หมากแดง หมากประดับสีสดสวย

8 กุมภาพันธ์ 2560 ไม้ดอกไม้ประดับ 0

หมากแดงเป็นปาล์มที่ลําต้นจะอยู่เป็นกลุ่มหรือเป็นกอผิวลําต้นเรียบมีข้อปล้องเห็นได้อย่างชัดเจน มีหน่อแตกจากโคนต้นออกมาเป็นต้นใหม่ๆ รอบโคนแม่ และลักษณะใบจะเป็นรูปขนนก คือก้านใบสีแดงยาวตลอดไปถึงปลายใบ ทรงพุ่มสวย เหมาะที่จะปลูกเป็นจุดเด่นริมศาลา ด้านหน้าของอาคารที่ได้รับแสงแดดตอนเช้า ปลูกริมทะเลได้ ทนน้ำท่วมขังได้

หมากแดงเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลใหญ่มากตระกูลหนึ่ง มีประมาณ 4,000 ชนิด ส่วนมากมีถิ่นกําเนิดในเขตร้อน ในการใช้ปาล์มเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามในการตกแต่งบริเวณอาคารสถานที่ ทั้งการปลูกลงกระถางและปลูกลงดิน ตั้งแต่พื้นที่ขนาดเล็กจํากัดจนถึงพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ มีให้เลือกหลายลักษณะ และรูปทรงที่สวยงามแตกต่างกันมากมายตามความต้องการและพอใจ หมากแดงนับได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศแต่ปัจจุบันสามารถนํามาปลูกในพื้นที่ของอําเภอพระประแดงโดยเฉพาะในตําบลบางกระสอบนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพการปลูกหมากแดงทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่นับว่าเป็นรายได้ที่ดีเลยทีเดียว ในปัจจุบันหมากแดงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตลาดพันธุ์ไม้มีความต้องการสูง ทั้งนี้เพราะหมากแดงมีสีสันสวยงาม

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtostachys renda
ชื่อวงศ์ : Palmae
ชื่อสามัญ : Sealing-wax palm, Lipstick palm, Raja palm, Maharajah palm
ชื่อพื้นเมือง : กับแดง กะแด็ง หมากวิง
ถิ่นกำเนิด : ไทย มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย

ลักษณะทั่วไป
หมากแดงเป็นปาล์มแตกกอ สูงได้ถึง 20 เมตร ใบแบบขนนก มีสีแดงเข้มที่กาบใบและเส้นกาบใบ ชอบขึ้นในที่ชื้นที่ชื้นแฉะ ช่อดอกแผ่กระจายออกที่ใต้คอ ผลรูปรี ลักษณะเด่นคือกาบที่หุ้มใบเป็นสีส้มเข้มจนถึงสีแดง ใบเป็นรูปก้างปลาสีเขียวเข้ม ลักษณะผลเป็นทะลาย ผลเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล เมื่อสุกเต็มที่พร้อมที่จะเพาะพันธุ์ได้จะมีเปลือกสีดำ ขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีการแยกหน่อและเพาะเมล็ด

  • ใบ : ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 2-5 เซนติเมตร ยาว 45-55 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบด้านบนสีเขียวแก่ ด้านล่างสีเขียวอ่อนมีสีเหลือบเงินเล็กน้อย เป็นมันก้านใบและกาบใบสีแดงสด
  • ดอก : สีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงใต้โคนกาบใบ ดอกแยกเพศอยู่ร่วมต้น ช่อดอกยาว ประมาณ 50 เซนติเมตร
  • ผล : ผลสดแบบมีเนื้อเมล็ดเดียว ติดผลจำนวนมาก ทรงกลมรี ขนาด 0.8 เซนติเมตร ผลแก่สีดำเมล็ดกลมรี

การขยายพันธุ์
หมากแดงโดยทั่วไปจะมีการขยายพันธุ์2 วิธีคือการเพาะเมล็ด และการแยกหน่อจากต้นแม่หรือต้นเดิม

