เกษตรธาตุ 4

18 สิงหาคม 2555 ภูมิปัญญา 0

ภูมิปัญญาด้านการทำเกษตรธาตุ 4 นิยามเกษตรธาตุ 4 คือ คน พืช และสัตว์ มีธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มากน้อยต่างกัน การทำเกษตรธาตุ 4 จะต้องมีความรู้เรื่องธาตุและสามารถแยกแยะความเหมาะสมของพืชที่จะนำมาปลูกในหลุมเดียวกันและดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา

ปรัชญาเกษตรธาตุ 4 เราต้องทำด้วยตัวเราเอง ทำให้ปริมาณที่น้อย ๆ ทำเพื่อพอกินและมีความสุขเราต้องทำไปข้างหน้า อย่าทำถอยหลัง และก็ไม่ต้องลงทุนมากไม่ต้องรีบร้อน ทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องไปคิดถึงค่าอาหาร ค่าปุ๋ย ค่าแรง หรือแม้แต่ค่าหนี้ มีเงินเราก็กิน ไม่มีเงินเราก็กิน

ความรู้เรื่องธาตุ และธาตุของต้นไม้แต่ละชนิด

  • ธาตุน้ำ รสจืด เช่น มังคุด, กล้วย, จำปาดะ, อ้อย, มะม่วง, ชมพู่
  • ธาตุดิน รสฝาด ขม เช่น มะมุด, สะตอ, เหรียง, ใบยาสูบ
  • ธาตุลม รสหื่น เฝื่อน เช่น ลองกอง, ลางสาด, ผักเสี้ยนผี
  • ธาตุไฟ รสเผ็ด ร้อน เช่น ทุเรียน, พริก, ส้ม, ไฟเดือนห้า, พาหมี

เทคนิคเกษตรธาตุ 4

การขยายพันธุ์พืช
ปลูกด้วยเมล็ดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากเราจะได้ต้นที่สมบูรณ์ แข็งแรง ทนต่อโรค ทนต่อสภาพภูมิอากาศ ระบบรากสมบูรณ์ และที่สำคัญก็คือ ประหยัดเงิน ซึ่งบางครั้งเราอาจจะได้ต้นพันธุ์ที่ดีกว่าต้นแม่เสียด้วยซ้ำ ในการที่จะเอาเมล็ดมาปลูกควรเอามาปลูกให้หลายเมล็ดหรือหลากหลายถ้าหากเราปลูกเพียงไม่กี่เมล็ด บางครั้งมันอาจตายไป

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบรากของพืช
มีการดัดแปลงพื้นที่การปลูก และกระบวนการปลูก โดยคำนึงถึงระบบรากเป็นหลัก เช่น มังคุด จะเป็นพืชที่มีระบบราก การหาอาหารจะอยู่ลึกต่างกับพืชชนิดอื่น จึงได้นำไปปลูกร่วมกับทุเรียน ซึ่งมีระบบรากที่ตื้นแต่การหาอาหารของทุเรียน จะชอบหาอาหารบริเวณไกลจากต้น คือ บริเวณปลายเงาของทรงพุ่มของพืช ซึ่งหากทดลองขูดดูจะเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับต้นลองกอง, ลางสาด นั้นจะชอบกินอาหารบริเวณใกล้ ๆ กับลำต้น ซึ่งไม้ผลเหล่านี้มีระบบรากฝอยอยู่มาก ดังนั้นเราไม่ต้องไปกังวลเลยว่าหากปลูกร่วมกันแล้วต้นไม้มันจะแย่งอาหารกัน

