เข็ม เดิมเป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาใต้ จัดว่าเป็นไม้พุ่ม ดอกเข็มเป็นไม้พื้นเมืองของพื้นที่เขตร้อน ดอกเข็มจึงเป็นดอกไม้ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ดอกเข็มมีหลายสี ทั้งสีแดง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู และสีขาว จะพบเข็มว่ามีการปลูกอยู่ทั่วไป ดอกของดอกเข็มจะอยู่รวมกันเป็นช่อ สาเหตุหนึ่งที่ดอกเข็มเหมาะกับประเทศไทยมากเพราะเป็นดอกไม้ที่ทนอากาศแห้งแล้งได้ดี ไม่ต้องให้น้ำมาก ชอบดินร่วนปนทราย บางครั้งก็จะเห็นว่ามีการปลูกดอกเข็มประดับตามข้างทางหรือเกาะกลางถนน นอกจากนั้นดอกเข็มยังสามารถนำมาปลูกเป็นแนวรั้ว ปลูกประดับสวนหรือปลูกเพื่อตัดตกแต่ง หรือจะปลูกเป็นไม้กระถางก็ได้ ดอกเข็มมีหลายพันธุ์เช่น เข็มแดง เข็มเขียว เข็มหลวง เข็มอินเดีย เข็มชมพูนุช เข็มม่วง เข็มโคม เข็มเศรษฐี เข็มพิกุล เป็นต้น
เข็มขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixora ebarbata Craib.
ชื่ออื่น ๆ : เข็มไม้ (ไทย),เข็มพระราม (กรุงเทพ),เข็มปลายสาน(ตานี),เข็มขาว(พายัพ)
เข็มแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ixora Lobbii Loud.
ชื่ออื่นๆ : เงาะ (สุราษฎร์),เข็มแดง (ยะลา) , ตุโดปุโยบูเก๊ะ (มลายู), จะปูโย (มะละยู-นรา)
เข็มเหลือง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ascocentrum Minatum ( Lindl.)
ชื่ออื่น ๆ : เข็มแสด , พุ่มสุวรรณ , เข็มเหลือง
วงศ์ : RUBIACEAE
ลักษณะทั่วไป
ต้นเข็มเป็นพรรณไม้ยืนต้นมีพุ่มขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางขนาดลำต้นมีความสูงประมาณ 3-5 เมตร ลำต้นเป็นต้นเดี่ยวหรือแตกกอแผ่สาขาออกไปเป็นต้น ต้นเล็กกลมขนาดเส้นรอบวงประมาณ 4-10 เซนติเมตร ลำต้นเรียบสีน้ำตาล กิ่งยอดมีสีเขีย วแตกกิ่งตรงขึ้นด้านบน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่สลับกันรอบต้นและกิ่ง ใบแข็งเปราะมีสีเขียวสด โคนใบมนปลายใบแหลม ลักษณะใบมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันตามชนิดพันธุ์ออกดอกเป็นช่อออกตรงส่วนยอดซึ่งมีก้านดอกชูไว้ ภายในช่อประกอบด้วยดอกเล็กๆ ลักษณะ เป็นหลอดเล็ก ๆ ซึ่งมีกลีบอยู่ส่วนบน ประมาณ 4-5 กลีบ กลีบเล็กแหลม ลักษณะดอกและสีสันแตกต่างกันไป
ฤดูกาลออกดอก: ออกดอกตลอดปี
เวลาที่ดอกหอม : หอมตลอดวัน
นอกจากนี้ดอกเข็มยังเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งด้วย ดอกเข็มถูกจัดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับไหว้ครู ไม่เพียงแค่ชื่อเข็มเท่านั้น ลักษณะดอกของดอกเข็มก็ยังมีปลายแหลมคล้ายๆเข็ม เชื่อว่าจะทำให้ปัญญาเฉียบแหลม
