หญ้าทะเล แหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อนและวัยเจริญพันธุ์

11 พฤศจิกายน 2558 ไม้น้ำ 0

หญ้าทะเล เป็นพืชที่มีท่อลำเลียงและมีดอก อยู่ในกลุ่มของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และสามารถเจริญเติบโตใต้น้ำ โดยเป็นพืชมีดอกเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่พัฒนากลับลงไปสู่ทะเล หญ้าทะเลมีลักษณะคล้ายหญ้าบก คือ ขึ้นปกคลุมหน้าดินเป็นแนวกว้าง มีลำต้นที่ฝังอยู่ใต้ดินหรือเรียกว่า เหง้า และมีรากที่แข็งแรงช่วยยึดไม่ให้ถูกพัดพา หลุดลอยไปตามกระแสน้ำ หรือตามแรงคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งมา หญ้าทะเลมีโครงสร้างที่แตกต่างกับสาหร่าย เนื่องจากหญ้าทะเลประกอบด้วยระบบท่อลำเลียงอย่างแท้จริงซึ่งทำหน้าที่ลำเลี้ยงน้ำ และอาหารจากมวลน้ำ หญ้าทะเลมีลำต้นใต้ดินที่ทอดยาวไปกับพื้น มีข้อต่อที่แบ่งส่วนของลำต้นใต้ดินออกเป็นช่วง ใบของหญ้าทะเลมีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ละชนิด ไม่พบปากใบ แต่มีคิวติเคิลบางเคลือบบนผิวใบ มีช่องอากาศทำให้ใบของหญ้าทะเลตั้งตรงจากพื้นดิน หญ้าทะเลแต่ละชนิดจะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างในแต่ละชนิด ส่วนใหญ่หญ้าทะเลจะมีลักษณะของลำต้น และใบแบนยาวคล้ายกับหญ้าบก บางชนิดยังมีลักษณะใบยาวคล้ายริบบิ้น คล้ายเส้นสปาเกตตี หรือคล้ายกับเฟิร์น หรืออาจจะมีใบมีรูปร่างกลม หรือเป็นรูปไข่ หญ้าทะเลมีการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลทั่วโลกในเขตร้อน และเขตอบอุ่น มีการขยายพันธุ์ทั้งแบบใช้เมล็ด และแบบแตกกิ่งก้าน หรือยอดใหม่จากเหง้าที่อยู่ใต้ดิน การแพร่กระจายของหญ้าทะเลทั่วโลกมีการแพร่กระจายอยู่ประมาณ 73 ชนิด ในประเทศไทยหญ้าทะเลที่สำรวจพบทั้งสิ้น 12 และมีการแพร่กระจายทั้งบริเวณอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน

yataleangog

ชนิดพันธุ์หญ้าทะเล น่านน้ำไทยโดยเฉพาะตามชายฝั่งรวมถึงเกาะแก่งต่างๆ พบหญ้าทะเล 12 ชนิด ซึ่งแบ่งได้ง่ายๆ ตามลักษณะของใบเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีใบแบนยาวหรือใบกลมยาว และกลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี การเรียกชื่อหญ้าทะเลนั้นมีความหลากหลายไปตามพื้นที่ของชุมชนชายฝั่งทะเล และยังมีความแตกต่างกันระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน (สมบัติ, 2534) เป็นผู้บุกเบิกในการตั้งชื่อภาษาไทยสำหรับใช้เรียกหญ้าทะเลชนิดต่างๆ ฝั่งทะเลอันดามัน โดยอาศัยชื่อพื้นเมืองที่ชาวบ้านเรียกเป็นพื้นฐานประกอบเข้ากับลักษณะเฉพาะของหญ้าทะเลแต่ละชนิด ดังนี้
1. กลุ่มที่มีใบแบนยาว หรือ ใบกลมยาว ได้แก่

  • หญ้าคาทะเล (Enhalus acorides)
  • หญ้าต้นหอมทะเล(Syringodium isoetifolium)
  • หญ้ากุยช่ายทะเล(Halodule uninervis)
  • หญ้ากุยช่ายเข็ม(Halodule pinifolia)
  • หญ้าตะกานน้ำเค็ม (Ruppia maritima)
  • หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata)
  • หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย(Cymodocea serrulata)
  • หญ้าชะเงาเต่า(Thalassia hemprichii)

