สาหร่ายทะเล (seaweed) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชชั้นต่ำ ที่ยังไม่มีราก ลำต้น และใบที่แท้จริง ไม่มีระบบท่อลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้นแบบพืชชั้นสูง เช่น หญ้าทะเล แต่จะใช้วิธีดูดซับน้ำและแร่ธาตุจากน้ำทะเลสู่เซลล์ต่างๆ โดยตรง
สาหร่ายทะเลเป็นพืชที่ไม่มีดอกและผล แต่แพร่กระจายพันธุ์ด้วยการสร้างสปอร์และแบ่งตัว ลักษณะของสาหร่ายมีมากมายหลายแบบ ตั้งแต่แบบที่เป็นแพลงก์ตอนลอยไปลอยมาในน้ำ ซึ่งพวกนี้จะมีขนาดเล็กมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางชนิดมีเซลล์เดียว บางชนิดก็จับตัวกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นสาย จนถึงชนิดที่มีขนาดใหญ่เห็นเป็นต้นคล้ายกับพืชชั้นสูง
สาหร่ายทุกชนิดมีความสามารถในการสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสง ซึ่งสารสังเคราะห์แสงที่อยู่ในสาหร่ายแต่ละชนิดยังสามารถใช้ในการแบ่งกลุ่มสาหร่ายทะเลได้ ดังนี้
สาหร่ายสีเขียว (green algae) กลุ่ม Cholorophyceae เช่น Caulerpa peltata
สาหร่ายสีน้ำตาล (brown algae) กลุ่ม Phaeophyceae เช่น Dictyota cilialata
สาหร่ายสีแดง (red algae) กลุ่ม Rhodophyceae เช่น Halymenia dutyillei
จากการศึกษาทั่วโลกพบสาหร่ายทะเลประมาณ 12,000 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 4,000 ชนิด สาหร่ายสีแดง 6,000 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 2,000 ชนิด
ในขณะที่ประเทศไทยพบสาหร่ายทะเลประมาณ 350 ชนิด เป็นสาหร่ายสีเขียว 100 ชนิด สาหร่ายสีแดง 180 ชนิด และสาหร่ายสีน้ำตาล 70 ชนิด
นอกจากทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากน้ำทะเลเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงแล้ว สาหร่ายทะเลยังมีประโยชน์หลายอย่างกับสัตว์น้ำในทะเล และมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้เป็นอาหาร
สัตว์น้ำในทะเลกินสาหร่ายเป็นอาหาร ใช้เป็นที่หลบภัย ที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
มนุษย์เองก็ใช้สาหร่ายเป็นอาหารเช่นเดียวกัน โดยมีทั้งใช้บริโภคโดยตรง และนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้ในการทำวุ้น เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง และเวชภัณฑ์ยาหลายชนิด เนื่องจากสาหร่ายมีแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์อยู่หลายชนิด เช่น แคลเซียม คลอรีน โครเมียม โคบอลต์ ทองแดง (คอปเปอร์) ไอโอดีน เหล็ก แมกนีเซียม ซีลีเนี่ยม โซเดี่ยม ซัลเฟอร์ วานาเดียม และสังกะสี เป็นต้น
อีกทั้งสาหร่ายยังมีศักยภาพในการช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในน้ำ ด้วยการนำคาร์บอนไดออกไซด์มาเปลี่ยนรูปเป็นหินปูนและสะสมไว้ตามลำต้นและใบ
ตัวอย่างของสาหร่ายทะเลที่มีประโยชน์
สาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa racemosa) ใช้ลวกกินเป็นเครื่องเคียงน้ำพริก
สาหร่ายผมนาง (Gracilaria tenuistipitata) นิยมนำไปทำ ยำสาหร่ายผมนาง
สาหร่ายสีแดง (Gelidella accerasa) ใช้ในการสกัดวุ้น
สาหร่ายสีแดง (Asparagopsis sp.) มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ถูกนำไปสกัดและเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง และอาหารเสริม
สาหร่ายใบมะกรูด (Halimeda macroloba) มีศักยภาพช่วยลดโลกร้อน
นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากสาหร่ายทะเลเท่านั้น แต่สาหร่ายทะเลอีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ หรือหลายชนิดอาจยังไม่มีการค้นพบประโยชน์ที่ซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาวิจัยต่อไปในอนาคต
