องุ่น ผลไม้รสชาติดี

31 มกราคม 2560 ไม้ผล 0

องุ่นเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี ปลูกกันมากกว่า 5,000 ปี สามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในเขตหนาว เขตกึ่งร้อนกึ่งหนาว และเขตร้อน สำหรับประเทศไทยไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่านำเข้ามาในสมัยใด แต่พอจะเชื่อได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้นำพันธุ์ไม้แปลกๆ จากต่างประเทศที่ได้เสด็จประพาสมาปลูกในประเทศไทย และเชื่อว่าในจำนวนพันธุ์ไม้แปลกๆ เหล่านั้นน่าจะมีพันธุ์องุ่นรวมอยู่ด้วยในสมัยรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานยืนยันว่าเริ่มมีการปลูกองุ่นกันบ้างแต่ผลองุ่นที่ได้มีรสเปรี้ยว การปลูกองุ่นจึงซบเซาไป ต่อมาในปี 2493 ได้เริ่มมีการปลูกองุ่นอย่างจริงจัง โดย หลวงสมานวนกิจ ได้นำพันธุ์มาจากแคลิฟอร์เนีย และปี 2497 ดร.พิศ ปัญญาลักษณ์ ได้นำพันธุ์มาจากยุโรปซึ่งปลูกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นับแต่นั้นมาการปลูกองุ่นในประเทศไทยจึงแพร่หลายมากขึ้น

ปัจจุบันในประเทศไทยมีการปลูกองุ่นในแถบภาคตะวันตก เช่น อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสามารถให้ผลผลิตได้ดี แต่เกษตรกรบางรายได้เปลี่ยนจากองุ่นเป็นพืชอื่น เนื่องจากมีโรคแมลงระบาดมาก และแมลงดื้อยาไม่สามารถกำจัดได้ ทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นในแถบนี้ลดลง พื้นที่ปลูกองุ่นได้ขยายไปในแถบภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้างเล็กน้อย ถึงแม้ว่าราคาจะเป็นแรงจูงใจ แต่ปัญหาเรื่องโรคแมลงระบาดมากทำให้พื้นที่ปลูกองุ่นไม่ค่อยขยายเท่าที่ควร

ชื่อวิทยาศาสตร์ ไวทิส ไวนิเฟอร่า(Vitis Vinifera Linn.)
วงศ์ วิทิดาซีอี้ ( VITIDACEAE)
ชื่อท้องถิ่นว่า พู้ท่อ (จีน – แต้จิ๋ว)

ลักษณะทั่วไป
องุ่น จัดเป็นไม้เลื้อย เนื้อแข็ง กิ่งก้านเล็ก เลื้อยเกาะด้วยมือพัน ใบกลม ขอบหยักเว้าลึก 3 -7 พู โคนใบเว้าหัวใจ ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ดอกย่อยขนาดเล็กสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 กลีบ ผลออกเป็นพวง ผลย่อยรูปกลมรี ฉ่ำน้ำ ผิวมีนวลเกาะ รสหวาน มีสีเขียว ม่วงแดง และม่วงดำ แล้วแต่พันธุ์ มี 1 – 4 เมล็ด

องุ่นเป็นไม้เลื้อยประเภทยืนต้น มีอายุยาวนานหลายปี การปลูกจะต้องมีค้างรองรับ เถาองุ่นจะมีลักษณะเป็นปล้องบริเวณข้อจะมีใบ 1 ใบอยู่เรียงสลับกันไปตามข้อ และมีมือจับซึ่งเป็นช่อดอกที่ไม่พัฒนาอยู่ตรงข้ามกับใบ บริเวณโคนก้านใบจะมีกิ่งแขนงเล็ก 1 กิ่งและตา 1 ตา เป็นตารวมประกอบด้วยตาเอก (Primary bud) 1 ตาอยู่ตรงกลางและตารอง (Secondary bud) 2 ตา ตาเอกมีความสำคัญมากเพราะประกอบด้วยตายอดมือและกลุ่มของดอก ผลองุ่นจะมีลักษณะเป็นพวงแบบที่เรียกว่าราคีส (rachis) ผลมีหลากหลายลักษณะ ขนาดและสี ภายในผลอาจจะมีเมล็ดหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาวองุ่นจะพักตัวในฤดูหนาว เมื่ออากาศอบอุ่นก็จะแตกตาเกิดยอดใหม่ ซึ่งจะออกดอกและติดผลบนกิ่งใหม่ แต่ในประเทศไทยซึ่งอากาศไม่หนาวเย็นต้นองุ่นจะไม่พักตัว วิธีการทำให้องุ่นให้ผลผลิตคือเมื่อกิ่งแก่เป็นสีน้ำตาลแล้วจะใช้วิธีการตัดแต่งและใช้สารบังคับให้ตาแตกออกมาเป็นยอดใหม่และออกดอกให้ผลผลิต

