สาบแมว เป็นวัชพืชอายุปีเดียว(Annaul) บางพื้น จึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่า หญ้าดอกม่วงบ้าง ต้นสาบม่วง ซึ่งเป็นชื่อที่พ้องกับไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีดอกสีม่วง มีใบคล้ายคลึงและอยู่ในสกุลเดียวกันที่มีชื่อว่า Mist Fiower หรือ Hardy Ageratum มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Eupatorium coelestinum บางพื้นที่ นำมาใช้ตกแต่งสวนหิน(Rock garden)
ชื่อสามัญว่า . praxelis มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Praxelis clematidea (Griseb.) R.M.King & H.Rob (Eupatorium catarium Veldk) เป็นไม้ที่มีใบคล้ายต้นสาบเสือมาก แต่ใบจะมีขนาดเล็กกว่า มีดอกสีม่วงอ่อน คล้ายกับสาบแร้งสาบกามาก
ส่วนข้อแตกต่าง ที่สังเกตได้โดยทั่วไป เช่น
สาบหมา สาบแมว สาบแร้งสาบกา สาบเสือ แม้จะมีชื่อ ดูน่ารังเกียจน่ากลัว ไม่พึงประสงค์ จะมีประโยชน์ในการผลิตสินค้าอินทรีย์ในภาคเกษตรกรรมไม่น้อย เพราะในปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยและค้นคว้านำมาใช้ประโยชน์ ทางด้านการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และการควบคุมการงอกของวัชพืชชนิดอื่นกันแล้ว ที่สำคัญเป็นพืชที่งอกง่าย ตายยาก โตเร็ว เป็นพืชที่ช่วยคลุมผิวหน้าดิน ไม่ให้ถูกชะล้างและพังทลายได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียว
การศึกษาประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยจากใบสาบแมว (Eupatirium adenophorum) ในการกำจัดยุงลาย Aedes aegypti โดย นายนัทธี สุรีย์
น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นจากใบสาบแมวด้วยไอน้ำ เมื่อนำมาทดสอบผลต่อลูกน้ำยุง และยุงตัวเต็มวัย พบว่า สารที่ออกฤทธิ์นั้นอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้จริง และมีประสิทธิภาพสูงสุดในการฆ่าลูกน้ำยุง โดยมีค่า LC_{50} = 62.2 ppm และ LC_{96} = 150.9 ppm ทั้งยังสามารถป้องกันการกัดของยุงตัวเต็มวัยได้นานถึง 4 ชั่วโมง เมื่อทำการทดสอบการฆ่ายุงตัวเต็มวัยโดยใช้วิธีทดสอบความไวของยุงลายต่อน้ำมันหอมระเหย พบวา น้ำมันหอมระเหยไม่สามารถฆ่ายุงลายตัวเต็มวัยได้ 100% แต่ก็ทำให้ยุงที่ไม่ตายอ่อนเพลียจนไม่สามารถบินได้ในช่วงเวลาที่ทำการทดสอบเช่นกัน เมื่อทำการศึกษาในด้านความเป็นพิษต่อยีน โดยใช้กระบวนการ Ames test พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากใบสาบแมวไม่ทำให้แบคทีเรีย Salmonella thyphimurium สายพันธุ์ TA98 และ TA100 เกิดการกลายพันธุ์ได้อย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05 เมื่อเทียบกับชุดควบคุม) และการแยกน้ำมันหอมระเหยออกเป็นส่วน ๆ ด้วยเทคนิค column chromatography จะทำให้ได้ส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน เมื่อนำไปวิเคราะห์หาสูตรโครงสร้างเบื้องต้นด้วยเทคนิค {}^1H-NMR spectroscopy แล้ว พบว่าสารส่วนที่ 2 มีประสิทธิภาพในการฆ่าลูกน้ำยุงลายสูงที่สุด ส่วนในด้านการป้องกันยุงกัดนั้น พบว่าสารส่วนที่ 2, 3, 4 และ 5 มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน และไม่แตกต่างจากน้ำมันหอมระเหยก่อนแยกอย่างมีนัยสำคัญ จึงนับได้ว่าน้ำมันระเหยจากใบสาบแมวมีประสิทธิภาพในการฆ่าลูกน้ำยุงลาย และป้องกันการกัดของยุงลาย Aedes aegypti ในระดับสูง ทั้งยังมีความปลอดภัยต่อสมดุลของระบบนิเวศในระดับหนึ่ง ซึ่งเหมาะสมต่อการนำมาพิจารณาเพื่อประยุกต์ใช้ต่อไป
