ต้นหญ้าโขมงเป็นพืชอายุหลายปี ลำต้นสูงตั้งตรง ใบเป็นแบบรูปใบหอกเรียว ปลายใบแหลมยาว ปากกาบใบสีม่วงแดง ออกดอกเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน ช่อดอกออกที่ปลายยอดและซอกใบเทียม ขึ้นทั่วไปในดินทราย ดินภูเขาเป็นลูกรัง พบมากที่จังหวัดเลย จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดเชียงราย ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็มเช่น โค กระบือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andropogon chinensis (Nees) Merr.
วงศ์ : GRAMINEAE
ชื่อสามัญ หญ้าโขมง (เลย)., blue stem
ลักษณะ
หญ้าโขมงเป็นพืชอายุหลายปปี ลำต้นตั้งตรง สูง 180-275 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 6-9 มิลลิเมตร ใบเป็นแบบรูปใบหอกเรียวไปที่ปลายใบแหลม ยาว 16.5-67.5 เซนติเมตร กว้าง 0.8-1.2 เซนติเมตร เส้นกลางใบ(mid rib)มีสีขาวนวลชัดเจน(pronounced mid rib)ใบเรียบ ปากกาบใบสีม่วงแดง ลิ้นใบ(ligule)เป็นเยื่อแข็ง(membranous)สีน้ำตาลโคนสีม่วงแดงสูง 2.5-3.0 มิลลิเมตร มีขนยาว 0.7-1.2 เซนติเมตรอยู่รอบๆด้านหลังลิ้นใบ ออกดอกเดือนพฤศจิกายน-มิถุนายน ช่อดอกออกที่ปลายยอดและซอกใบเทียม(spathe)คล้ายในหญ้าสกุลCymbopogon แบบช่อแยกแขนง(panicle) ช่อดอก(inflorescence)ยาว 28.5-45.9 เซนติเมตร ดอกย่อย(floret)กาบหุ้มดอก(glume)มีหางสีน้ำตาลยาว 2.6-3.3 เซฯติเมตร ปลายก้านของกลุ่มดอกย่อย(spikelet)บวมโตกว่าส่วนโคนเล็กน้อยพอสังเกตเห็น
แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นทั่วไปในสภาพดินทราย ดินภูเขาเป็นลูกรัง ดินร่วนปนเหนียว พื้นที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 277-400 เมตร เช่น อำเภอเชียงคาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (PC 201, PC 263, PC 378, PC 576 )
คุณค่าทางอาหาร ระยะดอกบาน ทั้งต้น มีโปรตีน 3.6 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 42.3 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 1.5 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 6.3 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วนADF 58.03เปอร์เซ็นต์ NDF 76.2เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 5.5 เปอร์เซ็นต์
การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็ม โค กระบือ
ป้ายคำ : หญ้า