เครือตดหมา กระพังโหม

19 มิถุนายน 2558 ไม้เลื้อย 0

ไม้เลื้อยอย่าง ต้นตดหมา หรือที่บางภูมิภาคเรียกว่า “ต้นกระพังโหม” เป็นไม้เลื้อยขึ้นทั่วไปในป่า ป่าผสมผลัดใบและป่าเต็งรัง อาศัยต้นไม้ใหญ่ ลำต้นสีเขียวอ่อน มีขนาดเล็ก เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ทั้งลำต้นและใบมีกลิ่นเหม็นสมชื่อ เนื่องจากมีสาร Methyl Mercaptan คล้ายๆ กลิ่นเหม็นเขียว ถึงแม้จะมีชื่อไม่ไพเราะหูเท่าไรนัก แต่ต้นตดหมาก็มีสรรพคุณทางด้านสมุนไพรพื้นบ้านมากมาย ทั้งเป็นยา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ กลิ่นเหม็นเขียวช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ขับลมได้ดี ช่วยย่อยอาหาร หรือแม้กระทั่งเป็นสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคดีซ่าน และโรคเบาหวานได้ ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกใกล้บ้านเพื่อเก็บรับประทาน

ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia foetida Linn.
ชื่อวงศ์ RUBIACEAE
ชื่อภาษาอังกฤษ Skunk-vine
ชื่อพื้นเมือง “กระพังโหม(กลาง), ตะมูกปาไหล(อุดรธานี-อีสาน), กระเยวเผือ(สกลนคร-อีสาน),ผักไหม(เชียงใหม่-เหนือ), เครือไส้ปลาไหล(มหาสารคาม-อีสาน), ตดหมูตดหมา(เหนือ,กลาง),ย่านพาโหม (ใต้), พังโหม ”

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระพังโหม เป็นพืชจำพวกไม้เถาเลื้อยประเภทล้มลุก ลำต้นมีขนาดเล็กเลื้อยไปตามพื้นดินหรือพันต้นไม้อื่น ลำต้นและใบมียางสีขาว เมื่อขยี้ดมดูมีกลิ่นเหม็น

  • ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้าม ใบสีเขียวเนื้อในบาง ก้านใบสั้นเส้นใบโค้งจรดกันที่ใกล้ ๆ ขอบใบ
  • ดอกออกเป็นช่อดอกเล็ก ๆ ตรงซอกใบหรือโคนก้านใบ ช่อละ 2-3 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็กกลีบปลายลีบแยกกัน กลีบด้านนอกสีขาว กลีบด้านในสีม่วงแดงหรือสีชมพูประด้วยสีม่วงจุดสีน้ำตาล เกสรตัวผู้มี 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อันอยู่ตรงกลาง
  • ผลเป็นฝักยาวสีเขียวยาวประมาณ 4-7 ซม.กว้าง 1.6 ซม.

yatodmas yatodmapoom

กระพังโหมมีหลายพันธุ์ ชนิดใบใหญ่ ใบรูปไข่ มีขนสั้น ๆ ปกคลุม เรียกว่า ตูดหมูหรือตดหมู หรือกระพังโหมใหญ่ ชนิดใบเล็ก รูปเรียวยาวหรือรูปหอก เรียกตดหมาหรือกระพังโหมเล็ก
ชนิดใบใหญ่ไม่มียางไม่มีขนกลิ่นเหม็นอ่อน ๆ เรียก ย่านพาโหม ชนิดนี้นิยมใช้ปรุงในข้าวยำ

การปลูก
กะพังโหมเป็นไม้ที่ขึ้นทั่วไปในป่าธรรมชาติ(ป่าผสมผลัดใบและป่าเต็งรัง) และบริเวณในสวน ใช้ขยายพันธุ์โดย
การเพาะเมล็ดและการเพาะต้นอ่อน ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกใกล้บ้านเพื่อเก็บรับประทานสะดวก
การปลูกควรทำร้านให้เลื้อยหรือปลูกบริเวณริมรั้ว