โครงงานวิทยาศาสตร์การศึกษาผลของสารจากใบสาบแมว ในการกำจัดยุงก้นปล่องและยุงลาย
การใช้สารสังเคราะห์ทางเคมีนานาชนิดในการปราบยุง ก็นับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดี แต่ผลข้างเคียงจากสารสังเคราะห์เหล่านั้น ซึ่งย้อนกลับมากระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลมาถึงมนุษย์นั้นเล่า ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้กันไม่ตก ปัจจุบันจึงมีการสนับสนุน ให้ใช้วิธีธรรมชาติในการปราบยุงกันมากขึ้น อาทิ การใช้สารสกัดจากธรรมชาติซึ่งส่วนมากจะได้จากพืชชนิดต่างๆ มาใช้ในการปราบยุง
ในเรื่องของการปราบยุงโดยใช้สารสกัดจากธรรมชาตินี้ ถ้าไปถามนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มหนึ่ง จากโรคเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่แล้ว นักเรียนกลุ่มนี้จะบอกว่า “สารสกัดจากใบสาบแมว” ก็ใช้ได้ผลเหมือนกัน เพราะพวกเธอและเขาได้ทดลองกันทำมาแล้ว
กลุ่มนักเรียนเจ้าของโครงงานเรื่อง ศึกษาผลของสารจากใบสาบแมวในการกำจัดยุงก้นปล่องและยุงลาย ประกอบด้วย นางสาวธิดารัตน์ เปลี่ยนพานิช, นายชาตรี ชัยอดิศักดิ์โสภา และนายนัทธี สุรีย์ โดยนักเรียนกลุ่มนี้มีมุมมองว่า การใช้สารสังเคราะห์ทางเคมี ในการฆ่าลูกน้ำยุงป้องกันการวางไข่ของยุงและไล่ยุงนั้น ก่อให้เกิดโทษต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม พวกเธอและเขาจึงมีแนวคิดว่าน่าจะทดลองสกัดสารจากพืชบางชนิด เพื่อนำมาใช้ในการกำจัดยุงแทน โดยได้ศึกษาหาสารสกัดจากพืช ที่มีผลต่อยุงร้าย 2 ชนิด คือ ยุงก้นปล่องและยุงลาย
จากการสังเกตเห็นว่า น้อยหน่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บเหาได้ดี นักเรียนกลุ่มนี้จึงสันนิษฐานว่าพืชในตระกูลเดียวกัน น่าจะมีฤทธิ์ในการป้องกันและไล่แมลงได้ จึงคัดเลือกพืช 3 ชนิด คือ สายหยุด กระดังงาไทย และสาบแมว มาทำกรทดลอง
เริ่มจากการนำใบพืชทั้งสามชนิดมาอบแห้ง ป่น และสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยให้สารสกัดในขั้นตอนสุดท้ายมีความเข้มข้น 37.5 กรัมน้ำหนักแห้ง/ลิตร จากนั้นนำสารสกัดจากใบสายหยุด ใบกระดังงาไทย และใบสาบแมวมาผสมน้ำกลั่น ใส่ลูกน้ำยุงก้นปล่องลงไปกลุ่มละ 50 ตัว สังเกตอัตราการฆ่าลูกน้ำยุงก้นปล่องภายในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งจากการทดลองพบว่า สารสกัดจากใบสาบแมว ทำให้ลูกน้ำยุงก้นปล่องตายมากที่สุดถึงร้อยละ 98 นักเรียนจึงคัดเลือกสารสกัดจากใบสาบแมวไปทำการทดลองต่อ เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นสาบแมว ยังเป็นวัชพืชที่หาง่ายอีกด้วย
นักเรียนทดลองหาความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารสกัดจากใบสาบแมว โดยทดลองกับลูกน้ำยุงก้นปล่อง 3 ขนาด คือ ขนาด 5 มม. 3 มม. และ 1 มม. หลังจากทิ้งไว้ 20 ชั่วโมง ปรากฏว่า ความเข้มข้น 15 และ 20 กรัมน้ำหนักแห้ง/ลิตร สามารถกำจัดลูกน้ำยุงก้นปล่องทั้งสามขนาดได้ดี และเมื่อนำสารสกัดจากใบสาบแมวที่มีความเข้มข้น 15 กรัมน้ำหนักแห้ง/ลิตร มาทดลองหาระยะเวลาที่เหมาะสมในการฆ่าลูกน้ำยุง พบว่าลูกน้ำยุงก้นปล่องจะตายหมดภายใน 15 ชั่วโมง และลูกน้ำมีอัตราการตายสูงสุดในชั่วโมงที่สี่และห้า และยังศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบสาบแมวที่เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง มีอายุการใช้งานได้เกินกว่า 7 วัน
นอกจากนี้ นักเรียนกลุ่มนี้ยังได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพ ของสารสกัดจากใบสาบแมวในการป้องกันการวางไข่ของยุงก้นปล่อง โดยนำสารละลายความเข้มข้นต่างๆ ใส่ในกรงทดลอง ที่มียุงโตเต็มวัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากใบสาบแมวที่มีความเข้มข้น 1.6 กรัมน้ำหนักแห้ง/ลิตร สามารถป้องกันการวางไข่ของยุงก้นปล่องได้ดี และเมื่อทดลองความสามารถในการไล่ยุง โดยใช้ไม้พันสำลีชุบสารสกัดใส่ในกรงทดลองที่มียุงก้นปล่อง โตเต็มวัยอยู่ พบว่าสารสกัดที่มีความเข้มข้น 6.25 กรัมน้ำหนักแห้ง/ลิตร สามารถไล่ยุงก้นปล่องได้ดี โดยใช้ไล่ยุงได้นานกว่า 12 ชั่วโมง
และเนื่องจากยุงลายก็เป็นยุงพาหะของโรคที่พบทั่วไปอีกชนิดหนึ่ง นักเรียนจึงทดลองใช้สารสกัดจากใบสาบแมว ในการฆ่าลูกน้ำของยุงลายซึ่งผลปรากฏว่า สารสกัดจากใบสาบแมวไม่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ แต่สามารถป้องกันการวางไข่ได้ดี และจากการทดลองของนักเรียน พบว่า สารสกัดจากใบสาบแมวจากเอทิลแอลกอฮอล์ ทำให้ยุงลายไม่มาเกาะมือผู้ทดลองคือ 25 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
สำหรับการทดลองหาผลกระทบของสารสกัด จากใบสาบแมวต่อสิ่งแวดล้อมนั้น นักเรียนกลุ่มนี้ ได้ทดลองนำสารสกัดใส่ลงในน้ำที่มีปลาหางนกยูงอยู่ ปรากฏว่าสารสกัดใบสาบแมวจากเอทิลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 30 กรัมน้ำหนักดิบ/ลิตร ไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของปลาหางนกยูง
และเมื่อนำสารสกัดจากใบสาบแมวมาทำเป็นผลิตภัณฑ์โลชั่นกันยุง พบว่าโลชั่นดังกล่าวมีระยะการออกฤทธิ์ได้นานถึง 5 ชั่วโมง และในขณะนี้นักเรียนกำลังทดสอบประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ที่ใช้สารสกัดจากใบสาบแมว คือ ครีมกันยุง และประทีปไล่ยุง ซึ่งหากได้ผลดีจะช่วยให้สารสกัดจากใบสาบแมวได้รับความนิยมมากขึ้น อันจะเป็นการลดปริมาณสารสังเคราะห์ทางเคมี ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
โครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มนี้ นับเป็นโครงงานที่น่าสนใจโครงงานหนึ่งในการหาวิธีการกำจัดยุง ด้วยสารที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงงานนี้ ได้รับการส่งเข้าร่วมประกวดตามโครงการ “เยาวชนสร้างสรรค์กับไซโก” ประจำปี 2540 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการประกาศรางวัล ณ ห้องมหกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เมื่อเร็วๆ นี้ก็ปรากฏว่า โครงงานเรื่อง “การศึกษาผลของสารจากใบสาบแมวในการกำจัดยุงก้นปล่องและยุงลาย” นี้เป็นโครงการวิทยาศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาเป็นการันตีเสียด้วย
ป้ายคำ : สมุนไพร