เกษตรธรรมชาติแบบเกาหลี

19 พฤศจิกายน 2556 ภูมิปัญญา 0

เกษตรธรรมชาติเกาหลีตามแนวทางของเกาหลีได้รับการเผยแพร่โดย ฮาน คิ โซ ผู้อำนวยการสถาบันเกษตรธรรมชาติจานอง (Janong Natural Farming Institute) เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเกษตรธรรมชาติเกาหลี ก่อนเกษียณได้มีการนำแนวคิดการใช้จุลินทรีย์ท้องถิ่นและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่ชุมชน เพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิตในระบบเกษตรธรรมชาติ โดยเริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง โดยฮาน คิว โซ เป็นคนหนุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ทำให้ต้องหยุดเรียนหนังสือ เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องปิดยาว ฮาน คิว โซ ได้สังเกตเห็นว่า เทคนิคการหมักพืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ในถังหมักของชาวเกาหลี เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง (การทำคิมจิ) โดยเมื่อนำของหมักดองไปรับประทานหมดแล้วก็จะเหลือแต่น้ำหมัก ซึ่งชาวเกาหลีมักจะเททิ้งก่อนทำความสะอาดถังหมักใหม่ ฮาน คิว โซ สังเกตว่าพืชผักที่ในนาและต้นไม้ข้างโรงหมักจะเจริญงอกงามดี เมื่อได้รับน้ำหมักจากการถนอมอาหาร ฮาน คิว โซ จึงได้รวบรวมสิ่งที่ได้จากการสังเกตและนำภูมิปัญญาของเกษตรกรเกาหลีมารวบรวมไว้เพื่อเผยแพร่มากกว่า 50 ปี โดยมีแนวคิดว่าการเกษตรที่พึ่งพาตนเองโดยใช้วัสดุเหลือใช้ในพื้นที่ร่วมกับจุลินทรีย์ท้องถิ่นจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้เกษตรกรสามารถจะพึ่งพาตนเองได้

janongcho

เกษตรธรรมชาติตามแนวทางเกาหลีเป็นรูปแบบเกษตรธรรมชาติวิธีหนึ่งที่มีแนวทางแตกต่างจากแนวทางของฟูกูโอกะ และโอกาดะ โดยจะมีความแตกต่างกัน ในส่วนของรูปแบบการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยการใช้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในพื้นที่ในป่าหมู่บ้าน หรือชุมชนใกล้เคียง มาเป็นตัวเพิ่มความหลากหลายของธรรมชาติในพื้นที่เกษตรกรรม มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดินแดงในป่า รำข้าว รวมถึงมูลสัตว์มาหมักร่วมกับจุลินทรีย์ท้องถิ่น แล้วนำไปใช้ปรับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการนำวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นทั้งในรูปของ จุลินทรีย์และวัสดุต่างๆ มาใช้ร่วมกันด้วยวิธีการหมักที่เห็นความรวดเร็ว โดยการเลือกใช้วัสดุที่สามารถสลายตัวได้รวดเร็วใช้แรงงานน้อยลง จึงเป็นแนวทางที่แตกต่างกับวิธีของฟูกูโอกะ และมีผลทำให้ได้มูลค่าตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงขึ้น ในระยะเวลาที่ไม่แตกต่างกับระบบการเกษตรแผนปัจจุบัน จึงทำให้ระบบเกษตรธรรมชาติเกาหลีแพร่หลายเป็นที่นิยมใช้กันมากในประเทศไทยและทั่วโลกมากกว่าวิธีของฟูกูโอกะที่เน้นการฟื้นฟูโดยจุลินทรีย์ในธรรมชาติเช่นกัน แต่ไม่เน้นการทำปุ๋ยหมักจากวัสดุต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณธาตุอาหารและขยายปริมาณจุลินทรีย์ ดังนั้นวิธีของฟูกูโอกะจึงใช้ระยะเวลาเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนที่มากกว่า จึงทำให้ไม่ทันใจเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนจากระบบเกษตรแผนปัจจุบันไปเป็นเกษตรธรรมชาติ

