หญ้ายาง ใบต่างดอก

20 กันยายน 2558 สมุนไพร 0

หญ้ายาง เป็นพืชล้มลุก อายุปีเดียว ลำต้นตั้งตรง กลวง มีขนปกคลุมโดยตลอด มียางขาว ต้นสีม่วงแดง แตกกิ่งก้านสาขาไม่มาก ใบเดี่ยว ออกสลับกัน แต่คู่ล่างสุด และบนสุดมักออกตรงข้ามกัน เป็นคู่ มีขน ใบมีหลายรูปร่าง ตั้งแต่ยาวรี ไปจนถึงกลม ปลายแหลม ขอบใบเรียบ จักละเอียด ออกที่ยอดเป็นกระจุก มีทั้งดอกผู้และดอกตัวเมียปนกัน ดอกสีขาวอมเขียว ผลทรงกลม ไม่มีขน ลูกแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ กลีบละ 1 เมล็ดทรงกลมมีสัน ขรุขระ เป็นพืชที่มีรากแก้วหยั่งลึกลงไปในดิน

ภาษาอังกฤษ Painted spurge , Mexican fire plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia heterophylla L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphorbia cyathophora Murr.) จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เช่นเดียวกับไคร้น้ำ โคคลาน พังคี เจตพังคี น้ำนมราชสีห์ น้ำนมราชสีห์เล็ก เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ ละหุ่ง ลูกใต้ใบ โลดทะนงแดง สบู่ดำ และสบู่แดง
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ใบต่างดอก ลูกเขยตายแม่ยายทำศพ (กรุงเทพ), หญ้าน้ำหมึก (ภาคเหนือ), หญ้าหลังอึ่ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), ลูกเขยตายแม่ยายชักปรก, หญ้าสองพันห้าร้อย (คนเมือง), ผักบุ้งป่า (ปะหล่อง), จ๊าผักบุ้ง (ไทลื้อ) เป็นต้น

ลักษณะ
ต้น (ต้นลูกเขยตายแม่ยายทำศพ) จัดเป็นไม้ล้มลุก ทรงเรือนยอดทรงกระบอก มีความสูงของต้นประมาณ 50 เซนติเมตร มีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร มีลำต้นตั้งตรง เปลือกของลำต้นมีสีเขียว ผิวเรียบ เมื่อหักแล้วจะมียางสีขาวขุ่น

  • ใบ ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบเรียวแหลม ส่วนโคนใบเรียวสอบ ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10 เซนติเมตร การเรียงตัวของใบบนกิ่งตรงข้ามและสลับตั้งฉาก
  • ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณปลายยอด กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีเขียวและไม่มีกลีบดอก ส่วนเกสรตัวผู้มีจำนวน 4 อัน สีเหลือง ปลายเกสรเป็นกระเปาะ ส่วนเกสรตัวเมียมีจำนวน 1 อัน สีเหลือง ปลายเกสรแยกออกเป็น 4 แฉก ส่วนรังไข่เหนือวงกลีบ ไม่มีกลิ่น
  • ผล ผลออกเป็นกลุ่ม ผลสดจะมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด โดยผลอ่อนจะเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล ลักษณะของผลกลมแป้น มีเมล็ด 3 เมล็ด สีเขียว ลักษณะกลมแป้น
    ต้นใบต่างดอก (ดอกบานบา (ลาว) จัดเป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร ลำต้นเกลี้ยงและกลวงข้างใน
  • ใบต่างดอก หูใบคล้ายเกล็ดมีขนาดเล็ก ส่วนใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือเรียวยาวเว้าลึกเป็นพู 1-2 พู ปลายใบแหลม โคนใบแหลมหรือสอบเรียว ใบมีความยาวประมาณ 4-9 เซนติเมตร ส่วนขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ตื้นๆ ห่างๆ ส่วนผิวใบด้านล่างมีขน และมีเส้นแขนงใบประมาณ 12-15 คู่ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
  • ดอกใบต่างดอก อกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกตามปลายกิ่ง แตกแขนงเป็น 3-6 แขนง มีวงใบประดับเรียงกันเป็นชั้นห่างๆ มีใบประดับด้านล่างคล้ายกับใบ และขนาดเท่ากับใบ มีสีแดงที่โคน โดยใบประดับด้านบนจะมีขนาดเล็กกว่าด้านล่าง มักไม่หยักเป็นพู เกือบไร้ก้าน มีสีแดงที่โคนหรือทั้งใบ ส่วนช่อดอกย่อยเป็นแบบ Cyathium ติดกันเป็นช่อกระจุก โดยก้านช่อจะยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร แลในแต่ละ Cyathium จะติดบนวงใบประดับรูปถ้วย มีความสูงประมาณ 0.3 เซนติเมตร หยักเป็นพู 5 พู ตื้นๆ มีจ่อมขนาดใหญ่อยู่ต่อมเดียว สีเหลือง แบน เปิดออก เป็นรูปรี ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร ไม่มีรยางค์ ดอกที่ติดภายใน Cyathium จะไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง โดยดอกตัวผู้จะอยู่ด้านข้างและมีอยู่หลายดอก เกสรตัวผู้จะเป็นแบบลดรูปเหลือ 1 อัน มีความยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ติดอยู่บนก้านดอก ส่วนดอกตัวมีมี 1 ดอก ติดอยู่ด้านบน ส่วนรังไข่เกลี้ยง มีก้านสั้น ก้านเกสรมี 3 อัน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และยอดเกสรเป็นแฉกลึก
    ผลใบต่างดอก ผลมีร่องตามยาว 2-3 พู เมื่อแห้งแล้วแยก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลมีความยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม ผิวเมล็ดขรุขระ เป็นสีน้ำตาลปนเทาหรือสีแดง และมีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร

yayangyod yayangbai yayangdo yayangdok

สรรพคุณ / การใช้ประโยชน์

  • ยอดอ่อน นำไปต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก(ปะหล่อง)
  • ยอดอ่อน รับประทานสดแก้อาการท้องผูก เป็นยาถ่าย(ปะหล่อง)
  • ยอดอ่อน เคี้ยวกินสด เป็นยาระบาย(ไทลื้อ)
  • ใบอ่อน รับประทานสด 3 ใบ ใช้เป็นยาถ่ายหรือยาระบาย(คนเมือง)
  • ยอดอ่อนใช้รับประทานสดประมาณ 3 ใบ มีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก
  • ราก มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษ ช่วยแก้พิษฝีภายใน ใช้เปลือกลำต้นในการรักษาฝีภายนอกและฝีภายใน
  • ช่วยรักษาพิษนาคราช
  • ช่วยขับน้ำนมของสตรี

ขยายพันธุ์ โดยอาศัยเมล็ด พบตามที่รกร้าง และพื้นที่เพาะปลูกบางแห่ง

yayangs

อ้างอิง
เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
ลักษณะ อุทยานธรรมชาติวิทยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
http://www.kanchanapisek.or.th/kp14/project_dev/project_area/Ratburi/plant_page21.phpplantid=180

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น