สภาพภูมิอากาศและปัจจัยที่เอื้ออำนวย
เนื่องจากองุ่นมีหลายสายพันธุ์และเป็นพืชที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศต่างๆ ได้ดี จึงสามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่หลากหลาย แต่บนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นจะทำให้องุ่นออกดอกและให้ผลผลิตได้ดี และผลผลิตมีคุณภาพดี แต่อย่างไรก็ตามบนพื้นที่สูงจะมีปัญหาฝนตกมากเกินไปและแสงแดดน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องโรคทำลายมาก จึงควรปลูกในสภาพโรงเรือน

พันธุ์องุ่น พันธุ์ที่นิยมปลูกมี 3 พันธุ์ ด้แก่ พันธุ์ Beauty Perlette (สีเหลือง) พันธุ์ Ruby Seedless (สีแดง) และพันธุ์ Loose Perlette (สีเหลือง) โครงการหลวงได้ศึกษารวบรวมพันธุ์องุ่นไว้หลากหลายพันธุ์และทำการวิจัยโดยมุ่งเน้นพันธุ์รับประทานสดที่มีคุณภาพดี ปัจจุบันมีพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก 2 พันธุ์คือ

1. พันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (Beauty Seedless) เป็นองุ่นชนิดไม่มีเมล็ด ผลกลมมีสีดำ ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกผลหนา รสชาติหวานอร่อย อายุตั้งแต่ ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 5-6 เดือน

2. พันธุ์รูบี้ ซีดเลส (Ruby Seedless) เป็นองุ่นไม่มีเมล็ดเช่นกัน แต่ผลมีขนาดใหญ่ ลักษณะยาวรี สีแดง ช่อผลมีขนาดใหญ่ เปลือกหนากว่าพันธุ์ Beauty Seedless รสชาติหวาน กรอบ อร่อย อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 6-7 เดือน

นอกจากนี้ยังมีพันธุ์องุ่นอื่นๆ อีกหลายพันธุ์ที่มีความสำคัญได้แก่ต้นตอพันธุ์ 1613C (Othello x Selonis) และพันธุ์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองเช่น พันธุ์ Kyoho, Honey Red, Frame Seedless และ Early Muscat เป็นต้น

พันธุ์องุ่นที่นิยมปลูก คือ พันธุ์ไวท์มะละกา เป็นพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้ามากที่สุด ในปัจจุบันเป็นที่นิยมของผู้บริโภคโดยทั่วไป ปลูกง่ายและเจริญเติบโตดี มี 2 สายพันธุ์ คือ ชนิดผลกลมและผลยาว ลักษณะช่อใหญ่ยาว การติดผลดีผลมีสีเหลืองอมเขียว รสหวานแหลม เปลือกหนาและเหนียว ในผลหนึ่งๆ มี 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง ปีหนึ่งให้ผลผลิต 2 ครั้ง ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ปัจจุบันชาวสวนได้หันมาปลูกองุ่นพันธุ์ไวท์มะละกาสายพันธุ์ผลยาวกันมาก เพราะมีรสหวานกรอบและสีเหลืองสดใสกว่าพันธุ์ผลกลม และพันธุ์คาร์ดินัล เป็นองุ่นที่ปลูกง่าย การเจริญเติบโตดีมาก มีลักษณะช่อใหญ่ ผลดก ผลกลมค่อนข้างใหญ่ มีสีแดงหรือม่วงดำ รสหวาน กรอบ เปลือกบาง จึงทำให้ผลแตกง่ายเมื่อผลแก่ในช่วงฝนตกชุก ในผลหนึ่งๆ มีเมล็ด 1-2 เมล็ด ช่วงเวลาหลังจากตัดแต่งกิ่งจนเก็บผลได้ใช้เวลา 3-3 เดือนครึ่ง ในเวลา 2 ปี สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 5 ครั้ง ผลผลิตประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง แต่ราคาถูกปัจจุบันจึงนิยมปลูกกันน้อย

