ระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM

3 มกราคม 2556 ภูมิปัญญา 0

เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM) ซึ่งได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM (IFOAM Accreditation Programme) ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อให้บริการรับรองระบบงานแก่หน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ทั่วโลก ต่อมา ในปี พ.ศ. 2540 สหพันธ์ฯ ได้จัดตั้ง IOAS (International Organic Accreditation Service) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการให้บริการรับรองระบบงานนี้ ภายใต้กรอบของโครงการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM โดย IOAS จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ifoam

ระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสุขภาพดิน ระบบนิเวศ และผู้คน เกษตรอินทรีย์พึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีผลกระทบทางลบ เกษตรอินทรีย์ผสมผสานองค์ความรู้พื้นบ้าน นวัตกรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นะรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกผู้คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
มติที่ประชุมใหญ่ IFOAM มิถุนายน 2551 อิตาลี

นัยของเกษตรอินทรีย์ตามนิยามของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติมองเกษตรอินทรีย์ในฐานะของการเกษตรแบบองค์รวม ที่ให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพราะความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยแยกออกจากความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรและสังคมโดยรวม

หลักการเกษตรอินทรีย์
เช่นเดียวกับคำนิยาม มีหลายฝ่ายที่พยายามสรุปหลักการเกษตรอินทรีย์ แต่หลักการเกษตรอินทรีย์ที่ยอมรับกันทั่วไปคือ หลักการที่กำหนดโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Organic Agriculture Movements IFOAM) โดยสหพันธ์ฯ ได้ระดมความคิดเห็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านเกษตรอินทรีย์โดยตรงจากทั่วโลก ร่างหลักการเกษตรอินทรีย์นี้ได้รับการนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหพันธ์ฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 และที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติรับรองหลักการเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว โดยหลักการเกษตรอินทรีย์ของสหพันธ์ฯ ประกอบด้วยหลักการ 4 ข้อสำคัญ คือ สุขภาพ, นิเวศวิทยา, ความเป็นธรรม, และการดูแลเอาใจใส่ (health, ecology, fairness and care)

(ก) มิติด้านสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้กับสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมของดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และโลก

สุขภาวะของสิ่งมีชีวิตแต่ละปัจเจกและของชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกันกับสุขภาวะของระบบนิเวศ การที่ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์จะทำให้พืชพรรณต่างๆ แข็งแรง มีสุขภาวะที่ดี ส่งผลต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ที่อาศัยพืชพรรณเหล่านั้นเป็นอาหาร

สุขภาวะเป็นองค์รวมและเป็นปัจจัยที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต การมีสุขภาวะที่ดีไม่ใช่การปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมถึงภาวะแห่งความเป็นอยู่ที่ดีของกายภาพ จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อมโดยรวม ความแข็งแรง ภูมิต้านทาน และความสามารถในการฟื้นตัวเองจากความเสื่อมถอยเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสุขภาวะที่ดี

บทบาทของเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตในไร่นา การแปรรูป การกระจายผลผลิต หรือการบริโภค ต่างก็มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กสุดในดินจนถึงตัวมนุษย์เราเอง เกษตรอินทรีย์จึงมุ่งที่จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์ได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ เกษตรอินทรีย์จึงเลือกที่จะปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เวชภัณฑ์สัตว์ และสารปรุงแต่งอาหาร ที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ

(ข) มิติด้านนิเวศวิทยา เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของระบบนิเวศวิทยาและวัฐจักรแห่งธรรมชาติ การผลิตการเกษตรจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และช่วยทำให้ระบบและวัฐจักรธรรมชาติเพิ่มพูนและยั่งยืนมากขึ้น

หลักการเกษตรอินทรีย์ในเรื่องนี้ตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ที่มองเกษตรอินทรีย์ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศที่มีชีวิต ดังนั้น การผลิตการเกษตรจึงต้องพึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยาและวงจรของธรรมชาติ โดยการเรียนรู้และสร้างระบบนิเวศสำหรับให้เหมาะสมกับการผลิตแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของการปลูกพืช เกษตรกรจะต้องปรับปรุงดินให้มีชีวิต หรือในการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะต้องใส่ใจกับระบบนิเวศโดยรวมของฟาร์ม หรือในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรต้องใส่ใจกับระบบนิเวศของบ่อเลี้ยง

การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า จะต้องสอดคล้องกับวัฐจักรและสมดุลทางธรรมชาติ แม้ว่าวัฐจักรธรรมชาติจะเป็นสากล แต่อาจจะมีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นนิเวศได้ ดังนัน การจัดการเกษตรอินทรีย์จึงจำเป็นต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขท้องถิ่น ภูมินิเวศ วัฒนธรรม และเหมาะสมกับขนาดของฟาร์ม เกษตรกรควรใช้ปัจจัยการผลิตและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ซ้ำ การหมุนเวียน เพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน

ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ควรสร้างสมดุลของนิเวศการเกษตร โดยการออกแบบระบบการทำฟาร์มที่เหมาะสม การฟื้นฟูระบบนิเวศท้องถิ่น และการสร้างความหลากหลายทั้งทางพันธุกรรมและกิจกรรมทางการเกษตร ผู้คนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การแปรรูป การค้า และการบริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ควรช่วยกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่ของภูมินิเวศ สภาพบรรยากาศ นิเวศท้องถิ่น ความหลากหลายทางชีวภาพ อากาศ และน้ำ

(ค) มิติด้านความเป็นธรรม เกษตรอินทรีย์ควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่มีความเป็นธรรมระหว่างสิ่งแวดล้อมโดยรวมและสิ่งมีชีวิต

ความเป็นธรรมนี้รวมถึงความเท่าเทียม การเคารพ ความยุติธรรม และการมีส่วนในการปกปักพิทักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่ ทั้งในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในหลักการด้านนี้ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับควรมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรม ทั้งเกษตรกร คนงาน ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้า และผู้บริโภค ทุกผู้คนควรได้รับโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนช่วยในการรักษาอธิปไตยทางอาหาร และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เกษตรอินทรีย์ควรมีเป้าหมายในการผลิตอาหารและผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่ดี

ในหลักการข้อนี้หมายรวมถึงการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสภาพการเลี้ยงให้สอดคล้องกับลักษณะและความต้องการทางธรรมชาติของสัตว์ รวมทั้งดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างเหมาะสม

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคควรจะต้องดำเนินการอย่างเป็นธรรม ทั้งทางสังคมและทางนิเวศวิทยา รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์ปกป้องให้กับอนุชนรุ่นหลัง ความเป็นธรรมนี้จะรวมถึงว่า ระบบการผลิต การจำหน่าย และการค้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องโปร่งใส มีความเป็นธรรม และมีการนำต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาเป็นต้นทุนการผลิตด้วย

(ง) มิติด้านการดูแลเอาใจใส่ การบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ควรจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย

ifoamkaset

เกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่มีพลวัตรและมีชีวิตในตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ควรดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตในการผลิต แต่ในขณะเดียวกันจะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนี้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ จะต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างจริงจัง และแม้แต่เทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้ว ก็ควรจะต้องมีการทบทวนและประเมินผลกันอยู่เนืองๆ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เรายังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีพอเกี่ยวกับระบบนิเวศการเกษตร ที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้น เราจึงต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยความระมัดระวังเอาใจใส่

ในหลักการนี้ การดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการ การพัฒนา และการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในเกษตรอินทรีย์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจว่า เกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยและเหมาะกับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมถ่ายทอดกันมาก็อาจมีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้เช่นกัน เกษตรกรและผู้ประกอบการควรมีการประเมินความเสี่ยง และเตรียมการป้องกันจากนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และควรปฏิเสธเทคโนโลยีที่มีความแปรปรวนมาก เช่น เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีต่างๆ จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและระบบคุณค่าของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ และจะต้องมีการปรึกษาหารืออย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท.
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. เป็นมาตรฐานที่จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการมาตรฐานของ มกท. ตามแนวทางมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขั้นพื้นฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements หรือ IFOAM) โดยการรับรองของสมัชชาสมาชิก มกท. มาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และต่อมามีการแก้ไขปรับปรุงอีกหลายครั้ง ปัจจุบัน มกท. มีมาตรฐานครอบคลุมในเรื่องการผลิตพืชอินทรีย์ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ การเก็บผลิตผลจากธรรมชาติ การผลิตปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า การเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าอินทรีย์ และรายการอาหารอินทรีย์ ซึ่งทำให้ มกท. สามารถให้บริการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตในระดับฟาร์ม การนำผลิตผลจากฟาร์มมาแปรรูปในโรงงาน และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้

