อดิศร เหล่าสะพานเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะทำการเพาะปลูกเห็ดพันธุ์ต่างๆเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านซึ่งมีเพียงแค่อาชีพทำนาเท่านั้น เขาเป็นผู้นำเอาการเพาะเห็ดขอนขาวมาเพาะปลูกในถุงพลาสติกเพื่อเป็นการง่ายต่อการเพาะปลูกและเห็ดขอนขาวยังเป็นเห็ดที่ชอบป่าร้อนชื้น ประกอบกับการเพาะและการดูแลรักษาไม่ยุ่งยากเกินไปและเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศของไทยเราโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะบางปีเพาะได้แม้กระทั่งฤดูหนาวและยังเป็นผู้จัดตั้งกลุ่มชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
บ้านดอนมัน
หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่เลขที่ 13 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม หมู่บ้านนี้จัดเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีเนื้อที่ประมาณ 300 กว่าไร่ มีจำนวนประชากร 156 คนจาก 40 ครัวเรือนโดยแบ่งเป็นชาย 79 คนและหญิง 77 คน สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่จะเป็นที่ดอนถึง 70% เป็นที่ราบ 30 % โดยการนำของ นายอดิศร เหล่าสะพาน ผู้ใหญ่บ้านดอนมัน ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมปี 49 นำเอาปรัชญาวิถีพอเพียงตามรอยเท้าพ่อนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ ในหมู่บ้านดอนมัน ที่เคยปัญหาสภาพพื้นดินของที่นี่อุ้มน้ำได้ไม่ดี ส่วนมากเป็นดินทรายลึกลงไปใต้ดินประมาณ 1.50 เมตรจะเป็นหินลูกรังซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
เนื่องจากสภาพพื้นดินที่แห้งแล้ง ดินเป็นดินเค็ม น้ำบาดาลเค็ม ประกอบกับหมู่บ้านไม่มีหนองน้ำตามธรรมชาติชาวบ้านขาดความรู้ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ สภาพของหมู่บ้านเมื่อถึงฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำสำหรับปลูกพืช ชาวบ้านต้องออกไปซื้อน้ำจากนอกหมู่บ้านมาใช้ และจะใช้น้ำกันอย่างประหยัด ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยส่งผลให้ชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน มีปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาทำไร่ทำนา ชาวบ้านมีฐานะยากจนเนื่องจากรายได้ต่ำและไม่แน่นอน
ปัญหาใหญ่ คือ การดื่มเหล้าสูบบุหรี่ และเล่นการพนัน ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นภาวะทุกข์ที่ส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของชาวบ้านดอนมันทั้งสิ้นนายอดิศร กล่าวและบอกอีกว่า
การแก้ไขปัญหาทุกข์เริ่มจากที่ได้ประชุมประชาคมหมู่บ้านขึ้นเมื่อปี 2547 และได้มีการนำ เกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้หลักแนวคิด เศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา คือที่ดิน และน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำทฤษฎีใหม่ขั้นต้นหรือขั้นพื้นฐานมาปรับใช้ให้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ
หลังจากปรับสภาพดินจะสามารถเพาะปลูกพืชได้เจริญงอกงามดี การปลูกผักในยางรถยนต์สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นเวลาหลายวันเป็นการประหยัดน้ำที่ใช้รดผักได้ การพัฒนาแหล่งน้ำที่หมู่บ้านดอนมันได้มีการขุดบ่อน้ำ เพื่อใช้ทำการเกษตรและแก้ไขปัญหาการขาดแหล่งน้ำในหน้าแล้ง มีการปลูกผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย
ส่วนการส่งเสริมอาชีพชาวบ้านมีการรวมกลุ่มกันในการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ โดยกลุ่มที่มีในหมู่บ้านจะเป็นกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อ โคขุน เลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก กลุ่มเลี้ยงกบในบ่อพลาสติก กลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีด กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเพาะเลี้ยงเห็ดขอนขาวจะทำกำไรให้กับกลุ่มได้ถึงปีละประมาณ 100,000 บาท โดยรายได้ของแต่ละกลุ่มจะเป็นรายได้หลักที่กลายเป็นเงินหมุนเวียนในหมู่บ้าน ที่ช่วยทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กองทุนเงินล้าน
แนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการปัญหาทุกข์สุขของหมู่บ้าน ยึดหลักการมีส่วนร่วม คือ เป็นหนี้ร่วม กิจกรรมร่วมและประโยชน์ร่วม อย่างเช่นอาชีพเกษตร ปศุสัตว์ได้นำพันธุ์หมู เป็ดเทศ และไก่มาให้ชาวบ้านทดลองเลี้ยง โดยให้เป็นส่วนกลางของหมู่บ้านแล้วให้ชาวบ้านผลัดกันดูแล
การนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในหมู่บ้านดอนมันทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้จากการประกอบอาชีพรับจ้างในกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้านทำให้ไม่มีการอพยพไปใช้แรงงานในต่างจังหวัดหรือในเมือง เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนสามารถพึ่งตนเอง และพึ่งพากันได้อย่างมั่นคงและเกื้อกูล ทุกคนอยู่บ้านทำอาชีพของตนลูกหลานก็ได้เรียนหนังสือ ดินที่เคยแห้งแล้งก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้สามารถปลูกพืชผลได้เจริญงอกงาม มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อเอาไว้เป็นอาหาร ส่วนที่เหลือก็นำไปขายสร้างรายได้ ชาวบ้านแทบไม่มีรายจ่ายเลยในแต่ละวัน การพัฒนาของบ้านดอนมันจึงกลายเป็นการพัฒนาตนเองจากขั้นพออยู่พอกิน ไปสู่ขั้นพอมีอันจะกินนายอดิศร กล่าว
อดิศร เล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากแก้ไขปัญหาทางด้านสภาพภูมิประเทศให้เป็นที่ทำกินได้แล้ว ชาวบ้านยังร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งเกิดจากการดื่มสุรา และ เล่นการพนัน โดยการตั้งกฎในหมู่บ้านห้ามนำสุราเข้ามาขาย โดยใช้การขอร้องแทนการบังคับ ชาวบ้านจะประชุมร่างกฎระเบียบเจ้าของกลุ่มอาชีพมีการตกลงร่วมกัน กฎระเบียบนี้เริ่มตั้งเมื่อปี 2549
ซึ่งชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากการจัดงานต่างๆ ในหมู่บ้าน อาทิ งานศพ งานบวช วันสงกรานต์จะไม่มีการดื่มเหล้าหรือเล่นการพนันเลย ทำให้ชาวบ้านลดรายจ่ายตรงส่วนนี้ไปได้มาก และปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้าน เช่น ปัญหาลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลงจนไม่เหลือภาพเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดื่มสุราให้เห็นในหมู่บ้านจะเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้า 100 % ก็ว่าได้
แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ หมู่บ้านดอนมัน จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน อีสานสร้างสุขด้วยวิถีพอเพียง มีความเห็นร่วมกันว่าแนวทางการพัฒนาสังคมไทยที่ผ่านมามุ่งเน้นเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนละเลยต่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกร และสังคมเกษตรกรรม จึงเสนอให้ภาครัฐต้องสนับสนุนการสร้างเสริมเศรษฐกิจครัวเรือนและเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ เพื่อให้เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจชาติ
อดิศร เหล่าสะพาน ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน บ้านดอนมัน ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ในเรื่องของการเลี้ยงไก่ ให้รอดชีวิต แนะนำเทคนิคง่ายๆ หลังจากที่แม่ไก่ฟักลูกไก่ออกเป็นตัวทั้งหมดแล้ว ให้นำเข้าไปขังไว้ในสุ่มไก่แล้วนำผ้ามาคลุมเอาไว้ โดยให้อาหาร และฉีดวัคซีนตามปกติ คลุมเอาไว้ 20 วัน ก็เปิดผ้าคลุมแล้วนำลูกไก่ออกมาเลี้ยงตามปกติ วิธีการนี้จะทำให้ลูกไก่รอดชีวิตทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องนำเข้าไปอบไฟให้สินเปลือง หลังจาก 20 วันแล้ว แม่ไก่ก็สามารถฟื้นตัวได้เร็วพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ต่อไปอีกด้วย
ผลงานที่เป็นประโยชน์ ในการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาสำหรับสังคม