หมู่บ้านคีรีวง ตั้งอยู่ที่ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อพยพไปอาศัยอยู่ เชิงเขาหลวง ตำบลกำโลนอันเป็นเส้นทางเดินขึ้นสู่ยอดเขาหลวง ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่สงบสังคมแบบเครือญาติ อาชีพหลัก คือการทำสวนผลไม้ผสม เรียกว่า สวนสมรม เช่น มังคุด เงาะ ทุเรียน สะตอ ชุมชนบ้านคีรีวง ได้แก่ กลุ่มมัดย้อมกลุ่มสมุนไพร กลุ่มจักสานกะลามะพร้าว กลุ่มแปรรูปน้ำผลไม้ กลุ่มไวน์ และกลุ่มทุเรียนกวน ซึ่งแต่ ละกลุ่มจะมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวก็มักจะซื้อเป็น ของฝากกันอยู่เสมอ สินค้าราคาไม่แพงและมีคุณภาพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2531 (ปีเดียวกับเหตุการณ์ที่ แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง)ได้เกิดมหาอุทกธรณีภัย หมู่บ้านถูกน้ำพัดหายไปนับ 100 หลังซึ่งวัดและ ชาวคีรีวงได้รักษาพระอุโบสถและบ้านที่ประสบภัยไว้เป็นอนุสรณ์สถาน
บ้านคีรีวง มีเนื้อที่ราว 8,173 ไร่ ชุมชนคีรีวงเคยเป็นหมู่บ้านค่อนข้างใหญ่หมู่บ้านเดียว แล้วได้แบ่งออกเป็น 4 หมู่บ้าน คือ บ้านคีรีวง บ้านคีรีทอง บ้านขุนคีรี และบ้านคีรีธรรม แต่เดิม ชุมชนนี้มีชื่อว่า บ้านขุนน้ำ เพราะตั้งอยู่ใกล้ต้นน้ำจากยอดเขาหลวง ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็นชื่อ บ้านคีรีวง หมายถึง หมู่บ้านซึ่งอยู่ภายในวงล้อมของภูเขา
ย้อนไปร่วม 300 ปี ความสมบูรณ์ของสายน้ำและผืนป่าเบื้องบนดึงดูดให้ผูคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่กลับจากสงครามเมืองไทรบุรี รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ล่องเรือผ่านคลองท่าดีขึ้นมาพบที่ทางอันเหมาะสมจะปลูกเรือนฝังรากและทำกิน พวกเขาเรียกแผ่นดินตรงนี้ว่า “บ้านขุนน้ำ” มีที่มาจากคลองสามสายอย่างท่าหา ท่าชาย และปลายปง ซึ่งล้วนหลากไหลไปออกทะเลที่ปากนคร เป็นต้น น้ำของเมืองนครศรีธรรมราช
การปักหลักและอยู่ร่วมกับขุนเขาได้ก่อเกิดขึ้นที่ริมเขาหลวงฝั่งตะวันออก สวนผลไม้และชีวิตอันเป็นสุข สมถะ เริ่มขึ้นตรงนั้น พร้อม ๆ กับการเติบโตเป็นหมู่บ้านอันใหม่โตมั่นคงกลางขุนเขา มากมายด้วยเรื่องราวอันน่าทึ่งถึงสัมพันธภาพของคนในป่ากับคนที่ราบลุ่มของนครศรีธรรมราช
บ้านคีรีวง ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นหมู่บ้านที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200ปี ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขา มีวิถีชีวิตหากินอยู่กับป่า พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีการทำสวนสมรมเป็นหลักซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณเดิมเรียกว่า บ้านขุนน้ำ ต่อมามีการสร้างวัดในหมู่บ้านชื่อ วัดคีรีวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะภูเขาล้อมรอบ เลยเรียกชื่อหมู่บ้านตามชื่อวัดว่า หมู่บ้านคีรีวง