  1. คำจำกัดความ เป็นความหมายของคำต่าง ๆ ที่ใช้ในมาตรฐานฉบับนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการมีความเข้าใจในความหมายของคำดังกล่าวตรงกัน
  2. หลักการและความมุ่งหมายในการผลิตและการแปรรูปเกษตรอินทรีย์ เป็นเป้าหมายในการผลิตแบบอินทรีย์ที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงในขณะที่ทำการผลิตแบบอินทรีย์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
  3. แนวทางปฏิบัติ เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่ มกท. แนะนำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติ แต่มิได้บังคับหรือมีผลต่อการตัดสินใจรับรองมาตรฐาน
  4. มาตรฐาน เป็นข้อกำหนดและเงื่อนไขขั้นตํ่าที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน โดย มกท. จะใช้มาตรฐานเหล่านี้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินรับรอง การผลิตและการประกอบการของท่าน
  5. ภาคผนวก เป็นส่วนของเนื้อหาเพิ่มเติม ซึ่งแบ่งออกเป็นภาคผนวกต่างๆ ดังนี้
  • ภาคผนวก 1 เป็นรายการปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ในกระบวนการผลิตอินทรีย์ ทั้งปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน ผลิตภัณฑ์และวิธีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและศัตรูในโรงเก็บ สารเร่งการเจริญเติบโต ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ และสารปรุงแต่งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องใช้ปัจจัยการผลิตเฉพาะตามรายการที่ระบุไว้หรือมีส่วนประกอบตามที่ระบุไว้ในภาคผนวกนี้เท่านั้น
  • ภาคผนวก 2 เป็นรายการสารปรุงแต่งและสารช่วยแปรรูปที่อนุญาตให้ใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยผู้แปรรูปต้องใช้สารเฉพาะที่ระบุไว้ในภาคผนวกนี้เท่านั้น และต้องใช้กับผลิตภัณฑ์ตามที่ระบุไว้ด้วย
  • ภาคผนวก 3 เป็นรายการปัจจัยการผลิตที่อนุญาตให้ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าอินทรีย์ ทั้งวัสดุที่ใช้ในการป้องกันกำจัดโรคและศัตรู และวัสดุที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร
  • ภาคผนวก 4 เป็นแนวทางการประเมินปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่ มกท. อาจอนุญาตให้ใช้เพิ่มเติมได้ในกรณีที่ปัจจัยการผลิตดังกล่าวมิได้ระบุอยู่ในภาคผนวก 1และ 3โดยผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องมีรายละเอียดส่วนประกอบของปัจจัยการผลิตดังกล่าวและแจ้งให้ มกท. ทราบ เพื่อพิจารณาว่าสามารถอนุญาตให้ใช้ได้หรือหรือไม่
  • ภาคผนวก 5 เป็นแนวทางการประเมินสารปรุงแต่งและสารช่วยแปรรูปอื่นๆ ที่ มกท. อาจอนุญาตให้ใช้เพิ่มเติมได้ในกรณีที่สารดังกล่าวมิได้ระบุอยู่ในภาคผนวก 2และ 3โดยผู้ประกอบการจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับสารดังกล่าวและชี้แจงความจำเป็นที่จะต้องใช้สารดังกล่าวให้ มกท. พิจารณาตามแนวทางในภาคผนวกนี้
  • ภาคผนวก 6 แนวทางการพิจารณาปริมาณโลหะหนักในปุ๋ย เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณารับรองปุ๋ยอินทรีย์
  • ภาคผนวก 7 มาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในวัตถุดิบจากสัตว์นํ้าที่นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์นํ้าอินทรีย์
  • ภาคผนวก 8 มาตรฐานการควบคุมการระบายนํ้าทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า
  • ภาคผนวก 9 เป็นหลักเกณฑ์การปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. ซึ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นในการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานได้ โดยส่งข้อคิดเห็นมายัง มกท. (ตามแบบฟอร์มท้ายเล่ม) เพื่อให้อนุกรรมการมาตรฐาน มกท. พิจารณาและปรับปรุงแก้ไขตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในภาคผนวกนี้