สาหร่ายชนิดที่นิยมนำมาทำอาหาร เช่น พอไฟรา (Porphyra) เป็นสาหร่ายสีแดงที่มีชื่อไทยว่า สายใบ ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โนริ นำมาทำเป็นแผ่นบางใช้ห่อซูซิ และเป็นชนิดเดียวกับสาหร่ายแห้งแผ่นกลมที่ใส่ในแกงจืด ซึ่งชาวจีนเรียกว่า จีฉ่าย สาหร่ายลามินาเรีย (Laminaria) หรือคอมบุ เป็นสาหร่ายสีน้ำตาล ในญี่ปุ่นนิยมนำมาต้มเป็นน้ำสต็อกสำหรับทำซุปหรือใช้ปรุงแต่งรสอาหาร สาหร่ายอุนดาเรีย (Undaria) หรือวากาเมะ เป็นสาหร่ายสีน้ำตาลที่นิยมนำไปใส่ในซุป คนญี่ปุ่นกินซุปวากาเมะร่วมกับอาหารอื่นได้ทุกมื้อ ส่วนสาหร่ายที่นำมาแปรรูป เช่น สาหร่ายเคลป์ สาหร่ายสีน้ำตาลที่สกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยอ้างสรรพคุณด้านการควบคุมน้ำหนัก กระชับสัดส่วน สาหร่ายสีแดงชนิด Gelidiella acerosa นำมาสกัดเป็นวุ้น สาหร่ายสีแดงสกุล Asparagopsis มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ จึงสกัดมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริม
สาหร่ายทะเลอุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินเอ บี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินซี และแร่ธาตุโดยเฉพาะไอโอดีน มีเส้นใยอาหารสูง ขณะที่มีไขมัน แป้ง และน้ำตาลน้อย สาหร่ายพอไฟรามีโปรตีนสูงที่สุดถึงร้อยละ 30-50 ของน้ำหนักแห้ง และมีวิตามินซีสูงกว่าในส้ม 1.5 เท่า สาหร่ายเคลป์มีเส้นใยอาหารและไอโอดีนสูงที่สุด ไอโอดีนจำเป็นต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญในร่างกาย ทองแดงและเหล็กมีประโยชน์ต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง แมกนีเซียมที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาททำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก โพแทสเซียมช่วยควบคุมการทำงานของเซลล์และความสมดุลของน้ำในร่างกาย สังกะสีช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยให้เอนไซม์ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยฟอกพิษโลหะหนักอย่างแคดเมียมและตะกั่วได้ด้วย
ปัจจุบัน มีสาหร่ายทะเลจำหน่ายในรูปแผ่นปรุงรสอบแห้ง ถึงแม้ว่าจะให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ในกระบวนการผลิตที่ปรุงรสด้วยการอบซอส ทำให้มีปริมาณโซเดียมสูงขึ้น ไม่เหมาะต่อคนเป็นโรคไตหรือความดันโลหิตสูง การกินสาหร่ายปรุงรสปริมาณมากเกินไป ร่างกายก็จะได้รับไอโอดีนมากเกินความต้องการ มีผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ สาหร่ายทะเลยังมีกรดนิวคลีอิกที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้ เมื่อกินปริมาณมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เป็นโรคเกาต์
เนื่องจาก สาหร่ายทะเลมีแหล่งอาศัยในทะเล ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะดูดซับสารเคมีหรือสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล การกินสาหร่ายทะเลจึงต้องระวังการปนเปื้อนสารพิษจำพวกโลหะหนัก โดยเฉพาะแคดเมียม ที่พบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน (หน่วยงานความปลอดภัยด้านแหล่งอาหารแห่งสหภาพยุโรป ได้กำหนดให้ค่าแคดเมียมในอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายทะเลไม่เกิน 3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) พิษของแคดเมียมนี้หากได้รับปริมาณต่ำจะสะสมที่ไต ปริมาณสูงจะสะสมในตับ พิษเฉียบพลันของแคดเมียมคือ เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเป็นตะคริวที่ท้อง หรืออาจมีอาการท้องร่วงอย่างแรง
ที่มา
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย
BRT: Biodiversity Research and Training Program
ป้ายคำ : ประมง