  1. การขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ (off – shoots)
    การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นที่นิยมกันมากขนาดของหน่อที่เหมาะสมสําหรับการขยายพันธุ์ให้ได้ต้นใหม่ควรมีความสูงประมาณ 1 ศอก ( ประมาณ 20นิ้ว) และควรเลือกหน่อที่ออกห่างจากพุ่มพอประมาณ ใช้เสียมที่มีความคมแทงรอบๆ จนขาดออกจากต้นแม่พันธุ์ โดยให้ดินติดและราก เป็นลักษณะเดียวกับการบอนต้นไม้ การปฏิบัติควรทําด้วยความระมัดระวังอย่าให้ต้นช้ำ ข้อสําคัญห้ามจับลําต้นหรือดึงยอดเป็นอันขาด เพราะจะทําให้หัวหรือเนื้อเยื่อเจริญ (ลักษณะเหมือนหัวมะพร้าว) แตกร้าวได้ง่ายและต้นอ่อนจะตายในที่สุด เป็นลักษณะถอดยอด เมื่อแทงโดยรอบจนขาดออกจากกต้นแม่พันธุ์แล้วใช้มือช้อนอุ้มดินขึ้นมา นําไปใส่ถุงดินที่เตรียมไว้สําหรับวัสดุปลูกใช้เป็นส่วนผสมของหญ้าแห้ง ใบไม้แห้งสับ ผสมกับดินร่วน ในอัตราส่วน 3: 1 วัสดุปลูกที่จะนํามาใช้ควรจะผสมและหมักไว้อย่างน้อย 1-2 เดือน เมื่อบรรจุถุงเรียบร้อยแล้วให้รดน้ำให้ชุ่ม นําไปวางไว้ที่ร่ม เลี้ยงไว้ประมาณ 3-4 เดือน ก็สามารถนําไปปลูกได้
  2. การขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
    นําเมล็ดแก่ที่มีสีม่วงคล้ำเกือบดํา ไปเพาะในกระบะทราย จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน เมื่อเมล็ดงอกออกเป็นต้นอ่อนแล้ว จึงย้ายไปลงถุงหรือกระถางที่เตรียมไว้ ซึ่งการเจริญเติบโตจะช้ามากและจะเริ่มมีสีแดงเมื่ออายุได้3-4 ปี ขึ้นไป

การปลูกหมากแดงลงกระถาง การปลูกหมากแดงแดงลงในกระถางเพื่อใช้เป็นไม้ประดับอาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ นั้น มักจะนําหมากแดงที่เป็นต้นเล็กๆ ที่ได้จากการเพาะเมล็ด หรือเป็นต้นที่เกิดจากการแยกหน่อมาปลูก

