การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปฏิบัติด้วยการลงมือทำอย่างจริงจัง ในการมุ่งพัฒนาพืชเกษตรจนประสบผลสำเร็จ และถ่ายทอดผลงานสู่เพื่อนเกษตรกร ส่งให้ สุรชัย แซ่จิว ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นสาขาทำนา ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค
เมื่อปี พ.ศ. 2544 ได้รวมตัวกับเกษตรกร ในชุมชนจำนวนสมาชิก 11 คน ผลิตข้าวปลอดสารพิษ ทำนาแบบไม่เผาตอซังเป็นแปลงเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 30 คน นายสุรชัย แซ่จิว เล่าให้ฟังว่า การทำนาต้องหมั่นตรวจดูแปลงนาข้าว คอยดูตัวห้ำตัวเบียฬ ไม่ต้องใช้สารเคมี ผู้ผลิตและผู้บริโภคปลอดภัย เมื่อนำเมล็ดข้าวไปตรวจได้ใบรับรองว่า ปลอดสารพิษ ในกลุ่มทำนามีพื้นที่นา 400 ไร่ ผลผลิตเก็บไว้บริโภคในครัวเรือนประมาณ 1 เกวียน ที่เหลือ นำออกจำหน่ายหรือเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล เกษตรกรจะมีปัญหาเรื่อง ลานตากข้าวเปลือก เพื่อให้ความชื้นอยู่ราว 14-15% ตามความต้องการของตลาดโดยเฉลี่ยในกลุ่มจะเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกไว้ประมาณ 5-6 เกวียน ถ้าบริโภคหมดแล้วจะหมดเลย การผลิตข้าวในปัจจุบันจะได้ผลผลิตประมาณ 900 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนประมาณ 3,000 บาท เป็นการผลิตแบบพอเพียงไม่ต้องฉีดพ่นสารเคมีทำให้ได้ผลผลิตข้าวปลอดสารพิษ ผู้บริโภคปลอดภัย
นายสุรชัย แซ่จิว สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรปราการ เขตอำเภอบางเสาธง ผู้ได้รับการยกย่องเป็น ปราชญ์เกษตร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการทำนาปลอดสารพิษแล้ว ยังมีการเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาเล่งฮื้อ ปลาเฉาฮื้อ นอกจากนั้นจะมีปลาธรรมชาติเข้ามาผสมผสาน อาทิเช่น ปลาช่อน ปลาหมอ เลี้ยงผสมกับปลากะพง ปลาที่ปล่อยลงในบ่อเลี้ยงปลาถ้าหากเป็นโรคปลากะพง ปลาช่อน จะกินปลาที่เป็นโรคหรือปลาที่อ่อนแอกว่าเป็นอาหาร เป็นการตัดวงจรของเชื้อโรค เชื้อโรคก็จะไม่แพร่ระบาด เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาหลายๆคน ได้แนะนำให้ปล่อยปลาไม่แน่นเกินไป เลี้ยงพื้นที่ 20 ไร่ (พื้นที่ทั้งหมด 28 ไร่ 3 งาน ทำบ่อเลี้ยงปลา 20 ไร่ ที่อยู่อาศัย 5 ไร่ อื่นๆ (ถนน) 3 ไร่)
นอกจากนี้ยังเลี้ยงกุ้งขาว (แวนามัย) ร่วมด้วย เมื่อขายผลผลิตกุ้งขาวจะได้เงินประมาณ 200,000 บาท ผลผลิตปลาจะได้เงินประมาณ 350,000 บาท ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ถ้าน้ำในบ่อเลี้ยงปลาร้อนจัดปลาจะตาย จึงขอย้ำเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ให้หมั่นตรวจดูบ่อปลาอย่างสม่ำเสมอ นอกจากทำนาปลอดสารพิษ, เลี้ยงปลาแล้วยังมีการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น อาทิเช่น มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงเขียวใหญ่ ลำไยพันธุ์มาเลเซีย พันธุ์อีดอ มะขามเปรี้ยวพันธุ์กระดานใหญ่ ขนุน น้อยหน่า มะขวิด มะเฟือง และขณะนี้กำลังดำเนินกิจกรรม ธนาคารไม้ผลและไม้ยืนต้น ร่วมโครงการกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เพื่อร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา มีพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้นจำหน่ายให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป รวมทั้งแจกจ่ายให้กับชุมชนต่างๆ ที่มีความสนใจจะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นในชุมชนของตนเอง
คุณสุรชัย แซ่จิว มีตำแหน่งเป็นรองประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรปราการ ปราชญ์เกษตร ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่หลายๆหน่วยงาน อาทิเช่น สำนักงานเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานเกษตรจังหวัด, สำนักงานเกษตรอำเภอบางเสาธง, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, สถานีพัฒนาที่ดินและอีกหลายๆหน่วยงาน สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรปราการ ขอยกย่องชมเชย ให้เป็นสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดผู้มีผลงานดีเด่นแห่งปี 2555
เนื่องจากบนพื้นที่ดินของนายสุรชัย แซ่จิว เป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรของชุมชน และที่สำคัญเป็น ศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่เลขที่ 101/1 หมู่ 8 ตำบลศรีษะจรเข้ใหญ่ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ รหัสไปรษณีย์ 10540 โทรศัพท์ 08-9996-7269
สุรชัย ประธานศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จบการศึกษาระดับ 5 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.บางเสาธง เริ่มต้นอาชีพด้วยการทำงานโรงงาน ต่อมาเศรษฐกิจผันผวนจึงออกมาทำเกษตร ทั้งทำนาข้าวปลอดสารฯ เลี้ยงปลา ปลูกไม้ผล แปรรูปผลผลิตการเกษตร
ที่สำคัญเขาได้ปรับปรุงการทำนาข้าวในหลายวิธี โดยเฉพาะการปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุมธานี ที่ให้ผลผลิต 80-90 ถังต่อไร่ โดยใช้ต้นทุนเพียง 2,000 บาทต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรทั่วไปใช้ต้นทุนราว 5,000 บาทต่อไร่
เหตุนี้สำนักงานเกษตรอำเภอบางเสาธง และสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ จึงสนับสนุนให้สุรชัยไปดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีกทั้งได้เลือกแปลงนาข้าวของเขาเป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.บางเสาธง ในเวลาต่อมา
เมื่อศูนย์เปิดเป็นทางการจึงมีเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ประชาชน เข้ามาศึกษามากมาย และเมื่อมีเวลาว่างเขายังรับเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่กลุ่มเกษตรกร หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา เป็นประจำ ส่งให้เขาได้ รับรางวัลที่ 3 ประกวดศูนย์ส่งเสริมและการผลิตข้าวชุมชน ระดับเขต ปี 2547, รางวัลที่ 2 เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำนา ระดับจังหวัด และระดับภาคปี 2549, เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำนา ระดับจังหวัด ปี 2550 และเกียรติบัตรการบริหารแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ปี 2554
โดยสุรชัยบอกถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขานำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในการเกษตร เกิดจากต้องการสืบสานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง คือ การพึ่งพาตนเอง และเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตพอเพียงให้เพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ ด้วย
ที่มา
สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
http://www.komchadluek.net (เกษตรกรคนเก่ง : ‘สุรชัย แซ่จิว’ ปรับวิธีทำนาเพื่อชุมชน : โดย…ธานี กุลแพทย์)
ป้ายคำ : ปราชญ์