อบเชยเป็นเครื่องยา และเครื่องเทศ ที่ได้จากการขูดเอาเปลือกชั้นนอกออกให้หมด แล้วลอกเปลือกชั้นในออกจากแก่นลำต้น โดยใช้มีดกรีดตามยาวของกิ่ง แล้วรวบรวมนำไปผึ่งที่ร่มสลับกับการนำออกตากแดดประมาณ 5 วัน ขณะตากใช้มือม้วนขอบทั้งสองข้างเข้าหากัน จนเปลือกแห้งจึงมัดรวมกัน เปลือกอบเชยที่ดีจะมีสีน้ำตาลอ่อน(สีสนิม) มีความตรงและบางสม่ำเสมอ ยาวประมาณ 1 เมตร มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสสุขุม เผ็ด หวานเล็กน้อย
อบเชย เป็นพืชสมุนไพรไทยประเภทเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นหอม ได้มาจากเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย มีสีน้ำตาลแดงลักษณะเหมือนแผ่นไม้แห้งที่หดงอหลังจากโดนความชื้น มีชื่อเรียกตามแหล่งเพาะปลูกเช่น อบเชยจีน อบเชยลังกา อบเชยญวน เป็นต้น ในประเทศไทยไม่นิยมปลูกเพราะภูมิอากาศไม่เหมาะสม ทางการแพทย์แผนไทยอบเชยมีสรรพคุณทางยา เนื่องจากมี แทนนิน สูงที่ให้รสฝาดจึงนิยมใช้ในยาตำรับแผนโบราณ เช่น ผสมในยาหอมต่าง ๆ โดยใช้ส่วนของเปลือกลำต้น แก้จุกเสียด แน่นท้อง หรือใช้ในการทำ ยานัตถุ์ ใช้สูดดม เพื่อเพิ่มความสดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย แก้โรคท้องร่วงเพราะมีส่วนช่วยต้าน แบคทีเรีย ในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ช่วยในการย่อยอาหาร และสลายไขมัน ส่วนเปลือกลำต้นอายุมากกว่า 6 ปี หรือใบและกิ่งยังสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยได้อีกด้วย ซึ่งจะมีมากในอบเชยญวน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum iners Reinw. ex Blume
ชื่อสามัญ : Cinnamon
วงศ์ : Lauraceae
ชื่ออื่น : กระแจะโมง กะเชียด กะทังนั้น (ยะลา) กระดังงา (กาญจนบุรี) กะพังหัน โกเล่ เนอม้า (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) เขียด เคียด เฉียด ชะนุต้น (ภาคใต้) มหาปราบตัวผู้ อบเชย อบเชยต้น (ภาคกลาง) ดิ๊กซี่สอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) บอกคอก (ลำปาง) ฝักดาบ (พิษณุโลก) พญาปราบ (นครราชสีมา) สะวง (ปราจีนบุรี)
อบเชย(Cinnamon) อยู่ในวงศ์ Lauraceae สกุล Cinnamomum พบเฉพาะในทวีปเอเชียและออสเตรเลีบ มีมากกว่า 50 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบถึง 16 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เปลือกจะหนา มีกลิ่นหอมอ่อน ส่วนที่นำมาใช้ คือ เนื้อไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย มีสีน้ำตาลอมแดง ในประเทศไทยมีปลูกและทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติป่า แต่ไม่ถึงกับนำมาขายได้เป็นกอบเป้นกำเหมือนประเทศอื่นในเอเชีย เช่น จีน ลังกา และญวน แต่อบเชยญวนและชวา ก็ขึ้นได้ดีในประเทศไทย ปลูกเพียง 3 ปี ก็มีผลผลิตขายได้แล้ว
อบเชยเป็นไม้ยื่นต้น ต้นสูงราว 4-10 เมตรเป็นต้นไม้ขนาดกลาง ใบและเปลือกมีกลิ่นหอม ใบมีลักษณะเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน ดอกจะออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง เป็นดอกย่อยสีเหลืองอ่อน พืชในตระกูลเดีวยกัน เช่น ชะเอม กะเพราะต้น ข่าต้น การบูร และเทพทาโร จำแนกออกเป็น 5 ชนิด คือ
อบเชยเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานในระบบการให้สัญญาณอินซูลิน (Insulin-Signaling System) และจะดีมากหากอบเชยได้ทำหน้าที่ก่อนจะนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ อีกทั้งยังสามารถใช้อบเชยร่วมกันกับฮอร์โมนอินซูลินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบสาร MHCP ที่สามารถช่วยลดความดันโลหิตจากการทดลองในสัตว์ลงได้ และมีคุณสมบัติสำคัญที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย
แม้ในปัจจุบันสมุนไพรอบเชยจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้แทนยาก็ตาม แต่ ดร.แอนเดอร์สัน ก็ได้มีการแนะนำให้นำมาบรรจุในแคปซูลเพื่อรับประทานเป็นยาสมุนไพรป้องกันเบาหวานได้เช่นเดียวกัน โดยให้ทดลองใช้ 1/4 ช้อนชาถึง 1 ช้นชาต่อวัน โดยใน 1 ช้อนชาจะมีตัวยาหนักประมาณ 1,200 มิลลิกรัม ดังนั้น ขนาด 1/4 ช้อนชาจึงได้ปริมาณเท่ากับ 300 มิลลิกรัม และสามารถบรรจุใส่ลงในแคปซูลหมายเลข 1 ได้แบบพอดี แนะนำให้ทาน 1 แคปซูล ทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4 มื้อ สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสูงคือคนที่มีพ่อแม่มีประวัติป่วยเป็นเบาหวาน ควรทานยาดังกล่าวพร้อมกันกับมื้ออาหารใหญ่วันละ 1-2 เม็ด สรรพคุณจากยาสมุนไพรอบเชยนี้จะทำหน้าที่ช่วยในเรื่องของการย่อยอาหารและช่วยขับลมได้ค่ะ สำหรับอบเชยชนิดที่ ดร.แอนเดอร์สัน นำมาใช้เพื่อการทดลองทำยานั้นเป็นเปลือกอบเชยจีน Cassia (Cinnamomum cassia) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับชนิดที่มีอยู่ในป่าของไทยเราแต่หากสามารถนำเอาอบเชยชวามาทำเป็นยาได้จะดีที่สุด
สำหรับการนำเอาอบเชยมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นับเป็นวิธีที่ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้สารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกอบเชยจำหน่ายทั้งในแถบเอเชียเขตร้อนและรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ยังมีหลายฝ่ายเข้าใจว่าอบเชยที่ดีนั้นคือ อบเชยที่ไม่ได้ผ่านการฉายแสงเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนจึงควรนำเอาเปลือกอบเชยแห้งที่มีลักษณะม้วนอยู่เป็นหลอดนั้นมาบดให้ละเอียดเพื่อเก็บเอาไว้ใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายก็ได้ แต่ยังมีสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานคือ ควรใส่ใจเรื่องอาหารที่ควรงดทานควบคู่กับการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ หากปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งพร้อมกับเข้าพบแพทย์ตามนัดเสมอ การที่นำเอาอบเชยมาใช้ร่วมกันก็ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาได้ทราบด้วย
จากผลการศึกษาวิจัยสำหรับการใช้อบเชยในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารของเดือนธันวาคม พ.ศ.2546 พบว่าการนำอบเชยมาใช้ผู้ป่วยโรคเบาหวานผู้ป่วยนั้นๆ มีระดับน้ำตาล คลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดดีขึ้นระหว่าง 12-30% จึงกลายเป็นผลที่น่าพอใจอย่างมากสำหรับการนำเอามาใช้เพื่อป้องกันและใช้ร่วมกันกับยารักษาโรคเบาหวานในผู้ป่วยเบาหวานต่อไปได้อย่างปลอดภัย