คำจำกัดความ

  • การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว (handling) ได้แก่ การผึ่งแห้ง การตากธัญชาติ การทำความสะอาด การตัดแต่ง การคัดเลือก การบรรจุผลิตภัณฑ์ การจัดเก็บ และการขนส่ง
  • การแปรรูป (processing) ได้แก่ การต้ม การตากแห้ง การอบ การผสม การบด การอัด การสี การทำให้เป็นของเหลว การหมัก การดอง การแช่อิ่ม การเคี่ยว การกวน การทอด ฯลฯ
  • การผลิตคู่ขนาน (parallel production)หมายถึง การปลูก การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว และ การแปรรูปผลิตผลและผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน ทั้งแบบอินทรีย์และแบบอื่น ซึ่งการผลิตแบบอื่นนี้หมายรวมถึงการผลิตแบบเคมี ระยะปรับเปลี่ยน ธรรมชาติ และอินทรีย์ที่ไม่ขอรับรอง
  • เกษตรทั่วไป(conventional agriculture) หมายถึง ระบบการผลิตใด ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการรับรองเป็นอินทรีย์หรืออินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยน
  • เกษตรอินทรีย์(organic agriculture) หมายถึง ระบบการผลิตที่ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเป็นระบบการผลิตที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรฐาน มกท.
  • ความเป็นธรรมในสังคม (social justice) หมายถึง สิทธิทางสังคมขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างและคนงานในฟาร์มเกษตรอินทรีย์และการประกอบการพึงได้รับจากผู้ผลิต/ผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างอย่างเป็นธรรม รวมถึงการที่ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการควรได้รับความเป็นธรรมทางการค้า เช่น ราคาที่เป็นธรรม จากผู้ซื้อหรือผู้ค้าด้วย
  • ผลิตผล(produce)หมายถึง ผลิตผลที่ได้จากการเพาะปลูกหรือการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติ และ/หรือผ่านการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว
  • ผลิตภัณฑ์(product)หมายถึง ผลิตผลที่ผ่านกระบวนการแปรรูป
  • ผู้ผลิต(producer/ farmer)หมายถึง ผู้ทำการปลูกพืช ดูแลรักษา จนกระทั่งเก็บเกี่ยว และจำหน่าย
  • ผู้ประกอบการ(operator)หมายถึง ผู้ที่ดำเนินกิจการในการนำผลิตผลเกษตรอินทรีย์มาทำการแปรรูป และจำหน่าย ทั้งนี้รวมทั้ง ผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้จัดจำหน่าย ผู้ส่งออก และผู้ผลิตปัจจัยการผลิตด้วย
  • ผู้รับช่วงผลิต(sub-contractor)หมายถึง ผู้ถูกว่าจ้างให้ทำการผลิต แปรรูป หรือจัดการผลิตผลเกษตรอินทรีย์ในบางขั้นตอน
  • พืชล้มลุก(annual crop)หมายถึง พืชที่มีวงจรชีวิตสั้น เก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นภายในฤดูการเพาะปลูกเดียว
  • พืชยืนต้น(perennial crop) หมายถึง พืชที่มีอายุยาวกว่า 1 ปี และสามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้ต่อเนื่องมากกว่าฤดูการผลิตเดียว
  • พันธุวิศวกรรม(genetic engineering) หมายถึง กระบวนการตัดต่อและปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรม (gene) ด้วยวิธีการทางชีวโมเลกุล โดยทำให้สารพันธุกรรมของพืช สัตว์ จุลชีพ เซลล์ และหน่วยสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ได้จากการผสมพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ หรือการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ เทคนิคในการทำพันธุวิศวกรรมนี้ ได้แก่ การทำดีเอ็นเอลูกผสม (recombinant DNA), การหลอมของเซลล์ (cell fusion), ไมโครอินเจคชั่น (micro injection) และแมคโครอินเจคชั่น (macro injection), การมีถุงหุ้ม (encapsulation), การขาดหายของจีน (gene deletion) และการเพิ่มจำนวนจีน (gene doubling) และไม่รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่ได้มาจากเทคนิคต่อไปนี้คือ การผสมพันธุ์แบบจับคู่ (conjugation), การถ่ายโอนจีน (transduction) และ การเกิดลูกผสมตามธรรมชาติ (natural hybridization)
  • ปัจจัยการผลิต(input)หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ย สารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมถึง สารปรุงแต่ง และสารช่วยแปรรูปที่ใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์
  • ปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า(commercial input)หมายถึง ปัจจัยการผลิตซึ่งผ่านกระบวนการผลิตและปรุงแต่งเพื่อประโยชน์ทางการค้า
  • แปลง (field) หมายถึง พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกที่มีอาณาเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน
  • ฟาร์ม (farm)หมายถึง พื้นที่ที่ทำเกษตรกรรมทั้งหมด(ทั้งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์) ซึ่งรับผิดชอบการผลิตโดยบุคคลคนเดียวกัน ทั้งที่เช่าจากผู้อื่นเพื่อทำการผลิตหรือมีสิทธิ์ทำการผลิตโดยมิได้เป็นเจ้าของ
  • รายการอาหารอินทรีย์( organic menu) หมายถึง อาหารที่มีการปรุงเพื่อการบริโภคโดยใช้วัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์และได้รับการรับรองจาก มกท. หรือเทียบเท่า
  • ระยะการปรับเปลี่ยน(conversion period)หมายถึง ช่วงเวลานับจากเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐาน มกท. จนกระทั่งได้รับการรับรองผลิตผลว่าเป็นเกษตรอินทรีย์
  • วัตถุดิบ(raw material)หมายถึง ส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์แปรรูป ที่ไม่ใช่สารปรุงแต่ง
  • ส่วนผสม(ingredient)หมายถึง สารใดๆ ก็ตาม รวมทั้งวัตถุดิบและสารปรุงแต่งที่ใช้ในการแปรรูป และยังปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์สุดท้าย โดยอาจเปลี่ยนรูปไปแล้วก็ตาม
  • สารช่วยในการแปรรูป(processing aid)หมายถึง สารหรือวัสดุใดๆ ที่ใช้ช่วยในการแปรรูปอาหาร โดยไม่ได้นำมาใส่หรือใช้เพื่อบริโภคเหมือนกับส่วนผสมของอาหาร แต่ต้องการนำมาใช้ช่วย แปรรูปวัตถุดิบ อาหาร หรือส่วนผสม เพื่อให้ได้ผลในทางเทคนิคตามที่ต้องการ และอาจพบหลงเหลือในผลิตภัณฑ์สุดท้ายได้โดยไม่ตั้งใจหรือหลีกเเลี่ยงไม่ได้
  • สารปรุงแต่ง(food additive)หมายถึง สารที่ช่วยเสริม หรือปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือสารใด ๆ ที่ผสมเข้าไปในผลิตภัณฑ์แล้ว มีผลต่อคุณภาพการเก็บรักษา กลิ่น สี รสชาติ ความเข้ากัน หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ของผลิตภัณฑ์
  • สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุ์(genetically modified organism)หมายถึง สิ่งมีชีวิต ทั้งพืช สัตว์ และ จุลชีพที่ได้มาจากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม
  • ไฮโดรโปนิค( hydroponic)หมายถึง วิธีการปลูกพืชที่ไม่ใช้ดิน และให้พืชดูดสารละลายแร่ธาตุเข้าทางรากพืชโดยตรง

