หลุมพี กะลุมพี

24 กันยายน 2558 ไม้ผล 0

หลุมพีเป็นพรรณไม้ป่าพื้นเมือง ต้นหลุมพีมีลักษณะเป็นกอและมีหนามแข็ง เนื้อเบา ใบออกเป็นทางเหมือนปาล์มทั่ว ๆ ไป ผลออกเป็นทะลาย ในทะลายหนึ่ง ๆ มีประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ ผล เปลือกผลสีเหลืองอมน้ำตาล ลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายผลระกำ เนื้อส่วนนอกสีชมพูอมเหลือง แต่ส่วนในสีใส เมล็ดแข็งเหมือนเมล็ดระกำ ผลอ่อนมีรสฝาดมากกว่าเปรี้ยว แต่พอแก่ก็เปลี่ยนเป็นเปรี้ยวมากกว่าฝาด และพอสุกดีก็มีรสหวานมากกว่าเปรี้ยว ขนาดของผลที่โตเต็มที่แล้วมีเส้นรอบวงโดยเฉลี่ยประมาณ ๑๐ เซ็นติเมตร

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Eleiodoxa conferta (Griff.) Burr.
ชื่อวงศ์ : ARECACEAE (PALMAE)
ชื่ออื่นๆ กะลุมพี,หลุมพี(นราธิวาส,ปัตตานี),กะลูบี,กลูบี,ลูบี(มลายู นราธิวาส)

ลักษณะ
ลุมพี เป็นพืชพวกปาล์ม จำพวกระกำ ลำต้นสั้น แตกหน่อเป็นกอใหญ่ ออกดอกผลแล้วตายไป ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียนสลับ ก้านใบ และกาบใบมีหนามยาวแหลมเรียงเป็นแผง แกนกลางใบประกอบมีหนามยาวแหลมทางด้านล่าง ใบย่อยรูปเรียวยาว ปลายแหลม ไม่มีก้าน โคนติดที่ก้านรวม เรียงเป็นระเบียบ 2 ข้างก้านใบประกอบ ใบย่อยบริเวณตอนกลางก้านช่อใบยาวกว่าใบย่อยที่โคน และปลายก้านช่อใบ ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ขนาดเล็ก สีแดง ออกเป็นช่อเชิงลด ตั้งตรง แยกแขนง มีกาบหุ้มช่อหลายกาบ ผลรูปไข่กลับ ปลายตัด โคนสอบ เปลือกบางเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เรียงเกยซ้อนกัน ผลสุกสีเหลืองถึงแสด ผลหนึ่งมักมี 1 เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลม เนื้อหุ้มเมล็ดนุ่มหนา สีเหลืองส้ม มีการกระจายพันธุ์ในภาคใต้ของประเทศไทย

hlumpeeton

แหล่งที่พบ
มีข้อสันนิษฐานหนึ่งว่าชื่อจังหวัดกระบี่ มาจากคำว่ากะลุมพี หรือกลูบี เพราะสมัยก่อนเต็มไปด้วยต้นหลุมพี
หลุมพีชอบขึ้นตามธรรมชาติในป่าดงดิบ ซึ่งเป็นป่าพรุของจังหวัดภาคใต้ที่มีฝนตกชุก เช่น จังหวัดกระบี่ พืชชนิดนี้ไม่มีผู้ใดนิยมปลูกจะหาได้จากป่าเท่านั้น และจะออกผลชุกในฤดูฝนของทุกปี
นอกจากวิธีการดำเนินชีวิตของคนภาคใต้หรือจังหวัดกระบี่ ที่เกี่ยวกับลุมพี แล้ว ลุมพียังมีความสำพันธ์กับชุมชน กำดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ กับการนำมาใช้ประโยชน์มากมายหลายๆอย่างได้อีกด้วย

ความสัมพันธ์กับชุมชน
เนื้อหุ้มเมล็ดรสเปรี้ยวจัด นำมาปรุงเป็นเครื่องดื่ม และปรุงรสอาหารได้ดี ใช้ประกอบอาหารได้หลายประเภท ตามความนิยมของผู้บริโภค ถ้าเป็นผลแก่ใช้ปรุงรสแทนมะนาว เช่น แกงส้มและแกงเหลือง และเหมาะอย่างยิ่งโดยเฉพาะการปรุงอาหารในขณะอยู่ป่า หรืออาจใช้รับประทานเป็นของว่าง โดยปอกเปลือกแล้วซอย ก่อนนำไปแช่น้ำเกลือประมาณ ๑-๒ วัน ชิมดูให้มีรสเปรี้ยวพอเหมาะ แล้วจึงรับประทานกับน้ำจิ้ม น้ำปลาหวานหรือจิ้มพริกกับเกลือ หรือดองโดยการเคี่ยวน้ำเชื่อม ตั้งทิ้งไว้ให้เย็นแล้วน้ำหลุมพีที่แช่น้ำเกลือแล้วใส่ลงไปแช่ในน้ำเชื่อมที่ตั้งไว้ให้เย็นประมาณ ๑ คืน ก็รับประทานได้ เวลารับประทานอาจใส่น้ำแข็งลงไปเล็กน้อย ทำให้มีรสชาติแปลกออกไป
ในทางสมุนไพร จะใช้ผลตำคั้นเอาน้ำผสมน้ำตาลและเกลือจิบกัน ขับเสมหะแก้ไอ

hlumpeepon

ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
เนื่องจากทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดกระบี่ มีผู้นิยมบริโภคกันมาก โดยสามารถนำมาปรุงอาหารได้ตามต้องการ ที่นิยมทำกันมากในจังหวัดกระบี่ คือ การดอง และจิ้มกินกับพริกเกลือเป็นอาหารว่าง จึงนับเป็นการเสริมรายได้ของชาวกระบี่อีกด้วย
นอกจากการดอกและการจิ้มกินกับพริกเกลือแล้ว ลุมพี ยังสามารถทำเป็น หลุ่มพีเชื่อมได้

หลุมพีเชื่อม
เครื่องปรุง

  1. ผลหลุมพีสด (ผลแก่เมล็ดข้างในสีดำ)
  2. น้ำตาลทราย 1/2 ก.ก.
  3. น้ำ
  4. เกลือป่น 2 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. ผลหลุมพีแก่ปลอกเปลือกล้างน้ำให้สะอาด ใช้มีดกรีดผลหลุมพี
  2. น้ำประมาณ 1/3 ของภาชนะที่ใส่ ตั้งไฟให้เดือด ใส่ผลหลุมพีต้มให้เดือดอีกครั้ง ประมาณ 10 นาที แล้วเทน้ำทิ้งให้หมด (เพื่อลดความเปรี้ยวของผลหลุมพี)
  3. น้ำตาล 1/2 ก.ก. น้ำ 1 แก้ว ใส่ภาชนะตั้งไฟเคี่ยวให้เป็นยางมะตูม
  4. นำผลหลุมพีที่เตรียมไว้ใส่ภาชนะ ต้มจนกว่าน้ำตาลเข้าเนื้อผลหลุมพี
  5. ใส่เกลือป่น 1 ช้อนชา
  6. เติมน้ำประมาณ 2 แก้ว ตั้งไฟให้เดือดแล้วยกลง
  7. เวลารับประทาน รับประทานกับน้ำแข็ง

คุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณ:
เนื้อหุ้มเมล็ดรสเปรี้ยวจัด นำมาปรุงเป็นเครื่องดื่ม และปรุงรสอาหารได้ดี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น