เตาเศรษฐกิจหรือเตาแกลบ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านหัวคลอง ๑๙ ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนางสาวมายุรีย์ จันทร์วิเศษ เกิดความคิดอยากทำเตาไว้ใช้เอง เนื่องจากมีวัสดุที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง ได้แก่ ฟืน กะลามะพร้าว แกลบ ขี้เลื่อย ซางข้าวโพด เป็นต้น เพื่อเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน
ลักษณะ เตาเศรษฐกิจมี ๒ แบบ คือ เตาเศรษฐกิจที่ใช้กับถ่านและเตาเศรษฐกิจที่ใช้กับฟืน ผลิตโดย ใช้ดินเชื้อ (แกลบ ๒ ส่วน ดิน ๑ ส่วน ผสมกันตากแดด นำไปตำจนละเอียด) ผสมกับดินดำในอัตราส่วน ๒:๑ มาคลุกเคล้านวดจนเข้ากันดี นำไปใส่ในพิมพ์ที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้พอหมาด ๆ แกะออกจากพิมพ์นำไปแต่งและ เผาจนสุก บรรจุลงในถังอะลูมิเนียม ช่องว่างระหว่างถังกับเตาใส่ดิน ส่วนด้านบนและปากเตาแต่งด้วยปูน ซีเมนต์
วัตถุดิบ/อุปกรณ์
- ดินเหนียว
- แกลบดำ/ขี้เถ้าถ่าน
- สังกะสีแผ่นเรียบ
- หม้อสำหรับเป็นแม่พิมพ์ขนาดต่าง ๆ
ขั้นตอนวิธีทำ
- ขุดดินเหนียว จากแหล่งดินในชุมชน นำมาผึ่งแดดให้แห้ง
- นำดินเหนียวที่ผึ่งจนแห้ง ใส่ในบ่อหมักดิน ใส่น้ำให้น้ำท่วมดิน ทิ้งไว้ ๑ คืน
- เมื่อดินละลายแล้วตักน้ำส่วนที่ท่วมดินออกให้หมด ผสมแกลบขี้เถ้าดำ อัตราส่วน ดิน ๑ ส่วนต่อขี้เถ้าดำ ๑ ส่วน
- ใช้จอบสับดินที่ผสมขี้เถ้าดำจนส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำดินที่ผสมขี้เถ้าดำออกมากองไว้ข้างนอกใช้เท้าย่ำไปมาให้เนื้อดินมีความเหนียวพอดี
- นำดินเก็บใส่ถุงพลาสติกไว้สำหรับปั้นต่อไปห่อถุงพลาสติกกันไว้ไม่ให้ถูกลม ซึ่งจะทำให้ดินแข็งปั้นยาก
การปั้นเตา
- นำดินออกจากถุงพลาสติก นำมาขึ้นเป็นรูปเตา โดยใช้หม้อขนาดต่างๆ เป็นตัววัดขนาดของเตา ในขณะที่ทำจะใช้น้ำลูบเตาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สามารถปั้นได้ง่ายและดูสวยงาม ซึ่งจะใช้เวลาในการปั้นประมาณ ๓ วัน ต่อเตา ๑ ใบ
- นำเตาที่ปั้นเสร็จแล้ว ไปวางไว้ในที่ร่มห้ามนำไปตากแดด เพราะจะทำให้เกิดการแตกร้าว ใช้เวลาประมาณ ๑๕ ๒๐ วัน
ขั้นตอนการเผาเตา
- นำเตาดินที่ปั้นเสร็จแล้ว มาจัดเรียงในไว้หลุม โดยการเรียงซ้อนกันจนเต็มเตา
- นำฟืน กาบมะพร้าว แกลบ กิ่งไม้ ฯลฯ มาวางทับบนเตาจนมิด หลังจากนั้นใช้แผ่นสังกะสีวางทับด้านบนอีกครั้งเพื่อให้ไฟระอุทั่วบริเวณหลุม ปล่อยทิ้งไว้ให้เตาสุกให้ทั่วทั้งเตาสังเกตได้จากเตากลายเป็นสีแดงส้ม ถ้าเผาไม่สุกเตาจะมีสีดำ ทิ้งไว้ ๒ วันจึงนำเตาออกจากเตาเผา
- นำแผ่นสังกะสีมาหุ้มเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน อายุการใช้งานประมาณ ๑๐ ปี ราคาที่จำหน่ายเริ่มตั้งแต่ ๔๐๐ ๑,๐๐๐ บาท ตามขนาดของเตา
เตาเศรษฐกิจ หรือเตาแกลบ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่ยอมรับของทุกคนในตำบลและในจังหวัดใกล้เคียง