เครื่องหยอดแถวข้าวงอก (Rice Drum Seeder)

20 สิงหาคม 2557 เครื่องมือเกษตร 0

การปลูกข้าวแบบเป็นแถว (Straight Row Direct Seeding) โดยใช้เครื่องหยอดแถวข้าวงอก (Rice Drum Seeder) เป็นการทำนาหยอดน้ำตมด้วยเครื่อง เป็นการนำข้อดีของการทำนาดำและนาหว่านมาใช้ มีประโยชน์และข้อดี ดังนี้

  • ลดขั้นตอน ลดต้นทุนการเพาะกล้า ดำนา
  • ข้าวไม่ช้ำในขั้นตอนการย้ายกล้า ปักดำ
  • ใช้น้ำในการทำนาน้อยกว่านาดำ
  • ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่านาหว่าน
  • ต้นข้าวมีระยะห่างระหว่างต้นเหมือนนาดำเครื่อง
  • ต้นข้าวแตกกอได้มาก ไม่แย่งอาหารกัน ได้รับแสงแดดเต็มที่
  • ต้นข้าวไม่แข่งกันสูง โอกาสต้นล้มน้อยลง
  • จัดการหญ้าวัชพืชได้ง่าย ด้วย เครื่องพรวนดิน/กำจัดหญ้า (Rotary Weeder) ลดการใช้ยาฆ่าหญ้า
  • แปลงนามีสุขอนามัยที่ดี โปร่ง โล่ง โรคพืช แมลงน้อย ลดการใช้ยาฆ่าแมลง
  • เดินตรวจแปลงนาได้ง่าย
  • ต้นข้าวสม่ำเสมอทั่วแปลงนา เติบโต ออกรวง เมล็ดข้าวสุกสม่ำเสมอพร้อมกัน
  • ลดการสูญเสียในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เมื่อเทียบกับนาหว่าน

จัดระเบียบการปลูกข้าว จากเเปลงนา สู่การพัฒนาประเทศ ลดต้นทุน เพิ่มกำไร เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพ

knayodnayow

การใช้งานเครื่องหยอดแถวเมล็ดข้าวงอก (Rice Drum Seeder) สำหรับนาน้ำตม

  1. เตรียมดินทำเทือก ปรับพื้นที่นาให้สม่ำเสมอ
  2. ระบายน้ำส่วนเกินออกจากนา แต่อย่าให้ผิวดินแห้ง อย่าให้มีบริเวณน้ำขัง (พยายามอย่าให้เป็นเลนลึกเกิน 8 นิ้ว หรือ 20 ซม.)
  3. เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวมาเพาะให้งอก (แช่ 24 ชม. บ่ม 24 ชม.) อย่าให้รากยาวเกินไป (3-5 มม.) อัตราเมล็ดพันธุ์ 6-10 กก./ไร่
  4. ก่อนการหยอด ให้ผึ่งเมล็ดพันธุ์ที่เพาะงอกแล้วในที่ร่มประมาณ 10-15 นาที เพื่อให้กระจายตัวได้ง่าย
  5. เติมเมล็ดพันธุ์ในกระบอกลูกกลิ้งแต่ละลูก (ประมาณ 2 กก./กระบอก) อย่าให้เกิน 2 ใน 3 ของความจุ
  6. หยอดข้าวในแปลงนา โดยใช้ความเร็วในการลากสม่ำเสมอ ในทิศทางตามลูกศรสามเหลี่ยม (สังเกตที่กระบอกใส่ข้าว)
  7. ห้ามปล่อยน้ำเข้าในแปลงนาในช่วง 2-3 วันหลังหยอดข้าว เพื่อให้รากแทงลงดิน
  8. ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาตามความสูงของต้นข้าว เพื่อควบคุมวัชพืช
  9. สามารถใช้เครื่องพรวนหญ้า (Rotary Weeder) เพื่อกำจัดวัชพืชและพรวนดินในร่องนาได้

knayodna knayodmed knayodtam knayodhang

แนะนำเพิ่มเติมการใช้งาน คือ
ให้ความยาวรากของข้าวงอกยาวประมาณ 3-5 มม. นะครับ (รากสั้นจะออกมาก รากยาวจะออกน้อยลง และเมล็ดพันธุ์ยาวจะออกน้อยกว่าเมล็ดพันธุ์สั้น) เส้นผ่าศูนย์กลางของรู ประมาณ 8 มม. เมล็ดจะออกจากรูประมาณ 3-7 เมล็ด/รู ถือว่าใช้ได้

ถ้าต้องการให้เมล็ดออกมากขึ้น หรือบางคนต้องการให้รากยาวกว่านี้ เพื่อให้ต้นกล้าแทงรากลงดินได้เร็ว หรือป้องกันรากแห้งกรณีอากาศแห้ง แดดแรง สามารถขยายหรือคว้านรูให้ใหญ่ขึ้นตามต้องการได้ แต่ต้องระวังว่าขยายรูแล้ว จะกลับมาให้เล็กเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว

knayodkla knayodklas

ข้อมูลทางเทคนิค

  • ชุดประกอบด้วย 6 กระบอก
  • มีล้อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 55 ซม. ที่ปลายทั้งสองด้าน (ล้อหมุน 1 รอบเคลื่อนที่ได้ระยะทางประมาณ 175 ซม.)
  • ความยาวเพลาเหล็ก (ระยะห่างระหว่างล้อที่ปลายทั้งสองด้าน) เท่ากับ 240 ซม.
  • ขนาดรูหยอด 8 มม. (ถ้าใช้พันธุ์ข้าวเมล็ดยาว หรือต้องการให้ข้าวออกมากขึ้น อาจจะต้องคว้านรูใหญ่ขึ้นเป็น 9-12 มม. เป็นต้น)
  • 1 กระบอกมีรู 4 แถว (ในการใช้งานจะใช้ทีละ 2 แถวโดยใช้แถบผ้ายืดหรือยางปิดแถวรูที่ไม่ต้องการ) ระยะห่างระหว่างแถวคงที่คือ 18 ซม. ส่วนระยะห่างระหว่างรูหยอดสามารถเลือกระยะห่างได้ 2 แบบ คือ
    1) แถวรูห่าง 7 รูต่อรอบ จะได้ระยะห่าง 25 ซม.
    2) แถวรูถี่ 14 รูต่อรอบ จะได้ระยะห่าง 12.5 ซม.
  • ขนาดรู เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8 ซม.ดังนั้นสรุปว่าระยะห่างระหว่างต้น เลือกได้ 2 แบบคือ 18 x 25 ซม. หรือ 18 x 12.5 ซม. ลาก 1 ครั้งได้ 12 แถว
  • อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก หยอดรูถี่ : ประมาณ น้อยกว่า 10 กก./ไร่ หยอดรูห่าง : 5-6 กก./ไร่
  • อัตราการทำงาน 1-1.5 ไร่/ชม. (ขึ้นอยู่กับสภาพนาตมว่าสามารถเดินได้สะดวก ช้าหรือเร็ว)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด เครื่องมือเกษตร

แสดงความคิดเห็น