ประโยชน์ขององุ่น
ประโยชน์ทางโภชนาการ ในองุ่นจะมีโปรแตสเซียม ฟอสฟอรัส เกลือแร่ วิตามิน และน้ำตาลกลูโคลส ฟรุกโตส ที่ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า องุ่นมีน้ำตาลสูง มีวิตามินเอ ซึ่งช่วยในการบำรุงสายตา ป้องกันผิวหนัง และวิตามินซีที่ช่วยป้องกันโรคหวัด เลือดออกตามไรฟัน และยังป้องกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย
ประโยชน์ทางสมุนไพร มีสรรพคุณทางยา รักษาแผลสด ห้ามเลือด เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไข้ แก้ไอ แก้โรคตับอักเสบ ดีซ่าน และอาการปวดจากข้ออักเสบ แพ้ท้อง มีอาการบวมน้ำ ปัสสาวะขัด โลหิตจาง เวียนศรีษะ ใจสั่น ปวดตามข้อ

ประโยชน์ทางอาหาร เป็นผลไม้ใช้รับประทานสด หรือนำมาทำเป็นไวน์ ซึ่งมีการทำไวน์นานมากกว่า 3,500 ปีมาแล้ว จัดเป็นผลไม้ที่เหมาะแก่การทำไวน์มากกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะองุ่นพันธุ์ที่ใช้ทำไวน์มีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าผลไม้อื่นหลายประการเป็นต้นว่า มีความหวานหรือน้ำตาลมากเพียงพอแก่การทำไวน์ โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลจากแหล่งอื่นลงไป ในองุ่นมีความเป็นกรดพอเหมาะ ไม่จำเป็นต้องปรับกรดอีก องุ่นมีสารแทนนินมากพอเพียงที่จะช่วยให้ไวน์ที่ได้มีรสชาติเข้มขึ้น และสารแทนนินในองุ่นจะมีความสมดุลกับน้ำตาลและกรด ทำให้รสชาติของไวน์ที่ได้มีความกลมกล่อมอยู่ในตัว ผลองุ่นมีสีแดงเข้มถึงม่วงดำ สามารถใช้ผลิตไวน์ที่มีสีสวยๆ ตั้งแต่สีเหลืองทอง แดง ชมพู ขึ้นอยู่กับวิธีการหมัก องุ่นเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นรสเหมือนกลิ่นของผลไม้หลายชนิดผสมผสานกันที่หาไม่ได้ในผลไม้ชนิดอื่น นอกจากนี้องุ่นยังมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของยีสต์อยู่เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเติมสารอาหารหรือแร่ธาตุอื่นๆ ลงไป ยีสต์ก็สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์และสารอื่นๆ ได้แล้ว อย่างไรก็ตามผลไม้ชนิดอื่นก็สามารถใช้ทำไวน์ได้ แต่ต้องทำการปรับแต่งก่อนที่จะหมัก

ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต
องุ่นสามารถตัดแต่งต้นให้มีผลผลิตได้ตลอดปี แต่บนที่สูงจะนิยมบังคับองุ่นให้มีผลผลิตในช่วงเวลาที่ผลผลิตมีคุณภาพสูงคือ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม และเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม

ตลาดและการใช้ประโยชน์
องุ่นเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะนิยมบริโภคผลสด และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง เช่น น้ำองุ่นและไวน์ สำหรับองุ่นที่มูลนิธิโครงการหลวงปลูกส่วนใหญ่เน้นเพื่อการบริโภคผลสดเป็นหลัก

รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ : แบ่งเป็น 2 เกรด

  • เกรด 1 ผลดี ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง ผลสดไม่เหี่ยว และขั้วผลไม่แตก น้ำหนัก 500 กรัมต่อถาด
  • เกรด 2 ผลดี ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง ผลสดไม่เหี่ยว และขั้วผลแตก ได้เล็กน้อยน้ำหนัก 500 กรัมต่อถาด

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด :เดือนธันวาคม-เดือนมกราคม และเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น