 

yataleanam yatalealod yataleakun yataleanams

2. กลุ่มที่มีใบแบนสั้นรูปรี ได้แก่

  • หญ้าเงา หรือหญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis)
  • หญ้าเงาใบเล็ก(Halophila minor)
  • หญ้าเงาใส (Halophila decipiens)
  • หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii)

yataleakhew yataleabai yataleadin

ระบบนิเวศหญ้าทะเล ประกอบด้วยกลุ่มของพืชดอกที่เจริญเติบโตอยู่ในทะเลและสามารถเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณน้ำตื้นที่มีแสงแดดส่องถึง มีความสำคัญในด้านเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ และแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด โดยเฉพาะปลาทะเล กุ้งทะเล และปูม้า ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มสัตว์น้ำขนาดเล็กที่กล่าวถึง แต่ยังมีสัตว์น้ำขนาดใหญ่เช่นเต่าทะเล และพะยูน รวมถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ อันได้แก่ ปลา กุ้ง ปู และหอยหลายชนิด และยังมีส่วนช่วยในการกรองและปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วย เพราะหญ้าทะเลมีระบบรากที่คอยยึดจับเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น เต่าทะเลบางชนิดและพะยูน ได้ในพื้นที่หญ้าทะเลบางแห่ง สัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จะกินหญ้าทะเลเป็นอาหารโดยตรง ประชากรของเต่าทะเลและพะยูนกำลังลดลงเรื่อยๆ ซึ่งมักจะเสียชีวิตจากการติดเครื่องมือประมงบางชนิดเช่น อวน ทับตลิ่ง อวนรุน อวนลอย และโป๊ะน้ำตื้นของชาวประมงโดยบังเอิญ ในขณะเดียวกันแหล่งหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรกที่รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนแผ่นดิน ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และเกิดตามธรรมชาติ ชุมชนส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล การพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น กุ้งทะเล ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น

แหล่งหญ้าทะเลก่อให้เกิดห่วงโซ่อาหาร และพัฒนากลายเป็นแหล่งสนับสนุนสายใยอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ใบหญ้าทะเลเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมีทั้งพืช และสัตว์ซึ่งเป็นอาหารชั้นดีสำหรับลูกปลาที่กำลังเจริญเติบโต สัตว์หน้าดินในแนวหญ้าทะเลที่พบส่วนมากจะเป็นหอยสองฝา ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ในขณะสัตว์หน้าดินขนาดเล็กซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมของระบบนิเวศหญ้าทะเล จะพบมากกว่าในพื้นที่ที่ไม่มีหญ้าทะเล อีกทั้งความสูงต่ำของต้นหญ้าทะเลทำให้เกิดมิติ เกิดพื้นที่ที่เหมาะแก่การวางไข่ ที่อยู่อาศัย และที่หลบซ่อนของสัตว์น้ำวัยอ่อน ความยาวของใบหญ้าทะเลที่ตั้งตรงในมวลน้ำยังทำหน้าที่ชะลอแรงของคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งออกมา ทำให้เกิดการตกตะกอน การฟุ้งกระจายของตะกอนให้เกิดขึ้นน้อยลง ช่วยในการตกตะกอนของอินทรีย์วัตถุ ตะกอนดิน และกรองของเสีย ทำให้เกิดการหมุนเวียนและสะสมแร่ธาตุต่างๆ และยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ พะยูน เต่าทะเล และโลมา

yatalearak

แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหาร สำหรับลูกปลาวัยอ่อนและปลาที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งยังเป็นเกราะกำบังธรรมชาติเพื่อปกป้องจากผู้ล่า เนื่องจากแนวหญ้าทะเลเป็นแนวรอยต่อระหว่างแนวปะการัง และชายฝั่ง ปลาที่เข้ามาในแนวหญ้าทะเล แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปลาที่อาศัยอยู่ในแนวหญ้าทะเลตลอดช่วงชีวิตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก และมีสีสันในการอำพรางตัว กลุ่มปลาที่เข้ามาใช้ประโยชน์ในแนวหญ้าทะเลในบางโอกาส ส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มีการแพร่กระจายตามแนวชายฝั่ง และแนวปะการัง และกลุ่มปลาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแนวหญ้าทะเลชั่วคราวเช่นในช่วงที่เป็นตัวอ่อน และออกจากแนวหญ้าทะเลไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยที่แท้จริงเมื่อเจริญวัยขึ้น โดยใช้แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งหลบภัยจากผู้ล่า

ระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆบนแผ่นดิน ได้แก่ การสะสมตะกอน การรับน้ำ และแร่ธาตุต่างๆที่ไหลลงสู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ชุมชน ส่วนใหญ่ จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล มีการพัฒนาด้านเกษตรกรรมต่างๆ ทั้งเพาะปลูก แหล่งทำการประมงชายฝั่ง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ล้วนมีผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเลทั้งสิ้น

หญ้าทะเลยังมีคุณค่าทางเศรษฐกิจต่อสังคมชาวประมง การทำประมงในแนวหญ้าทะเล เช่น อวนรุนลูกปลาเก๋า เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงต่อในกระชังจนได้ขนาดที่ตลาดต้องการ การทำประมงอวนรุนเคย เพื่อนำไปทำกะปิ ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างมาก การประมงประเภทอื่นๆ เช่น อวนจมปู แร้วปู ลอบ และ ไซปลาก็พบส่วนใหญ่ในแนวหญ้าทะเล นอกจากนี้ชาวพื้นเมืองในบางประเทศ ยังนำหญ้าทะเลมาใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบ เช่น นำมาสานเป็นตะกร้า ใช้ทำเสื่อ มุงหลังคา ทำปุ๋ย ทำเป็นอาหาร ทำยา วัตถุดิบสำหรับทำกระดาษ และบางประเทศ เช่น ประเทศฟิลิปินส์ยังใช้สารสกัดจากหญ้าทะเลเป็นสารเคมีใช้ในการทำให้วุ้นแข็งตัวด้วย

yatalea

การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจจะประเมินจากสินค้าและบริการที่มีต่อชีวิตมนุษย์แต่การประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจของแนวหญ้าทะเลจะประเมินจากผลที่ได้จากการอนุรักษ์ และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดการที่ไม่ดี ในรูปของการบริการในแง่ของระบบนิเวศหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจและสัตว์น้ำในกิจกรรมสันทนาการหลายชนิด แนวหญ้าทะเลเป็นแหล่งทำประโยชน์แก่ชุมชนโดยตรงในเรื่องของ เป็นแหล่งตกปลา หรือทำประมง รวมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสาหร่าย เป็นแหล่งยาพื้นบ้าน และยังเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดอาหารท้องถิ่น การท่องเที่ยวท้องถิ่น หรือประเพณีท้องถิ่นของชุมชนนั้น ๆ เมื่อประเมินคุณค่าแนวหญ้าทะเลและสาหร่ายทะเลรวมในรูปของคุณค่าทางระบบนิเวศ และบริการ พบว่าอยู่ที่ 19,004 ดอลล่าห์สหรัฐ ต่อพื้นที่ 1 เฮกแตร์ ต่อ 1 ปี หรือ 3,801ล้านดอลล่าห์สหรัฐต่อ 1 ปี อย่างไรก็ตามคุณค่าทางเศรษฐกิจของแนวหญ้าทะเลจะอยู่ภายใต้การคุกคาม และผลกระทบจากมนุษย์โดยตรง

เอกสารอ้างอิง
กาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์, สุจินต์ ดีแท้ และวิทยา ศรีมโนภาษ. (2534). อนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาของหญ้าทะเลในประเทศไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อมรรัตน์ สายเสียง. (2555). การศึกษาชนิดและปริมาณของสัตว์ทะเลหน้าดินขนาดใหญ่ ในแนวหญ้าทะเล ชนิด Halodule uninervis บริเวณหน้าโรงพยาบาลอาภากรณ์เกียรติวงศ์ ตำบลสัต**บ อำเภอสัต**บ จังหวัดชลบุรี. ภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
สุชาดา โหโซ๊ะ. (2555). ประชาคมสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กบนใบหญ้าทะเล Halodule uninervis (Forsskl) Ascherson บริเวณอ่าวสัต**บ จังหวัดชลบุรี. ภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้น้ำ

แสดงความคิดเห็น