หญ้าพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 ที่ปัจจุบันนิยมนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์นั้น มีผลผลิตต่อไร่สูงสุด โดยมีผลผลิตประมาณ 70 80 ตันสด/ไร่/ปี ซึ่งมากกว่าหญ้าชนิดอื่นเกือบ 7 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น โดยมีอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพประมาณ 6,860 7,840 ลบ.ม./ไร่/ปี สามารถผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ได้ประมาณ 3,118 – 3,563 กก./ปี เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากกว่าหญ้าชนิดอื่นๆ
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เร่งผลักดันงานวิจัยพลังงานตามนโยบายกระทรวงพลังงาน เผยผลวิจัยพบหญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์ เนเปียร์ปากช่อง 1 เหมาะนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน หวังให้เป็นวัตถุดิบพลังงานใหม่ในอนาคต
ที่ผ่านมา สนพ. ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดทำ โครงการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 10.7 ล้านบาท เพื่อศึกษาศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน โดย มช.ได้มีการสำรวจข้อมูลและวิจัยหญ้าจำนวน 20 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศ อาทิ หญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ พันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 พันธุ์บาน่า รวมถึง หญ้าขน หญ้าแฝก เพื่อศึกษาศักยภาพและสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพ
ผลการวิจัยพบว่า หญ้าเลี้ยงช้างพันธุ์เนเปียร์ปากช่อง 1 ที่ปัจจุบันนิยมนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์นั้น มีผลผลิตต่อไร่สูงสุด โดยมีผลผลิตประมาณ 70 80 ตันสด/ไร่/ปี ซึ่งมากกว่าหญ้าชนิดอื่นเกือบ 7 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น โดยมีอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพประมาณ 6,860 7,840 ลบ.ม./ไร่/ปี สามารถผลิตเป็นก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ได้ประมาณ 3,118 – 3,563 กก./ปี เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากกว่าหญ้าชนิดอื่นๆ
นอกจาก สนพ. จะมอบหมายให้ มช. วิจัยหญ้าชนิดต่างๆ ที่เหมาะสำหรับนำมาผลิตก๊าซชีวภาพแล้ว ยังได้มอบหมายให้ มช.ศึกษาและวิจัยนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากฟาร์มปศุสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซ CBG ซึ่งสามารถใช้ทดแทนก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์ ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ก๊าซ CBG ที่ได้มีคุณสมบัติเทียบเท่า NGV สำหรับยานยนต์ตามประกาศของกรมธุรกิจพลังงาน โดยปัจจุบัน มช. ยังทำการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพไปสู่พลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการการใช้พลังงานในรูปแบบใหม่และเกิดประโยชน์สูงสุด ผอ.สนพ.กล่าว
การปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เพื่อใช้ในการผลิตพลังงาน เป็นหนึ่งในแนวทางของกระทรวงพลังงานเพื่อเดินหน้าการใช้พลังงานทดแทน เช่นเดียวกับพลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยที่ปัจจุบันสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว และยังถือเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ซึ่งปลูกอยู่บนพื้นที่กว่า 1 ร้อยไร่ ในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีเป็นอาหารหยาบที่ถูกนำไปใช้สำหรับเลี้ยงโคได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูง แต่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นพืชพลังงานที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ผลิตแก๊สชีวภาพ ภายใต้นโยบายทางด้านพลังงานของรัฐบาล ที่กำหนดเป้าหมายในการใช้พลังงานทดแทน แทนการใช้พลังงานฟอสซิลให้ได้ร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี
ดร.ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมา บอกว่าสาเหตุสำคัญที่หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เหมาะจะเป็นพืชพลังงานคือการที่มีโครงสร้างสารอาหารเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดแก๊ส อีกทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายเหมาะกับทุกพื้นที่ของประเทศไทย ที่สำคัญลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 8-9 ปี และแต่ละปีสามารถจะเก็บเกี่ยวได้ 5-6 ครั้ง
สำหรับต้นทุนในการหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 นี้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 200 บาท ซึ่งหากเกษตรกรที่สนใจปลูกเป็นพืชพลังงาน ทางกระทรวงพลังงานจะรับซื้อในราคาตันละ 300 บาท ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกหญ้าเนเปียร์อยู่ในตอนนี้สนใจเข้าร่วมโครงการ แต่ทั้งนี้มองว่าราคายังต่ำกว่าที่นำไปขายเป็นอาหารสัตว์ ดังนั้นจึงอยากให้มีการทบทวนเรื่องของราคารับซื้อ
ขณะที่ความกังวลเรื่องผลกระทบด้านโครงสร้างหากนำไปใช้ผลิตพลังงานนั้น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว เพราะการผลิตอาหารถูกจำกัดโดยจำนวนของสัตว์ ขณะที่การผลิตพลังงานสามารถป้อนเข้าสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้บริหารของบริษัทวินด์เอนเนอร์ยี่โฮลดิ้ง เจ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า การสนับสนุนของภาครัฐด้านพลังงานทดแทนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับโครงสร้างพลังงานของไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต
สำหรับพลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แม้จะเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสม แต่มูลค่าการลงทุนที่สูงทำให้ในปัจจุบันพบว่ายังคงมีการนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ที่เหลือยังคงมาจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน
ป้ายคำ : พลังงานทดแทน