วิถีชีวิตของผู้คนในอดีตพึ่งพากับการหาของป่า ล่าสัตว์ เก็บไม้ผล บรรทุกเรือล่องไปขายนำเงินมาแลกซื้อข้าวสาร กะปิ เกลือ กับผู้คนแถบปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ จนถึงปากนคร ผลไม้ป่าที่มีคุณภาพก็ได้รับการคัดเลือกนำเมล็ดมาเพาะปลูกในป่าโดยการแผ้วถาง ปลูกแบบ สมรม ผสมผสานทั้งมังคุด ทุเรียน ลางสาด หมาก พลู จำปาดะ ไม้พื้นล่างเป็นพืชสมุนไพร ชุมชนก็เริ่มขยายตัว มีการสร้างวัด ณ บริเวณเจดีย์เก่า ให้ชื่อว่า วัดคีรีวง
ชุมชนคีรีวงประสบกับภัยต่าง ๆ มากมาย ทั้งภัยจากธรรมชาติ และภัยจากการเมืองการปกครอง สรุปพอสังเขป ดังนี้
ปี พ.ศ. 2505 จังหวัดนครศรีธรรมราชประสบวาตภัย ต่อเนื่องมาจากแหลมตะลุมพุก สวนไม้ผล บ้านเรือนเสียหายหมด
ช่วงปีพ.ศ. 2506 ผู้คนในชุมชนคีรีวงถูกเพ็งเล็งจากทางการว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างมาก
ปี 2518 ชุมชนคีรีวงประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ สืบเนื่องมาจากทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่า
จากภัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจต่อเนื่องมา ประกอบกับระบบการผลิตของชุมชนถูกกดขี่โดยพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งการส่งบุตรหลานไปเรียนต้องใช้เงินมาก ทำให้ต้องเสียที่ดินให้กับนายทุน ดังนั้น ในปี 2523 ผู้นำชุมชนคีรีวงได้พยายามเสาะแสวงหาวิธีการช่วยเหลือชาวบ้าน จนได้พบกับแนวทางกลุ่มออมทรัพย์สัจจะจากการพัฒนาชุมชน จึงได้นำมาริเริ่มในคีรีวง เริ่มจากสมาชิก 51 คน ทุนเริ่มต้น 35,000 บาท จนปัจจุบันมีทุนกว่า 40 ล้านบาท
ต่อมาชุมชนได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเกิดเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง มีการส่งหมู่บ้านเข้าประกวดซึ่งชนะตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ภาค และในปี 2529 ก็ชนะระดับประเทศ ทำให้มีผู้คนมากมายเข้ามาศึกษาดูงาน
เมื่อปี พ.ศ. 2531 หมู่บ้านคีรีวงประสบเหตุน้ำป่าไหลหลาก น้ำป่าทะลักพร้อมดิน โคลน ทราย และไม้ซุงจากเทือกเขาหลวงไหลบ่ามาทับถมทำลายบ้านเรือน วัด โรงเรียน ชีวิตผู้คนล้มตาย เกิดความเสียหายมากมาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร์ได้รับผลกระทบมาก ทางราชการได้แนะนำให้อพยพไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่ที่ปลอดภัย แต่ราษฎรไม่ยอมโยกย้ายไปจากถิ่นเดิมของบรรพบุรุษ เพราะมีชีวิตผูกพันจนละทิ้งถิ่นฐานไม่ได้ จวบจน นายปราโมทย์ ไม้กลัด (ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา) ได้เข้ามาสำรวจข้อมูลและมีความเห็นเช่นเดียวกับชาวบ้าน และได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชทานเงินมากกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้นำมาแก้ไขปัญหาในการป้องกันภัยพิบัติทางน้ำในระยะยาว
