หญ้าหูปลาช่อน หางปลาช่อน

5 เมษายน 2559 สมุนไพร 0

หูปลาช่อน เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กจำพวกหญ้า ใบมีหลายแบบใน 1 ต้น ใบล่างรูปทรงกลม ใบกลางรูปหัวใจ ใบบนรูปหอกโคนเว้า ขอบจัก ดอกเล็กออกเป็นกระจุกเป็นพู่ทรงกลม บริเวณปลายยอด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Emilia sonchifoiia (L.) DC. (Cacalia sonchifoiia L.)
วงศ์ Compositae
ชื่ออื่น ผักแดง(เลย) ผักบั้ง(ลำปาง) หางปลาช่อน(ภาคกลาง)เฮียะแอ่อั้งเอี่ยโต่ยเช่า(แต้จิ๋ว) เยวียะเสี้ยหง ,หยางถีฉ่าว(จีนกลาง)

ลักษณะ
ผักหูปลาช่อน ไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีลำต้นตั้งตรง มีมีสีเขียวแกมม่วง ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านที่โคนต้น ลำต้นปกคลุมไปด้วยขนนุ่มทั่วไป ใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะห่อหุ้มลำต้นอยู่ ปลายใบแหลมเรียว โคนใบกว้างเป็นรูปไข่ ส่วนขอบใบโค้งหยักเล็กน้อยหรือหยักเว้า มีขนาดยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงแดง ใบที่โคนต้นจะมีขนาดใหญ่กว่าใบที่อยู่บนยอด ใบบนเป็นรูปหอกโคนเว้าขอบจักแคบ ไม่มีก้านใบ ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามบริเวณกลางลำต้นหรือยอดต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร และก้านดอกมักแบ่งออกเป็น 2 แขนง (ช่อหนึ่งจะแยกออกเป็น 2 แขนง) มีดอกย่อยประมาณ 20-45 ดอก ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 12-14 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก กลีบดอกส่วนโคนจะเชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ดอกเป็นสีแดงม่วงมี 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลเป็นผลเดี่ยว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกระบอกยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เปลือกผลแข็งมีจรสีขาวปกคลุมที่เส้นสันผิวเปลือก ผลแห้งจะไม่แตกหรืออ้าออก เมล็ดล่อน สีน้ำตาล และมีขน

hooplachonking hooplachonton hooplachondok

สรรพคุณ

  • ต้น รสจืดเหม็นเขียวเล็กน้อย แก้พิษตานซาง แก้ฝีตานซาง เม็ดผื่นคัน แก้ตัวร้อน แก้โรคเริม ด้วยการใช้ต้นสดนำมาพอกบริเวณที่เป็น และให้เปลี่ยนยาวันละครั้ง
  • ทั้งต้น รสขมฝาด เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดตับและลำไส้เล็ก ใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ ขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ ทำให้เลือดเย็น ขับน้ำชื้นในร่างกาย แก้หืดไอ แก้เลือดกำเดา อาเจียนเป็นเลือด แก้ตาเจ็บตาแดง ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ แก้ตาแดง แก้บิด แก้อุจจาระเป็นเลือด แก้ช่องคลอดอักเสบหรือคัน ใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำสะอาดแล้วใช้ชะล้าง ลดและแก้อาการบวมน้ำ แก้ฝีในลำไส้ แก้ฝีฝักบัว ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาต้มกับน้ำกิน (ต้นสดใช้ 30-90 กรัม ส่วนแห้งใช้ 15-30 กรัม) ใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด และสมานแผล แก้บาดแผลเรื้อรัง ตำพอกแก้ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ต้มดื่มและอาบ แก้ฝีตานซาง แก้เม็ดผดผื่นคัน
  • ใบ รสฝาดเย็น น้ำคั้นจากใบใช้หยอดแก้เจ็บตา
  • ดอก รสฝาดเย็น สมานแผลห้ามเลือด
  • ราก รสเฝื่อนเย็น นำมาตำคั้นผสมกับน้ำตาลเมาใช้ดื่มแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว แก้ท้องเสีย แก้โรคตานซางขโมยในเด็ก ด้วยการใช้รากสดประมาณ 10 กรัม นำมานึ่งกับเนื้อหมูแดงให้เด็กกิน
  • ลำต้น แก้บิดถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด แก้ท้องร่วง ด้วยการใช้ลำต้นสดประมาณ 30-90 กรัม (แห้งใช้ 15-30 กรัม) นำมาต้มเอาน้ำกิน แก้ผดผื่นคัน ฝีต่างๆ ด้วยการใช้ลำต้นสดนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น
  • ปริมาณในการใช้ ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม ถ้านำมาใช้ภายนอกให้กะปริมาณเอาตามสมควร ใช้ตำพอกแผลหรือต้มเอาน้ำล้างแผล

hooplachonbai

สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้
สมุนไพรชนิดนี้เป็นพิษต่อตับ โดยสารที่เป็นพิษคือสาร Pyrrolizidine alkaloid หากได้รับในครั้งแรกจะทำให้อาเจียน หลังจากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง จะมีอาการชักกระตุกควบคู่ไปกับมีอาการเจียน ท้องเดิน ปวดท้อง และหมดสติ ส่วนวิธีการแก้พิษเบื้องต้น ให้ทำให้อาเจียน โดยการรับประทาน Syrup of ipecac ในผู้ใหญ่ให้ใช้ 2 ช้อนโต๊ะ ส่วนเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1-12 ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ

อ้างอิง
ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม โดยกองการประกอบโรคศิลปะ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สารานุกรมสมุนไพร โดยนายวุฒิ วุฒิธรรมเวช
ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณยาเทศและยาไทย รวบรวมและเรียบเรียงโดย หมอเสงี่ยม พงษ์บุญรอด

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น