อาทิตย์ ดรุณเดช ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงนครศรีธรรมราช

การจัดการพื้นที่สวนป่าด้วยระบบวนเกษตรและการรักษาพรรณไม้ท้องถิ่น นอกจากจะมีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจโดยตรงแล้ว ในด้านสิ่งแวดล้อมการปลูกและรักษาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเป็นการดำรงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ป่าพรุเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และ พื้นที่สีเขียวเป็นแนวกันลมให้แก่สวนไม้ผล สวนยางพาราและพื้นที่ เกษตรกรรมในชุมชน การจัดสวนป่าด้วยระบบวนเกษตรนับว่าเป็นการ อนุรักษ์ดินและน้ำอย่างถูกวิธี พื้นที่สวนป่าจึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น งู พังพอน และนกนานาชนิด เป็นต้น

เกษตรกรเป็นผู้นำในตำแหน่งประธานกรรมการและที่ปรึกษาหลายด้านในท้องที่อำเภอชะอวด ที่สำคัญ ได้แก่ อดีตประธานสหกรณ์ สวนป่าภาคเอกชนนครศรีธรรมราช จำกัด ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ทำสวนอำเภอชะอวด ประธานที่ปรึกษากรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น

เดิมพื้นที่สวนป่าเป็นพื้นที่พรุมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน แต่พอถึงฤดูแล้ง ถ้าน้ำแห้งขาดน้ำหล่อเลี้ยงในพื้นที่พรุก็จะทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อเพลิง และ เกิดปัญหาไฟไหม้อย่างรุนแรงได้ง่าย การจัดการจึงยุ่งยากลำบากดังนั้นเกษตรกร จึงมีความ พยายามฟันฝ่าอุปสรรคอย่างมากที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยการยกร่องคันดิน ปลูกต้นไม้และจัดระบบระบายน้ำให้ดี อีกทั้งร่องน้ำยังใช้เป็นแนวกันไฟที่จะลุกลาม จากบริเวณพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย

ปลูกเสม็ดขาวในพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ในเนื้อที่ 22 ไร่ ระยะปลูก 1 x 1 เมตร ปลูกเสม็ดขาวและตะเคียนทองบนท้องร่อง 3 ไร่ ระยะปลูก 1 x 1 เมตร และ 2 x 2 เมตร ตามลำดับ ปลูกกระถินเทพา 2 ไร่ ตะเคียนทอง 4 ไร่ ระยะปลูก 2 x 2 เมตร นอกนั้นปลูกพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ประมาณ 51 ชนิด เช่น ตะเคียนทอง ยางนา ทังช่อ พะยอม หลุมพอ และแพ ซึ่งผลเป็นอาหารของนก ฯลฯ กระจัดกระจายทั่วพื้นที่แบบ ป่าธรรมชาติเนื้อที่ 18 ไร่ ใช้ประโยชน์ที่ดินโดยระบบวนเกษตรเนื้อที่ 10 ไร่ โดยปลูกไม้ผล 8 ชนิด เช่น มังคุด หมาก จำปาดะ ฯลฯ ควบกับไม้ป่า หลายชนิด เช่นตะเคียนทอง ทังช่อ สะเดาเทียม กระถิน เทพา ฯลฯ ความสูงของต้นไม้ เฉลี่ย 10-12 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 8-10 เซนติเมตร ต้นไม้แต่ละต้นมีการเจริญเติบโตดี ลำต้นตรงสม่ำเสมอสวยงามไปตามธรรมชาติ มีอัตราการรอดตายสูง โรคราและแมลงไม่มี

แปลงสวนป่าเสม็ดขาวที่ปลูกในปี 2537 ซึ่งปี 2543 สามารถตัดขายได้เงินประมาณ 600,000 บาท รวมทั้งสามารถนำไม้มาสร้างเป็นโรงเรือนและต่อเรือได้ในบางส่วน หมากที่ปลูกในรูปวนเกษตร ขายได้ 12,000 บาท ปลาที่เลี้ยงไว้ตามร่องระบายน้ำในสวนป่า ขายได้ 8,000 บาท

เนื่องจากมีบ้านพักอยู่ภายในสวนป่า จึงทำให้มีเวลาในการจัดการบำรุงดูแล รักษาสวนป่าได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาโดยตัวเกษตรกรจะปฏิบัติงานเองเป็นหลักและมีรายงานภายในครัวเรือนช่วยอีกทางหนึ่ง มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นอยู่บ้างเล็กน้อย

เนื่องจากต้นไม้ในสวนป่าเจริญเติบโตดีแล้ว การบำรุงดูแลจึงมีเพียงการ กำจัดวัชพืชและป้องกันไฟจากการจัดการพื้นที่แบบผสมผสานในรูปแบบวนเกษตร จึงทำให้มีผลผลิตออกจากสวนป่าอย่างต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ ตลอดเวลา โดยในระยะแรกจะมีรายได้จาก ไม้ผล พืชสวน ชนิดต่างๆ ในระยะกลางจะมีรายได้จากการขายเสม็ดขาวท่อนละ 20-80 บาท ตามขนาดความโตและความยาว โดยเฉพาะตะเคียนทอง ซึ่งเจริญเติบโตดี เป็นต้น ไม้ประถิ่น ความโตประมาณ 100 ซม. อายุประมาณ 20 ปี ซื้อขายกันต้นละ 20,000 บาท ดังนั้นความยั่งยืนของอาชีพจึงมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

เป็นวิทยากรบรรยายและถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรกรรมและป่าไม้ ทั้งในและนอกสถานที่ โดยจัดพื้นที่สวนป่าเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และถ่ายทอดความรู้ร่วมกับป่าไม้ และเกษตรอำเภอท้องที่อำเภอชะอวด นอกจากนี้พื้นที่สวนป่ายังเคยใช้จัดทำสื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และป่าไม้ ของสำนักงานป่าไม้จังหวัด และสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. และร่วมดำเนินงานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลด้วย

เกษตรกรเคยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพปลูกสวนป่า ระดับจังหวัด ประจำปี 2542 และเกษตรกรดีเด่น สาขา
อาชีพปลูกสวนป่าระดับภาค (ภาคใต้) ประจำปี 2543 เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติระดับประเทศ ประจำปี ๒๕๔๔

นายอาทิตย์ ดรุณเดช (๐๗๕-๓๘๑๑๒) ที่อยู่ ๙๗/๑ ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ๘๐๑๘๐

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น