะลุ แสดงว่าเมล็ดนั้นมีความสมบูรณ์ จากนั้นให้เอาเปลือกนอก และเยื่อหุ้มเมล็ดออก นำไปเพาะชำในทราย หมั่นรดน้ำเช้าเย็น เมล็ดจะเริ่มทยอยงอก ในช่วงเวลา ประมาณ 20 – 60 วัน หลักการเพาะเมื่อเมล็ดงอกให้ทำการย้ายชำลงถุงดิน ขนาด 5 x 8 หรือ 8 x 10 นิ้ว กล้าสาคู มีความสูงเฉลี่ย ประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ส่วนใหญ่พบว่า การงอกของต้นสาคู มีเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำมาก เนื่องจากมีผลที่มีเมล็ดไม่สมบูรณ์สูงกว่าเมล็ดที่สมบูรณ์

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น