เดิมนายสำรอง แตงพลับ อยู่ตำบลดอนยาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ทำการเกษตร ทำนา และทำตาลโตนด เมื่ออายุ 13 ปี ได้ย้ายมาอยู่ บ้านหนองเขื่อน ได้ทำการเกษตร ทำนา และทำไร่อ้อยและปลูกสับปะรด มาตั้งแต่ ปี 2501-2540 โดยการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดวัชพืช ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่เคยปรับปรุงบำรุงดิน สภาพดินจึงเสื่อมโทรมได้ผลผลิตไม่เต็มที่ ต้องเพิ่มปุ๋ย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จึงไม่ประสบผลสำเร็จในการทำอาชีพเกษตรกรรม
กระทั่งปีพ.ศ. 2537 เป็นหมอดินอาสาและปี 2540 เจ้าหน้าที่งานขยายผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หันเข้ามาทำไร่นาสวนผสม และเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกไม้ผลพืชผัก พืชไร่ บ่อเลี้ยงปลา และนาข้าว ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้สมัครเป็นสมาชิกและเข้าร่วมโครงการ มีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิด ไว้บริโภคในครัวเรือน ที่เหลือก็จำหน่าย จนเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรกรรม
ในช่วงเริ่มต้นคือปีแรกยังไม่ค่อยเห็นผลนัก จนกระทั่งปีที่ 2 – 3 จึงเห็นผล สภาพดินที่เคยเสื่อมโทรมเริ่มดีขึ้น ไม้ผล ปลา กบ ไก่ เริ่มให้ผลผลิต เริ่มมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทราบรายรับ -รายจ่ายของครอบครัว เนื่องจากมีเงินได้ทั้งรายวัน ที่เกิดจากการขายพืชผักชนิดต่างๆ เงินได้รายงวดหรือรายเดือนจากไม้ผล เช่นกล้วย มะพร้าว มะละกอ ผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงเวลา เช่นคะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักชี แตงกวา เป็นต้น ในแต่ละเดือนก็ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท และเงินได้รายปีจะได้จากไม้ผลหลายๆ ชนิดที่ให้ผลผลิตเป็นฤดูกาล เช่นมะม่วง กระท้อน ส้มโอ ฝรั่ง เป็นต้น
ลุงสำรองก็ค่อยๆมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากเดิมที่เคยมีหนี้สินก็ค่อยๆ หมดไป และที่เหลือก็เก็บออม เริ่มประสพความสำเร็จในอาชีพ ชาวบ้านให้การยอมรับและเข้ามาขอคำปรึกษา ในด้านต่างๆ
นายสำรอง เป็นผู้ริเริ่มส่งเสริมและพัฒนาการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อช่วยย่อยใบไม้และเศษพืชผักเพื่อเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น ใช้น้ำหมักชีวภาพจากพืชผักผลไม้ในการกำจัดกลิ่นเหม็นในคอกหมูหลุม ปลูกหญ้าแฝกเพื่อสร้างความชุ่มชื้น และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ผลิตเตาน้ำส้มควันไม้เพื่อป้องกันแมลงศัตรูพืช ปรับปรุงบำรุงดินปลูกต้นปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชสมุนไพรและขยายพันธุ์หญ้าแฝก
นายสำรอง แตงพลับ เกษตรกรชาวชะอำได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2553 สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตร จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 มีภรรยา ชื่อนางอุไร แตงพลับ มีบุตร 5 คน เป็นชาย 3คน หญิง 2 คน ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ลุงลอง มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพประมาณ 24 ไร่ แต่เดิมเป็นตำบลดอนยาง อำเภอเมืองเพชรบุรี ประกอบอาชีพทำนาและตาลโตนดเมื่ออายุได้ 13 ปี ได้ย้ายตามครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หนองเขื่อนก็ยังยึดอาชีพทำนา ทำไร่มาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 – 2540 ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งปี 2540 ได้หันกลับมาทำไร่นาสวนผสมและเกษตรทฤษฎีใหม่ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่งานขยายผล ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ต่อมาได้สมัครเป็นสมาชิกและเข้าร่วมโครงการ มีการปลูกพืชผักหลากหลายชนิดไว้บริโภคในครัวเรือน ที่เหลือก็จำหน่าย ลุงลองเล่าให้ฟังว่า ในอดีตพื้นที่บ้านหนองเขื่อนมีความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำ ยังมีเพียงพอ ระบบชลประทานยังไม่มีตนพยายามเอาชนะธรรมชาติ หลังจากลดน้ำพืชผักแล้ว ก็จะเอาจอบไปขุดสระเก็บกักน้ำถ้าคืนไหนนอนไม่หลับหรือตื่นเดือนเพ็ญจะออกไปขุดสระ เผื่อว่าช่วงฤดูฝนใหม่มาจะได้มีแหล่งเก็บกักน้ำ ไว้ในช่วงปีต่อไป หลังจากเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ฯแล้วก็มีเจ้าหน้าที่จากหลายๆ หน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้ปรึกษาทางด้านการประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็น งานวิชาการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ การพัฒนาและการปรับปรุงดินตลอดการจัดหาแหล่งสำรองน้ำเพิ่มเติม การทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยหมัก และสารสกัดขึ้นใช้เองเพื่อลดต้นทุน ลุงลองก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ และต่อมาได้น้อมนำเอาแนวทางพระราชดำริ เรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันในช่วงเริ่มต้น คือปีแรกยังไม่ค่อยเห็นผลนักกอปรกับลุงสำรอง มีความมานะ อดทน ขยัน หมั่นเพียร พยายามดูแลเอาใจใส่ จนกระทั่งปีที่ 2 -3 จึงเห็นผล สภาพดินที่เคยเสื่อมโทรมเริ่มดีขึ้นไม่ผล ปลา กบ ไก่ ที่ได้รับการแจกจากส่วนราชการเริ่มให้ผลผลิต เริ่มมีการจัดทำบัญชีครอบครัวเพื่อให้ทราบราบรับ รายจ่ายของครอบครัวเนื่องจากมีเงินได้ทั้งรายวัน ที่เกิดจากการขายพืชผักชนิดต่างๆ เงินได้รายงวดหรือรายเดือนจากไม้ผล เช่น กล้วย มะพร้าว มะละกอ ผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงเวลา เช่น คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักชี แตงกวา เป็นต้น ในแต่ละเดือนก็ประมาณ 20,000 30,000 บาท และเงินรายได้รายปี ที่ถือว่าเป็นโบนัสจากผลไม้หลายๆ ชนิดที่ให้ผลผลิต เป็นฤดูกาล เช่น มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ฝรั่ง เป็นต้น ลุงลองค่อยๆ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากเดิมที่เคยมีหนี้สินก็ค่อยๆ หมดไป และที่เหลือก็เก็บออมไว้นำเงินมาต่อเติมบ้านที่แต่เดิมเป็นกระท่อมมุงหญ้าคา ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น และต่อเติมเสริมแต่งจนเป็นบ้านหลังใหญ่เริ่มประสบความสำเร็จในอาชีพก็ได้นำเพื่อนบ้านให้ทำตาม ตอนแรกๆ ชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อมั่นจนกระทั่งสำนักงานเกษตรอำเภอชะอำ และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ส่งผลงานการประกอบอาชีพด้านไร่นาสวนผสมเข้าประกวดในระดับอำเภอ จังหวัด และได้รับรางวัลมากมายจนถึงระดับประเทศ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อนบ้านเริ่มให้การยอมรับ และเข้ามาขอคำปรึกษา ในเบื้องต้นลุงลองจะเสียสละเวลาส่วนตัวออกไปดูสภาพพื้นที่ของชาวบ้านด้วยตัวเอง เพื่อจะได้รู้ปัญหาที่แท้จริง
หลังจากนั้นก็จะได้ให้เพื่อนบ้านไปดูแปลงตัวอย่างที่บ้านมีการสาธิตให้ดูและลองทำตาม เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก สารไล่แมลง เป็นต้น เมื่อทำแล้วก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านนำกลับไปใช้ ปัจจุบันลุงลองเป็นผู้นำและแกนนำที่สำคัญของชุมชน เป็นผู้นำในการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ สมาชิกจำนวน 230 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 7 แสน กว่าบาท กลุ่มสามารถบริหารงานกันเองได้มีประสิทธิภาพ ชุมชนบ้านหนองเขื่อนมีความเข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ และได้รับเชิญเป็นวิทยากรของสำนักงาน ก. พ. เป็นวิทยากรสาธิตให้ความรู้กับคณะดูงานศึกษาดูงาน ในการทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปรับปรุงบำรุงต้น บำรุงใบ สูตรเร่งดอก บำรุงดอก บำรุงผล สูตรป้องกันเชื้อรา สูตรสมุนไพรไล่แมลง นับว่าลุงสำรอง แตงพลับ เป็นอีกผู้หนึ่งที่เป็นแกนนำและตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนและ สังคมส่วนรวม และที่บ้านยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชน ปัจจุบันมีคณะนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง เข้าเยี่ยมชมผลงานเป็นจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้นำวิถีชีวิตลงตีพิมพ์เผยแพร่ให้กับสาธารณะชนได้รู้จักทั้งในและต่างประเทศ ลุงลองเล่าถึงความมุ่งหวังในชีวิตด้วยว่ามีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยแพร่ให้กับเกษตรกรในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็ง สามารถพึงตัวเองได้ และเกิดความยั่งยืนในการดำเนินชีวิต
คนเราถ้าเดินได้ และหัดเดินทีละก้าว ไม่ก้าวกระโดด ก็จะไม่มีวันล้ม คนเราถ้ากินข้าวด้วยแล้ว ให้กินทีละคำ ก็จะไม่เกิดปัญหา จุกอกหรือตัวไม่อ้วน คนทำงานได้ แต่ทำที่ละอย่าง ให้สำเร็จ ก็จะไม่เกิดปัญหางานล้นมือ หรือทำไม่ทัน ถ้าคนเรารู้จักเดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำงานทีละอย่าง ย่อมประสบผลสำเร็จ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ลุงสำรอง แตงพลับ กล่าวในท้ายที่สุด
กิจกรรมและการดำเนินงาน
เคล็ดลับความสำเร็จ
ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านลุงสำรอง แตงพลับ
ที่อยู่ 69/1 ม.4 ต.ไร่ใหม่พัฒนา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
ที่มา
มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
ป้ายคำ : ทฤษฎีใหม่, เศรษฐกิจพอเพียง