ประโยชน์ทางยา

  • ทั้งต้นสรรพคุณ รักษาอาการอักเสบบริเวณคอปาก รักษาบาดแผล ปรุงเป็นยาขับน้ำนม แก้บิดไข้รากสาด
  • ใบและเถาสรรพคุณ แก้ไข้ รักษาบาดแผล ระบายอ่อน ๆ ในเด็กแก้ตานซาง แก้ตัวร้อน ขับลม
  • แก้ธาตุพิการ ท้องเสีย เจริญอาหาร ขับพยาธิไส้เดือน
  • ใบ ตำพอก แก้พิษงู แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด
  • รากสรรพคุณ แก้โรคดีซ่าน
  • สรรพคุณทางยาอื่น ๆ ใช้ถอนพิษสุรายาสูบ พิษจากอาหาร ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ
  • สำหรับสรรพคุณทางยาสมุนไพรนั้นมีค่อนข้างมาก ในตำรายาไทย พบว่า ตดหมาทั้ง เถา นำมาต้มดื่มแก้พิษไข้ ขับปัสสาวะ ถอนพิษต่าง ๆ รวมทั้งแก้ท้องเสีย ซึ่งสรรพคุณแก้ท้องเสียมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่าสารสกัดจากตดหมาสามารถแก้อาการท้องเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนของ ใบ ใช้แก้ปวดฟัน แก้รำมะนาด แก้การปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง
    โดยใช้ตำพอก ส่วนของ ราก ใช้ฝนหยอดตาแก้ตาฟาง ถ้าต้มดื่มทำให้อาเจียน ผลแก้ปวดฟัน
    เมื่อเวลาเป็นไข้เอาเถาตดหมามาต้มน้ำใช้เช็ดตัวทำให้ไข้ลดได้ เป็นอย่างดี ในภาคอีสานถ้ามีอาการท้องหยึ่ง(ท้องอืด) ให้กินยอดตดหมาทำให้ระบายแก๊สได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    นอกจากนี้ เกษตรกรที่เลี้ยงหมูยังใช้เถาตดหมาลดไข้ได้ด้วย โดยดึงเอาเถาตดหมามาทุบพอแหลกหรือให้มีน้ำออกมาแล้ว เอาเถาที่ทุบแล้วไปลูบ ตามตัวหมูที่เป็นไข้ จะทำให้ไข้หมูลดลงทันที

หมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้เถาตดหมาในการรักษาโรคไขข้อ นอกจากนี้ยังใช้แก้อาการปัสสาวะขัด โดยนำใบมาต้มแล้วนำมาตำให้แหลก จากนั้นนำไปโปะลงบนท้องทำให้สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ นอกจากนี้ใบเมื่อนำมาต้มดื่มสามารถขับนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะได้ด้วย และน้ำต้มจากใบ เมื่อนำมาเช็ดตัวจะทำให้ไข้ลด หรือนำผ้าสะอาดมาชุบน้ำต้มจากใบวางไว้บนศีรษะ ช่วยในการลดไข้ได้อย่างดี นอกจากนี้น้ำต้มจากใบยังใช้เป็นน้ำอาบ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคไขข้อได้อีก ด้วย ส่วนของเปลือกเมื่อนำมาต้มดื่มทำให้อาเจียนได้ น้ำต้มจากรากใช้ในการขับลม ส่วนผลใช้เป็นยาแก้ปวดฟันและทาฟันให้เป็นสีดำ ในประเทศอินเดียได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันจากตดหมา มาเป็นยาทาแก้ปวด ข้อและปวดหลัง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าตดหมาใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ได้

yatodmabai

ประโยชน์ทางอาหาร
ส่วนที่เป็นผัก ฤดูกาลยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกรับประทานเป็นผัก ออกยอดมากในช่วงฤดูฝน มีจำหน่ายในตลาดสดของ ท้องถิ่น การปรุงอาหารคนโบราณใช้น้ำคั้นจากเถาและใบของ กะพังโหมมาผสมปรุงเป็นขนมขี้หนู ทำให้ขนมขี้หนูเป็นสีเขียว ชาวเหนือ,ชาวอีสานและชาวใต้รับประทานยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ชาวอีสานรับประทานร่วมกับลาบก้อย ชาวใต้นำไปฃอยละเอียดเป็นผักที่ใช้ผสมปรุงเป็นข้าวยำ ส่วนดอกมีการรับประทานสดเป็นผักในบางท้องที่ แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก

yatodma

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ
รสขมกลิ่นเหม็นเขียว(กลิ่นหอม)ช่วยระยายความร้อนในร่างกาย ยอดอ่อนและใบกะพังโหมยังไม่มีการวิเคราะห์สารอาหาร

หมายเหตุ : กระพังโหมที่แท้ต้องเป็นชนิดที่มียางออกเมื่อเด็ดใบ และเถาสด ๆ ชนิดไม่มียางเรียกว่า ย่านพาโหม ไม่ใช่กระพังโหม

แหล่งที่มา :
บทความมติชนสุดสัปดาห์ ลงใน เว็บ มูลนิธิสุขภาพไทย

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้เลื้อย

แสดงความคิดเห็น