วิถีชีวิตในเกษตรธาตุ 4
การเกษตรในปัจจุบัน ถ้าเราปลูกต้นใดแบบเดี่ยว ๆ หรือเชิงเดี่ยว ถ้ามันตายก็จะตายไปเลย การปลูกใหม่ก็โตไม่ทัน แต่ถ้าเราปลูกแบบรวมหรือหลุมเดียว 3 4 ต้น ต้นหนึ่งตายยังเหลืออีก 2 ต้น ซึ่งหากเรานำสวนเหล่านั้นมาเทียบกับสวนเกษตรธาตุ 4 ไม้จะอายุยืนกว่าและได้ผลผลิตที่คุ้มค่ากว่าและลงทุนน้อยกว่าแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่ต้องออกเงินเลย ไม่เหมือนกับการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งจะต้องใช้ทุนเยอะมาก เกษตรธาตุ 4 นั้น สำคัญเราต้องทำทุกวัน วันละนิดแบบพอดี เน้นความสุข เน้นการพึ่งตนเองแบบพอเพียง และที่สำคัญในการปลูกพืช เราจะต้องดูลักษณะของพื้นที่เป็นหลักว่าควรจะเพิ่มเติมหรือลดอะไร

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบธาตุ 4
มีความเชื่อว่าไม้ทุกชนิดมีธาตุ ทั้ง 4 อยู่ในตัว แต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งในแต่ละต้นมากน้อยแตกต่างกัน เช่น ต้นมังคุด มีธาตุดินกับธาตุน้ำมาก ธาตุไฟและธาตุลมน้อย ยางพารามีธาตุไฟมาก ต้นกล้วยมีธาตุน้ำมาก เป็นต้น จากการทดลองเอาไม้ผลชนิดต่าง ๆ มดทดลองปลูกรวมกันในส่วนได้พบว่า ต้นไม้ที่มีธาตุเหมือนกัน ไม่ควรเอามาปลูกร่วมกัน แต่ถ้าจะปลูกรวมกันต้องเอาไม้ผลอย่างอื่นมาร่วมด้วย หรือไม้ผลที่มีธาตุต่างกันมาร่วมกันได้ เช่น ถ้ามีธาตุไฟมาก ก็นำพืชที่มีธาตุน้ำมาปลูกใกล้กันเพื่อได้พึ่งพาต่อกัน ทำให้ออกดอกผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

รูปแบบการทำเกษตรคนจน
หลักการทำสวนเพื่อการเลี้ยงชีพด้วยการปลูกพืชหลายชนิด การปลูกพืชก็ควรจะมีความรู้เรื่องการให้ผลผลิตของพืชแต่ละชนิด เพราะว่าการทำเกษตรแบบนี้ ต้องให้ได้รับผลในช่วงระยะเวลาภายใน 3 เดือน ต้องการใช้ประโยชน์จากพืชชนิดใด ก็ปลูกลงไปแล้วค่อยเพิ่มชนิดของพืชที่ปลูกเพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลายาว ตัวอย่าง เช่น มีที่ดินเพียง 2 ไร่ ในที่ดินผืนนี้เราอยากจะปลูก ทุเรียน ลองกอง มังคุด สะตอ เราก็ไปซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูก โดยเราจะต้องเลือกกิ่งพันธุ์ที่มีกิ่งมาก ๆ แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีว่าในการซื้อกิ่งพันธุ์คนจะไม่ชอบซื้อ เนื่องจากมันยุ่งยากและดูเกะกะในการขนส่ง เมื่อเอาไปปลูกมันจะแย่งอาหาร หลักจากที่ได้กิ่งพันธุ์มาแล้ว เมื่อเรานำไปปลูกเราก็เตรียมกิ่งพันธุ์ไว้ หลังจากนั้นก็นำต้นที่ใส่ถุงไว้นำเอาไปทาบกิ่งที่เราซื้อมา เราไม่ต้องทาบมากเอาเพียง 2 กิ่ง ก็พอ ทาบให้หมดทุกต้น พอได้ประมาณ 3 เดือน ก็ตัดกิ่งเหล่านั้นออก แล้วนำกิ่งนั้นไปขาย เอากำไรเพียงต้นละ 10 บาท ก็พอ เอาเงินที่ขายกิ่งพันธุ์ไปซื้อผลไม้ที่ขายอยู่ในตลาดรับรองได้ว่าได้กินอย่างแน่นอน