สรรพคุณของอบเชยนอกจากช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว ยังช่วยให้อาการในท้องดีขึ้น เช่น บรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียดแน่น ช่วยขับลม รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องร่วง ช่วยย่อยขับปัสสาวะและย่อยไขมัน โดยมีส่วนเข้าไปกระตุ้นการสร้างน้ำย่อยให้ผลิตออกมาเพื่อใช้สำหรับย่อยไขมันให้มากขึ้นและเป็นไปได้ดีขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ อบเชยยังช่วยรักษาอาการอ่อนเพลีย ทำให้ร่างกายสดชื่น มีสารที่ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลงานจากการวิจัยของสหรัฐอเมริกที่ได้รับผลการยืนยันอย่างน่าไว้วางใจมาแล้ว
การทานผงอบเชยนอกเหนือจากการในรูปแบบเป็นผงบดบรรจุในแคปซูลแล้ว เรายังสามารถนำเอาอบเชยมาใช้สำหรับปรุงอาหารคาวหวานและปรุงยาได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะนำมาใส่ในเครื่องผัดอย่างผัดผงกระหรี่หรือต้มในเครื่องน้ำพะโล้ก็ยังได้ สำหรับการนำมาใส่เป็นส่วนผสมในของหวานนั้นก็ได้แก่ ใส่ลงในเบอรี่ ลูกอมและยังสามารถนำมาบดให้เป็นผงละเอียดเพื่อโรยหน้ากาแฟได้อีกด้วยค่ะ ในกรณีที่ต้องการใช้ด้วยตนเอง สำหรับการเลือกซื้อนั้นคุณควรซื้อชนิดแผ่นม้วนเป็นหลอดจากนั้นนำมาบดใช้ด้วยตัวเอง และควรเลือกแบบใหม่ๆ หรือยังไม่ถูกนำไปต้มสกัดเอารสและกลิ่นออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะหากเราเลือกซื้อไม่ดีก็อาจนำมาใช้รักษาอาการป่วยไม่ได้ผลนัก ดังนั้น ก่อนการเลือกซื้อจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพและชนิดในการนำเอาอบเชยมาใช้ด้วย และนอกเหนือจากการใชเปลือกอบเชยแล้วในตำราไทยยังระบุไว้ว่า รากและใบของอบเชยยังมีกลิ่นหอมรสสุขุมจึงสามารถนำมาต้มดื่มเพื่อบำรุงธาตุ ขับลมและช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้
อบเชย ส่วนที่ใช้คือ เปลือกของต้นอบเชย สีน้ำตาลปนแดง มีกลิ่นหอมนุ่มนวล รสขมหวานฝาด วิธีใช้ในการประกอบอาหาร ก่อนใช้ต้องคั่วหรือเผาก่อน จึงจะมีกลิ่นหอม ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ใส่ทั้งชิ้นหรือป่นละเอียดผสมในเครื่องแกง เช่น แกงมัสมั่น พะโล้ เนื้อตุ๋น เป็นต้น
สูตรอาหารที่ใช้อบเชย เช่น มัสมั่นเนิ้อ, พะโล้หมูใส่เต้าหู้, เนื้อตุ๋น, ไก่ตุ๋นยาจีน, ก๋วยเตี๊ยวไก่ตุ๋น
สรรพคุณ
ตำรายาไทย: น้ำต้มเปลือกต้น ดื่มแก้ตับอักเสบ อาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย ลำไส้เล็กทำงานผิดปกติ ขับพยาธิ มีสรรพคุณบำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย ชูกำลัง ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้บิด แก้ลมอัณฑพฤกษ์ แก้ไข้สันนิบาต ใช้ปรุงเป็นยานัตถุ์แก้ปวดหัว รับประทานแก้เบื่ออาหาร แก้จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย แก้ไอ แก้ไข้หวัด ลำไส้อักเสบ ท้องเสียในเด็ก อาการหวัด ปวดปะจำเดือน แก้อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน แก้ปวดประจำเดือน ห้ามเลือด บดเป็นผงโรยแผลกามโรค สมานแผล
อบเชยมีการนำมาใช้ในพิกัดยาไทย คือ พิกัดตรีธาตุ ประกอบด้วย กระวาน ดอกจันทน์ และอบเชย เป็นยาแก้ธาตุพิการ แก้ลม แก้เสมหะ แก้ไข้ พิกัดตรีทิพย์รส คือการจำกัดจำนวนของที่มีรสดี 3 อย่าง คือโกฐกระดูก เนื้อไม้ และอบเชยไทย มีสรรพคุณบำรุงธาตุ บำรุงกระดูก บำรุงตับปอดให้เป็นปกติ แก้ลมในกองเสมหะ บำรุงโลหิต พิกัดจตุวาตะผล คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ลม ประกอบด้วยผล 4 อย่าง คือ เหง้าขิงแห้ง กระลำพัก อบเชยเทศ และโกฐหัวบัว มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้พรรดึก แก้ตรีสมุฏฐาน ขับผายลม บำรุงธาตุ แก้ลมกองริดสีดวง พิกัดทศกุลาผล คือการจำกัดจำนวนตัวยาตระกูลเดียวกัน 10 อย่าง มีชะเอมทั้ง 2 (ชะเอมไทย ชะเอมเทศ) ลูกผักชีทั้ง 2 (ผักชีล้อม ผักชีลา) อบเชยทั้ง 2 (อบเชยไทย อบเชยเทศ) ลำพันทั้ง 2 (ลำพันแดง ลำพันขาว) ลูกเร่วทั้ง 2 (เร่วน้อย เร่วใหญ่) มีสรรพคุณ แก้ไข้เพื่อดีและเสมหะ ขับลมในลำไส้ บำรุงธาตุ บำรุงปอด แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมอัมพฤกษ์ อัมพาต บำรุงกำลัง บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น แก้ไข้
อบเชยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เปลือกหนาใบรูปหอกปลายและโคนแหลม เส้นใบตามยาว 3 เส้น ใบค่อนข้างหนาและผิวเรียบมันสีชมพูอมแดงและจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มเมื่อแก่ ดอกเล็กเป็นช่อสีเหลืองอ่อน ผลรูปไข่ ผิวเปลือกเรียบบาง อบเชยเทศมีการปลูกมากในศรีลังกา จัดเป็นอบเชยที่มีคุณภาพดีที่สุด
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
อบเชยชอบอากาศร้อนชื้น ดินควรเป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี สามารถขึ้นได้ในที่ราบจนกระทั่งสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 ฟุต อุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเแลี่ย 2,000 – 2,400 มิลลิเมตรต่อปี
การปลูก
การปลูกอบเชยใช้วิธีเพาะเมล็ด เมล็ดอบเชยเมื่อแกะออกจากผลแล้วควรเพาะทันที เพราะเมล็ดจะสูญเสียความงอกอย่างรวดเร็วมาก เมื่อต้นกล้างอกสูงประมาณ 15 เซนติเมตร หรือ อายุ 4 เดือนนับจากวันเพาะให้ย้ายลงถุง ดูแลรักษาอีก 4 – 5 เดือนจึงย้ายลงปลูกในแปลง ไถพรวนดินในแปลงปลูก ขุดหลุมปลูกขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋นคอกอัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อต้น ระยะปลูกที่ใช้ 2 x 2 เมตร
การดูแลรักษา
ในช่วงแรกอบเชยจะมีการเจริญเติบโตช้า จึงควรกำจัดวัชพืชเป็นระยะๆ คลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชื้นในดิน ในปีแรกควรให้ปุ๋ยใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 20 กิโลกรัมต่อต้นต่อปีแบ่งใส่ช่วงต้นฝนและปลายฝน ข้อควรระวังคือ หากใช้ปุ๋ยมากเกินไปจะมีผลกระทบต่อกลิ่นของต้นอบเชยได้
การเก็บเกี่ยวและผลผลิต
หลังจากปลูกไปแล้ว 2 – 3 ปี จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ กิ่งหรือต้นที่เหมาะสมสำหรับตัดคือ ต้นที่มีขนาดเท่านิ้วมือ ยาวประมาณ 6- 8 ฟุต ตัดให้เหลือโคนต้นสูงจากพื้นดิน 10 – 15 เซนติเมตร เพื่อให้แตกยอดใหม่ ซึ่งจะสามารถตัดได้ทุก 2 – 3 ปี และควรตัดในฤดูฝนซึ่งจะสามารถลอกเปลือกได้ง่าย วิธีลอกเปลือกโดยการใช้มีดกรีดตามความยาวกิ่ง 2 ด้าน ตรงกันข้ามกัน เพื่อแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แชะเปลือกออกจากกัน นำไปผึ่งไว้เมื่อเปลือกเริ่มแห้งจะหดตัว ม้วนงอ นำเปลือกมาม้วนเรียงต่อๆ กัน จนเป็นท่อนยาวแน่น นำไปตากแดด 3 วัน และผึ่งในที่ร่มอีก 3 วัน ผลผลิตอบเชยแห้ง 8 – 10 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
ที่มา
หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)
สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ป้ายคำ : สมุนไพร