เกษตรธรรมชาติตามแนวทางของเกาหลี มีความใกล้เคียงกับเกษตรธรรมชาติคิวเซเป็นอย่างมาก ทั้งในรูปแบบของการปฏิบัติและวิธีการ โดยรูปแบบและวิธีการที่ต่างกันมีเพียงการเลือกใช้จุลินทรีย์ โดยเกษตรธรรมชาติคิวเซจะเลือกใช้จุลินทรีย์อีเอ็ม (EM) หรือจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่มีการผลิตสำเร็จรูปตามมาตรฐานเป็นแบบอย่างเดียวกัน แล้วจึงนำไปเผยแพร่ทางการค้านโดยผ่านองค์การศาสนา ซึ่งอีเอ็มจะมีการเผยแพร่เพื่อส่งเสริมแนวทางเกษตรธรรมชาติคิวเซรูแบบเป็นจุลินทรีย์เหมือนกันทั่วประเทศ ในขณะที่เกษตรธรรมเกาหลีจะเน้นการใช้จุลิทรีย์ท้องถิ่น (ไอเอ็มโอ หรือ Indigeneous Microorganism : IMOs) โดยมีหลักการที่ว่า จุลินทรีย์จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะมีความสมดุลในระบบนิเวศของชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่สมบูรณ์ เนื่องจากมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงมานับเป็นเวลาหลายพันปี

หลักการทำเกษตรธรรมชาติเกาหลี

1.) เข้าใจบทบาทของสิ่งมีชีวิตและทำงานร่วมกับธรรมชาติ
หลักการของการทำเกษตรธรรมชาติของ ฮาน คิว โช คือการทำงานร่วมกับธรรมชาติ เข้าใจกฎการทำการเกษตร รวบรวมองค์ความรู้ของมนุษย์ร่วมกับกรใช้แรงงานในการผสมผสานสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ ธาตุอาหารพืช แสงแดด อาหาร ดินและน้ำ สิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นในการทำเกษตรธรรมชาติ คือ การสังเกตและยอมรับในบทบาทของธรรมชาติ เพราะทุกชีวิตมีหน้าที่และมีบทบาทของตัวเอง โดยทุกชีวิตจะแยกจากกันไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศ ดังนั้นเราต้องเข้าใจถึงวัฎจักรของสิ่งมีชีวิตและยอมรับในความสามารถของพืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่รอบๆ ตัวตามศักยภาพที่มีอยู่อย่างเหมาะสมที่สุด คงเหลือไว้ให้มนุษย์รุ่นต่อๆ ไปได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติได้เช่นกัน

janongkorea

การทำเกษตรธรรมชาติของ ฮาน คิว โช จะเน้นให้เกษตรกรรู้จักบทบาทของตัวเองในการทำการเกษตร ในขณะเดียวกันก็ควรยอมรับในบทบาทของพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเกษตรแผนใหม่ในปัจจุบันที่เน้นการผลิตพืชและสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบใช้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยความสำคัญของการเกษตร คือ การทุ่มเทแรงงานไปเพื่อการผลิตอาหารสำหรับมนุษย์ และการมีสุขภาพที่ดีจากการทำงานร่วมกับธรรมชาติ

2.) รู้จักใช้สิ่งที่มีอยู่รอบๆ ตัวให้เป็นประโยชน์
ประเทศเกาหลีเป็นประเทศในเขตหนาว ซึ่งในรอบปีจะสามารถทำการเกษตรได้เพียง 4-5 เดือน ดังนั้นผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่จะถูกเก็บรักษาไว้ในรูปของหมักดอง ซึ่ง ฮาน คิว โช ได้ค้นพบโดยบังเอิญว่าน้ำที่ได้จากการทำผักดองของเกาหลีที่เรียกว่า กิมจิ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ จากการสังเกตว่าเมื่อเทน้ำเหล่านี้ทิ้งลงแปลงพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งถ้าพิจารณาส่วนประกอบในน้ำหมักดองจะพบว่ามีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อยู่เป็นจำนวนมาก ในน้ำผักดองนั้นประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการหมัก และสารอินทรีย์ต่างๆ ที่จุลินทรีย์ผลิตขึ้นมากมาย และสารอินทรีย์เหล่านั้นล้วนเป็นประโยชน์ต่อพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ เอนไซม์ ฮอร์โมน และธาตุอาหารต่างๆ เช่น กรดอะมิโน และวิตามิน เป็นต้น ทำให้เกิดความคิดการทำน้ำหมักจากเศษวัตถุดิบที่เหลือใช้หรือมีอยู่มากรอบๆ ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่เน้นการซื้อหามาจากแหล่งจากอื่น