การบำรุงรักษาและการป้องกัน
การดูแลไม่ต้องไปดูแลมากนักแต่ต้องดูแลทุกวัน แต่ในช่วงเวลาที่พืชพักตัว เราต้องดูแลเขา เช่น ปุ๋ย ถางหญ้าในแปลง ปุ๋ยที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็มีอยู่ 3 สูตร คือ

  • สูตรที่ 1 คือ ปุ๋ยตรา จระเข้
  • สูตรที่ 2 คือ ปุ๋ยคอก
  • สูตรที่ 3 คือ สูตรธรรมชาติ

ปุ๋ยตราจระเข้ ก็คือ จอบ มีด พร้า และคราด ให้ปุ๋ยในช่วงเข้าฤดูฝน โดยจะถางหญ้าในช่วงนี้เพราะว่าถ้าไปถางหญ้าในช่วงฤดูแล้งต้นไม้ที่เราเริ่มปลูกหรือต้นเล็ก ๆ มันจะตายหมดเพราะไม่มีความชื้นคอยให้น้ำหรือช่วยดูดความร้อนอยู่ในช่วงนั้น แต่ถ้าเราถางหญ้าในช่วงฤดูฝนพอเราถางจนหมดกว่าจะถึงฤดูแล้งต้นไม้ที่เราถางมันก็งอกออกมาพอดีทำให้ช่วงหน้าแล้งพื้นที่ของเราก็ยังชื้นอยู่เสมอ หรือหน้าดินไม่แห้ง สิ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนควรจะจำเอาไว้ ส่วนในเรื่องของการให้ปุ๋ยนั้น จะคำนึงถึงความเป็นธรรมชาติของต้นไม้ จึงปล่อยให้มันเจริญงอกงามตามธรรมชาติและจะใส่ปุ๋ยบำรุงรักษาเป็นครั้งคราวเท่านั้น โดยปุ๋ยที่ใช้ คือ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก เศษหญ้า ฟาง ไม้ผุ ฯลฯ ในการใส่ปุ๋ย คำนึงถึงช่วงของฤดูกาล เราไม่จำเป็นต้องดูช่วงระยะเวลามากนัก แต่เราต้องสังเกตด้วยว่าถ้าเราให้ปุ๋ยในช่วงฤดูแล้งนั้น ต้นไม้จะนำไปใช้ได้หรือไม่ ช่วงระยะเวลาที่ดีที่สุด คือ หลักจากที่ถางหญ้าในสวนแล้วช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ให้ปุ๋ยกับต้นพืชเหล่านั้น หรือในช่วงฤดูฝน สิ่งสำคัญเราต้องให้น้ำอยู่ตลอด หากเราเพิ่งปลูกเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในแปลงพื้นที่เกษตรใหม่ ๆ

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงความต่างระดับของพืช
ต้นไม้แต่ละต้นแต่ละชนิดจะขึ้นไม่เหมือนกัน เช่น ผลไม้ประเภทมังคุด ลองกอง ลางสาด จะเป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางและต้องการแสงแดดร่มปานกลาง สามารถปลูกถัดลำดับลงมาได้ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นไม้ชนิดอื่น ส่วนพืชชนิดสูงก็ปลูกให้อยู่รวมกันกับพืชที่ขึ้นในระดับปานกลางได้ ส่วนในพื้นที่ว่างเราก็สามารถปลูกพืชแซมประเภท พริก ตะไคร้ สมุนไพร ฯลฯ ได้อีกด้วย แต่ในการปลูกพืชนั้นเราต้องดูด้วยว่า พืชเหล่านั้นให้ผลผลิตตรงส่วนไหน บางชนิดอาจให้ผลที่ปลายยอด, ปลายกิ่ง บางชนิดอาจให้ผลตามกิ่งหรือตามลำต้น ดังนั้นเราควรดูให้แน่ใจก่อนที่จะนำมาปลูก และหากมีไม้ป่างอกขึ้นมาในแปลง เราก็ไม่ควรไปตัดทิ้งเนื่องจากไม้บางอย่างอาจเป็นประโยชน์กับเรากับพืชหรือกับสัตว์

kasettart4p

การทำเกษตรธาตุ 4 มีแนวคิดในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดังนี้