หลักการและความมุ่งหมายในการผลิตและการแปรรูปเกษตรอินทรีย์
เกษตรอินทรีย์ หมายรวมถึง เกษตรธรรมชาติ และเกษตรนิเวศ ด้วย มีหลักการและความมุ่งหมายที่สำคัญดังนี้

  • พัฒนาระบบการผลิตไปสู่แนวทางเกษตรผสมผสานที่มีความหลากหลายของพืชและสัตว์
  • พัฒนาระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองในเรื่องของอินทรียวัตถุและธาตุอาหารภายในฟาร์ม
  • ฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้ทรัพยากรในฟาร์มมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในฟาร์มและและความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม
  • ป้องกันและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติที่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • สนับสนุนระบบการผลิตและกระบวนการจัดการทุกขั้นตอน ที่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม
  • ยึดหลักการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปที่เป็นวิธีการธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

 

มกท. ได้รับการรับรองระบบงานเกษตรอินทรีย์ IFOAM นี้จาก IOAS ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยเป็นหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์แห่งแรกในเอเชียที่ได้รับการรับรองระบบ งานนี้ ในระบบนี้ มกท. สามารถให้บริการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ในขอบข่ายเกี่ยวกับ การเพาะปลูกพืช การเก็บผลผลิตจากป่าและพื้นที่ธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปและจัดการผลผลิต และปัจจัยการผลิตเพื่อการค้า

ผู้ประกอบการ ที่ได้รับการรับรองจาก มกท. ตามระบบนี้ จะสามารถใช้ตรารับรองเกษตรอินทรีย์ของ มกท. ร่วมกับตรา “IFOAM Accredited” (ต้องใช้ร่วมกันเสมอ)

ifoamtra

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการ ส่งออก มีหลายประเทศที่ผู้นำเข้าต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานใน ระบบนี้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

เอกสารข้อกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับระบบนี้คือ “มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท.”
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. ฉบับ 2012 อนุมัติโดยกรรมการบริหาร มกท. วันที่ 20 มิถุนายน 2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555

มาตรฐานเกษตรอินทรย์ 2012

เป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. ที่ปรับปรุงฉบับล่าสุด เมื่อกลางปี 2555 โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการผลิตพืช การเก็บผลผลิตจากป่า การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การแปรรูปและการจัดการ เมนูในร้านอาหาร ปัจจัยการผลิตเชิงการค้า การเลี้ยงสัตว์ และการเลี้ยงผึ้ง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ภูมิปัญญา

แสดงความคิดเห็น