janongimo

นอกจากนี้ยังพบว่าจุลินทรีย์มีอยู่รอบๆ ตัวเรา ซึ่งสามารถทำการเก็บเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ได้ในการทำเกษตรธรรมชาติ และสามารถเก็บได้เองในพื้นที่ โดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นจะเป็นจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพและปรับตัวทำงานได้ดีที่สุด จุลินทรีย์ที่ดีควรมีความหลากหลาย เกษตรธรรมชาติเกาหลีไม่เน้นการใช้จุลินทรีย์เฉพาะตัวใดตัวหนึ่งและไม่สนับสนุนการใช้จุลินทรีย์ต่างถิ่นที่ต้องซื้อหามาใช้เป็นปัจจัยในการผลิต

3.) ให้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมตามธรรมชาติองสิ่งมีชีวิต
กระบวนการผลิตมีความสำคัญมากกว่าในกาผลิต เนื่องจากรูปแบบของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ จะมีลักษณะเฉพาะ การทำเกษตรสมัยใหม่จะมีเป้าหมายอยู่ที่ปริมาณการผลิต โดยไม่ใส่ใจลักษณะเฉพาะและความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น การเลี้ยงไก่ในกรงตับ การเลี้ยงสุกรหรือวัวที่เป็นคอกพื้นซีเมนต์ ฯลฯ เกษตรกรควรใส่ใจ และยอมรับในความสุขของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รู้จักสังเกตสิ่งที่เป็นพฤติกรรมทางธรรมชาติของพืชที่ปลูก และสัตว์ที่เลี้ยง สิ่งนี้คือหัวใจของเกษตรธรรมชาติที่แท้จริง

janongmoo

4.) เชื่อในพลังของธรรมชาติ และมุ่งเน้นการผลิตโดยคำนึงถึงคุณภาพ
เกษตรธรรมชาติมีอิทธิพลอย่างมาก ในการกระตุ้นในเกษตรกรเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ในการผลิตพืชและสัตว์ แนวคิดของเกษตรธรรมชาติเป็นอะไรที่จะฟังดูแปลก และมีความเสี่ยง ไม่มีเหตุผล หรือไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยของเกษตรกรได้หมด ความเชื่อในวิธีเกษตรธรรมชิปรากฏออกในลักษณะที่เกษตรกรไม่คุ้นเคย เนื่องจากหลักการและสมมุติฐานนี้ใหม่ดูแล้ไม่น่าจะถูกต้อง แต่ในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมีความเป็นไปได้ ถ้าเกษตรกรเชื่อในพลังของธรรมชาติ เข้าและทำงานร่วมกันกับธรรมชาติ มนุษย์ต้องทำการเกษตรให้กลมกลืนอยู่กับธรรมชาติ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักมุ่งเน้นหวังที่จะให้ได้ผลผลิตจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้ได้ประมาณมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตที่ได้

5.) ปล่อยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ช่วยเหลือกันเอง และช่วยเหลือตัวเองก่อน
เกษตรกรควรให้ความช่วยเหลือ และดูแลให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ให้เหมาะสมและใช้วิธีการถูกต้อง เช่น ถ้ามีแมลงรบกวนก็ควรจะควบคุมตัวอ่อนของแมลง ถ้าวัชพืชเป็นปัญหาก็ควรใช้วิธีหยุดการงอดของเมล็ดวัชพืช การปล่อยให้วัชพืชต้องแข่งขันกันเองในแปลงปลูก จนเกินจุดสมดุลของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบๆ ก็เป็นวิธีการควบคุมวัชพืชวิธีหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าวัชพืชบางชนิดก็มีประโยชน์เช่นกัน

ที่มา : เกษตรธรรมชาติประยุกต์ รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ศูนย์ข้อมูลเกษตรธรรมชาติแม่โจ้
www.maejonaturalfarming.org

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น