ดอกเข็มสามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้หลายวิธี เมื่อปลูกเป็นไม้กระถางก็จะสามารถจำกัดขนาดต้นได้ ดูแลและตัดตกแต่งได้ง่ายและยังสามารถย้ายที่ปลูกได้รวดเร็ว เมื่อปลูกประดับสวนก็จะได้ต้นที่มีขนาดต้นที่ใหญ่ขึ้นเพราะรากจะกระจายได้มากขึ้นและหาอาหารมาเลี้ยงต้นได้มากขึ้น ต้นที่ใหญ่ขึ้นก็จะให้จำนวนดอกที่มากตามและก็จะสามารถตัดตกแต่งได้หลายรูปทรงหลายแบบ นอกจากนี้ต้นดอกเข็มยังสามารถปลูกเป็นแนวรั้วได้อีกด้วย ก็จะได้รั้วที่มีดอกสวยงามแต่ก็ต้องตัดตกแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ
ดอกเข็มไม่เพียงปลูกให้ความสวยงามได้เท่านั้นแต่ยังสามารถนำมาทำเป้นยารักษาโรคได้อีกด้วย ราก ใบ ดอก สามารถนำมาทำเป็นยาสมุนไพรได้ ดอกเข็มยังสามารถนำมาชุปแป้งทอดเป็นอาหารได้ด้วย
การขยายพันธุ์ดอกเข็ม
การขยายพันธุ์ดอกเข็ม สามารถทำได้หลายวิธีทั้ง การเพาะเมล็ด การตอน การปักชำ วิธีที่ได้รับความนิยมมากคือการปักชำ สามารถทำได้ง่ายและครั้งละมากๆ วิธีการก็คือ เตรียมดินสำหรับปักชำให้พร้อม อาจทำเป็นแปลงปักชำหรือเตรียมไว้ในกระถางก็ได้รดนำให้ชุ่ม ให้ตัดกิ่งเข็มมาจากต้นแม่ โดยใช้มีดที่คม เฉือนกิ่งออกมาเป็นแนวเฉียง อาจเอาใบออกไปบ้างให้เหลือติดกิ่งไว้ไม่มาก และอาจจะนำกิ่งไปจุ่มในน้ำยาเร่งรากหรือไม่ก็ได้ หลังจากนั้นนำกิ่งชำไปปักลงในดิน หากกิ่งเล็กอาจใช้ไม้แข็งๆหรือเหล็กขนาดไม่ต่างกับกิ่งพันธุ์มากเสียบนำลงไปก่อนเพื่อป้องกันกิ่งช้ำ แล้วจึงกลบปิด ช่วงนี้ควรรดน้ำเป็นประจำเช้าและเย็น จนกว่ารากจะงอกและต้นแข็งแรงดีแล้วจึงย้ายไปปลูกในสวนหรือกระถางที่ใหญ่กว่า
วิธีดูแลรักษาดอกเข็ม
ดอกเข็มเป็นดอกไม้ที่ออกดอกตลอดปี และชอบแสงเแดดมาก จึงควรปลูกไว้ในที่โดนแดดทั้งวัน ดอกเข็มสามารถทนความแห้งแล้งได้ดี อาจจะรดน้ำวันละครั้งหรือสองวันครั้งก็ได้ ควรใส่ปุ๋ยบำรุงดินบ้างทั้งปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมี การตัดแต่งกิ่งก็ควรตัดแต่งกิ่งให้สวยงามหรือตามที่ต้องการ การตัดแต่งกิ่งยังช่วยทำให้ดอกเข็มแตกกิ่งใหม่และออกดอกได้ดีอีกด้วย
โรคและแมลงของดอกเข็ม
ดอกเข็มเป็นดอกไม้ที่ทนทานต่อโรคมากและยังดูแลรักษาได้ง่าย แต่ก็ยังมีโรคเช่นโรคเชื้อรา ถ้าหากพบอาการเช่นใบแห้ง ให้ตัดกิ่งที่เสียหายทิ้งโดยให้นำไปทิ้งให้ไกลต้น แต่ถ้าต้นเหี่ยวและเฉาตายอาจจะต้องถอนต้นทิ้งและพรวนดินบริเวณนั้นให้พลิกขึ้นตากแดดไว้ เพื่อเตรียมดินใหม่และป้องกันการกระจายของโรคไปสู่ต้นข้างๆได้
การเป็นมงคล
คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกเข็มไว้ประจำบ้าน จะทำให้มีความฉลาดเฉียบแหลม เพราะเข็มคือสิ่งที่มีความแหลมคม ดังนั้นคนไทยโบรานจึงใช้ดอกเข็มในพิธีไหว้ครูเพื่อจะได้เป็นนักปราชญ์ที่มีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมนอกจากนี้ยังใช้ดอกเข็มเป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพิธีทางศาสนาได้เป็นสิริมงคลยิ่งนัก
ป้ายคำ : ไม้ดอก