  1. กระถาง หรือภาชนะที่ใช้ปลูก อาจเป็นกระถางดินเผาหรือกระถางกระเบื้องชนิดใดก็ได้
    การปลูกหมากแดงลงกระถางดินเผานั้นการเจริญเติบโตจะดีกว่ากระถางกระเบื้องต่างๆ เพราะเนื้อดินของกระถางได้ระเหยน้ำ ดูดน้ำ และระบายอากาศได้ดีกว่ากระถางเคลือบ ดังนั้นจึงควรพิจารณากระถางดินเผาก่อน แต่ถ้าต้องการความสวยงามในการประดับสถานที่แล้ว ก็อาจใช้วิธีการปลูกในกระถางดินเผา แล้วตั้งซ้อนลงในกระถางเคลือบอีกทีหนึ่งก็ได้ส่วนรูปร่างของกระถางนั้น อาจเป็นกระถางทรงกระบอกมีปากกลม ก้นกลม โดยทั่วๆ ไปกระถางมักจะปากกว้างกว่าก้นกระถาง แต่ถ้าปากกว้างเกินไปก็ไม่เหมาะกับการปลูกปาล์ม ถ้าปากกระถางแคบ หรือส่วนกลางกว้างกว่าปากกระถางคล้ายแจกันดอกไม้เมื่อต้องการถ่ายกระถางปลูกหรือเปลี่ยนกระถางใหม่จะทําได้ลําบาก ความลึกของกระถาง ก็มีส่วนสําคัญในการเลือกกระถางปลูกเพราะปาล์มบางชนิดต้องการกระถางที่มีส่วนลึกมากเนื่องจากรากยาว เช่น พวกตาลแดง หรือพวกปาล์มที่มีเมล็ด เมื่อเวลางอกจะมีรากแทงลงดินก่อน แล้วจึงงอกขึ้นมาเป็นต้นภายหลัง ลักษณะรูปร่างของกระถางนอกจากให้มีขนาดพอเหมาะแล้ว ก็ต้องพิจารณาถึงความสวยงามระหว่างกระถางกับปาล์มที่จะปลูกอยู่ในกระถางด้วยหากว่ากระถางที่ใช้ปลูกไม่เข้ากับต้นปาล์มในกระถางแล้ว ก็อาจทําให้ต้นไม้หมดความงามลงด้วย โดยหมากแดงควรใช้กระถางที่มีปากกว้างกว่าก้นกระถาง และกระถางไม่ควรสูงหรือลึกมากนัก
  2. ดินปลูกหมากแดงในกระถาง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้ดินร่วน ใบไม้ผุๆ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ,ทรายหยาบ หรือเกษตรกรบางรายอาจใช้รากมะพร้าวปลูกอย่างเดียวก็มีเหตุที่ใช้รากมะพร้าวปลูกเพราะรากมะพร้าวจะช่วยให้ดินภายในกระถางเกิดการระบายน้ำได้ดีและเป็นปุ๋ยไปในตัวอีกต่างหาก แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดที่จะทําให้เกิดเชื้อราในภายหลัง หากไม่มีรากมะพร้าวจะใช้เปลือกมะพร้าวสับแทนก็ได้และเป็นที่นิยมกันทั่วไป พวกใบไม้ผุหรือปุ๋ยสามารถนําใส่ได้มากกว่าส่วนอื่นๆ เพราะหมากแดงต้องการพวกอินทรียวัตถุจากดินอยู่มาก ส่วนทรายนั้นใส่ไปช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น ส่วนผสมของดินปลูกจะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์โดยการปลูกหมากแดงในกระถางอาจมีการใส่ปูนขาวผสมลงด้วยเพราะบางชนิดอาจชอบดินผสมที่มีคุณสมบัติเป็นกลางหรือเป็นด่างเล็กน้อย หมากแดงจะเป็นปาล์มที่มีหน่อ มีการแตกกอ ซึ่งจะเจริญเติบโตทางแตกหน่อแตกกอออกมาด้วย โดยหมากแดงที่ปลูกด้วยการแยกหน่อออกมาจากกอเดิมแล้วก็ไม่มีแต่ปัญหา แต่ถ้าปลูกจากกล้าที่เพาะจากเมล็ดแล้ว ถ้าหากปลูกลงไปต้นเดียวในกระถางจะทําให้หน่อที่แตกมาใหม่เจริญเติบโตช้ากว่าต้นแม่ จึงทําให้ไม่เป็นพุ่มที่สวยงามเท่ากับต้นแม่จะสูงกว่าและต้นหน่อที่แตกมาจะเตี้ยกว่า ดังนั้นถ้าจะปลูกหมากแดงให้มีพุ่มสวยสม่ำเสมอเท่ากัน ถ้าหากปลูกจากกล้าที่เพาะจากเมล็ดแล้วในกระถางหนึ่งก็ควรปลูกลงไปมากกว่าหนึ่งต้นเพราะหมากแดงนั้น ต้นแม่มักจะสูงกว่าต้นหน่อที่แตกใหม่มากจนแลดูไม่งดงาม ถ้าปลูกหมากแดงแต่เพียงต้นเดียวในกระถางครั้งแรกแต่ก็มีวิธีที่จะแก้ไขลักษณะนี้ได้โดยพยายามจะทําให้หน่อของหมากแดงที่แตกใหม่ๆ นั้นเจริญได้เร็วทันกับต้นแม่มัน ก็อาจช่วยได้โดยสังเกตเห็นว่าหน่อที่แตกออกมาจากโคนต้นนั้นมีรากหาอาหารในดินได้ดีแล้ว ก็ตัดส่วนที่เชื่อมระหว่างต้นแม่และหน่อนั้นให้ขาดเสีย จะทําให้หน่อนั้นหารอาหารเลี้ยงตัวเองอย่างเดียว ไม่ต้องส่งอาหารกลับไปเลี้ยงต้นแม่ด้วย หรือกล่าวได้ง่ายๆ ว่า ตัดหน่อให้ขาดจากต้นแม่เสีย หน่อนั้นก็จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วขึ้น

 

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ดอกไม้ประดับ

แสดงความคิดเห็น