จุดเด่นของหมู่บ้านคีรีวง ก็คือ ทัศนียภาพแห่งธรรมชาติ เพราะคีรีวงตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขา ป่าไม้ และสายน้ำ ถ้าหากว่าใครต้องการที่จะไปเที่ยวที่นี่ กิจกรรมที่น่าสนใจในหมู่บ้านคีรีวง ก็ได้แก่ การพักในที่พักแบบโฮมสเตย์ การลองชิมอาหารพื้นเมือง ถ้าหากมาในฤดูผลไม้ จะได้อร่อยกับผลไม้นานาพันธุ์ ผลผลิตของคีรีวง ตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน ชาวคีรีวงมีอาชีพหลักคือ การเพาะปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง เป็นต้น ดูเรือไม้ ของเก่า เป็นเรือที่ขุดขึ้น จากซุงทั้งต้น มีชื่อเรียกกันมาแต่เดิมว่า เรือเหนือ ชาวคีรีวงในอดีตใช้เรือนี้บรรทุกผลไม้ เพื่อนำไปแลกอาหารและของจำเป็นต่างๆจากผู้คนซึ่งอยู่ในที่ราบ นอกพื้นที่ของภูเขาที่ล้อมรอบอยู่ ส่วนในช่วง เดือนเมษายนถึงกันยายน ถ้าสนใจจะขึ้นเขาและเดินป่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสม ชุมชนคีรีวงมี ผู้นำทางและ ลูกหาบให้นักท่องเที่ยวเสมอ ดูและถ่ายรูป สถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งอุทกภัย พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2531 ถ่ายรูปกับภูมิสัญลักษณ์ รูปสายน้ำแห่งวิถีชีวิต ชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP พร้อมกับชมจุดสาธิตสิ่งต่างๆ ความพิเศษของคีรีวงก็คือ เป็นแหล่งที่มีการทำสินค้า OTOP หลายประเภท ผลิตภัณฑ์คีรีวงที่ ได้รับเลือกเป็น ผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว ได้แก่ ผ้ามัดย้อม สีธรรมชาติ
ชุมชนคีรีวงได้เป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ( Thailand Tourism Awards) ประจำปี 2541 ประเภทเมืองและชุมชน เนื่องจากเป็นชุมชนที่มี วิถีชีวิต แบบชาวสวนอยู่กับธรรมชาติ และได้พัฒนาการบริการนักท่องเที่ยวขึ้นมาเป็นธุรกิจใหม่ของชุมชน ประกอบด้วย การนำทาง เดินป่า ลูกหาบ การจัดที่พักแบบโฮมสเตย์ โดยการจัดตั้งชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นองค์กร กลางของชาวชุมชนจัดแบ่งหน้าที่ไปยังกลุ่มต่าง ๆ ให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างทั่วถึง การมาท่องเที่ยว ที่หมู่บ้านคีรีวงนี้ ถือว่าคุ้มค่ามากทีเดียว เพราะนอกจากจะได้มาท่องเที่ยวในบริเวณที่มีธรรมชาติสวยงามแล้ว ยังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านพร้อมกับการกินอยู่แบบพื้นบ้านอีกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจในหมู่บ้านคีรีวง นครศรีธรรมราช
1.สัมผัสธรรมชาติและวิิถีชีวิตชาวบ้าน
เพลินตาและเพลินอารมณ์กับทัศนียภาพแห่งธรรมชาติ เพราะคีรีวงตั้งอยู่ท่ามกลางเทือกเขา ป่าไม้ และสายน้ำชิม อาหารพื้นบ้าน ในฤดูผลไม้ จะได้อร่อยกับผลไม้นานาพันธุ์ ผลผลิตของคีรีวง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชาวคีรีวงมี อาชีพหลักคือ การเพาะปลูกผลไม้ ดูเรือไม้ของเก่า เป็นเรือที่ขุดขึ้นจากซุงทั้งต้น มีชื่อเรียกกันมาแต่เดิมว่า เรือเหนือ ชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ OTOP ในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ถ้าสนใจจะขึ้นเขาและเดินป่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะสม ชุมชนคีรีวงมีผู้นำทางและลูกหาบให้นักท่องเที่ยวเสมอ
2. เยี่ยมชมกลุ่มอาชีพต่างๆ ของหมู่บ้าน
ชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านคีรีวง มีการรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มอาชีพหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มสมุนไพรกลุ่มจักสาน และผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว กลุ่มแปรรูปน้ำผลไม้ กลุ่มไวน์และกลุ่มทุเรียนกวน ซึ่งแต่ ละกลุ่มจะมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ผ้ามัดย้อม เป็นผลิตภัณฑ์เด่น คีรีวงในฐานะหมู่บ้าน ท่องเที่ยว OTOP จึงมีจุดท่องเที่ยวเชิง สาธิตซึ่งเกี่ยวเนื่องกับผ้าและความเป็นธรรมชาติ ในสวนต้นไม้สาธิต นักท่องเที่ยวจะได้เห็นต้นไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาแห่งสีธรรมชาติ ที่บริเวณสาธิตการทำสีจากธรรมชาติ นักท่องเที่ยวจะได้เห็นการสับใบไม้ แก่นไม้ เปลือกผลไม้และพืช ในโรงต้มสี โรงตากผ้า โรงทอผ้า โรงผ้ามัดย้อม และโรงผ้าบาติก นักท่องเที่ยวจะได้เห็นกระบวนการผลิตอีกหลายขั้นตอนหากนักท่องเที่ยวต้องการทำผ้ามัดย้อม ลานกิจกรรม หน้าศูนย์จำหน่ายสินค้า คือบริเวณซึ่งชาวคีรีวงจะช่วยแนะนำการทำผ้ามัดย้อม นักท่องเที่ยวจะได้ ลองทำด้วยตนเอง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย โดยกลุ่มสินค้าที่นักท่องเที่ยว ให้ความสนใจดู การสาธิตวิธีทำก็คือ การทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ซึ่งได้นำความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้ถ่ายทอดกันมา หลายชั่วคนโดยวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำสีย้อมธรรมชาติจะได้มาจากส่วนต่างๆของต้นไม้ เช่น เปลือก ใบ แก่น ราก และผล ซึ่งจะให้สีสันที่แตกต่างกันไป เช่น ใบหูกวาง ให้สี เหลืองอมเขียว ใบมังคุด ให้สี ส้มกับชมพู ใบเพกา ให้สีเขียวเข้ม เปลือกลูกเหนียง ให้สี น้ำตาลเข้ม ฝักสะตอ ให้สีเทา แก่นขนุน ให้สีเหลืองสด
กลุ่มอาชีพ หมู่บ้านคีรีวง
3.พักแบบโฮมสเตย์ร่วมกับชาวบ้าน
ผู้สนใจจะเสียค่าที่พักคืนละ 100 บาท ค่าอาหาร 50 บาท แต่สำหรับผู้ที่ต้องการจะเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิต ชาวคีรีวง จะเสียค่านำเที่ยว 1300 บาท ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน นักท่องเที่ยวจะเข้าไปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนคีรีวง ได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ออกชุกเดือนกรกฎาคม-กันยายนก่อนไปติดต่อไปที่ ศูนย์ประสานงานบ้านคีรีวง
โทร. 0 7553 3113 ติดต่อเพื่อขอพักแบบโฮมสเตย์ โดยทางกลุ่มคิดราคาที่พัก 120 บาทต่อคนต่อคืน และค่าอาหาร 100 บาทต่อคนต่อมื้อ ค่านำเที่ยวสวนสมรม 500 บาท
การเดินทางไปหมู่บ้านคีรีวง
การเดินทางไปบ้านคีรีวงจากอำเภอเมือง ตามทางหลวงหมายเลข 4016 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4015 บริเวณกิโลเมตรที่ 9 เลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้านคีรีวง เข้าไป 9 กิโลเมตร หรือขึ้นรถสองแถวจากตลาดยาว ในอำเภอเมือง มีรถออก ตั้งแต่ เวลา 07.00-16.00 น. ราคา 20 บาท
ป้ายคำ : ชุมชน