ย. ที่ 1. ยั่งยืนต่อชีวิต คือ ต้องทำให้ชีวิตทั้งคน พืช สัตว์ยั่งยืนแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ตาย ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดแล้วมีดับ การทำเกษตรรูปแบบนี้ใช้ปัญญานำ โดยคิดเสมอว่าทำแล้วไม่เป็นอันตรายกับคนอื่น เพราะทุกวันนี้เกษตรกรหลายคนทำโดยไม่มีความรู้หรือรู้แต่คาดไม่ถึง ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฉีดหญ้าในแปลงเพื่อจะปราบหญ้าแต่หารู้ไม่ว่าได้ทำลายพืชสมุนไพรและสัตว์ไปหลายชนิด และยังมีสารเคมีตกค้างทำให้ดินเสื่อมเวลาฝนตกสารเคมีก็จะไหลลงสู่พื้นที่ที่ต่ำกว่า (แปลงของคนใกล้เคียง) และจะไหลลงสู่แม่น้ำ ทำให้น้ำเสียและจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ ถ้าทุกคนสามารถลด ละ เลิกการใช้สารเคมีก็จะทำให้สุขภาพดี

ย. ที่ 2. ยั่งยืนต่อต้นน้ำ คือ ต้องคำนึงถึงป่าต้นน้ำ และมีวิธีจัดการป่า, น้ำอย่างถูกวิธีและต้องช่วยกันสร้างป่าเพื่อเพิ่มน้ำและปลูกไม้เสริมในแปลงของตัวเองเท่ากับเราได้รักษาป่าและต้นน้ำ ป่าอยู่รอด เราอยู่ได้

ย. ที่ 3. ยั่งยืนต่อดิน คือ ไม่ใช้สารเคมีทำลานหน้าดิน (ปุ๋ยเคมีและยาฉีดหญ้า) เพราะสารเคมีตกค้างทำให้ดินเสื่อมเมื่อใช้ไปนาน ๆ ก็ต้องเพิ่มปริมาณการใช้หรือต้องลงทุนทั้งเงินทั้งแรงมากขึ้น

ย. ที่ 4. ยั่งยืนต่อผลผลิต คือ การปลูกพืชหลายชนิดในแปลงให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดปี เช่น ไม้ผล, ไม้ใช้สอย, ผักพื้นบ้าน, ไม้เศรษฐกิจ ฯลฯ

การปลูกไม้ที่ทำให้มีรายได้ตลอดปี

  • เดือนมกราคม เมษายน คือ มะนาว, กล้วย, ผักพื้นบ้าน ฯลฯ
  • เดือนพฤษภาคม มิถุนายน คือ ส้มโอ, ละมุด, กล้วย, ผักพื้นบ้าน ฯลฯ
  • เดือนสิงหาคม ธันวาคม คือ ทุเรียน, เงาะ, กล้วย, ผักพื้นบ้าน ฯลฯ

ประโยชน์ที่ได้รับ

  1. ลดความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาพลม ฟ้า อากาศ
  2. ลดความเสี่ยงจากความแปรผันของราคาผลผลิต
  3. ลดความเสี่ยงต่อการระบาดของศัตรูพืช
  4. ช่วยเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ตลอดปี
  5. ช่วยก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ
  6. ช่วยกระจายการใช้แรงงาน
  7. ช่วยก่อให้เกิดการหมุนเวียน (Recycling) ของกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบไร่นา
  8. ช่วยให้เกษตรกรมีอาชีพเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน
  9. ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ องค์ความรู้และภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวบ้าน สำนักช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น